12 กลโกงที่นักช็อปออนไลน์ ต้องระวังในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

12 กลโกงที่นักช็อปออนไลน์ ต้องระวังในช่วงเทศกาลคริสต์มาส

ในเดือนธันวาคมของทุกปีเป็นช่วงที่ผู้คนทั่วโลกจะได้มีโอกาสจัดงานเฉลิมฉลองและพักผ่อนหย่อนใจรวมถึงเป็นช่วงเวลาแห่งการจับจ่ายซื้อของเพื่อนำไปเป็นของขวัญให้กับญาติสนิทมิตรสหายและบุคคลอันเป็นที่รัก ซึ่งการซื้อสินค้าออนไลน์ก็เป็นอีกช่องทางหนึ่งที่ได้รับความนิยมจากนักท่องอินเทอร์เน็ตไม่น้อย โดยในปีที่ผ่านมาผู้ที่ทำธุรกิจอี-คอมเมิร์ซต่างก็มีรายได้กันเป็นกอบเป็นกำ แต่ปรากฏว่าในโลกของอี-คอมเมิร์ซนั้นก็มีกลุ่มมิจฉาชีพที่คอยหาประโยชน์จากอี-คอมเมิร์ซไปในทางมิชอบจากนักช็อปออนไลน์ ทั้งนี้ แมคอาฟี่ (McAfee) ก็ได้ออกมาเตือนผู้ซื้อสินค้าและบริการออนไลน์ให้ระมัดระวังกลโกงต่างๆ ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงคริสต์มาสโดยนำเสนอ 12 กลโกง ที่อาชญากรออนไลน์อาจใช้เป็นช่องทางแสวงหาผลประโยชน์
กลโกงข้อที่หนึ่ง คือ การส่งอีเมล์ขอให้บริจาคเงินออนไลน์ โดยอ้างว่ามาจากองค์กรการกุศลต่างๆ ที่น่าเชื่อถือ ซึ่งจากการสำรวจของแมคอาฟี่เมื่อช่วงเทศกาลปลายปี พ.ศ. 2551 มีนักช็อปออนไลน์ชาวอเมริกันเกือบร้อยละ 30 วางแผนบริจาคเงินเพื่อการกุศล ทำให้อาชญากรออนไลน์จับตาดูและเข้าถึงนักช็อปที่ต้องการบริจาคเงินออนไลน์ได้อย่างรวดเร็วและมีความเป็นไปได้มากที่ชาวอเมริกันร้อยละ 30 จะตกเป็นเหยื่อของอาชญากรออนไลน์ที่ส่งอีเมล์ขอให้บริจาคเงินอย่างง่ายดาย นอกจากจะทำให้ลูกค้าต้องสูญเสียเงินไปโดยเปล่าประโยชน์ ก็อาจจะถูกหลอกให้บอกข้อมูลบัตรเครดิต และเอกลักษณ์เฉพาะตน (Identity) ในขณะเดียวกันก็ทำให้องค์กรการกุศลที่อาชญากรออนไลน์นำไปอ้างถึงเสื่อมเสียชื่อเสียงอีกด้วย
กลโกงข้อที่สอง คือ การส่งใบแจ้งหนี้ปลอม ในช่วงเทศกาลคริสต์มาสจะมีการใช้บริการขนส่งสินค้ามากขึ้นซึ่งอาชญากรออนไลน์จะส่งใบแจ้งหนี้ปลอมไปยังลูกค้าและอ้างว่าเป็นตัวแทนมาจากบริษัทขนส่งชื่อดังตัวอย่างเช่น อ้างว่าตนเป็นตัวแทนจากบริษัทยูพีเอสและแจ้งว่าผู้ส่งระบุชื่อที่อยู่ของผู้รับไม่ถูกต้องจึงขอให้พิมพ์ใบแจ้งหนี้ที่แนบมาเพื่อไปรับสินค้าที่บริษัทด้วยตนเอง อนึ่ง แฟ้มข้อมูลที่แนบมาด้วยนั้นเป็นแฟ้มข้อมูลที่มีไวรัสม้าโทรจันแฝงอยู่ จากนั้นเมื่อผู้ส่งคลิกแฟ้มข้อมูลที่แนบมากับอีเมล์ก็จะถูกไวรัสม้าโทรจันโจมตีและสร้างความเสียหายให้กับคอมพิวเตอร์
กลโกงข้อที่สาม คือ การส่งอีเมล์เชิญเป็นเพื่อน อาชญากรออนไลน์จะใช้เว็บเครือข่ายสังคมเป็นเหยื่อล่อผู้ที่ชื่นชอบการเข้าเว็บเครือข่ายสังคม โดยจะส่งอีเมล์แจ้งว่า “คุณมีเพื่อนใหม่ในเว็บเครือข่ายสังคม กรุณาคลิกที่จุดเชื่อมโยงเพื่อเข้าไปหาเพื่อนใหม่” เมื่อผู้รับอีเมล์หลงเชื่อและคลิกที่จุดเชื่อมโยง คอมพิวเตอร์ของผู้รับอีเมล์ก็จะถูกติดตั้งซอฟต์แวร์มารร้ายทันทีหรือได้เปิดเผยรหัสผ่านการเข้าถึงเว็บเครือข่ายสังคมของตนให้กับอาชญากรออนไลน์เรียบร้อยแล้ว
กลโกงข้อที่สี่ คือ ส่งบัตรอวยพรปลอมที่มาพร้อมกับซอฟต์แวร์มารร้าย แมคอาฟี่เตือนว่าไม่ควรเปิดดูบัตรอวยพรอิเล็กทรอนิกส์ หรือ “อีการ์ด (eCard)” จากบุคคลที่ไม่รู้จัก เพราะอาจจะเป็นอีการ์ดปลอม ซึ่งแฝงไปด้วยซอฟต์แวร์มารร้าย โฆษณาแบบผุดขึ้น (Pop Up) และโฆษณารูปแบบอื่นๆ ซึ่งอาจสร้างความรำคาญหรือทำให้คอมพิวเตอร์ของผู้ที่เปิดอ่านเกิดหยุดชะงักหรือมีความล่าช้าในการทำงาน
กลโกงข้อที่ห้า คือ การหลอกขายเพชรปลอม อาชญากรออนไลน์จะส่งอีเมล์พร้อมเสนอขายเพชรปลอมโดยอ้างว่ามาจากบริษัทขายเพชรชื่อดังและมีเพชรน้ำหนึ่งราคาต่ำ หากสนใจก็ให้คลิกที่จุดเชื่อมโยงเพื่อเข้าไปดูสินค้าได้ ซึ่งจุดเชื่อมโยงดังกล่าวเป็นจุดที่นำไปสู่การติดไวรัสและเป็นการหลอกให้โอนเงินไปให้พร้อมกับส่งเพชรปลอมหรือไม่ส่งสินค้าใดๆ กลับไปให้ผู้ซื้อเลย
กลโกงข้อที่หก คือ การสร้างเว็บขายสินค้าออนไลน์ปลอม เพื่อขโมยข้อมูลและเอกลักษณ์เฉพาะตนของผู้ซื้อไปใช้ทำธุรกรรมต่างๆ ในทางมิชอบ กลโกงข้อที่เจ็ด คือ การสร้างเว็บให้บริการดาวน์โหลดเพลงคริสต์มาสพร้อมกับติดตั้งซอฟต์แวร์มารร้าย ในวันคริสต์มาส แต่เมื่อคลิกเข้าไปก็ปรากฏว่าเป็นการติดตั้งซอฟต์แวร์มารร้ายหรือสปายแวร์ลงในคอมพิวเตอร์ กลโกงข้อที่แปด คือ การส่งจดหมายรับสมัครงานปลอม จากรายงานของกระทรวงแรงงานอเมริกัน พบว่าเมื่อตุลาคม 2552 อัตราการว่างงานของชาวอเมริกันมีมากถึงร้อยละ 10.2 แต่ก็มีชาวอเมริกันที่ต้องการทำงานเพื่อนำเงินไปซื้อของขวัญ อาชญากรออนไลน์จึงได้เปิดเว็บรับสมัครงานออนไลน์พร้อมกับส่งอีเมล์ไปให้เหยื่อเพื่อเสนองานออนไลน์รายได้สูงและสามารถทำงานที่บ้านได้ จากนั้นก็จะให้เหยื่อส่งข้อมูลต่างๆ และให้โอนเงินค่าธรรมเนียมสำหรับการจัดส่งเอกสารไปให้ หลังจากเหยื่อหลงเชื่อและทำตามขั้นตอนที่อาชญากรบอกแล้วก็จะไม่สามารถติดต่อได้อีกในภายหลัง กลโกงข้อที่เก้า คือ การเปิดเว็บประมูลออนไลน์ปลอม อาชญากรอาจจะเปิดเว็บประมูลออนไลน์ในวันคริสต์มาส แล้วหลอกให้ลูกค้าโอนเงินแต่ไม่ส่งสินค้าให้ ตัวอย่างเช่น ผู้ซื้อรายหนึ่งชนะการประมูลกล้องส่องทางไกลและชำระเงินผ่านบัตรเดบิตจากนั้นก็รอรับสินค้า แต่เมื่อผ่านไป 10 วันก็ยังไม่ได้รับ และไม่สามารถติดต่อผู้ขายได้ กลโกงข้อที่สิบ คือ การขโมยรหัสผ่าน ซึ่งอาชญากรออนไลน์จะติดตั้งซอฟต์แวร์เพื่อขโมยรหัสผ่าน โดยใช้ซอฟต์แวร์บันทึกการกดแป้นพิมพ์บนคอมพิวเตอร์ จากนั้นก็อาจใช้ข้อมูลดังกล่าวเข้าถึงบัญชีธนาคาร หมายเลขบัตรเครดิต และใช้อีเมล์ของเหยื่อส่งอีเมล์ขยะไปยังบุคคลอื่นๆ ต่อไป กลโกงข้อที่สิบเอ็ด คือ การส่งอีเมล์หลอกว่ามาจากธนาคารของเหยื่อ อาชญากรออนไลน์จะส่งอีเมล์
ที่มีลักษณะน่าเชื่อถือพร้อมกับแจ้งว่ามาจากธนาคารที่เหยื่อฝากเงินไว้ แล้วหลอกให้เหยื่อคลิกจุดเชื่อมโยงที่แนบมาเพื่อให้กรอกรายละเอียดยืนยันหมายเลขบัญชีธนาคาร ชื่อผู้ใช้ และรหัสผ่าน พร้อมกับแจ้งว่าถ้าไม่กรอกรายละเอียด ข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับธนาคารจะเป็นโมฆะ และหากหลงเชื่ออาชญากรออนไลน์ก็จะนำข้อมูลเหล่านั้นไปดำเนินการเพื่อขโมยเงินจากบัญชีของเหยื่อ และกลโกงข้อที่สิบสอง คือ การหลอกว่าคอมพิวเตอร์ติดไวรัส โดยอาชญากรออนไลน์จะปล่อยไวรัสม้าโทรจันลงคอมพิวเตอร์ ด้วยวิธีการโฆษณาว่าเป็นซอฟต์แวร์สแกนไวรัส เมื่อเหยื่อหลงเชื่อและคลิกเข้าไป อาชญากรออนไลน์ก็จะปล่อยไวรัสเข้าไปควบคุมคอมพิวเตอร์ของเหยื่อและล็อกแฟ้มข้อมูล ทำให้เหยื่อไม่สามารถเข้าดูข้อมูลของตนได้ ทั้งนี้ เหยื่อจะเข้าถึงแฟ้มข้อมูลได้ก็ต่อเมื่อจ่ายค่าเข้าถึงให้กับอาชญากรออนไลน์เท่านั้น
จากสิบสองกลโกงข้างต้นก็น่าจะเป็นแนวทางให้นักช็อปออนไลน์ได้รู้เท่าทันกลโกงของอาชญากรออนไลน์ เพื่อจะได้ระมัดระวังตนเองขณะจับจ่ายซื้อสินค้าในโลกออนไลน์ ก็จะทำให้มีความสุขสนุกสนานกับการจับจ่ายซื้อสินค้าออนไลน์ได้อย่างปลอดภัยมากขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *