AEC : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี (จบ)

AEC : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี (จบ)

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน (จบ)

มาถึงตอนสุดท้ายของพลังงานไทยกับเออีซีแล้วครับ ก็มาคุยกันต่อถึงผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมไทยนะครับ ผมเห็นว่า

1.นโยบายภาครัฐอาจให้ความสำคัญต่อการผลิต/การใช้พลังงานหมุนเวียนหรือพลังงานทางเลือกอื่นของประเทศเพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมลดลงหรือเปลี่ยนไป เนื่องจากคิดว่ายังสามารถนำเข้าพลังงานราคาถูกกว่าจากแหล่งพลังงานที่มีความเชื่อมโยงกันมาใช้ในประเทศได้ 2.แรงขับในการเร่งการวิจัยและพัฒนาเพื่อการผลิตพลังงานหมุนเวียน/พลังงานทางเลือกอื่นเพื่อนำมาใช้ในภาคอุตสาหกรรมอาจลดลงเนื่องจากพลังงานดังกล่าวยังมีต้นทุนที่แพง

3.การเตรียมพร้อมในการปรับตัวของผู้ประกอบการเพื่อรองรับการเปลี่ยนไปใช้พลังงานหมุนเวียน/พลังงานทางเลือกอื่นในภาคอุตสาหกรรมอาจลดลงเนื่องจากต้นทุนจากการใช้พลังงานนำเข้าที่ได้จากธรรมชาติ มีราคาถูกกว่า 4.การโยกย้ายโรงงาน/การขยายโรงงานอุตสาหกรรมหรือการขยายกำลังการผลิตไปยังพื้นที่ที่ใกล้แหล่งพลังงานดังกล่าวอาจทำให้ต้นทุนการขนส่งวัตถุดิบ/ต้นทุนการขนส่งสินค้าเพื่อการจำหน่ายเพิ่มขึ้นจากระยะทางที่ไกลขึ้น

โดยสรุปแล้ว ผมมีข้อเสนอแนะสำหรับนโยบายภาครัฐว่า รัฐบาลควรยังคงสนับสนุนนโยบายพลังงานทางเลือก/พลังงานหมุนเวียนต่อไป เนื่องจากแม้การเชื่อมโยงพลังงานกับประเทศเพื่อนบ้านจะสร้างความมั่นคงด้านซัพพลายพลังงานให้ก็ตาม แต่ประเทศไทยก็ยัง ไม่สามารถมั่นใจได้ตลอดไปเนื่องจากอาจมีปัจจัยอื่นๆ ที่กระทบเข้ามาทำให้ประเทศเพื่อนบ้านไม่สามารถซัพพลายพลังงานให้ได้ตลอดเวลา เช่น ปัญหากระทบกระทั่งด้านชายแดนของไทยกับประเทศเพื่อนบ้าน การปิดซ่อมบำรุงวัสดุ/อุปกรณ์สำหรับการผลิต/การส่งพลังงานของประเทศเพื่อนบ้าน ปัญหาภายในของประเทศเพื่อนบ้าน การสงวนพลังงานไว้ใช้ในประเทศของเพื่อนบ้าน เนื่องจากความต้องการใช้พลังงานสูงขึ้นตามการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดังนั้น การพึ่งพาตนเองน่าจะเป็นหนทางที่ประเทศไทยควรยังคงต้องให้ความสำคัญและยึดถือไว้เป็นแนวปฏิบัติ และผู้ประกอบการในภาคอุตสาหกรรมควรจะยังคงต้องมุ่งมั่น เพิ่มขีดความสามารถของตนเองด้านพลังงานด้วยการยึดหลักการประหยัดพลังงานและใช้พลังงานทางเลือก/พลังงานหมุนเวียนต่อไปเนื่องจากเราคงจะหาพลังงานราคาถูกดังเดิมมาใช้ไม่ได้อีกแล้ว

นอกจากนี้ ในการโยกย้ายโรงงาน/การขยายโรงงานอุตสาหกรรมหรือการขยายกำลังผลิตไปยังพื้นที่ที่ใกล้แหล่งพลังงานนั้น ผู้ประกอบการควรต้องพิจารณาปัจจัยอื่นๆ ร่วมด้วยเพื่อให้ได้ต้นทุนการผลิตต่ำสุด ผมเชื่อว่าในวันนี้ รัฐบาลไทยคงได้เร่งกำหนดยุทธศาสตร์ด้านพลังงานไทยเพื่อรองรับการเข้าสู่เออีซี เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถเติบโตได้อย่างยั่งยืนต่อไปครับ

——————–

(รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน (จบ) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *