“น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้” สุดเจ๋ง!

“น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้” สุดเจ๋ง!
• คุณภาพชีวิต
ชี้สรรพคุณช่วยแก้ปัญหาปากแห้ง

คนไทยสุดเจ๋ง! คิดค้น “น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้” ช่วยคนไข้มะเร็งศีรษะ-คอ บรรเทาสภาวะปากแห้ง ทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น กระตุ้นต่อมรับรส แก้ปัญหาฟันผุ ปากมีกลิ่น ชี้ราคาถูก ผู้ป่วยพึ่งพอใจมากกว่าน้ำลายเทียมในท้องตลาด ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ ขณะนี้กำลังจดสิทธิบัตรพร้อมขอขึ้นทะเบียนตำรับกับอย.

น.ส.ธันยา ศรีชาลี ผู้ช่วยทันตแพทย์ งานทันตกรรมศูนย์มะเร็ง ชลบุรี ได้นำเสนอผลงานวิชาการการศึกษาผลการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้ เพื่อบรรเทาอาการ จากสภาวะปากแห้ง ในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและคอหลังการฉายรังสีรักษา ในการประชุมวิชาการประจำปีการแพทย์แผนไทย การแพทย์พื้นบ้าน การแพทย์ทางเลือกแห่งชาติ ในงานมหกรรมสมุนไพรแห่งชาติ ครั้งที่ 5

น.ส.ธันยา กล่าวว่า โรคมะเร็งนับเป็นปัญหาทางสาธารณสุขที่สำคัญของโลก ซึ่งจากสถิติโรคมะเร็งโดยสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่าโรคมะเร็งเป็นสาเหตุการตายสูงสุดเป็นอันดับที่ 1 อย่างไรก็ตามพบว่า มีผู้ป่วยมะเร็งในช่องปากเป็นอันดับ 3 ของมะเร็งในส่วนต่างๆ ของร่างกาย แม้ว่าการรักษาโดยการใช้รังสีจะช่วยให้การรักษาโรคค่อนข้างดี แต่การใช้รังสีรักษามีผลแทรกซ้อน คือ หลังการ ฉายรังสีผู้ป่วยจะประสบปัญหาสภาวะปากแห้ง ซึ่งเกิดจากแนวการฉายรังสีผ่านต่อมน้ำลาย ทำให้ต่อมน้ำลายในช่องปากเสื่อมสภาพ การสร้างน้ำลายลดลง ทำให้เกิดสภาวะปากแห้งถาวร ส่งผลให้สุขภาพช่องปากเสื่อมโทรม ส่งผลลบแก่คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

“จากการทำงานใกล้ชิดกับผู้ป่วยจะพบว่าผู้ป่วยกลุ่มนี้น่าสงสารมาก เพราะหลังฉายรังสีผู้ป่วยจะมีปัญหาจากอาการปากแห้ง ซึ่งน้ำลายเป็นสิ่งสำคัญมาก เมื่อไม่มีน้ำลายเหงือกก็อักเสบ ฟันผุลุกลาม สูญเสียการรับรส ผู้ป่วยต้องกินข้าวคำน้ำคำ ผู้ป่วยต้องทนทุกข์ทรมาน ซึ่งที่ผ่านมาทางโรงพยาบาลจะแก้ไขปัญหา โดยให้ผู้ป่วยจิบน้ำบ่อยๆ ตลอดวัน หรือใช้ยากระตุ้นการหลั่งน้ำลาย ส่วนการใช้น้ำลายเทียมซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศทำให้มีราคาสูงมาก ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีกำลังทรัพย์เท่านั้นที่จะสามารถมีโอกาสได้ใช้”น.ส.ธันยากล่าว

น.ส.ธันยา กล่าวต่อว่า สภาพปัญหาดังกล่าวจึงเป็นสาเหตุให้ผู้วิจัยศึกษาคุณประโยชน์ของว่านหางจระเข้ ซึ่งเป็นสมุนไพรพื้นบ้านที่สรรพคุณหลากหลาย ทั้งช่วยรักษาแผลสดไฟไหม้น้ำร้อนลวก ลดอาการอักเสบ สามารถต่อต้านเชื้อแบคทีเรีย ลดอาการข้างเคียงจากการใช้รังสี ช่วยสมานแผล สร้างเอ็นยึดที่เหงือก โดยได้ทำวิจัยร่วมกับสหวิชาชีพ สหสถาบันโดยมีศูนย์มะเร็งชลบุรี, ศูนย์มะเร็ง ลพบุรี คณะเภสัชศาสตร์ ม.ศิลปากร, งานวิจัยสมุนไพรสถาบันมะเร็งแห่งชาติ ผ่านการเห็นชอบจากคณะกรรมการจริยธรรมการวิจัยในมนุษย์ของศูนย์มะเร็ง ชลบุรี โดยเป็นการวิจัยกึ่งทดลองทางคลินิก มีการทดสอบการตั้งตำรับและประเมินคุณสมบัติน้ำลายเทียมว่านหางจระเข้ทางกายภาพและชีวภาพวัดความเป็นกรด-ด่าง, ความหนืดของตำรับ, ทดสอบการเจริญของเชื้อก่อโรคและการทดสอบความคงตัวของตำรับ โดยใช้ระยะเวลาที่ทำวิจัย 2 ปี คือ ระหว่างปี 2549 – 2550

น.ส.ธันยา กล่าวต่อว่า สำหรับกลุ่มตัวอย่างเป็นผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังฉายรังสี จำนวน 44 คน ที่มีอาการปากแห้งแล้วมารับการตรวจตามแพทย์นัด ที่ศูนย์มะเร็ง ชลบุรี และศูนย์มะเร็ง ลพบุรี ทั้งเพศชายและหญิง อายุ 25 – 70 ปี โดยใช้วิธีการเก็บข้อมูลด้วยแบบสอบถามข้อมูลทั่วไป แบบสอบถามอาการสภาวะปากแห้ง และแบบบันทึกข้อมูลในช่องปาก โดยให้ผู้ป่วยใช้ผลิตภัณฑ์ด้วยการจิบเมื่อมีอาการปากแห้งติดต่อกันเป็นระยะเวลา 3 สัปดาห์ เปรียบเทียบกับการใช้น้ำสะอาดและน้ำลายเทียมจากต่างประเทศที่มีในท้องตลาด

น.ส.ธันยา กล่าวอีกว่า ผลการวิจัยพบว่า เมื่อเปรียบเทียบผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากว่านหางจระเข้ น้ำสะอาดและน้ำลายเทียมจากท้องตลาด พบว่า น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้ ช่วยบรรเทาอาการจากสภาวะปากแห้งในผู้ป่วยมะเร็งบริเวณศีรษะและคอหลังฉายรังสีรักษาได้ดีอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติเมื่อเปรียบเทียบกับน้ำสะอาด และน้ำลายเทียมจากท้องตลาด อีกทั้งยังเพิ่มประสิทธิภาพในการกลืน การเคี้ยว และการรับรสดีขึ้น ผู้ป่วยมีความพึงพอใจในการใช้ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากว่านหางจระเข้ 68.4% มากกว่าผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมจากท้องตลาด ซึ่งพึ่งพอใจ 52.6% และน้ำสะอาด 5.3%

“ผลวิจัยชัดเจนว่า ผลิตภัณฑ์น้ำลายเทียมว่านหางจระเข้ มีสรรพคุณช่วยรักษาสภาวะสมดุลในช่องปากให้ความชุ่มชื้น มีองค์ประกอบใกล้เคียงกับน้ำลายธรรมชาติมากที่สุด มีคุณสมบัติยับยั้งการเจริญเติบโตของเชลล์มะเร็งเยื่อบุช่องปากช่วยลดอาการข้างเคียงที่เกิดจากการรักษาด้วยรังสี เพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยมะเร็งศีรษะและคอหลังฉายรังสีรักษาให้ดียิ่งขึ้น อีกทั้งน้ำลายเทียมว่านหางจระเข้ที่คิดค้นขึ้น ถือว่ามีความเหมาะสมกับคนไทยมากกว่าน้ำลายเทียมที่นำเข้าจากต่างประเทศ ผู้ป่วยมีความพึ่งพอใจ รวมทั้งค่าใช้จ่ายและต้นทุนการผลิตต่ำกว่า ผลิตภัณฑ์ที่ต้องนำเข้าจากต่างประเทศ ซึ่งมีราคาอยู่ที่ประมาณ 60 ซีซี ราคา 600 กว่าบาท สามารถใช้ได้ 1เดือน/คน” น.ส.ธันยา กล่าว

น.ส.ธันยา กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการจดสิทธิบัตรและขอการขึ้นทะเบียนตำรับกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) พร้อมกับมีการค้นคว้าต่อยอดผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิมากยิ่งขึ้น โดยมีการเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ให้สามารถพกพาได้ง่าย ใช้ขวดแก้วสีชาแทนสีขาวเพื่อให้ผลิตภัณฑ์มีความคงตัวมากยิ่งขึ้น

ที่มา : หนังสือพิมพ์ผู้จัดการ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *