3 E ของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติสไตล์ Blue Ocean

3 E ของการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติสไตล์ Blue Ocean
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
ในครั้งที่แล้วผมได้เกริ่นไว้ถึงแนวคิดที่สำคัญอีกประการที่ปรากฏในหนังสือขายดีข้ามปีอย่าง Blue Ocean Strategy โดยเป็นแนวคิดในการนำกลยุทธ์ Blue Ocean ที่ได้กำหนดไว้ให้สามารถใช้ให้เกิดผลในทางปฏิบัติ โดยการจะนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติให้ได้ผลนั้น ปัจจัยสำคัญประการหนึ่งคือการได้ใจคน เพื่อให้บุคลากรในองค์กรเกิดทัศนคติที่ดีต่อกลยุทธ์ที่ได้มีการกำหนดขึ้น เพื่อทำให้บุคลากรได้มีพฤติกรรมที่เหนือความคาดหวังของผู้บริหาร เมื่อใดก็ตาม ที่บุคลากรได้ใจและมีพฤติกรรมที่เหนือความคาดหวัง (ในทางที่ดีนะครับ) ย่อมจะง่ายขึ้นในการนำกลยุทธ์ไปปฏิบัติ
ในครั้งที่แล้วได้นำเสนอแนวคิดในเรื่องของ Fair Process ไว้ โดยแนวคิดหลักของเรื่อง Fair Process นั้น คือบุคลากรในองค์กรจะให้ความสนใจ และสำคัญต่อกระบวนการในการพัฒนาหรือได้มาซึ่งกลยุทธ์ที่มีความยุติธรรม หรือชัดเจน มากพอๆ กับผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น หรือในบางกรณีมากกว่าผลลัพธ์ที่เกิดขึ้น โดยถ้ามี Fair Process ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์ ก็จะถือเป็นการซื้อใจบุคลากร ทำให้บุคลากรยอมรับ และพร้อมจะปฏิบัติตามกลยุทธ์ที่ได้กำหนดขึ้น
หนังสือ Blue Ocean เขาได้แนะนำไว้ครับว่า การจะเกิด Fair Process ในกระบวนการวางแผนกลยุทธ์นั้น จะต้องประกอบด้วย 3 E ด้วยกันครับ โดยปัจจัยทั้งสามประการนั้น เป็นปัจจัยที่ส่งผลถึงกันและกันสามประการที่จะทำให้เกิด Fair Process ครับ โดยปัจจัยทั้งสามประการ ได้แก่ Engagement Explanation และ Expectation Clarity เรามาลองพิจารณาทีละตัวกันนะครับ
Engagement หรือการให้บุคลากรเข้ามามีส่วนร่วม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางด้านกลยุทธ์ โดยการสอบถามถึงความคิดเห็นของบุคลากรในระดับต่างๆ เกี่ยวกับกลยุทธ์ รวมทั้งการเปิดโอกาสในบุคลากร ได้มีโอกาสแสดงความคิดเห็นต่อความคิดเห็นของผู้อื่นด้วย
การให้บุคลากรได้เข้ามามีส่วนร่วมนั้น ถือเป็นการให้เกียรติและยอมรับต่อความคิดเห็นของบุคลากร ส่วนการเปิดโอกาสให้บุคลากรได้แสดงความคิดเห็นต่อความคิดเห็นอื่นๆ นั้นจะทำให้บุคลากรได้พัฒนากระบวนการในการคิด วิเคราะห์ สังเคราะห์ และวิพากษ์ผู้อื่น รวมทั้งยังทำให้เกิดความคิดเห็นร่วมระหว่างบุคลากรด้วยกัน
จะสังเกตแนวปฏิบัติขององค์กรต่างๆ ในประเทศไทยนั้น กระบวนการวางแผนกลยุทธ์ หรือการตัดสินใจทางกลยุทธ์นั้น มักจะไม่ค่อยเปิดโอกาสให้บุคลากรในระดับต่างๆ ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการคิดหรือแสดงความคิดเห็นเท่าใด ส่วนใหญ่แล้วจะเป็นผู้บริหารระดับสูงเพียงแค่ไม่กี่ตำแหน่ง ทำให้บุคลากรในระดับล่างๆ ไม่รู้สึกว่าตนเองได้มีส่วนร่วมหรือเกี่ยวข้องกับกลยุทธ์ที่เกิดขึ้น
ท่านผู้อ่านอาจจะตั้งข้อสังเกตว่าการให้บุคลากรในทุกระดับได้เข้ามามีส่วนร่วมในการตัดสินใจทางกลยุทธ์นั้น เป็นสิ่งที่ยากในทางปฏิบัติ ทั้งนี้ เนื่องจากจำนวนบุคลากรที่เยอะ หรือการที่บุคลากรไม่ได้รับทราบข้อมูล หรือภาพรวมที่จะทำให้ตัดสินใจได้ดี หรือข้อมูลบางอย่างที่เป็นความลับทางธุรกิจ แต่จริงๆ แล้ว ผมเชื่อว่าผู้บริหารองค์กรต่างๆ ย่อมสามารถที่จะหาวิธีการหรือแนวทางในการทำให้บุคลากรในทุกระดับได้มีความรู้สึกว่า ตนเองได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์ขององค์กร เช่น
การให้บุคลากรได้รวมตัวเป็นกลุ่มๆ เพื่อเสนอแนะความคิดเห็นต่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือตลาดใหม่ๆ โดยให้มีการนำเสนอ และคัดเลือกแนวคิดที่น่าสนใจไปพัฒนาต่อ เป็นต้น
การให้บุคลากรได้มีส่วนร่วมในการกำหนดกลยุทธ์นั้น ย่อมจะทำให้เกิดการตัดสินใจทางกลยุทธ์ที่ดีขึ้น (ช่วยกันคิด ดีกว่าคิดกันไม่กี่คน) รวมทั้งยังทำให้เกิดการยอมรับต่อกลยุทธ์ที่เลือกจากบุคลากรในทุกระดับ
E ตัวที่สองคือ Explanation ครับ ซึ่งหมายถึงการที่ทุกคนที่เกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบจากกลยุทธ์ดังกล่าว (หรือง่ายๆ คือบุคลากรส่วนใหญ่ในองค์กร) ได้มีความเข้าใจถึงสาเหตุ เบื้องหลัง หรือสมมติฐานของการตัดสินใจทางกลยุทธ์ที่เกิดขึ้น การที่ได้มีการอธิบายเบื้องหลังความคิดที่นำไปสู่กลยุทธ์นั้น ทำให้บุคลากรได้เกิดความมั่นใจว่า เวลาที่ผู้บริหารตัดสินใจนั้น ได้คิดอย่างรอบคอบ และคิดถึงประโยชน์ขององค์กรเป็นหลัก ซึ่งทำให้บุคลากรได้เกิดความไว้วางใจต่อเจตนาของผู้บริหาร (ถึงแม้ว่าความคิดเห็นของตนเองจาก E ข้อแรกจะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติ)
ผมเองก็เจอเหตุการณ์หลายครั้งครับที่ผู้บริหารเวลาตัดสินใจทางกลยุทธ์นั้นก็มีเจตนาดี คิดและทำเพื่อส่วนรวม แต่เมื่อนำกลยุทธ์นั้นไปปฏิบัติแล้วผลปรากฏว่าบุคลากรส่วนใหญ่ไม่ไว้ใจในเจตนารมณ์ของผู้บริหาร เนื่องจากขาดการสื่อสารหรืออธิบายถึงเบื้องหลังของการคิด ซึ่งถึงแม้ผู้บริหารจะได้มีการสื่อสารถ่ายทอดกลยุทธ์ ออกไปยังบุคลากรทุกระดับ แต่สิ่งที่ทุกคนรับทราบคือตัวกลยุทธ์ แต่ไม่ทราบถึงเบื้องหลังการคิด หรือสมมติฐานของกลยุทธ์ดังกล่าว หรืออาจจะเรียกได้ว่าไม่ทราบที่มาที่ไปก็ได้ครับ
ดังนั้น ท่านผู้อ่านอย่าลืมอธิบายที่มาที่ไป หรือวิธีการคิดในกลยุทธ์ให้บุคลากรได้รับทราบด้วยนะครับ เพื่อนำไปสู่ความไว้วางใจของบุคลากรต่อตัวผู้บริหาร และกลยุทธ์ที่จะนำไปใช้
สัปดาห์นี้ ผมขอจบเพียงแค่ E สองตัวแรกก่อนนะครับ ในสัปดาห์หน้าเราจะมาจบที่ E ตัวสุดท้าย รวมถึงเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยเพิ่มเติมครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *