AEC : อคส.โชว์แผน 4 ปีรับเออีซีบูม
AEC : อคส.โชว์แผน 4 ปีรับเออีซีบูม
ยิ่งนานวันการตรวจสอบทุจริตโครงการ”หอมแดง” กำลังกลายเป็นคดีมีความร้อนแรงไม่แพ้โครงการทุจริตรับจำนำข้าว และสังคมกำลังจับตาท่าทีของคณะกรรมการบริหาร หรือบอร์ด องค์การคลังสินค้า หรือ (อคส.) รัฐวิสาหกิจ
ในสังกัดกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นแม่งานหลักในโครงการดังกล่าวว่าจะมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของ พ.ต.ต.ศราวุฒิ สกุลมีฤทธิ์ ผู้อำนวยการ อคส.หรือไม่
“ฐานเศรษฐกิจ” มีโอกาสสัมภาษณ์พิเศษ พ.ต.ท.ไพโรจน์ ปัญจประทีป ประธานบอร์ด อคส. ถึงเรื่องดังกล่าว ตลอดจนทิศทางการดำเนินงาน ของ อคส.ทั้งภารกิจตอบสนองนโยบายรัฐบาล อาทิ การรับจำนำข้าวเปลือก การแทรกแซงราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นมันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ หอมแดง และอื่นๆ รวมถึงทิศทางธุรกิจเชิงพาณิชย์ของ อคส.เองเพื่อให้สามารถพึ่งตัวเองได้ในระยะยาว ดังรายละเอียด
ตั้งชุดทำงานบริหารความเสี่ยง
สืบเนื่องจากกรณีทุจริตโครงการแทรกแซงราคาหอมแดง ฤดูการผลิต 2554/55 ที่จังหวัดศรีสะเกษ ที่ผ่านมา มีผลให้ทางบอร์ดบริหาร อคส. ได้ตั้งคณะทำงานชุดบริหารความเสี่ยงขึ้นมา เพื่อดูแลสินค้าเกษตรที่เน่าเสียง่าย เพราะไม่อยากให้เกิดปัญหาซ้ำรอยเดิมเหมือนกรณีหอมแดง พร้อมกับจัดทำเป็นคู่มือปฏิบัติงานแจกทั้งในส่วนของผู้บริหาร และผู้ปฏิบัติงานเพื่อลดความเสี่ยง
ส่วนการตรวจสอบผู้อำนวยการ อคส. นั้นยังไม่มีความคืบหน้า เพราะคณะกรรมการชุดตรวจสอบโครงการแก้ไขปัญหาหอมแดงฤดูการผลิตปี 2554/55 ทั้งในส่วนของอนุกรรมการคณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร (คชก.) และชุดตรวจสอบชุดใหญ่ของกระทรวงพาณิชย์ ที่มี นางปราณี ศิริพันธ์ อดีตผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์ (ปัจจุบันดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ) ในฐานะประธานคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงกรณีทุจริต ไม่ได้ส่งรายงานผลการสอบสวนมายังบอร์ด แต่กลับส่งเรื่องดังกล่าวให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) แทน และอยู่ระหว่างการสืบสวนสอบสวนเชิงลึก
“ยอมรับว่างานทุกเรื่องที่ทำต้องมีปัญหา แต่ประเด็นสำคัญคือจะทำงานอย่างไรให้ประสบความสำเร็จ ในบทบาทของกรรมการจะกำกับดูแลและมอบหมายนโยบายให้ฝ่ายบริหาร (ผอ.อคส.) ให้ไปดำเนินการไปตามเป้าหมายได้แก่ งานสนองนโยบายรัฐบาลและดำเนินงานธุรกิจเพื่อเลี้ยงตนเอง โดยทั้งสองส่วนนี้ทางบอร์ดได้วางยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ในอีก 4 ปีข้างหน้า (2555-2559) อคส.จะไม่เป็นรัฐวิสาหกิจท้ายแถว”
ผุดคลังสินค้ารับเออีซี
สำหรับงานธุรกิจเชิงพาณิชย์เพื่อเลี้ยงตัวเองของ อคส.ตามแผนยุทธศาสตร์ 4 ปีนับจากนี้ แผนจะปรับปรุงและก่อสร้างคลังสินค้าเพิ่มเติม เพื่อพัฒนาศักยภาพการจัดเก็บสินค้าให้ได้ปริมาณมากขึ้น รักษาคุณภาพของสินค้าได้นานขึ้น และช่วยรักษาระดับราคาสินค้าที่ อคส.รับจำนำ รวมถึงเพื่อใช้ประโยชน์จากการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(เออีซี)ของ 10 ชาติสมาชิกอาเซียนในปี 2558 มีเป้าหมายเพื่อใช้เป็นคลังสินค้ารองรับสินค้าส่งออกและนำเข้า ที่จะเข้ามาในอนาคต
ปัจจุบัน อคส. มีคลังสินค้าให้เช่าบริการ 7 แห่ง รวม 19 หลัง ได้แก่ คลังธนบุรี คลังราษฎร์บูรณะ ในกรุงเทพฯ คลังปากช่อง คลังบัวใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา คลังสวรรคโลก จังหวัดสุโขทัย คลังบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น และคลังทับกวาง จังหวัดสระบุรี โดยคลังสินค้าทั้ง 7 แห่ง ไม่เพียงพอต่อความต้องการใช้ และยังมีที่ดินเปล่ายังไม่ได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นทาง อคส. จึงมีแผนจะนำที่ดินดังกล่าว มาสร้างเป็นคลังเก็บสินค้าปรับอุณหภูมิ หรือไซโล มีเป้าหมายอีก 20 หลัง โดยจะขยายเพิ่มที่สวรรคโลก ปากช่อง บัวใหญ่ บ้านไผ่ และทับกวาง ใช้เงินรายได้ของ อคส. จากงบสนับสนุนของรัฐบาล
” เราไม่ได้คิดที่จะทำคลังสินค้าแข่งกับเอกชน ไม่ได้แสวงหากำไรสูงสุด แต่จากดัชนีชี้วัดของ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ที่รัฐวิสาหกิจจะต้องเลี้ยงตัวเองได้ ต้องมีกำไร ซึ่งอยากเก็บสต๊อกข้าวอย่างน้อย 3 ล้านตัน เพราะมองว่า ประเทศไทยเป็นผู้ผลิต และส่งออกข้าว อันดับต้นๆ ของโลก หากในอนาคตประเทศเกิดปัญหาผลผลิต หรือภัยพิบัติการต้องซื้อข้าวเข้ามาบริโภคภายในประเทศถือเป็นเรื่องใหญ่ ดังนั้นเราจำเป็นที่จะต้องมีเซฟตี้สต๊อกข้าวที่เป็นคลังไม่ใช่แค่ไทย อนาคตจะเป็นคลังเก็บอาหารสำหรับอาเซียน”
จัดตั้งตลาดกลางข้าว
ขณะเดียวกัน อคส.ยังมีแผนจะจัดตั้ง “ตลาดกลางข้าวและสินค้าเกษตรครบวงจร” คาดว่าจะใช้งบประมาณ 1,270 ล้านบาท แยกเป็นงบประมาณลงทุนสร้างตลาดกลางข้าวและสินค้าเกษตรครบวงจร 900 ล้านบาท และงบประมาณหมุนเวียนเพื่อซื้อข้าวเปลือก และสีแปรจำหน่าย 370 ล้านบาท คาดว่าจะใช้สถานที่บริเวณคลังราษฎร์บูรณะ จะปรับปรุงสร้างใหม่ทั้งหมด
วัตถุประสงค์ในการจัดตั้งเพื่อเป็นหน่วยนำร่องในการรับซื้อข้าวเปลือกจากเกษตรกรในราคาอ้างอิงแล้วนำเข้าเก็บในคลังสินค้าปรับอุณหภูมิ หรือไซโล เพื่อรักษาคุณภาพก่อนที่จะนำไปสีแปรสภาพเป็นข้าวสาร แล้วนำมาบรรจุถุงจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคในราคายุติธรรม เป็นการป้องกันการขึ้นราคาข้าวถุงของห้างสรรพสินค้าและบางส่วนผลิตเป็นข้าวถุงราคาถูกจำหน่ายให้แก่ผู้มีรายได้น้อยเพื่อช่วยลดค่าครองชีพ
ส่วนภายในตลาดกลางฯ จะจัดตั้งเป็นร้านค้าเพื่อการเกษตร โดยรับซื้อผลไม้ สินค้าพื้นเมือง สินค้าเกษตรอินทรีย์ และผลิตภัณฑ์โอท็อปจากเกษตรกรมาวางจำหน่าย และจำหน่ายสินค้าจำเป็นให้แก่เกษตรกรในราคายุติธรรม เช่น ปุ๋ย ยาฆ่าแมลง และสินค้าอุปโภคบริโภค เป็นต้น
นอกจากนี้มีแผนจัดตั้งตลาดกลางข้าวและสินค้าเกษตรครบวงจรในแหล่งผลิตข้าวเปลือกของแต่ละภาค รวม 3 แห่ง ได้แก่ ภาคกลางที่จังหวัดชัยนาท ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ที่จังหวัดสุรินทร์ และ ภาคเหนือที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งวิธีการจะจัดซื้อข้าวเปลือกในแหล่งผลิตและในจังหวัดใกล้เคียง แห่งละ 4 หมื่นตัน/ปี รวม 3 แห่ง เป็นปริมาณข้าวเปลือก 1.2 แสนตัน สามารถช่วยเหลือเกษตรกรได้ จำนวน 8 หมื่นรายต่อปี คาดว่าจะเพิ่มรายได้ อคส.ปีละ 180 ล้านบาท (ข้าวเปลือก 1.2 แสนตัน ได้ข้าวสารประมาณ 7.2 หมื่นตัน ราคาเฉลี่ยตันละ 2.5 หมื่นบาท คิดเป็นมูลค่าขาย 1,800 ล้านบาท คิดกำไร 10% เป็นเงิน 180 ล้านบาท )
พัฒนาระบบไอทีลดทุจริต
สำหรับงานตามนโยบายรัฐบาล ที่ อคส. มีหน้าที่รับจำนำสินค้าเกษตร(ข้าว มันสำปะหลัง ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์) ที่ปัจจุบันขั้นตอนการรับจำนำมีความยุ่งยากทั้งการบันทึกข้อมูลสินค้า และการจัดเก็บข้อมูลต่าง ๆ ซึ่งเดิมเป็นการทำในกระดาษ ทำให้เอกสารมีปริมาณมาก การจัดส่งเกิดความล่าช้าและข้อมูลสูญหาย
ดังนั้นในปีการผลิต 2555/56 ทาง อคส.จะได้นำระบบไอทีเข้ามาช่วยในโครงการรับจำนำเพื่อทำให้มีความโปร่งใสและลดความเสี่ยงภายในองค์กรเอง เริ่มตั้งแต่ขั้นตอนการออกใบประทวนให้เกษตรกร โรงสีทุกโรงจะติดตั้งคอมพิวเตอร์ สแกนเนอร์ ทั้งนี้จะใช้ฐานข้อมูลของกรมส่งเสริมวิชาการเกษตร เป็นตัวกำหนด หากเกษตรกรนำใบประทวนมาไม่ตรงกับข้อมูล จะสามารถเช็กได้ทันที รวดเร็ว และแม่นยำมากขึ้น ซึ่งจะเริ่มในปลายเดือนตุลาคมนี้
จากหนังสือพิมพ์ฐานเศรษฐกิจ ปีที่ 32 ฉบับที่ 2,786 วันที่ 25-27 ตุลาคม พ.ศ. 2555