AEC : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี ตอน 2

AEC : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี ตอน 2

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน (2)

รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน (2) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com

มาคุยกันต่อเรื่องของพลังงานกับเออีซี ที่ค้างไว้ในสัปดาห์ที่แล้วครับ ในส่วนไบโอดีเซล B100 คาดว่าเออีซีจะทำให้เกิดการทะลักเข้ามาของน้ำมันปาล์มจากมาเลเซีย และอินโดนีเซีย เนื่องจากมีต้นทุนถูกกว่าไทย ทำให้ราคาไบโอดีเซลไทยจะถูกลง ในขณะที่เกษตรกรผู้ปลูกปาล์มจะได้รับผลกระทบ กรณีนำเข้า B100 ไทยจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะเก็บอากรนำเข้าน้อยอยู่แล้ว

ส่วนก๊าซธรรมชาติ ประเมินว่าน่าจะมีผลกระทบน้อย เนื่องจากไทยนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากประเทศพม่าเพียงประเทศเดียว ในส่วนการขนส่งก๊าซธรรมชาติต้องพึ่งพาโครงสร้างพื้นฐาน ขณะที่พลังงานแอลพีจี (แก๊สหุงต้ม) การเปิดเออีซี จะทำให้แอลพีจีไหลออกไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เนื่องจากราคาแอลพีจีในประเทศไทยต่ำกว่าประเทศเพื่อนบ้าน

สำหรับภาคขนส่ง/อุตสาหกรรม ต้องมีการปรับราคาให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงมากขึ้น โดยลดการอุดหนุนเงินจากกองทุนน้ำมันฯ เนื่องจากเป็นการกีดกันทางการค้า ผมคิดว่าภาคปิโตรเคมีจะไม่ได้รับผลกระทบ เพราะซื้อขายตามราคาตลาดโลกอยู่แล้ว ภาคครัวเรือนจะไม่กระทบหากรัฐยังคงมีนโยบายอุดหนุนแอลพีจีอยู่

(2) ผลกระทบด้านโครงการเชื่อมโยงพลังงานในอาเซียน (ASEAN Power Grid) ผมขอแยกวิเคราะห์ผลดี-ผลเสียต่อภาคอุตสาหกรรมไทย ในส่วนผลดีคือ 1.ประเทศไทยจะมีแหล่งพลังงานและปริมาณพลังงานให้ใช้เพิ่มขึ้น โดยหากภาครัฐจะสามารถมีการพัฒนาการนำก๊าซธรรมชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีการเชื่อมโยงกันมาสู่การใช้ในภาคอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น จะช่วยลดข้อกังวลเกี่ยวกับปริมาณก๊าซธรรมชาติในประเทศที่ลดลงไปเรื่อยๆ ประกอบกับมีการเชื่อมโยงด้านระบบสายส่งไฟฟ้าในอาเซียนอีกด้าน

2.การรวมตัวเออีซี จะเป็นการเพิ่มทางเลือกในการปรับเปลี่ยนการใช้เชื้อเพลิงในภาคอุตสาหกรรม จากราคาพลังงานที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่องประกอบกับการปรับเปลี่ยนมาใช้พลังงานหมุนเวียน/พลังงานทางเลือกอื่นที่อาจจะมีต้นทุนเชื้อเพลิงสูงกว่าต้นทุนจากการใช้ก๊าซธรรมชาติ ดังนั้น หากรัฐบาลสนับสนุนให้ผู้ประกอบการที่อยู่ในพื้นที่ที่ใกล้เคียงแนวท่อก๊าซธรรมชาติที่มีต้นทุนต่ำกว่ามาใช้ก็จะเป็นทางเลือกและเป็นการเพิ่มขีดความสามารถให้แก่ภาคอุตสาหกรรมได้อีกทางหนึ่ง เพิ่มทางเลือกในการรองรับการขยายตัว/โยกย้ายโรงงานอุตสาหกรรมไปยังพื้นที่ที่ใกล้แหล่งพลังงานที่ได้รับการพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ ผมเห็นว่า พื้นที่ที่อยู่ใกล้แนวท่อก๊าซธรรมชาติหากได้รับการพัฒนาให้เหมาะสมซึ่งอาจจะอยู่ในรูปนิคมอุตสาหกรรม จะสามารถช่วยรองรับการขยายตัวของโรงงานอุตสาหกรรมหรือการโยกย้ายโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อหาพื้นที่ที่เหมาะสมกว่าพื้นที่เดิม เช่น การย้ายโรงงานหนีน้ำท่วม พื้นที่เดิมมีความแออัดและไม่สามารถขยายโรงงานได้เพราะติดกฎระเบียบ การย้ายเพื่อให้ใกล้แหล่งพลังงาน (ในกรณีที่ย้ายแล้วเกิดความคุ้มค่ากว่าเพื่อลดต้นทุนด้านราคาพลังงานและต้นทุนการขนส่งพลังงานเข้าสู่โรงงาน) ทั้งนี้ โครงการเชื่อมโยงที่เกิดขึ้นจะเป็นการสนับสนุนการกระจายอุตสาหกรรมสู่ภูมิภาค/ท้องถิ่น สร้างการจ้างงาน สร้างความเจริญและกระจายรายได้ให้แก่ท้องถิ่น

สัปดาห์หน้าขอคุยเรื่องนี้ต่ออีกนะครับ

——————–

(รู้ทันกระแสเศรษฐกิจและพลังงาน : อนาคตพลังงานไทยในเออีซี : เพียงพอ หรือ ขาดแคลน (2) : โดย … ดร. โชติชัย สุวรรณาภรณ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่นโยบายและเศรษฐกิจพลังงาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) Chodechai.energyfact@gmail.com)

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *