7 ข้อควรรู้ ดูแลสุขภาพ ‘เท้า’
7 ข้อควรรู้ ดูแลสุขภาพ ‘เท้า’
• คุณภาพชีวิต
แนะเลือกวัสดุยืดหยุ่น-ใส่สบาย
“เท้า” อวัยวะเล็กๆ ที่มีความสำคัญต่อร่างกายและการดำรงชีวิต ปัจจุบันหลายคนมองข้ามในการดูแลเท้าน้อยกว่าส่วนอื่นๆ ทราบหรือไม่ว่า มนุษย์ใช้เท้าเดินชั่วชีวิตประมาณ 184,000 กิโลเมตร หรือ 4 เท่า ของระยะทางรอบโลก
โครงสร้างเท้าคนเราเป็นสถาปัตยกรรมที่มหัศจรรย์และน่าทึ่งมาก ด้วยความพิเศษของการออกแบบโครงสร้างตามธรรมชาติ ประกอบด้วยกระดูกทั้งหมด 28 ชิ้น จะถูกยึดเป็นข้อต่อต่างๆ ด้วยเยื่อหุ้มข้อ พังผืด และด้วยกล้ามเนื้อมัดเล็กๆ ในฝ่าเท้าที่มีถึง 4 ชิ้น รวมทั้งเอ็นของกล้ามเนื้อต่างๆ
นอกจากนี้ ยังมีชั้นไขมันรองรับและปิดด้วยผิวหนัง ฝ่าเท้าคนเรามีความพิเศษมาก มีความหนาประมาณ 4 – 5 มิลลิเมตร เป็นชั้นสุดท้าย ทั้งหมดเพื่อการกระจายน้ำหนัก บรรเทาแรงกระแทกที่จะส่งต่อขึ้นสู่เข่า สะโพกและกระดูกสันหลัง
ขณะที่เรายืน เดิน หรือวิ่ง น้ำหนักของร่างกายทั้งหมดจะถูกส่งมาที่เท้าทั้ง 2 ข้าง ส่วนโค้งของเท้าจะยุบตัวลงเพื่อลดแรงกระแทก แรงกระแทกที่กระทำต่อเท้า แท้จริงแล้วคือแรงที่เกิดจากปฏิกิริยาตอบกลับจากพื้นสู่เท้า ซึ่งจะขึ้นสูงถึง 1.4 – 1.6 เท่า ของน้ำหนักตัว และจะสูงถึง 3 – 5 เท่า ในขณะที่เราวิ่ง แรงกระแทกทั้งหมดจะส่งต่อไปยังเข่า สะโพก และกระดูกสันหลัง
อาการและโรคที่มักเกิดจากการสวมรองเท้าที่ผิดสุขลักษณะ หรือรองเท้าส้นสูง เช่น นิ้วหัวแม่เท้าเก เส้นเลือดขอด ปวดฝ่าเท้าด้านหน้า มีหนังด้านหรือตาปลาที่ฝ่าเท้า ปวดล้าบริเวณนิ้วเท้า น่อง และหลัง นอกจากนี้ การใส่รองเท้าคับยังเสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน และโรคต่างๆ อีกมากมาย ดังนั้น การเลือกรองเท้าที่เหมาะสม คือ
1. รองเท้าที่เหมาะสมควรทำด้วยวัสดุที่ยืดหยุ่น และระบายอากาศได้ดี เช่น หนังแท้ หนังสังเคราะห์ ผ้าบางชนิด ฯลฯ
2. ในการซื้อรองเท้าควรเป็นเวลาสายๆ หรือบ่าย เพราะช่วงนั้นเท้าจะขยายออกเต็มที่ และสวมถุงเท้าทุกครั้งที่ลองรองเท้า
3. เลือกสวมรองเท้าส้นเตี้ย ที่มีความสูงต่างระดับไม่เกิน 0.5 – 1.5 นิ้ว
4. ขนาดรองเท้าต้องพอดีไม่เล็กหรือหลวม สังเกตความกว้างของเท้าให้เหมาะสมกับเท้า โดยเฉพาะส่วนหน้า อย่าเลือกแบบที่เรียวแคบ ควรเลือกชนิดหัวกว้างพอที่ให้นิ้วเท้าขยับได้
5. รองเท้าควรปรับขนาดได้ด้วยเชือก หรือ เวลโคร (Velcro)
6. ด้านในรองเท้าควรบุให้นิ่มและเรียบ โดยเฉพาะส่วนพื้นในที่รับเท้าต้องยืดหยุ่น เช่น ถ้าเป็นรองเท้ากีฬา ส่วนนี้ควรหนา 5 – 10 มิลลิเมตร
7. เมื่อซื้อรองเท้าคู่ใหม่ อาจต้องใช้เวลาคุ้นเคยก่อน โดยการใส่รองเท้าคู่นั้นนานๆ ประมาณ 1 – 2 ชั่วโมง แล้วถอดออก ต้องไม่เกิดแผลพองหรือระคายเคืองเท้า ค่อยๆ เพิ่มเวลานานขึ้นในแต่ละวัน วันละ 1 ชั่วโมง จนครบ 1 สัปดาห์
ทั้งนี้ ในการแพทย์สามารถใช้รองเท้าในการรักษา เช่น ให้มีการรับแรงกระแทก กระจายแรงไปสู่ส่วนที่เป็นรอยโรค ประคองรูปเท้า เพื่อเสริมการทำงานของข้อต่อเท้าให้มีประสิทธิภาพ ลดการเจ็บปวด แก้ไขการผิดรูปในเท้าเด็ก ป้องกันแผลในคนไข้เบาหวาน เป็นต้น
ที่มา: หนังสือพิมพ์มติชน