‘ผักสด’ ต้นตอกระจายโรคระบาด

“ผักสด” ต้นตอกระจายโรคระบาด
• อาหาร
ชี้กินสมุนไพร-พืชผักดิบ เสี่ยงอาหารเป็นพิษ

ดร.ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กล่าวว่า ปี 2548 นอร์เวย์ตรวจพบเชื้อก่อโรค ซาลโมเนลลา และ อี. โคไล ปนเปื้อนในสมุนไพรและผักสดที่นำเข้าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งไทยต่อเนื่องหลายครั้ง ส่งผลให้นอร์เวย์ระงับการนำเข้าผักและสมุนไพรสดของไทย 8 ชนิดชั่วคราว ได้แก่ ผักชีไทย ผักชีฝรั่ง ใบกะเพรา ใบโหระพา ผักคะแยง ใบสะระแหน่ ผักแพว และต้นหอม และในปีเดียวกันอังกฤษและฟินแลนด์ตรวจพบเชื้อ ซาลโมเนลลา และ อี. โคไล ปนเปื้อนในผักสดที่นำเข้าจากไทย ส่งผลให้ไทยต้องจัดทำแผนปฏิบัติการควบคุมการปนเปื้อนเพื่อทำให้อียูมั่นใจว่าสินค้าไทยมีมาตรการควบคุมการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคที่ดีเพียงพอ และในปี 2550 เดนมาร์กมีผู้ป่วยด้วยอาการปวดท้องนำส่งโรงพยาบาลกว่าร้อยคน หลังรับประทานข้าวโพดอ่อนนำเข้าจากไทย

ทั้งนี้ มีแนวโน้มว่า “พืชผักสด” จะเป็นต้นตอสำคัญที่จะทำให้เกิดการแพร่กระจายของโรคระบาด และสร้างความเสียหายในวงกว้างได้ในอนาคต เพราะวัฒนธรรมดั้งเดิมและพฤติกรรมการบริโภคของหลายประเทศรวมถึงไทยจะรับประทานสมุนไพรและพืชผักดิบๆ ซึ่งล้วนทำให้เสี่ยงต่อการเกิดโรคอาหารเป็นพิษ และท้องร่วงเฉียบพลันได้

“เชื้อก่อโรคที่เป็นต้นตอสำคัญทำให้เกิดโรคระบาดในพืชผักและสมุนไพรสดมี 2 ชนิด คือ ซาลโมเนลลา ทำให้เกิดโรคอาหารเป็นพิษ และเชื้อ อี. โคไล 0157:H7 ทำให้เกิดท้องร่วงเฉียบพลัน สำหรับวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงของการปนเปื้อนเชื้อก่อโรคในพืชผักสด ผู้บริโภคควรเลือกซื้อพืชผักสดที่ไม่ช้ำและไม่มีรอยถลอกปอกเปิด เก็บรักษาพืชผัก สมุนไพรสด ในตู้เย็น หรือแช่เย็นในที่สะอาดและมีอุณหภูมิต่ำกว่า 40 องศาเซลเซียส และแยกพื้นที่เก็บจากเนื้อสัตว์สด ล้างมือประมาณ 20 วินาทีด้วยน้ำอุ่น และถูสบู่ก่อนและหลังเตรียมพืชผักสดทุกครั้ง ล้างพืชผักสดผ่านน้ำไหลก่อนรับประทาน และปรุงสุกพืชผักสดทุกครั้งทั้งพืชผักที่เพาะปลูกแบบวิธีปกติ และพืชผักอินทรีย์

ส่วนเกษตรกรและผู้ประกอบการควรนำหลักการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี (Good Agricultural Practices: GAPs) สำหรับพืช และหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต (Good Manufacturing Practices: GMPs) ไปใช้ เพื่อให้ทราบปัจจัยที่ทำให้เกิดความเสี่ยง และหาวิธีป้องกันและลดความเสี่ยงจากการปนเปื้อน รวมทั้งต้องมีวิธีป้องกันและจัดการจุดที่เป็นต้นตอสำคัญที่ทำให้เชื้อปนเปื้อน ได้แก่ ขั้นการเพาะปลูก ซึ่งดินและน้ำที่ใช้เพาะปลูกต้องไม่ปนเปื้อนอุจจาระคน และสัตว์, ขั้นการเตรียมและบรรจุสถานที่เก็บรวบรวม ตัดแต่ง คัดและบรรจุ ร้านค้าจำหน่ายต้องมีห้องน้ำ ห้องส้วมที่ควบคุมสุขลักษณะเป็นอย่างดีและตั้งอยู่ในตำแหน่งที่ห่างจากพืชผักสด มีการควบคุมสุขอนามัยของคนงานถูกต้องตามหลัก GMPs” ดร.ยุทธศักดิ์ กล่าว

หน่วยงานภาครัฐควรสร้างระบบการสื่อสารไปสู่ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องตลอดห่วงโซ่การผลิตพืชผักสดเพื่อลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้น และควรทำการวิจัยด้านการประเมินความเสี่ยงของการปนเปื้อนและแพร่กระจายของเชื้อก่อโรคในพืชผักสด โดยเน้นหาสาเหตุที่แท้จริงและจุดที่ทำให้เชื้อก่อโรคปนเปื้อนและเพิ่มจำนวนในพืชผักสด และมีการเฝ้าระวัง เพื่อให้ระบบการผลิตเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและตรวจสอบย้อนกลับได้ทุกขั้นตอนการผลิต

ที่มา : หนังสือพิมพ์พิมพ์ไทย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *