โรคมือเท้าปากเกิดจากไหน

โรค ” มือ-เท้า-และ-ปาก ” (Hand-Foot-and-Mouth Diease) นั้น จัดเป็นโรคใหม่ แต่ได้ยินกันคุ้นหูมากขึ้นเรื่อยๆ เมื่อไม่นานมานี้ก็มีการระบาดที่สิงคโปร์ ส่วนในประเทศไทย ก็พบผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคนี้อยู่เสมอ ที่ว่าเป็นโรคใหม่ก็เพราะเพิ่งมีรายงานครั้งแรกใน พ.ศ.2500 โดยพบการระบาดในแคนาดา อีก 2 ปีต่อมาก็มีการระบาดในอังกฤษ จึงได้ตั้งชื่อโรค ” มือ-เท้า-และ-ปาก ” ตามตำแหน่งที่พบรอยโรค

โรคนี้เกิดจากเชื้อไวรัส coxsackievirus A16 หรือ enterovirus 71 ครับ โดยจะมีการระบาดทุก 3 ปี ติดต่อกันได้ง่ายมากด้วย โดยเฉพาะในเด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ที่มีคนหนึ่งเป็นแล้วไปเล่นกับเพื่อนๆ จากนั้นก็จะถ่ายทอดสู่ผู้ใหญ่ที่ใกล้ชิด ขยายวงกว้างไปเรื่อยๆ ในประเทศเขตอบอุ่นจะพบโรคนี้บ่อยในฤดูที่มีอากาศร้อนครับ ส่วนในประเทศเขตร้อน จะพบโรคนี้ได้ในทุกฤดูกาล

เมื่อเด็กได้รับเชื้อไวรัสต้นเหตุเข้าสู่ร่างกาย ไวรัสจะแบ่งตัวที่เยื่อบุในกระพุ้งแก้ม และในลำไส้เล็ก ใน 24 ชั่วโมงต่อมาเชื้อไวรัสจะเข้าไปอยู่ในต่อมน้ำเหลือง โดยมีระยะฟักตัวสั้น คือ 3-6 วันหลังได้รับเชื้อ 3 วัน ไวรัสก็จะแพร่กระจายในกระแสเลือดไปฝังตัวอยู่ตามอวัยวะเป้าหมาย คือเยื่อบุของช่องปาก และที่ผิวหนังของมือและเท้า แต่พอเข้าสู่วันที่ ของการติดเชื้อ ร่างกายจะสร้างภูมิต้านทานสูงขึ้น ทำให้เชื้อไวรัสถูกขจัดออกจากกระแสเลือดและจากตำแหน่ง ที่มีเชื้อไวรัสไปฝังตัวอยู่ครับ

พบแผลในช่องปาก

ก่อนที่มีผื่นและตุ้มน้ำขึ้นประมาณ 12-24 ชั่วโมง เด็กจะมีอาการ มีไข้ต่ำๆ เหนื่อยอ่อน ปวดข้อ มีปัญหาที่ระบบหายใจ ต่อมาจะมีแผลในช่องปาก ซึ่งพบได้ถึงร้อยละ 100 ทีเดียว โดยร้อยละ 80 เด็กๆ จะมาด้วยอาการเจ็บในช่องปากและไม่ยอมทานอาหาร แผลในช่องปากนั้นมักจะพบจำนวนระหว่าง 5-10 แผล โดยจุดที่พบบ่อยคือที่เพดานแข็ง ลิ้น และเยื่อบุช่องปาก

แผลในช่องปากแรกเริ่มจะเห็นเป็นผื่นหรือตุ่มแดงเล็กๆ ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-8 มม. นะครับ ต่อมาก็จะเห็นเป็นตุ่มน้ำสีเทาเล็กๆ เพราะตุ่มน้ำจะแตกเร็ว เห็นเป็นแผลตื้นๆ สีออกเหลืองเทา และมีผื่นแดงล้อมรอบ แผลเล็กๆ อาจรวมเป็นแผลขนาดใหญ่ แผลเหล่านี้มักเจ็บ และทำให้เด็กไม่ยอมทานอาหาร ทั้งยังทำให้ลิ้นมีสีแดงและบวมได้ แต่รอยโรคเหล่านี้ มักจะหายไปใน 5-10 วันครับ

ผิวหนังเกิดผื่น

สำหรับผื่นที่ผิวหนังนั้นอาจเกิดพร้อมๆ กับแผลในช่องปาก หรือเกิดหลังแผล ในช่องปากเล็กน้อย อาจมีเพียง 2-3 จุด หรือมากกว่า 100 จุด โดยพบที่มือมากกว่าที่เท้า รอยโรคมักเป็นที่หลังมือ ด้านข้างของนิ้วมือ หลังเท้าและด้านข้างของนิ้วเท้า มากกว่าที่ฝ่ามือและฝ่าเท้า

รอยโรคที่ผิวหนังเริ่มแรกจะเป็นผื่นหรือตุ่มแดง ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 2-10 มม. ที่ตรงกลางมีตุ่มน้ำสีเทา มักเรียงตามแนวเส้นของผิวหนัง และมีผื่นแดงล้อมรอบ ผื่นเหล่านี้อาจมีอาการเจ็บ กดเจ็บหรือไม่เจ็บก็ได้ 2-3 วันต่อมาจะเป็นสะเก็ด และตกสะเก็ดจนผิวแลดูปกติ ไม่มีแผลเป็นใน 7-10 วัน

การวินิจฉัยโรคนี้ส่วนใหญ่อาศัยลักษณะทางคลินิก คือพบรอยโรคในช่องปาก ร่วมกับมีผื่นที่มือและเท้า และมีไข้ต่ำๆ อาจใช้ในการตรวจสอบทางภูมิต้านทานร่วมด้วย สำหรับโรคที่อาจมีอาการคล้ายโรค ” มือ-เท้า-ปาก ” ได้แก่ ผื่นแพ้ยา หัดเยอรมัน แผลร้อนใน และแผลติดเชื้อเริมในช่องปาก และอีสุกอีใสครับ

เคล็ดลับรักษา

ส่วนใหญ่โรคนี้จะหายได้เองในเวลา 1 สัปดาห์ การรักษาจึงเน้นที่การลดอาการเจ็บปวด ของรอยโรคมากกว่า เช่น การใช้ยาทา (มีการทดลองใช้ยาต้านเชื้อไวรัสเริม คือยา Acyclovir พบว่าโรคหายเร็วขึ้น)

แต่ถ้ามีอาการรุนแรง เช่น มีไข้สูงๆ เหนื่อยอ่อนอย่างมาก ท้องเสีย และปวดข้อ ปวดศีรษะ คอแข็ง และมีอาการทางระบบประสาท จนถึงกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เยื่อหุ้มสมองอักเสบ และอาการคล้ายเป็นอัมพาต ให้รีบไปพบแพทย์นะครับ เพื่อจะได้วินิจฉัยแยกโรคที่ถูกต้อง และเพื่อป้องกันข้อแทรกซ้อนขั้นที่รุนแรงเหล่านี้

เท้าเปื่อย ปากเปื่อย ในสัตว์ สู่คน

เมื่อเอ่ยถึงโรค ” มือ-เท้า-ปาก ” แล้ว ก็คงต้องเอ่ยถึงเรื่องโรค ” เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย ” ที่ระบาดในปศุสัตว์และติดต่อมาสู่คนด้วย เพราะหลายๆ คนยังสับสนกับชื้อโรคทั้ง 2 นี้ สำหรับโรค ” เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย ” ที่พบในสัตว์นั้นมีชื่อว่า ” Foot-and-Mouth Disease ” (จำง่ายๆ ว่าเพราะสัตว์ไม่มีมือนั่นแหละครับ) โรค ” เท้าเปื่อย-ปากเปื่อย ” นี้เป็นโรคติดเชื้อไวรัส ที่ระบาดรวดเร็วมากในสัตว์เลี้ยง เช่น วัว ควาย แพะ แกะ และหมู

โรคนี้สามารถติดต่อจากสัตว์มาสู่คนได้ครับ โดยมีระยะฟักตัวของไวรัสในมนุษย์ ประมาณ 2-10 วัน ผู้ที่ติดเชื้อจะมีไข้ เหนื่อยอ่อน หมดแรง ปากแห้ง และปวดแสบปวดร้อน ในช่องปาก อาจพบตุ่มน้ำเล็กๆ ที่เยื่อบุริมฝีปาก เยื่อบุกระพุ้งแก้ม เหงือกและข้างลิ้น

อาจพบตุ่มน้ำที่เพดานแข็ง จมูก และเยื่อบุนัยน์ตาได้ แต่น้อยครับ เมื่อมีตุ่มน้ำขึ้น อาการไข้และเหนื่อยอ่อนจะลดลง ตุ่มน้ำเหล่านี้จะมีขนาดเล็ก เส้นผ่าศูนย์กลาง 2-3 มม. แต่อาจรวมกันเป็นตุ่มน้ำขนาดใหญ่ได้ ข้างในตุ่มน้ำมีน้ำใสหรือสีขุ่น ตุ่มน้ำเหล่านี้ จะมีอายุ 2-3 วัน แล้วก็แตกออกเป็นแผลตื้นๆ เมื่อหายจะไม่มีแผลเป็น

นอกจากนี้ต่อมน้ำเหลืองใต้คางจะบวม และมีอาการปวดแสบปวดร้อน ในปากร่วมด้วย ต่อมาก็จะมีอาการบวม คันและปวดแสบปวดร้อนของนิ้วมือและนิ้วเท้า แล้วตามมาด้วยการมีตุ่มน้ำบริเวณนิ้วมือและนิ้วเท้า บริเวณอวัยวะเพศและหัวนม ก็อาจพบได้บ้างครับ หรืออาจพบตุ่มน้ำกระจายทั่วตัวได้แต่น้อยมาก

โรคเท้าเปื่อยและปากเปื่อยที่ติดจากสัตว์สู่คนนั้น หากเป็นในเด็ก จะมีอาการรุนแรงมากจนถึงแก่ชีวิตได้ การติดเชื้อนี้จะติดจากการที่คน ไปสัมผัสสัตว์เลี้ยงเหล่านี้หรือรับประทานเนื้อสัตว์ที่เป็นโรคจนถึงการดื่มนมสัตว์ ที่เป็นโรคที่ไม่ได้ผ่านการฆ่าเชื้อโรค แนวทางการรักษานั้น คือรักษาตามอาการ ให้ยาลดไข้แก้ปวดและป้องกันการติดเชื้อแบคทีเรียซ้ำซ้อนในสัตว์ที่เป็นโรคนี้ จะแพร่เชื้อเร็วมาก จึงทำให้ต้องฆ่าสัตว์นั้นทั้งฝูงเพื่อระงับการแพร่กระจายของโรค เช่น ประเทศในทวีปยุโรปที่ทำอยู่ในขณะนี้

ที่มา : http://www.inf.ku.ac.th

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *