3 กลไก… พัฒนาภาษาต่างประเทศเด็กไทย

3 กลไก… พัฒนาภาษาต่างประเทศเด็กไทย

วันที่ : 17 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาวันนี้

ที่ผ่านมา แม้ว่าคนไทยจะเรียนภาษาต่างประเทศมากเพียงใด แต่ทักษะการพูด อ่าน และเขียนยังพัฒนาน้อยมาก หากดูเฉพาะภาษาอังกฤษ ผลการประเมินของสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) พบว่า ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนภาษาอังกฤษ ระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ต่ำกว่าร้อยละ 50 และการสอบโทเฟล (TOEFL) ระหว่างกรกฎาคม 2547-มิถุนายน 2548 ของศูนย์ทดสอบทางการศึกษา (Education Testing Service) สหรัฐอเมริกา พบว่า ไทยมีคะแนนเฉลี่ยการทดสอบภาษาอังกฤษอยู่ลำดับที่ 8 ในกลุ่มอาเซียน รองจากสิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย พม่า อินโดนีเซีย เวียดนาม และลาว และจากการทดสอบภาษาอังกฤษเพื่อการสมัครงาน หรือโทอิก (TOEIC) พบว่า ช่วงปี 2547-2548 คะแนนสอบโทอิกของไทยรองจากฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ กัมพูชา สรุปได้ว่า ทักษะภาษาต่างประเทศของไทยเป็นรองพม่า ลาว กัมพูชา เวียดนาม ทั้งที่หากเทียบระดับของการพัฒนาประเทศ ไทยนำหน้าประเทศเหล่านี้

สาเหตุสำคัญที่ทำให้คนไทยไม่สามารถพูด อ่าน และเขียนภาษาต่างประเทศโดยเฉพาะภาษาอังกฤษได้ดีนั้น มาจากหลายสาเหตุ ไม่ว่าจะเป็นการขาดแคลนครูผู้สอนที่มีคุณภาพ การเรียนการสอนที่มีคุณภาพมักกระจุกตัวอยู่ในเมือง ประกอบกับผู้เรียนไม่ได้มีการฝึกหรือต้องใช้ภาษาต่างประเทศในชีวิตประจำวัน และมีเพียงคนบางกลุ่มเท่านั้นที่สามารถจ่ายค่าเรียนพิเศษในสถาบันสอนภาษาที่มีคุณภาพ ดังนั้น การพัฒนาคนไทยให้พูดภาษาต่างประเทศได้ดี ควรเพิ่มโอกาสการเรียนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพ โดยปรับวิธีการเรียนการสอนให้มีหลากหลาย และให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเรียนกับครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ ดังนี้

ปรับเนื้อหาหนังสือเรียนระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน

หนังสือเรียนทุกวิชาควรสอดแทรกคำศัพท์หรือประโยคสั้น ๆ ไว้ด้านหลังภาษาไทย หรือปรับเนื้อหาในหนังสือเรียนภาษาต่างประเทศให้สอดคล้องกับเนื้อหาวิชาอื่น เช่น นำบางตอนของวิชาภาษาไทย สังคมศึกษา คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ มาแปลเป็นเนื้อหาวิชาภาษาต่างประเทศ เป็นต้น เพื่อให้ผู้เรียนเรียนรู้คำศัพท์ ฝึกสร้างประโยคภาษาต่างประเทศ และรู้จักใช้ภาษาต่างประเทศในบริบทต่าง ๆ การปรับเนื้อหาในหลักสูตร เป็นช่องทางที่ทำให้ผู้เรียนทุกคนมีโอกาสเรียนภาษาต่างประเทศได้ตลอดเวลา และช่วยให้ผู้เรียนคุ้นเคยกับภาษาต่างประเทศมากขึ้น แต่ทั้งนี้ ควรศึกษาวิจัยก่อนว่าควรเริ่มต้นปรับเนื้อหาหลักสูตรในระดับชั้นใด และควรสอดแทรกภาษาต่างประเทศในเนื้อหาวิชาต่าง ๆ อย่างไร ที่ช่วยให้ผู้เรียนได้ซึมซับภาษาต่างประเทศได้มากที่สุด นอกจากนี้ ในหลักสูตรภาษาอังกฤษ ควรบังคับให้มีการพาผู้เรียนไปฝึกภาษาต่างประเทศกับคนต่างชาติ เพื่อให้ผู้เรียนได้ฝึกใช้ในชีวิตจริง

สนับสนุนเว็บไซต์การสอนภาษาต่างประเทศ

จัดทำเว็บไซต์ให้ผู้เรียนเข้ามาฝึกภาษาต่างประเทศหลายภาษา ภายในเว็บไซต์จะบทเรียนฝึกพูด อ่าน เขียน ภาษาต่างประเทศ และมีช่องทางให้ผู้เรียนได้สื่อสารกับเพื่อนต่างชาติ ตัวอย่างประเทศอังกฤษ มีศูนย์ภาษาเสมือนจริง Lingu@NET EUROPA ซึ่งเกิดจากสหภาพยุโรปต้องการเชื่อมโยงสถานศึกษาในประเทศสมาชิกเข้าด้วยกัน (European Schools Network) ผลปรากฏว่า ตั้งแต่เริ่มโครงการ ไม่มีเฉพาะผู้เรียนในประเทศที่เป็นสมาชิกสหภาพยุโรปเข้ามาเรียนเท่านั้น ยังมีผู้เรียนจากทั่วโลกเข้ามาใช้เว็บไซต์นี้ โดยสามารถสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติในรูปแบบแชทรูม เพื่อฝึกภาษาต่างประเทศ ซึ่งมีถึง 20 ภาษา ได้แก่ แบ็ซค์ (Basque) บัลแกเรีย คาตะลาน (Catalan) เดนิช (Danish) ดัช อังกฤษ เอสโตเนีย ฟินนิช ฝรั่งเศส กาลีเชียน (Galician) เยอรมัน กรีก ไอซ์แลน อิตาเลียน ลิทัวเนีย มอลทีส (Maltese) โปแลนด์ โปรตุเกส สเปน และสวีเดน ผู้ที่เข้าไปเรียนในเว็บไซต์สามารถวัดระดับภาษา และเลือกรูปแบบการเรียนที่สอดคล้องกับตัวเอง มีผู้เรียนจากหลายชาติที่เข้ามาเรียน เช่น จีน รัสเซีย สวีเดน สเปน ฯลฯ ทั้งที่เป็นครู อาจารย์ นักเรียนนักศึกษา และผู้สูงอายุ ซึ่งลงความเห็นว่าเว็บไซต์นี้ช่วยในการใช้ภาษาต่างประเทศ เนื่องจากมีช่องทางสื่อสารกับเพื่อนต่างชาติในรูปแบบแชทรูม (เว็บไซต์ http://www.linguanet-europa.org/plus/welcome.htm)

สนับสนุนการสอนภาษาต่างประเทศโดยครูผู้เชี่ยวชาญ

ที่ผ่านมามีสภาพการขาดแคลนครูสอนภาษาต่างประเทศที่มีคุณภาพ โดยครูสอนภาษาต่างประเทศ 1 คน ต้องสอนหลายชั้นเรียน จึงไม่สามารถพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศให้ผู้เรียนแต่ละระดับชั้นได้เจาะจง อีกทั้ง ตัวครูเองก็ไม่ได้รับการพัฒนาศักยภาพให้ก้าวหน้าไปได้เท่าที่ควร ส่งผลให้การเรียนภาษาต่างประเทศขาดคุณภาพและไม่สอดคล้องความต้องการของผู้เรียนในแต่ละระดับชั้น ดังนั้น กระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) ควรเปิดโอกาสให้โรงเรียนต่าง ๆ หมุนเวียนครูที่เชี่ยวชาญภาษาต่างประเทศ โดยครู 1 คน สามารถสอนผู้เรียนได้หลายโรงเรียน แต่สอนระดับชั้นเดียว หรือช่วงชั้นเดียว เพื่อให้ครูลงลึกกับผู้เรียนแต่ละระดับชั้นและแต่ละช่วงชั้น ทำให้การเรียนภาษาต่างประเทศมีคุณภาพมากขึ้น

นอกจากนี้ ควรจูงใจคนเก่งเป็นครูสอนภาษาต่างประเทศ โดย ศธ. ควรปรับบันไดเงินเดือนตามสาขาวิชาที่ขาดแคลน เพื่อให้ได้ครูดี ครูเก่งภาษาต่างประเทศเข้ามาสอนในโรงเรียน ควรใช้กลไกตลาดเข้ามาช่วย โดย ศธ. อาจพิจารณาเพิ่มเงินเดือนครูในสาขาวิชาที่ขาดแคลน ซึ่งภาษาต่างประเทศเป็นสาขาหนึ่งที่ขาดแคลน เพราะปัจจุบันเงินเดือนครูในระบบถูกกำหนดตายตัว เงินเดือนครูขั้นเริ่มต้นเพียงไม่กี่พันบาท จึงไม่สามารถจูงใจให้คนเข้ามาเป็นครูได้ หากเปลี่ยนบันใดเงินเดือนตามความสามารถและตามสาขาวิชาที่ขาดแคลน เป็นการสร้างแรงกระตุ้นให้คนเก่งเข้ามาเป็นครูมากขึ้น และเป็นการรักษาครูเก่งให้อยู่ในระบบต่อไป

การจะผลักดันให้คนไทยพัฒนาภาษาต่างประเทศ นอกเหนือจากดำเนินการด้านอุปทาน โดยเพิ่มโอกาสและคุณภาพการเรียนภาษาต่างประเทศให้ผู้เรียนตามที่กล่าวไว้ข้างต้นนั้น สิ่งสำคัญประการหนึ่งคือ การเพิ่มอุปสงค์ภาษาต่างประเทศ โดยเพิ่มความต้องการแรงงานที่มีทักษะภาษาต่างประเทศ เช่น ขยายธุรกิจคนไทยไปยังต่างประเทศ ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติเข้ามาลงทุนในไทย การขยายธุรกิจคนไทยในการจัดสินค้าและบริการให้คนต่างประเทศที่เข้ามาทำธุรกิจหรืออาศัยในประเทศไทย ฯลฯ ซึ่งเป็นการอาศัยกลไกตลาดเข้ามาช่วยเพิ่มความต้องการพัฒนาทักษะภาษาต่างประเทศให้คนไทยได้มากขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *