แบ่งเวลาอย่างสมดุล เพื่อการเรียนที่ดีเลิศ

แบ่งเวลาอย่างสมดุล เพื่อการเรียนที่ดีเลิศ

วันที่ : 7 พฤษภาคม 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์

“ฉันไปเรียน โดยไม่สนใจว่าสิ่งนั้นจะทำลายอาชีพของฉัน ฉันต้องการจะเป็นคนฉลาดมากกว่าการเป็นดารา” —นาตาลี พอร์ตแมน—

“นาตาลี พอร์ตแมน” (Natalie Portman) นักแสดงหญิงฝีมือเยี่ยมของฮอลลีวูด เจ้าของรางวัลลูกโลกทองคำปี ค.ศ.1999 และรับบทเป็นเจ้าหญิงอมิดาลา แห่งภาพยนตร์ไซไฟ เรื่อง สตาร์ วอร์ส ซึ่งทำให้เธอได้รับการกล่าวถึงอย่างกว้างขวางและเป็นที่สนใจของคนทั่วโลก แต่อีกด้านหนึ่งนาตาลีได้แสดงให้คนทั่วไปเห็นว่าเธอเป็นต้นแบบชั้นยอดในเรื่องการเรียนแก่วัยรุ่นทั่วไปได้เช่นกัน

ความภาคภูมิใจอย่างหนึ่งที่นาตาลีพูดถึงเสมอคือ เธอรู้สึกดีใจที่ตนเองได้เป็นต้นแบบของคนรุ่นใหม่ ที่มีเป้าหมายและหลักในการดำเนินชีวิต กล่าวคือ นาตาลีให้ความสำคัญกับการเรียนมาเป็นอันดับหนึ่งเสมอ แม้ว่าเธอจะเข้าวงการบันเทิงตั้งแต่อายุ 14 ปี แต่ระหว่างนั้นเธอก็ทุ่มเทให้กับการเรียน และจัดได้ว่า เป็นนักเรียนที่มีผลการเรียนดีเลิศมาโดยตลอด

ในขณะที่ศึกษาในฮาร์วาร์ดนั้น นาตาลีได้แสดงให้เห็นว่า เธอให้ความสำคัญกับการเรียน และมุ่งมั่นในการเรียนรู้ ตักตวงประสบการณ์ทางวิชาการอย่างเต็มที่ เห็นได้จากสิ่งที่ทำระหว่างและหลักจากผ่านพ้นชีวิตในรั้วการศึกษามาแล้ว

เห็นคุณค่าการเรียนรู้ สะท้อนผ่านความมุ่งมั่นในการฝึกฝนตนเองในทุกด้าน ยกตัวอย่างเช่น การฝึกฝนทักษะในการเต้นรำ เพื่อใช้ในการแสดง การฝึกฝนทักษะทางภาษา ทำให้นาตาลีสามารถสื่อสารได้ถึง 6 ภาษาประกอบด้วย ภาษาอังกฤษ ภาษาฮีบรู ภาษาฝรั่งเศส ภาษาเยอรมัน ภาษาญี่ปุ่น และภาษาอารบิค ด้านการเรียนขณะอยู่ที่ฮาร์วาร์ดนาตาลีสมัครเข้าเป็นผู้ช่วยนักวิจัย และผู้ช่วยนักวิจัยในห้องปฏิบัติการทางจิตวิทยา ทำงานวิจัยส่วนตัวเรื่องความทรงจำ

แบ่งเวลาอย่างถูกต้อง ในระหว่างที่เรียนนั้น นาตาลีได้หยุดพักการแสดง และย้ายเข้ามาอยู่ในหอพักของมหาวิทยาลัย เพื่อสามารถทุ่มเทให้กับการเรียนอย่างเต็มที่ โดยเมื่อถึงช่วงปิดเทอม จึงรับงานแสดงที่เธอรัก เดินทางไปเปิดตัวภาพยนตร์ในต่างประเทศ และฝึกฝนทักษะการแสดงในช่วงเวลาที่มีอยู่

ผลิตผลงานวิชาการ จากนิสัยรักการเรียนรู้ของนาตาลีนั้น ทำให้เธอผลิตผลงานวิชาการตั้งแต่มัธยมศึกษา เช่น งานวิจัยส่วนตัวในระดับมัธยมศึกษาของนาตาลีได้รับการเสนอเข้าประกวด “Intel Science Talent Search” งานวิจัยที่เธอเป็นผู้เขียนร่วมนั้นได้รับการตีพิมพ์ในวารสารวิชาการ และเมื่อปี ค.ศ.2006 นาตาลีได้รับเชิญไปบรรยายพิเศษให้กับนักศึกษาในมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย ในชั้นเรียนวิชาการก่อการร้ายและการต่อต้านการก่อการร้าย

แม้นาตาลีจะไม่ได้ทำงานที่ตรงกับสิ่งที่เรียนมา แต่กระนั้นก็ตามเธอได้ดำเนินชีวิตที่สอดคล้องกับค่านิยมขอฮาร์วาร์ด คือ การเป็นคนรุ่นใหม่ที่ใส่ใจสังคม และมีจิตสาธารณะกล่าวคือ เธอได้ใช้ความรู้ ชื่อเสียงของตนเองในการช่วยหน่วยงานพิทักษ์สัตว์ รณรงค์ต่อต้านการใช้ขนและหนังสัตว์ มาทำเครื่องนุ่งห่มหรือเครื่องประดับ รวมถึงจะคัดเลือกบทโดยคำนึงถึงศีลธรรมและความเหมาะสมมาโดยตลอด

ต้นแบบจากชีวิตของนักแสดงหญิงผู้นี้ ชี้ให้เราเห็นว่า หลักในการเรียนรู้อย่างถูกต้อง โดยขอสะท้อนเป็นข้อคิดแก่นักศึกษาดังนี้

มีเป้าหมายการเรียนที่ถูกต้อง กล่าวคือ เป้าหมายในการเรียนเพื่อรู้ ไม่ใช่ต้องการเพียงใบปริญญา ดังคำกล่าวที่นาตาลีเคยกล่าวว่า “ฉันไม่ได้รักการเรียน แต่ฉันรักการเรียนรู้ การเรียนรู้นั้นมีความงดงาม” ผมเห็นว่า การที่เรามีเป้าหมายการเรียนที่ถูกต้อง จะส่งเสริมให้เราเรียนอย่างมีความหมาย ตักตวงประสบการณ์ เพื่อนำความรู้ใช้ประโยชน์เพื่อตนเองและสังคมในอนาคต

เห็นคุณค่าการเรียนรู้ คำกล่าวของนาตาลีที่ยกมาในตอนต้น สะท้อนว่า เธอเห็นคุณค่าการเรียนรู้ มากกว่าเปลือกนอกของนักแสดงที่สังคมปั้นแต่งขึ้นมาให้เธอ ผมเห็นด้วยว่า คนที่เห็นคุณค่าจะเรียนอย่างเอาจริงเอาจัง มองการเรียนรู้เป็นเรื่องสนุกสาน ใช้ศักยภาพสูงสุด และภาคภูมิใจ หรืออิ่มเอมใจเมื่อได้เห็นความสำเร็จอันเกิดขึ้นจากการเรียนรู้

บริหารเวลาในการเรียน เราสามารถบริหารเวลาได้ อย่ามองว่า เรามีเวลาไม่พอ แท้จริงแล้วทุกคนมีเวลาวันละ 24 ชั่วโมงเท่ากัน ประตูแห่งความก้าวหน้าจะเปิดให้คนที่บริหารเวลาเป็น เช่น กำหนดเป้าหมายระยะสั้น ระยะกลาง ระยะยาวของสิ่งที่อยากให้เกิดขึ้น กำหนดความถี่ในการปฏิบัติของแต่ละกิจกรรม โดยเขียนเป็นตารางเวลา และควบคุมให้เป็นไปตามตาราง

มีจิตสาธารณะ เป็นค่านิยมของการดำเนินชีวิตที่ลึกซึ้งไปกว่าเพียงการมีชีวิตอยู่เพื่อความอยู่รอด นั่นคือ การมีจิตใจปรารถนาจะใช้ความสามารถของตนเพื่อกระทำสิ่งที่จะก่อประโยชน์สูงสุดให้เกิดขึ้นแก่ส่วนรวม ด้วยความเต็มใจและเสียสละ โดยไม่คำนึงถึงผลประโยชน์ของตนหรือกลุ่มของตนเป็นหลัก

ชีวิตการเรียนของนาตาลี พอร์ตแมน ถือได้ว่าเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งที่นักศึกษาจะเลือกซึมซับ และเลียบแบบในด้านดีของดาราที่มีชื่อเสียง ที่ไม่ได้ปล่อยให้กระแสสังคมดูดกลืนความรักการเรียนรู้และเห็นคุณค่าในการเรียน ในทางตรงข้ามกลับทำให้สังคมมองเห็นคุณค่า และความสามารถที่ซ่อนอยู่ในตนเองมากกว่าเปลือกนอกตามค่านิยมในขณะนั้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *