3 กรณีศึกษา “รถรับส่งนักเรียน”

3 กรณีศึกษา “รถรับส่งนักเรียน”

เป็นที่ทราบกันดีว่าระบบรถรับส่งนักเรียนโดยรถโรงเรียนนั้น ไม่เพียงแต่จะช่วยลดปัญหาการจราจรติดขัด และส่งเสริมการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพเท่านั้น แต่ยังหมายถึงทางเลือกในการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดสำหรับนักเรียนด้วย ความพยายามผลัดดันในเกิดรถโรงเรียนมีมาอย่างต่อเนื่อง ทว่าในประเทศไทยการมี “รถโรงเรียน” กลับต้องเผชิญอุปสรรคปัญหามากมาย ตั้งแต่หลักเกณฑ์มาตรฐานที่สูง ความคุ้มทุน และการบริหารจัดการ

อย่างไรก็ตามในท่ามกลางความเป็นไปได้ยากของรถโรงเรียน ก็มีบางกรณีที่เป็นข้อยกเว้น แม้อาจจะไม่ถือว่าประสบผลสำเร็จจนสร้างมาตรฐานเทียบเท่ากับระบบรถโรงเรียนในต่างประเทศ แต่คงจะเป็นการดีหากได้นำมาสรุปเพื่อต่อยอดความรู้ในการบริหารจัดการต่อไป

นายแพทย์อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ และคณะได้ทำการวิเคราะห์ กรณีศึกษา การจัดบริการรับ-ส่งนักเรียนใน 3 โรงเรียน คือ โรงเรียนเทศบาลนครขอนแก่น โรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม กรุงเทพมหานคร โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล และจัดทำเป็นรายงานออกมาในชื่อว่า “วิเคราะห์ 3 กรณีศึกษา การจัดบริการรับ-ส่งนักเรียน” (มีนาคม พ.ศ.2548) ซึ่งสรุปเนื้อหาได้ดังนี้

กรณีการให้บริการรถรับส่งนักเรียนในเทศบาลนครขอนแก่นนั้น เริ่มจากสำนักการศึกษาของเทศบาลนครขอนแก่นและบุคลากรด้านการศึกษามีความต้องการในการจัดระบบการเรียนการสอนของเด็กนักเรียนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของระบบการเรียนการสอนแบบใหม่ที่มุ่งให้เด็กเป็นศูนย์กลาง (child center) ในการเรียนรู้ รวมทั้งการส่งเสริมให้เด็กมีโอกาสได้เรียนรู้จากสิ่งแวดล้อมภายนอก แต่ที่ผ่านมาการจัดทัศนศึกษานอกสถานที่นั้น ส่วนใหญ่พาหนะที่ใช้ได้แก่รถสองแถว หรือรถทัวร์ ซึ่งมีสภาพภายนอกและภายในที่ไม่เหมาะสมกับเด็ก จนอาจก่อให้เกิดอุบัติเหตุหรือไม่ปลอดภัยกับเด็กนักเรียนได้ จากปัญหาดังกล่าวจึงเกิดความร่วมมือกันระหว่างหน่วยงานหลักๆ ขึ้น คือฝ่ายการศึกษา กับคณะผู้บริหารของเทศบาล โดยร่วมกันจัดตั้งโครงการให้บริการรถรับส่งนักเรียนเพื่อการไปศึกษานอกสถานที่

ในระยะต่อมาผลกระทบจากปัญหาการจราจรติดขัด น้ำมันแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น และมลภาวะที่เกิดขึ้นจากความหนาแน่นของการใช้รถยนต์ส่วนบุคคลมากขึ้น จึงได้พัฒนาเป็นโครงการ “เส้นทางสายรุ้ง” เพื่อรถรับส่งนักเรียนในทุกวัน โดยใช้รถรับส่งนักเรียนที่ให้บริการนำเด็กนักเรียนไปทัศนศึกษานอกสถานที่ที่ใช้อยู่ กล่าวคือ นำรถของเทศบาลฯ จำนวน 3 คัน ได้แก่รถบรรทุกดัดแปลง 6 ล้อ รถโดยสาร ปรับอากาศ 40 ที่นั่ง และรถบรรทุกดัดแปลง 6 ล้อ มาให้บริการรับ-ส่งนักเรียนของโรงเรียนเทศบาลในสังกัดฯ ลักษณะภายนอกของรถมีการติดสติ๊กเกอร์ให้มีสีสันสวยงาม และปฏิบัติตามที่กรมการขนส่งทางบกกำหนดคือ มีไฟฉุกเฉิน ป้ายรถรับส่งนักเรียน ภายในรถมีขวาน เครื่องดับเพลิง ชุดปฐมพยาบาล เครื่องขยายเสียงหรือโทรโข่ง ตลอดจนมีผู้ดูแลประจำรถคันละ 2 คน กำหนดเป้าหมายให้บริการ จำนวน 3 เส้นทาง โดยการให้บริการจะเน้นด้านความปลอดภัย โดยกำหนดจุดรับส่งรถที่ชัดเจนและมีป้ายประจำจุดเป็นที่นัดหมาย ระหว่างจอดรถเพื่อรับส่งนักเรียนจะมีเจ้าหน้าที่ 1 คน คอยดูแลจัดระเบียบ ส่วนเจ้าหน้าที่อีกคนจะดูแลความปลอดภัยและยืนโบกธงให้เพื่อเป็นสัญญาณการขอทาง ในระหว่างนี้จะมีครูมาคอยดูแลความปลอดภัยด้วย

จากการศึกษาพบว่า การให้บริการรถรับส่งนักเรียนของโครงการนี้มีอุปสรรคบ้างในช่วงแรกของการดำเนินงาน เนื่องจากยังไม่เป็นที่รู้จักและเป็นที่นิยมของผู้ปกครองและนักเรียน ทางคณะกรรมการโครงการฯ จึงได้มีแนวทางในการแก้ไขปัญหาดังกล่าวโดยมุ่งเน้นการประชาสัมพันธ์โครงการอย่างต่อเนื่อง มีการติดสติ๊กเกอร์ที่ตัวรถและการออกแบบรูปแบบรถให้มีสีสันที่สวยงามและดึงดูด การให้ผู้ดูแลประจำรถแต่งตัวด้วยชุดการ์ตูน การใช้เครื่องขยายเสียงประชาสัมพันธ์ขณะให้บริการ การกำหนดจุดจอดรถรับส่งนักเรียนที่มีลักษณะเฉพาะของโครงการ นอกจากนี้ในอนาคตอาจมีปัญหาความไม่พอเพียงในการให้บริการอันเนื่องมาจากรถที่ให้บริการมีอยู่อย่างจำกัด รวมทั้งไม่สามารถจัดบริการได้อย่างต่อเนื่องทุกวัน เนื่องจากเทศบาลต้องนำรถดังกล่าวไปใช้ในกิจกรรมอย่างอื่นด้วย

ความท้าทายของโครงการนี้ก็คือ ปัญหาเรื่องความยั่งยืนของโครงการ เนื่องจากโครงการนี้ดำเนินการได้ภายใต้งบประมาณของเทศบาลทั้งหมด โดยไม่ได้คาดหวังถึงรายได้ และผู้รับบริการไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายใดๆ ดังนั้นหากคิดในแง่ความคุ้มทุนเชิงธุรกิจแล้ว โครงการดังกล่าวไม่มีความคุ้มทุนแต่อย่างใด อนาคตของโครงการเส้นทางสายรุ้ง จึงขึ้นอยู่กับนโยบายของผู้บริหารเป็นหลัก แม้ทางคณะผู้บริหารของเทศบาลนครขอนแก่นมีแนวคิดที่จะขยายขอบเขตในการบริการมากยิ่งขึ้น แต่การพัฒนาโครงการให้ยั่งยืนต่อไปในระยะยาวไม่สามารถคาดเดาได้ เนื่องจากยิ่งมีการขยายขอบเขตการให้บริการมากขึ้นไปเท่าใดก็จะยิ่งมีค่าใช้จ่ายเพิ่มสูงมากขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามในรายงานศึกษาชิ้นนี้ ได้นำกรณีของอีก 2 โรงเรียนที่ไม่มีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอุดหนุน นั่นคือ การให้บริการรถรับส่งนักเรียนโรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม โรงเรียนในสังกัดกรุงเทพมหานครเขตทวีวัฒนา และอีกกรณีคือโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล สังกัดกระทรวงศึกษาธิการ ซึ่งมีลักษณะคล้ายคลึงกัน กล่าวคือเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพมหานครติดกับจังหวัดนครปฐม มีทั้งลักษณะที่เป็นบ้านจัดสรรของโครงการต่างๆ บ้านริมคลอง บ้านเดี่ยวแบบอาศัยกันอยู่เป็นครอบครัวขยาย ตลอดจนชุมชนต่าง ๆ ปะปนกัน และมีลักษณะเป็นทั้งสังคมชนบทผสมกับสังคมเมือง

จุดเริ่มต้นของการให้บริการรถรับส่งนักเรียนของทั้งสองโรงเรียนเกิดจากความไม่สะดวกในการเดินทางโดยรถสาธารณะซึ่งวิ่งผ่านน้อยมาก การเดินทางไปกลับของนักเรียนในอดีตที่ผ่านมาจึงต้องใช้การเดิน พายเรือ จักรยาน จักรยานยนต์ส่วนบุคคล รถยนต์ส่วนบุคคล เป็นหลัก

และเมื่อเกิดภาวะผลกระทบจากปัญหาน้ำมันแพง ค่าครองชีพที่สูงขึ้น ในที่สุดจึงเกิดการให้บริการรถรับส่งนักเรียนขึ้น โดยกรณีของโรงเรียนตั้งพิรุฬห์ธรรม เป็นผู้ประกอบการจากบุคคลภายนอก ดำเนินการในรูปแบบที่เป็น กลุ่มให้บริการรถตู้รับส่งนักเรียน ขึ้น ขณะที่ของโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล แม้จะเป็นการใหบริการจากภายนอก แต่มี สมาคมผู้ปกครองและครูโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล เป็นผู้เข้ามาดำเนินการกำกับดูแล

การให้บริการรถตู้รับส่งนักเรียนของทั้งสองโรงเรียน อาศัยความคุ้นเคยระหว่างครูกับโรงเรียน ผู้ประกอบการ และผู้ปกครอง โดยการดำเนินโครงการไม่มีหน่วยงานทางภาครัฐหรือเอกชนให้การสนับสนุน แต่ใช้วิธีการเก็บเงินจากสมาชิก โดยกรณีตั้งพิรุฬห์ธรรมเก็บค่าสมาชิก 300 บาท ส่วนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา หากเป็นรถตู้หรือรถบัสแอร์ตั้งแต่ 900-1,100 บาทต่อเดือน ตามระยะทาง รถสองแถวตั้งแต่ 500-600 บาทต่อเดือน ตามระยะทาง ทั้งนี้จะมีการประชุมร่วมกันระหว่างสมาชิกในกลุ่มเพื่อวางแผนการจัดเส้นทาง การให้บริการ ผู้ขับขี่รถจะเป็นผู้ดูแลระเบียบ และความปลอดภัยเองทั้งหมด ตั้งแต่ก่อนขึ้นรถ ระหว่างการเดินทาง และการลงจากรถ เสริมไปกับการใช้รูปแบบรุ่นพี่ดูแลน้อง

ในด้านปัญหาและอุปสรรคในการดำเนินการของทั้งสองกรณี ผู้ประกอบการมีความวิตกกังวลในเรื่องกฎหมายข้อบังคับของการให้บริการรถรับส่งนักเรียนจากภาครัฐเป็นอย่างมาก ซึ่งไม่มีความยืดหยุ่นหรือมีส่วนสนับสนุนจูงใจให้ผู้ประกอบการเข้ามาดำเนินการ อาทิข้อกำหนดเรื่องสีของรถโรงเรียนที่กำหนดให้เป็นสีเหลืองคาดดำ การจัดให้มีเครื่องหมายเป็นแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสง การจัดให้มีไฟสัญญาณสีเหลืองอำพันกระพริบ หรือกำหนดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียน เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉิน เป็นต้น ซึ่งเป็นต้นทุนที่เพิ่มขึ้น และไม่ยืดหยุ่นให้ผู้ประกอบการนำรถโรงเรียนไปใช้ในกิจการอื่นนอกเหนือเวลาบริการรับส่งนักเรียนได้

อย่างไรก็ตาม ทางออกของผู้ประกอบการคือการไม่นำรถไปจดทะเบียนเป็นรถโรงเรียนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และทำให้มีรายได้มากกว่ารายจ่ายในทุก ๆ เดือนได้ เนื่องจากการให้บริการรถตู้รับส่งนักเรียนมีลักษณะเป็นอาชีพเสริม

ทั้งสามกรณีศึกษา น่าจะได้นำไปสู่การคิดค้นหาแนวทางที่เหมาะสมเพื่อให้ รถโรงเรียน เกิดขึ้นอย่างเป็นระบบเพื่อสร้างหลักประกันในการเดินทางอย่างปลอดภัยแก่อนาคตของชาติต่อไป

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *