AEC : การเร่งรัดการรวมกลุ่มในสาขาบริการที่สำคัญของอาเซียน : บริการโลจิสติกส์

AEC : การเร่งรัดการรวมกลุ่มในสาขาบริการที่สำคัญของอาเซียน : บริการโลจิสติกส์

เป็นเวลากว่า 10 ปีที่สมาชิกอาเซียนได้เจรจาจัดทำความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งถือได้ว่าเป็นความตกลงเขตการค้าเสรีฉบับแรกของไทย  จนกระทั่งในปี 2545  จึงได้เกิดแนวคิดที่จะปรับระดับความร่วมมือทางเศรษฐกิจให้กระชับมากขึ้น  โดยมีเป้าหมายหลัก คือ การนำไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community – AEC) ภายในปี 2563 (ค.ศ. 2020) ซึ่งจะทำให้มีการเคลื่อนย้ายสินค้า  บริการ  การลงทุน  เงินทุนและแรงงานอย่างเสรีมากขึ้น  รวมทั้งการเดินทางภายในอาเซียนได้อย่างสะดวกและเสรีมากยิ่งขึ้น

        ผู้นำอาเซียนประกาศให้มีการเร่งรัดการรวมกลุ่มเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในกลุ่มการผลิตสินค้าและบริการที่มีศักยภาพเป็นอันดับแรก (Priority  Sector) จำนวน 12 สาขา  ได้แก่ สินค้าเกษตร  ยานยนต์  อิเล็กทรอนิกส์  ประมง  ผลิตภัณฑ์ยาง  สิ่งทอและเสื้อผ้า  ผลิตภัณฑ์จากไม้  สุขภาพ  e-ASEAN ท่องเที่ยว  บริการเดินทางทางอากาศและโลจิสติกส์ เพื่อเป็นการนำร่องไปสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจที่เห็นผลเป็นรูปธรรมโดยเร็ว อันเป็นกลยุทธ์สำคัญของการเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลก

         ในส่วนที่เกี่ยวกับบริการโลจิสติกส์  นั้น อาเซียนต้องการกระตุ้นให้เกิดการพัฒนาบริการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในอาเซียน  โดยจะพยายามผลักดันให้ประเทศสมาชิกดำเนินการ :

  • ส่งเสริมให้มีระบบการขนส่งสินค้าแบบ Door to Door และอำนวยความสะดวกด้านการขนส่งผ่านแดน  โดยหน่วยงานต่างๆ ให้เร่งรัดการปฏิบัติตามกรอบความตกลงการอำนวยความสะดวกสินค้าผ่านแดนและกรอบความตกลงการขนส่งต่อเนื่องหลายรูปแบบ
  • ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งทางบกและบริการขนส่งทางบกเพื่อให้มีความเชื่อมโยงเข้ากับระบบการขนส่งทางน้ำและทางอากาศ
  • เสริมสร้างความเข้มแข็งบริการขนส่งทางน้ำและทางทะเลภายในอาเซียน
  • จัดทำนโยบายและสิ่งแวดล้อมเพื่อส่งเสริมการเพิ่มบทบาทของภาคเอกชนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการขนส่งและการให้บริการขนส่งและโลจิสติกส์ภายในภูมิภาคอาเซียน

นอกจากนี้  รัฐมนตรีเศรษฐกิจอาเซียนยังต้องการเร่งรัดการรวมกลุ่มบริการโลจิสติกส์โดยขอให้ประเทศสมาชิกอาเซียนพิจารณาเร่งรัดการเปิดเสรีบริการโลจิสติกส์ให้เร็วมากขึ้นเพื่อให้ทันกับกระแสโลกาภิวัตน์ด้านการค้า เนื่องจากสมาชิกอาเซียนส่วนใหญ่ยังไม่ผูกพันการเปิดตลาดบริการด้านนี้มากนัก  ซึ่งในปัจจุบัน อาเซียนอยู่ระหว่างกำลังพิจารณาความเหมาะสมของประเภทกิจกรรมที่ควรอยู่ในขอบข่ายของบริการโลจิสติกส์ (Logistics services) อาทิ การขนส่งทางถนน  การขนส่งทางราง  การขนส่งทางทะเล  การขนส่งทางอากาศ  การขนส่งทางท่อ  การขนถ่ายสินค้า  สถานีตู้สินค้า  คลังสินค้า  ผู้รับจัดการขนส่ง  ตัวแทนขนส่ง  ตัวแทนออกของและบริการอื่นที่สนับสนุนการขนส่ง  เป็นต้น  โดยเวียดนามรับเป็นผู้ประสานงานในเรื่องดังกล่าว

ประเด็นสำคัญอื่นๆ ที่สมาชิกอาเซียนกำลังพิจารณาโอกาสและข้อจำกัดในการดำเนินการเร่งรัดการเปิดตลาดบริการด้านนี้ยังมีความท้าทายในอีกหลายประเด็น  อาทิ 

  • ความรู้ความเข้าใจของรัฐบาลของประเทศต่างๆ ในอาเซียนในเรื่องเกี่ยวกับการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ 
  • ควรจะมีการกำหนดเงื่อนเวลาเป้าหมายที่ชัดเจนในการเปิดเสรีหรือไม่
  • มีกฎระเบียบที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาโลจิสติกส์ที่จำเป็นต้องดีรับการแก้ไขหรือไม่เพื่อรองรับกับการเปิดตลาด
  • มีกิจกรรมย่อยในสาขาบริการโลจิสติกส์ภายในประเทศที่อาจจะได้รับผลกระทบทางบวกและลบจากการเปิดตลาดหรือไม่

การเปิดตลาดบริการโลจิสติกส์ในเวทีอาเซียนจึงเป็นหนึ่งในประเด็นที่น่าสนใจและท้าทายสำหรับไทย  เนื่องจากปัจจุบันทั้งรัฐบาลและเอกชนต่างให้ความสำคัญในการผลักดันให้ประเทศมีระบบโลจิสติกส์ที่ได้มาตรฐานสากล (World  Class  Logistics) เพื่อสนับสนุนการเป็นศูนย์กลางธุรกิจและการค้าของภูมิภาคอินโดจีน

 

ที่มา www.thaifta.com

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *