แฟชั่น… เร่งอัดวิชาการในเด็กอนุบาล


แฟชั่น… เร่งอัดวิชาการในเด็กอนุบาล
 
วันที่ : 21 มกราคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐรายวัน
 
            ปัจจุบันพ่อแม่ผู้ปกครองเริ่มเห็นถึงความสำคัญของเด็กปฐมวัยว่า เป็นช่วงสำคัญของการวางรากฐานสติปัญญา ความสามารถ ลักษณะชีวิตของบุคคล จึงสนับสนุนให้เด็กวัยนี้ได้พัฒนาศักยภาพในด้านวิชาการ เช่น ภาษา คณิตศาสตร์ เป็นต้น

            อย่างในสหรัฐอเมริกา ธุรกิจการศึกษาที่กำลังเติบโตคือ ธุรกิจสอนพิเศษให้เด็กปฐมวัย เพื่อกระตุ้นความสามารถเด็กด้านวิชาการให้พร้อมก่อนเข้าชั้นอนุบาล สาเหตุเกิดจาก พ่อแม่ผู้ปกครองคิดว่า หากเด็ก ๆ สามารถอ่านหนังสือได้ก่อนเข้าเรียน มีแนวโน้มที่จะสอบเข้าเรียนในโรงเรียนที่ดี หรือได้งานที่ดีทำในอนาคต พ่อแม่ผู้ปกครองในอเมริกาจำนวนมากจึงไม่ส่งลูกไปยังสถานเลี้ยงดูเด็กเช่นที่ผ่านมา เพราะคิดว่าเป็นเพียงสถานที่ที่เอื้อให้เด็กได้วิ่งเล่นซุกซนมากเกินไป แทนที่ด้วยการสนับสนุนให้ลูกเรียนพิเศษเพื่อพัฒนาความรู้ด้านคณิตศาสตร์และการอ่าน

            ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมานี้ธุรกิจสอนพิเศษเด็กปฐมวัยเจริญเติบโตอย่างมาก เช่น ศูนย์การเรียนรู้ซิลแวน (Sylvan Learning Centers) ขยายธุรกิจสอนพิเศษถึง 1,100 แห่งในสหรัฐอเมริกา สอนเด็กให้มีพัฒนาการด้านการอ่าน การเขียน และคณิตศาสตร์เบื้องต้น นอกจากนี้ยังมี ศูนย์คุมอง (Kumon) ธุรกิจสัญชาติญี่ปุ่น เน้นการสอนคณิตศาสตร์ เปิดกิจการในสหรัฐฯ กว่า 1,300 แห่ง โดยเปิดหลักสูตรสอนเด็กอายุ 3 ขวบให้อ่านตัวอักษร หรือที่เรียกว่าหลักสูตร pre-K crowd เด็กจะเรียนสัปดาห์ละ 2 ครั้ง ครั้งละ 30 นาที เพื่อจะฝึกจำตัวอักษร (หรือเรียกว่า flash cards) อีกทั้งยังมีคณิตศาสตร์เบื้องต้นที่ให้เด็กฝึกคิดเลขและใช้ดินสอเขียนลงในกระดาษ รวมถึงฝึกการอ่านผ่านคอมพิวเตอร์

            นักวิชาการและนักจิตวิทยาในสหรัฐฯ หลายท่าน ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การเร่งพัฒนาด้านวิชาการให้เด็กปฐมวัยเร็วเกินไป เป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม ศาสตราจารย์เกร็ก ดันแคน (Greg Duncan) ผู้เชี่ยวชาญด้านนโยบายสังคม มหาวิทยาลัยนอร์ทเวสเทิร์น (Northwestern University) กล่าวว่า ทักษะการเรียนรู้เป็นสิ่งที่พ่อแม่เริ่มต้นได้ง่ายจากที่บ้าน ไม่ว่าจะเป็นความรู้พื้นฐานด้านภาษาหรือการลำดับตัวเลข ดอกเตอร์แมรี่แอน วูลฟ์ (Maryanne Wolf) หัวหน้าศูนย์วิจัยการอ่านและภาษา (Center for Reading and Learning Research) มหาวิทยาลัยทัฟท์ส (Tufts University) กล่าวถึงข้อมูลเกี่ยวกับการจินตนาการของสมองว่า เด็กไม่มีความพร้อมในการอ่านจนกว่าจะถึงอายุ 5 ปี การเร่งการพัฒนาการมากจนเกินไป จะทำให้เด็กมีปัญหาด้านสังคมและอารมณ์ อีกทั้งการฝึกอ่านด้วย flash cards ไม่ใช่การอ่านที่แท้จริงจึงไม่มีประโยชน์ต่อพัฒนาการด้านการอ่านของเด็ก ศาสตราจารย์โรเบอร์ต้า มิชนิค โกลินคอฟฟ์ (Roberta Michnick Golinkoff) นักจิตวิทยาเด็ก ให้ความเห็นว่า การสอนพิเศษให้เด็กปฐมวัย อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิตของเด็ก จากผลวิจัยพบว่า เด็กที่มาจากศูนย์การเรียนที่เน้นด้านวิชาการ จะมีความเครียดสูงและมีความคิดสร้างสรรค์ต่ำกว่าเด็กที่เรียนในศูนย์รับเลี้ยงเด็กปกติ อีกทั้งยังแสดงความเป็นห่วงว่า ในอนาคตธุรกิจสอนพิเศษต่าง ๆ นอกจากมีหลักสูตรสำหรับเด็กวัย 3-5 ปีแล้ว อาจจะมีหลักสูตรคณิตศาสตร์และการอ่านสำหรับเด็กวัยเตาะแตะเพิ่มเข้ามาอีก ศาสตราจารย์เดวิด เอลไคนด์ (David Elkind) มหาวิทยาลัยทัฟท์ส ผู้เขียนหนังสือเรื่อง “The Hurried Child” กล่าวว่า แท้จริงแล้วการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับเด็กปฐมวัยคือ การเรียนรู้ผ่านการเล่นในรูปแบบที่หลากหลาย

            อย่างไรก็ตาม นักวิชาการจำนวนมากในสหรัฐอเมริกาให้ความเห็นว่า คงไม่สามารถหยุดการขยายตัวของธุรกิจสอนพิเศษรวมถึงการอัดความรู้ทางวิชาการให้เด็กปฐมวัยได้ ตราบใดที่พ่อแม่ผู้ปกครองยังคาดหวังให้ลูกของตนมีความสามารถด้านวิชาการเหนือกว่าเด็กคนอื่นเพื่อเตรียมเข้าสู่ระบบการศึกษาขั้นพื้นฐาน

            ประเทศไทยมีแนวโน้มไปในทิศทางคล้ายสหรัฐฯ พ่อแม่ผู้ปกครองจำนวนมากส่งลูกเข้าเรียนในศูนย์การเรียนหรือโรงเรียนอนุบาลที่มุ่งสอนให้เด็กอ่านเขียนภาษาไทย ภาษาต่างประเทศ และคณิตศาสตร์ก่อนที่จะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 เพราะคาดหวังว่าเด็กจะสามารถเข้าเรียนในโรงเรียนดี ๆ อันจะส่งผลต่อการพัฒนาทางสังคมและอารมณ์ของผู้เรียน

            ดังนั้นฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรเร่งศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผลกระทบจากการเร่งเด็กปฐมวัยให้เก่งด้านวิชาการเร็วเกินไป และควรมีมาตรการเข้าไปช่วยดูแลการพัฒนาการทางสังคมและอารมณ์ของเด็กปฐมวัยที่เหมาะสม รวมถึงการเข้มงวดในเรื่องการรับเด็กเข้าชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 ที่ไม่ได้เน้นว่าต้องเก่งทางวิชาการ โดยหาแนวทางปฏิบัติและควบคุมให้ได้อย่างเป็นรูปธรรม

 
 


Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *