(2526-2548) 22 ปี “รถโรงเรียน” กับความพยายาม
(2526-2548) 22 ปี “รถโรงเรียน” กับความพยายาม
เป็นเวลากว่า 8 เดือนในแต่ละปีที่เด็กนักเรียนหลายล้านคนทั่วประเทศจะต้องเดินทางออกจากที่พักอาศัยเพื่อไปโรงเรียนในช่วงเช้า และเดินทางกลับในช่วงเย็น เฉพาะในกรุงเทพมหานครก็มีนักเรียนในระดับอนุบาล ถึงมัธยมปีที่ 6 มากกว่าล้านคน จึงไม่แปลกที่ช่วงเวลาเปิดภาคเรียนกว่า 8 เดือน จะเป็นช่วงเวลาที่สภาพการจราจรคับคั่งและติดขัดกว่าช่วงเวลาปิดภาคเรียน ไม่เพียงเท่านั้น เด็กนักเรียนที่ต้องเดินทางโดยรถสาธารณะเองก็เสี่ยงที่จะประสบอุบัติเหตุสูงด้วย
กระนั้นทางออกของปัญหาเหล่านี้ ได้แก่ ‘รถโรงเรียน’ ซึ่งในประเทศที่พัฒนาแล้วพบว่า มีความปลอดภัยที่เทียบเท่า หรือสูงกว่าการเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ หรือในกรุงเทพมหานครที่มีความปลอดภัยเทียบเท่ารถยนต์ส่วนบุคคลก็ไม่เคยเกิดขึ้นโดยทั่วไป กล่าวคือมีนักเรียนที่เดินทางโดยรถโรงเรียนอยู่น้อยมาก ในกรุงเทพมหานครก็มีเพียงร้อยละ 7.3 แม้ความพยายามริเริ่มให้มีระบบรถโรงเรียนอย่างเป็นทางการนั้น จะมีมากว่า 22 ปีแล้วก็ตาม
ในปี พ.ศ. 2526 มีการประกาศกฎกระทรวงฉบับที่ 22 (พ.ศ.2526) ออกตามความในพระราชบัญญัติการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ว่าด้วย ‘รถโรงเรียน’ เป็นครั้งแรก
พ.ศ.2527 – 2532 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ร่วมกับกรมการขนส่งทางบก จัดประชุมสัมมนาผู้บริหารโรงเรียนเอกชน ผู้ประกอบการรถโรงเรียนให้ปรับปรุงแก้ไขลักษณะของรถโรงเรียนให้ถูกต้องตามกฎกระทรวง ฉบับที่ 22 และจัดบริการรถรับส่งนักเรียนให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ในปี พ.ศ.2534 สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาเอกชน ได้ออกมาตรการส่งเสริมให้เอกชนกู้ยืมไปลงทุนซื้อรถบริการรับส่งนักเรียน วงเงินรวม 500 ล้านบาท แต่มาตรการดังกล่าวไม่ได้รับการตอบสนองจากภาคเอกชน
พ.ศ.2535 กรุงเทพมหานครส่งเสริมให้โรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร จัดรถโรงเรียน โดยโครงการเงินกู้ยืมจากธนาคารกรุงไทย แต่ไม่ได้รับความนิยม
ปี พ.ศ.2536 กระทรวงศึกษาธิการได้ออกระเบียบว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน ซึ่งมีรายละเอียดเพิ่มเติมไปจากกฎกระทรวงเล็กน้อย
พ.ศ.2537-2540 กรุงเทพมหานคร ซื้อรถโดยสารจาก ขสมก. และจัดเดินรถรับส่งนักเรียน ในรูปแบบรถโดยสารประจำทาง ตามมติ คจร. แต่ประสบปัญหาขาดทุนต่อเนื่อง จนต้องยกเลิกโครงการไป
ต่อมาในปี พ.ศ.2540 สจร. และกระทรวงศึกษาธิการดำเนินโครงการจัดระบบรถโรงเรียนร่วมกับสถาบันการเงินของรัฐ โดยให้เอกชน หรือโรงเรียนกู้เงินเพื่อจัดเช่าซื้อรถ พร้อมทั้งจัดมาตรการยกเว้นภาษีศุลกากร แต่ไม่มีบริษัทเอกชนใดเข้าร่วมโครงการ มีเพียงโรงเรียนเอกชนบางโรงเรียนเข้าร่วมเท่านั้น
พ.ศ.2545 กระทรวงศึกษาธิการ และขสมก. กำหนดจุดรับส่งนักเรียน ในพื้นที่ที่มีปัญหาการจราจรในกรุงเทพมหานคร แต่ไม่ได้รับความนิยม ในปีนี้ ขสมก. ยังจัดโครงการเดินรถโรงเรียนในทุก ๆ เขตการเดินรถ อย่างน้อยเขตละ 1 เส้นทาง ปัจจุบัน (2548) มีอยู่เพียง 8 เส้นทาง มีโรงเรียนเข้าร่วมโครงการ 8 โรงเรียน
จะเห็นได้ว่าเวลา 22 ปี เป็นเวลาของความพยายามที่ยังไม่เคยประสบความสำเร็จ ความล้มเหลวตลอด 22 ปีบ่งบอกว่า รถโรงเรียน หรือรถรับส่งนักเรียน และยังเป็นการบริการที่ได้รับการสนับสนุนอย่างไม่เหมาะสม และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นโรงเรียน, ผู้ประกอบการรายย่อยทั่วไป, สมาคมผู้ปกครองและครู, ชมรมผู้ประกอบการ หรือกลุ่มผู้ประกอบการ, องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร หรือผู้ประกอบการขนส่ง ฯลฯ ยังขาดความชำนาญและความจริงจังในการบริหารจัดการ
เรียบเรียงจาก : รายงานการศึกษา ‘ระบบการจัดการรถรับส่งนักเรียนในประเทศไทย’ โดย อนันต์ มโนมัยพิบูลย์ หัวหน้าศูนย์ส่งเสริมการวิจัย วิทยาลัยแพทยศาสตร์กรุงเทพมหานครและวชิรพยาบาล สำนักการแพทย์ กรุงเทพมหานคร, มีนาคม 2548