ไอที : ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ธุรกิจช่องทางใหม่

ไอที : ‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ธุรกิจช่องทางใหม่

‘โซเชียลคอมเมิร์ซ’ ช่องทางใหม่ ของการทำธุรกิจในตลาดยุค 3.0 : คอลัมน์ เล่าสู่กันฟัง : โดย … บัญญัติ คำนูณวัฒน์

มื่อเรากำลังอยู่ในตลาดยุค 3.0 ซึ่งเป็นการตลาดที่เน้นการขับเคลื่อนด้วยค่านิยม คือ ผู้บริโภคไม่ได้อยู่ในฐานะเป็นผู้รับข้อมูลข่าวสารเพียงอย่างเดียวดั่งเช่นยุค 2.0 และผู้ขายไม่ได้มุ่งแต่จะตั้งหน้าตั้งตาขายสินค้าราคาถูกเพียงอย่างเดียวดั่งเช่นยุค 1.0 อีกต่อไป แต่เป็นยุคที่ผู้บริโภคสามารถสื่อสารโต้ตอบกลับไปยังผู้ผลิตสินค้าหรือให้บริการ รวมถึงการสื่อสารระหว่างกัน ไปพร้อมๆ กับความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การสื่อสารเป็นไปได้ง่ายและเข้าถึงกลุ่มคนทุกระดับได้อย่างรวดเร็วและทั่วถึง รวมทั้งยังสื่อสารโต้ตอบได้ในทันที ทำให้เกิดช่องทางการทำธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ยุคใหม่อย่างหลากหลาย ที่เขาเรียกกันว่า “อีคอมเมิร์ซ”

ด้วยข้อดีของอีคอมเมิร์ซที่ใช้เงินลงทุนน้อย สามารถเปิดขายได้ตลอด 24 ชั่วโมงทุกวันและทั่วโลก ตัดปัญหาเรื่องการเดินทางและหาทำเลเปิดหน้าร้าน ส่งผลให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่จำนวนมากหันมาทำธุรกิจร้านค้าออนไลน์กัน ที่รู้จักกันดีในระดับโลก เช่น อะเมซอน (amazon.com) บริษัทผู้ขายปลีกสินค้าผ่านเว็บไซต์ เริ่มจากการขายหนังสือจนเป็นร้านหนังสือที่ใหญ่ที่สุดในโลก, อีเบย์ (ebay.com) แหล่งประมูลสินค้าออนไลน์ที่ใหญ่ที่สุดในโลก ฯลฯ

ในขณะที่บ้านเราธุรกิจอีคอมเมิร์ซส่วนใหญ่จะจัดอยู่หมวดเว็บช็อปปิ้ง จากการจัดอันดับสถิติเว็บไซต์ที่มีจำนวนคนเข้าชมมากที่สุด 5 อันดับแรกในเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมาของศูนย์วิจัยนวัตกรรมอินเทอร์เน็ตไทย (Truehits.net) คือ วีเลิฟช็อปปิ้ง (weloveshopping.com) รองลงมา คือ ตลาด (tarad.com), ประมูล (pramool.com), พันทิปมาร์เก็ต (pantipmarket.com) และดีลฟิช (dealfish.co.th) เป็นต้น

แต่วันนี้ ธุรกิจอีคอมเมิร์ซด้วยการซื้อขายผ่านเว็บไซต์อย่างเดียวไม่เพียงพออีกต่อไปแล้ว เนื่องจากคนทั่วโลกหันมาใช้โซเชียลมีเดียกันเป็นจำนวนมาก เช่น เฟซบุ๊ก สังคมออนไลน์ขนาดใหญ่ที่คนทั่วโลกรู้จักและใช้กัน ตามมาติดๆ คือ ทวิตเตอร์ กูเกิลพลัส และพินเทอเรส ฯลฯ จึงพัฒนาแนวคิดมาเป็น “โซเชียลคอมเมิร์ซ” ซึ่งเป็นช่องทางใหม่ของการทำธุรกิจที่ใช้สื่อสังคมออนไลน์ เพื่อส่งเสริมการซื้อขายสินค้าและบริการออนไลน์ ที่อาศัยผู้บริโภคช่วยเป็นสื่อโฆษณา ช่วยรับฟังความคิดเห็นจากผู้บริโภครายอื่น เพื่อช่วยตัดสินใจเลือกซื้อสินค้าและบริการ

จากการรวบรวมข้อมูลของบริษัท Gloople บริษัทผู้ให้บริการอีคอมเมิร์ซซอฟต์แวร์ คาดการณ์ไว้ว่าในปี 2558 จะมีร้านค้าออนไลน์เพิ่มขึ้นเป็น 50% และร้านค้าออนไลน์ก็จะไม่มีเพียงเว็บไซต์แต่จะมีการใช้สื่อโทรศัพท์มือถือในการขายสินค้าด้วย ส่วนรายได้จากการขายสินค้าผ่านโซเชียลคอมเมิร์ซทั่วโลกคาดว่าจะอยู่ที่ 6 แสนล้านบาทในปี 2556

“โซเชียลคอมเมิร์ซ” ถือเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว และเป็นช่องทางใหม่ของการทำธุรกิจในตลาดยุค 3.0 เช่นปัจจุบันนี้ ซึ่งคนที่ทำธุรกิจต้องเรียนรู้และปรับตัวให้ทันถึงจะอยู่รอดได้ แต่ถ้าเห็นโอกาสแล้วปรับตัวก่อน ก็มีสิทธิ์รวยก่อนคนอื่นได้เช่นกัน

ที่มา : คมชัดลึก

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *