A History of the World in 6 Glasses เรียนประวัติศาสตร์จากการชนแก้ว (1)
A History of the World in 6 Glasses เรียนประวัติศาสตร์จากการชนแก้ว (1)
คอลัมน์ ผ่ามันสมองของปราชญ์ โดย พ.ญ.นภาพร ลิมป์ปิยากร naaplimp@hotmail.com ประชาชาติธุรกิจ วันที่ 14 เมษายน พ.ศ. 2551 ปีที่ 31 ฉบับที่ 3992 (3192)
เป็นที่ทราบกันดีว่ามนุษย์สามารถทนขาดอาหารได้หลายวันแต่ทนขาดน้ำได้เพียงไม่กี่วัน น้ำจึงมีความสำคัญมากกว่าอาหาร นี่จึงเป็นเหตุผลให้ อารยธรรมเริ่มต้นที่ลุ่มแม่น้ำ เมื่อมนุษย์ มีความจำเป็นต้องดื่มน้ำเพื่อดำรงชีวิตเครื่องดื่มจึงวิวัฒน์ขึ้น ในอดีตเครื่องดื่มมิใช่มีไว้เพียงแค่ดื่มกินหรือทำให้เมาเท่านั้น มันยังมีอีกหลายบทบาท เช่น ใช้ในการแลกเปลี่ยน หรือทำหน้าที่เป็นเงินตรา ใช้ในพิธีกรรมทางศาสนา งานเฉลิมฉลอง เชื่อมความสัมพันธ์ กระตุ้นสมอง กิจกรรมทางการแพทย์เพื่อช่วยชีวิต หรือหยิบยื่นความตายจากการเป็นต้นกำเนิดของสงคราม เครื่องดื่มจึงเป็นสิ่งที่มีความน่าสนใจ Tom Standage บรรณาธิการและนักข่าววิทยาศาสตร์ได้ถ่ายทอดเรื่องราวความเป็นมา ของเครื่องดื่มซึ่งสัมพันธ์กับวิวัฒนาการของอารยธรรมลงบนหนังสือชื่อ A History of the World in 6 Glasses ขึ้นในปี 2548 หนังสือจำนวน 311 หน้านี้แบ่งประวัติศาสตร์ตามระยะเวลากำเนิดและความนิยมของเครื่องดื่มออกเป็น 6 ยุค คือ เบียร์ ไวน์ เหล้า กาแฟ ชา และโคคา โคล่า
ในตอนที่ 1 ผู้เขียนเล่าถึงเบียร์ซึ่งเป็นเครื่องดื่มในยุคแรก เมื่อห้าหมื่นปีก่อนนั้นมนุษย์มักโยกย้ายถิ่นฐานไปเรื่อยๆ โดยรวมกลุ่มเดินทางกันประมาณกลุ่มละ 30 คนและยังชีพโดยการจับปลาหรือสัตว์ต่างๆ ในยุคสุดท้ายของยุคน้ำแข็งหรือประมาณ 5-9 พันปีก่อนคริสตกาล ณ บริเวณที่เรียกกันว่าเสี้ยวจันทร์อันอุดม (ปัจจุบันก็คือดินแดนที่เริ่มจากอียิปต์ขึ้นไปยังชายฝั่งเมดิเตอร์เรเนียนแถบประเทศตุรกี และ ลงไปทางใต้จดชายแดนระหว่างอิรักกับอิหร่าน) เป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์เพราะเต็มไปด้วยแกะ แพะ หมู วัว ข้าวสาลีและข้าวบาร์เลย์ส่งผลให้ผู้คนที่เคย ร่อนเร่เพื่อหาอาหารมีความเป็นอยู่ดีขึ้น พวกเขาจึงลงหลักปักฐาน หมู่บ้านในระยะเริ่มต้นนี้เป็นเพียงชุมชนเล็กๆ ประมาณ 50 หลังคาเรือนมีประชากรราว 2-3 ร้อยคน
การที่มนุษย์ทำการเพาะปลูก พวกเขาจึงเริ่มมีเมล็ดพันธุ์ส่วนเกิน เมล็ดพันธุ์เหล่านี้ร่วมกับความชื้น และยีสต์ในอากาศได้กลายเป็นเครื่องดื่มที่มีฟองที่เรียกว่าเบียร์ ถึงกระนั้นก็ตามจวบจนถึงปัจจุบัน ยังคงไม่มีใครทราบเวลาที่แน่นอน ของการค้นพบเบียร์ แต่จากหลักฐานภาพจารึกรูปคนสองคนดื่มเบียร์โดยใช้ฟาง เป็นเหมือนหลอดดูดจากไหที่ค้นพบในดินแดนเมโสโปเตเมีย หรืออิรักในปัจจุบันทำให้นักประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่า เบียร์น่าจะถูกค้นพบและแพร่หลายประมาณ 4 พันปีก่อนคริสตกาล
มนุษย์ค้นพบไวน์มาแล้วก่อนหน้านี้ เบียร์จึงไม่ใช่เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ชนิดแรกที่ถูกค้นพบ แต่การผลิตไวน์ต้องอาศัยผลไม้และน้ำผึ้งจึงต้องรอฤดูกาลทำให้ไม่สามารถผลิตทีละมากๆ ได้ ส่วนเบียร์เกิดจาก เมล็ดพันธุ์ที่ชื้นเท่านั้นจึงสามารถผลิตได้เป็นจำนวนมาก การผลิตและเก็บเบียร์ในสมัยเริ่มต้นนี้จะทำในตะกร้า ถุงหนัง กระเพาะสัตว์ หรือโพลงในต้นไม้ ชาวเมโสโปเตเมียบันทึกไว้ว่าพวกเขาสามารถผลิตเบียร์ได้หลากหลายชนิด และสามารถควบคุมคุณภาพของเบียร์ต่างชนิดกันได้จากขนมปังเบียร์ ซึ่งผลิตจากข้าวบาร์เลย์ที่ปั้นเป็น ก้อน เบียร์และขนมปังจึงเป็น 2 ด้านของเหรียญ นั่นคือ ขนมปังคือเบียร์แห้ง ส่วนเบียร์คือขนมปังเปียก
คนสมัยนั้นยังพบว่าเบียร์จะมีรสชาติ ดีขึ้นเมื่อ 1) มันถูกบ่มนานขึ้น 2) ถ้าเอาน้ำตาลมอลโตสไปต้มด้วย ปริมาณแอลกอฮอล์จะเพิ่มขึ้น 3) หากใช้ภาชนะเดิมๆ ในการบ่มเบียร์ รสชาติที่ได้จะยิ่งคงที่มากขึ้น เพราะยีสต์ได้ถูกเพาะพันธุ์อยู่ในถังบ่มเรียบร้อยแล้วจึงไม่มีความจำเป็น ที่จะต้องรอให้ยีสต์จากอากาศเข้าไปช่วยในการบ่มเบียร์ 4) การเพิ่มน้ำผึ้ง พริก สมุนไพร และลูกเบอร์รี่ทั้งหลายเข้าไปในถังบ่มจะทำให้รสชาติของเบียร์มีความ หลากหลายมากขึ้น
นักมานุษยวิทยาเชื่อว่าการผลิตเบียร์ ก่อให้เกิดเกษตรกรรมจนส่งผลให้เกิดอารยธรรมตามมา ที่เป็นเช่นนี้เพราะ 1) เมื่อผู้คนต้องการดื่มเบียร์มากขึ้น และการผลิตเบียร์ต้องอาศัยธัญพืชรวมทั้งเวลา มนุษย์จึงมีความจำเป็นต้องเพาะปลูกและอยู่เป็นหลักแหล่งจนทำให้เกิดระบบชลประทาน ณ บริเวณลุ่มแม่น้ำไนล์ของอียิปต์ และเมโสโปเตเมีย 2) ยิ่งมนุษย์อยู่กันเป็นหลักแหล่ง และสืบพันธุ์มากขึ้นจนมีประชากรเพิ่มขึ้น จึงยิ่งมีความจำเป็นต้องเพาะปลูกเพื่อให้มีอาหารเพียงพอ
3) เมื่อมีการเพาะปลูกและผลผลิตส่วนเกินส่งผลให้เกิดคลังสินค้าและทำให้คน ส่วนหนึ่งสามารถไปประกอบอาชีพอื่นได้ เพราะเป็นอาชีพหนึ่งที่ถือกำเนิดจากผลผลิตส่วนเกินนี้ พระดำรงชีพจากอาหารที่ประชาชนนำมาให้และเป็นผู้ดูแลคลังสินค้า ทำนุบำรุงระบบชลประทานจนกลายเป็นที่มาของรัฐบาล นอกจากนี้พระยังมีหน้าที่ติดต่อกับพระเจ้าในกรณีที่เกิดความแห้งแล้งจนไม่สามารถเพาะปลูกได้จึงเป็นที่มาของศาสนา
นักประวัติศาสตร์พบว่าเอกสารชิ้นแรกๆ ในโลก เช่น ใบบันทึกค่าจ้าง ใบรับเงิน และใบภาษีต่างๆ ถูกบันทึกโดยพระชาว สุเมเรียน ภายในใบเหล่านี้มีสัญลักษณ์ของพืชพันธุ์ แพรพรรณ ปศุสัตว์ และเบียร์แสดงว่าสิ่งเหล่านี้ใช้ในการแลกเปลี่ยน ภาษีที่เก็บได้พระสงฆ์มักอ้างว่าใช้ไปในกิจกรรมเกี่ยวกับพระเจ้า แต่แท้ที่จริงแล้วพวกเขานำมันมาเพื่อใช้เป็นค่าจ้าง ในการทำนุบำรุงเขื่อน และสิ่งก่อสร้างของทางการ การเก็บภาษีในปัจจุบันจึงเป็นมรดกตกทอดมาจากวัฒนธรรมการเก็บภาษี โดยคณะสงฆ์นี่เอง
เบียร์ยังมีส่วนสำคัญในทางการแพทย์ เบียร์ช่วยสร้างเสริมสุขภาพเพราะการผลิตเบียร์อาศัยน้ำต้มจึงสะอาดกว่าน้ำดื่มทั่วไป คนดื่มเบียร์จึงมีสุขภาพดีกว่าเพราะปลอดจากโรคท้องร่วง เบียร์ยังมีวิตามินบีซึ่งเป็นวิตามินที่มีในเนื้อสัตว์ด้วย เมื่อมนุษย์เพาะปลูกมากขึ้น พวกเขาจึงล่าสัตว์น้อยลงทำให้ได้รับวิตามินบีลดลง สุขภาพจึงแย่ลง ส่วนคนที่ดื่มเบียร์จะยังคงได้รับวิตามินบีอย่างสม่ำเสมอจึงมีสุขภาพดีกว่า นอกจากนี้เบียร์ยังถูกนำมาใช้ผสมกับสมุนไพรต่างๆ เพื่อใช้เป็นยาเพราะมันมีคุณสมบัติเป็นตัวทำละลาย ชาวอียิปต์ยังใช้เบียร์เป็นยานอนหลับอย่างอ่อนอีกด้วย
การที่แอลกอฮอล์ในเบียร์ทำให้เกิดอาการเมาส่งผลให้บรรพบุรุษในยุคนั้นเกิดความหลงผิดคิดว่ามันเป็นความมหัศจรรย์ หรือเบียร์เป็นของขวัญจากพระเจ้า ชาวอียิปต์โบราณเชื่อว่าเบียร์เกิดจากการค้นพบโดยโอซิริส (Osiris) เทพเจ้าแห่งการเพาะปลูก พวกเขาจึงใช้เบียร์ในพิธีกรรมทางศาสนา ผู้เขียนจึงคาดว่า การยกแก้วขึ้น เพื่อกล่าวเฉลิมฉลองในงานแต่งงา นหรืองานวันเกิดเป็นสัญลักษณ์ที่สะท้อนมาจากความคิดในยุคโบราณที่ว่า แอลกอฮอล์มีพลังที่จะกระตุ้นสิ่งมหัศจรรย์เหนือธรรมชาตินั่นเอง
ส่วนภาพบันทึกของชาวสุเมเรียนที่เป็นรูปคนสองคนใช้ฟางดูดเบียร์จากแก้วเดียวกันนั้น ผู้เขียนเห็นว่าการเสนอให้ใครดื่มเครื่องดื่มจากแก้วของตน แสดงถึงความเป็นคนเชื่อถือได้ และการที่คนสองคน สามารถดื่มเบียร์จากแก้วเดียวกันเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพที่แน่นแฟ้น การชนแก้วกันเพื่อแสดงถึงมิตรภาพที่เราทำกันในปัจจุบัน จึงน่าจะเป็นมรดกสืบทอดมาจากบรรพบุรุษด้วยประการฉะนี้