‘โภชนาการ’ ของผู้ป่วยเบาหวาน

‘โภชนาการ’ ของผู้ป่วยเบาหวาน
• อาหาร
แนะเรียนรู้-เลือกอาหารที่เหมาะสม

ผู้ป่วยเบาหวานสามารถเลือกรับประทานอาหารต่างๆ ได้เช่นเดียวกับคนปกติ แต่จำเป็นต้องเรียนรู้ว่าจะรับประทานอาหารอย่างไรและปริมาณมากน้อยเพียงใด จึงไม่ทำให้น้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งจะเป็นการช่วยลดอาการแทรกซ้อนต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากโรคเบาหวานได้ด้วย

หลายคนคิดว่า การควบคุมเฉพาะอาหารจำพวกแป้งและน้ำตาลก็พอ เพราะเป็นอาหารที่มีผลต่อการขึ้นลงของน้ำตาลโดยตรง ยิ่งกว่านี้บางคนเข้าใจผิดคิดว่าควรหลีกเลี่ยงอาหารพวกแป้ง ข้าว และหันมากินอาหารที่มีโปรตีนและไขมันสูงแทนซึ่งทำให้ไม่สามารถควบคุมน้ำหนักได้ และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนของเบาหวาน

ฉะนั้น การรักษาโรคเบาหวานให้ได้ผลจึงจำเป็นต้องมีการควบคุมอาหารอย่างสม่ำเสมอ ถึงแม้ว่าคนไข้จะได้รับการรักษาด้วยการกินยา หรือฉีดอินซูลินแล้วก็ตาม การควบคุมอาหารเป็นการรักษาที่สำคัญและดีที่สุด

อาหารในคนไข้เบาหวานนั้น สามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

1. กลุ่มที่ห้ามรับประทานโดยเด็ดขาด เช่น น้ำตาลทุกชนิด รวมทั้งน้ำผึ้ง ขนมหวาน และขนมเชื่อมต่างๆ เช่น ทองหยิบ ฝอยทอง ผลไม้กวน น้ำหวานต่างๆ นมรสหวาน รวมทั้งน้ำอัดลม และเครื่องดื่มที่มีน้ำตาล เช่น ชา กาแฟ รวมทั้งเหล้าเบียร์ด้วย

ผลไม้ที่มีรสหวานจัด เช่น ทุเรียน องุ่น ลำไย ขนุน ละมุด น้อยหน่า ลิ้นจี่ อ้อย ผลไม้แช่อิ่ม หรือเชื่อมน้ำตาลทั้งหมด รวมทั้งของขบเคี้ยวทอดกรอบ และอาหารชุบแป้งทอดต่างๆ เช่น ปาท่องโก๋ กล้วยแขกทอด

2. กลุ่มที่รับประทานได้ แต่ต้องจำกัดปริมาณ ได้แก่ แป้ง ข้าว เผือก มัน ถั่วเมล็ดแห้งต่างๆ ก๋วยเตี๋ยว ขนมจีน บะหมี่ มักกะโรนี และอาหารไขมัน เช่น ขาหมู ข้าวมันไก่ หมูสามชั้น หรืออาหารทอดน้ำมันมาก ผักประเภทหัวที่มีน้ำตาลหรือแป้งมาก เช่น หัวผักกาด ฟักทอง หัวหอม กระเจี๊ยบ ผักตระกูลถั่ว หัวปลี และผลไม้เกือบทุกชนิด เช่น ส้ม เงาะ สับประรด มะละกอ มะม่วง ฝรั่ง กล้วย เป็นต้น

3. กลุ่มที่รับประทานได้ไม่จำกัดปริมาณ คือ ผักใบเขียวทุกชนิด

จะเห็นว่าคนไข้โรคเบาหวานในปัจจุบันก็มีอิสระในการเลือกรับประทานอาหารได้มากขึ้น และอาหารที่แนะนำให้คนไข้โรคเบาหวานนั้นจริงๆ แล้วก็มิได้แตกต่างจากอาหารของคนปกติ เพียงแต่จะเป็นลักษณะของอาหารที่มีน้ำตาลน้อย ไขมันต่ำ และรสไม่เค็ม

ต้องเรียนรู้วิธีการเลือกชนิดอาหาร ปริมาณที่ควรรับประทานอาหาร การแลกเปลี่ยนและทดแทนกลุ่มอาหาร มีการเพิ่มความระมัดระวังในการรับประทานอาหารให้มากขึ้นเท่านั้น อีกทั้งยังต้องควบคุมหลังงานที่ได้จากอาหารให้พอเหมาะ ซึ่งหมายถึงต้องดูแลให้ได้เนื้อสัตว์และไขมันในปริมาณที่เหมาะสมด้วย

คนที่เป็นเบาหวานคงตอบตัวเองได้แล้ว ว่าจะรับประทานข้าวเหนียวมะม่วงได้หรือเปล่า? จะเลือก รับประทานอาหารอย่างไรให้เหมาะสมกับตนเองและมีชีวิตอยู่กับเบาหวานได้อย่างปกติสุข

ที่มา: หนังสือพิมพ์แนวหน้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *