ใครดื่มกาแฟบ้าง

ใครดื่มกาแฟบ้าง

ไม่ได้เป็นงานวิจัยจากที่ไหนหรอกครับ ผมเพียงแค่คิดขึ้นมาเอง มั่วขึ้นมาล้วนๆ เพื่อลองวิเคราะห์ดูบ้างว่า Seat2Cup กำลังทำอะไรอยู่ ความจริงตัวเลขทำนองนี้หากมีหน่วยงานใดได้ทำวิจัยขึ้นมาบ้างคงเป็นประโยชน์ต่อผู้ที่อยู่ในอุตสาหกรรมไม่มากก็น้อย
ผมแบ่งกลุ่มผู้ดื่มกาแฟในบ้านเราอย่างง่ายๆ เป็น 4 กลุ่ม ดังนี้
1. ดื่มเป็นขนม กลุ่มนี้ผมกะเอาว่าน่าจะมีประมาณ 55% ของผู้ดื่มกาแฟทั้งหมด โดยมากจะดื่มเป็นกาแฟเย็นแบบไทยแต่คนจีนชงให้ดื่มมาเป็นร้อยๆ ปีแล้ว กาแฟใส่นมข้นหวาน ให้รสชาติเข้มข้นหวานมัน เป็นที่คุ้นเคยถูกอกถูกใจกันไปทั่ว ผู้ดื่มต้องการรสเข้มขมจากการคั่วกาแฟเข้มๆ และสร้างความกลมกล่อมด้วยรสหวานมันจากนมข้น ผู้ดื่มไม่ได้ต้องการ “รสชาติกาแฟ” จริงๆ แต่ต้องการรสชาติอย่างนั้น อย่างที่คุ้นเคยราวกับโดนฝังชิปเป็น memory ที่ไม่สามารถ delete ได้ แต่นอกจากจะเป็นกาแฟเย็นแบบไทย ผมยังรวมถึงการดื่มของคนรุ่นใหม่ๆ ที่นิยมกาแฟใส่นมเยอะๆ และปรุงแต่งกลิ่นด้วยซีรัปรสต่างๆ บางทียังนำไปปั่นกับน้ำแข็งด้วยซ้ำ ทำให้กลุ่มผู้ดื่มกาแฟเป็นขนมนี้มีสัดส่วนมากที่สุดครับ
2. ดื่มเพราะต้องการคาเฟอีน กลุ่มนี้ผมจะหมายถึงกลุ่มที่ดื่มเพราะต้องการความสดชื่น ต่อสู้กับอาการง่วงเหงาหาวนอน บางคนอาจดื่มจนติดคาเฟอีนคือถ้าไม่ได้ดื่มจะซึมหรือกระสับกระส่าย กลุ่มนี้อาจหมายถึงผู้ที่ทำงานในสำนักงาน หรืองานนั่งโต๊ะนานๆ รวมถึงผู้ที่ต้องขับรถเดินทางเป็นระยะทางยาวไกล หรือแม้แต่คนทั่วไปใช้กาแฟกระตุ้นให้สามารถทำกิจกรรมต่างๆ ได้ บางคนอาจมีสไตล์การดื่มเป็นขนมดังเช่นกลุ่มแรกที่กล่าวไปแล้ว หรืออาจดื่มเป็นกาแฟกึ่งสำเร็จรูป กาแฟกระป๋องสำเร็จรูป การให้ความสำคัญกับรสชาติอาจมีบ้างแต่ไม่เท่าการรับคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นประสาทร่างกาย สัดส่วนที่ให้ไว้คือร้อยละ 40 บางคนอาจเถียงว่าน่าจะมากกว่านี้
3. coffee drinker เมื่อให้สัดส่วนสองกลุ่มแรกไปเกือบหมดแล้ว กลุ่มนี้จึงเหลือเพียง 5% เท่านั้น ตามการสังเกตของผม coffee drinker คือกลุ่มคนที่ดื่มกาแฟเป็นปรกติ คือดื่มเกือบทุกครั้งที่ต้องดื่มอะไรสักอย่าง กลุ่มนี้โดยมากจะเป็นชาวต่างชาติที่มีวัฒนธรรมการดื่มกาแฟเช่นชาวยุโรป อเมริกัน ญี่ปุ่น หากเป็นคนไทยโดยมากจะเป็นคนในวัยทำงานที่คุ้นเคยกับวัฒนธรรมต่างชาติหรืออาจผ่านประสบการณ์ในต่างประเทศมาแล้ว และชื่นชอบกับเสน่ห์แห่งรสชาติกาแฟ คนกลุ่มนี้จะให้ความสำคัญกับรสชาติกาแฟมากกว่า 2 กลุ่มที่กล่าวมา รสชาติที่ว่าเริ่มจะหมายถึง “รสชาติกาแฟ” จริงๆ แล้วนะครับ
4. coffee lover เป็นกลุ่มสุดท้ายครับ และน่าจะมีจำนวนน้อยมากๆ ในสังคมไทย หลายคนยังสับสนสำคัญไม่ถูกนักคิดว่าตัวเองชื่นชอบกาแฟมากแล้ว ดื่มกาแฟมากแล้ว แต่แท้ที่จริงยังไม่อาจถือเป็น coffee lover ได้ เพราะนอกจากจะชื่นชอบการดื่มกาแฟเป็นชีวิตจิตใจและมีความรู้เรื่องกาแฟพอสมควรแล้ว ยังต้องรู้ว่ารสชาติแท้ของกาแฟนั้นเป็นเช่นไร สามารถแยกกาแฟแบบตลาดๆ กับ specialty ออกจากกันได้ รู้และซาบซึ้งถึงรสชาติจากแหล่งปลูกหรือแตรัวของกาแฟได้

เวลาที่ผมมอง Seat2Cup จะพบว่าเรามีลูกค้าทั้ง 4 กลุ่มนี้ปะปนกันมาครับ ลูกค้าบางคนยังมีลักษณะควบของกลุ่มอื่นผสมกัน แต่เนื่องจากร้านของเราอยู่ในทำเลใกล้กับสำนักงาน ดังนั้นแม้ว่ากลุ่มของ coffee drinker จะมีไม่มากในภาพรวม แต่ในสัดส่วนลูกค้าของเรากลับมีปริมาณเกินกว่าครึ่ง หลายคนเป็นลูกค้าประจำเพราะรสชาติไม่ใช่เพราะราคาหรือเหตุผลอื่น สิ่งที่ Seat2Cup พยายามมาโดยตลอดคือทำกาแฟแต่ละถ้วยให้ดีที่สุด และเป็นกาแฟให้มากที่สุด หมายถึงให้กาแฟเป็นกาแฟจริงๆ มีรสชาติของกาแฟจริงๆ ไม่ใช่รสชาติขนม หรือรสชาติจากการคั่ว ดังนั้นหากตุ๊กตาที่ผมอุตส่าห์ปั้นขึ้นมาข้างบนนี้มีเค้าความจริงอยู่บ้าง สิ่งที่ Seat2Cup ควรทำต่อไปคือ พยายามเปิดโอกาสให้ 2 กลุ่มแรกนั้นได้สัมผัสกาแฟจริงๆ มากขึ้น และผันตัวเองมาเป็น 2 กลุ่มหลังในที่สุด ความคาดหวังคือลูกค้าจะซาบซึ้งกับความเป็นกาแฟมากขึ้น มีความสุขจากการดื่มมากขึ้น ในขณะที่ยังจ่ายค่ากาแฟเท่าเดิม

ผมยก Seat2Cup มาเป็นตุ๊กตาให้ดูครับ จะเห็นว่าเราทำกาแฟกันจริงจังและสามารถอยู่รอดในเชิงธุรกิจได้เพราะทำเล หากทำเลที่ว่ายังมีมิติมากกว่าแค่ปริมาณคนแต่ยังหมายถึงกลุ่มเป้าหมายที่สอดคล้องกับแนวทางในการทำกาแฟของเราด้วย อาจเป็นประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่สนใจธุรกิจนี้อยู่บ้างหากมีความเห็นด้วยเห็นแย้งหรือข้อมูลเพิ่มเติมอย่างไรผมขอบคุณล่วงหน้าสำหรับ comment นะครับ และสำหรับลูกค้าของเราท่านยังอาจเริ่มถามตัวเองว่าทุกวันนี้ท่านดื่มอย่างไร น่าจะเข้าข่ายกลุ่มไหน จะกลุ่มไหนก็ไม่มีความผิดทั้งนั้นล่ะครับ ตราบที่ท่านจ่ายค่ากาแฟถูกต้อง แต่หากอยากสัมผัสรสกาแฟให้มากขึ้นเรียนเชิญสอบถาม barista ของท่านที่ Seat2Cup ได้ตลอดเวลาครับ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *