แนะวิธีฟื้นฟูผู้สูงอายุเดินไม่มั่นคง ประสาทกล้ามเนื้อถดถอย

แนะวิธีฟื้นฟูผู้สูงอายุเดินไม่มั่นคง ประสาทกล้ามเนื้อถดถอย
• คุณภาพชีวิต
ลดความเสี่ยง เพิ่มความสมดุลให้ร่างกาย

การเดินที่ไม่มั่นคงเป็นสาเหตุให้ผู้สูงอายุหกล้ม พบว่าแต่ละปีผู้มีอายุมากกว่า 75 ปี มากกว่า 1 ใน 3 จะหกล้ม และผู้ที่มีประวัติหกล้มประมาณ 2 ใน 3 จะหกล้มอีกในปีต่อมา การหกล้มทำให้ผู้สูงอายุขาดความมั่นใจในการเดิน จึงไม่ยอมเดิน ทำให้เดินไม่ได้ในที่สุด

การรักษาสมดุลและการควบคุมท่าทางของร่างกายจำเป็นต้องอาศัยการทำงานของร่างกายอย่างประสานสัมพันธ์กันในทุกระบบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำงานของกล้ามเนื้อและระบบประสาท เมื่ออายุมากขึ้น กระดูกและกล้ามเนื้อมีการเสื่อมถอยลงอย่างมากจนทำให้ผู้สูงอายุมีรูปร่างและท่าทางที่ผิดไปจากปรกติ ตลอดจนความไวในการทำงานของระบบประสาทลดลง

การที่ร่างกายสามารถอยู่นิ่งหรือเอื้อมหยิบสิ่งของได้โดยไม่ล้ม เนื่องมาจากการทำงานอย่างประสานสัมพันธ์กันระหว่างกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องกับการรักษาท่าทางทั้งทางด้านหน้าและด้านหลังของร่างกาย ไม่ว่าจะเป็นการทำงานระหว่างกล้ามเนื้อหลังกับกล้ามเนื้อหน้าท้อง กล้ามเนื้อต้นขาด้านหลังกับด้านหน้า และกล้ามเนื้อน่องกับกล้ามเนื้อหน้าแข้ง ซึ่งในขณะที่ร่างกายมีการเคลื่อนไหว กล้ามเนื้อหลักเหล่านี้จะทำหน้าที่รักษาและควบคุมให้จุดศูนย์ถ่วงร่างกายมีการเคลื่อนไหว และจะทำหน้าที่รักษาและควบคุมให้จุดศูนย์ถ่วงร่างกายอยู่ภายในฐานรับน้ำหนักร่างกาย แต่เมื่ออายุมากขึ้นกล้ามเนื้อเหล่านี้จะเกิดการเปลี่ยนแปลง โดยกล้ามเนื้อบางมัดมีแนวโน้มว่าจะตึงตัว และบางมัดมีแนวโน้มจะอ่อนแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของกล้ามเนื้อในลักษณะนี้จะทำให้ผู้สูงอายุมีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อและเคลื่อนไหวไม่สะดวก ซึ่งสามารถแก้ไขและป้องกันได้โดยการออกกำลังกายเพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นและความแข็งแรงให้กับกล้าเนื้อ รวมถึงการรักษาท่าทางในการทำงานให้อยู่ในท่าที่ดีและถูกต้อง เนื่องจากท่าทางที่ดีจะเป็นท่าที่กล้ามเนื้อทำงานน้อย ซึ่งจะช่วยลดอาการตึงตัวและอาการปวดของกล้ามเนื้อได้

ดังนั้น การป้องกันและลดความเสี่ยงต่อการหกล้มในผู้สูงอายุจึงสามารถทำได้โดยการออกกำลังกาย โดยเฉพาะการฝึกความสมดุล ซึ่งเป็นรูปแบบการออกกำลังกายที่ออกแบบมาเพื่อเพิ่มความสมดุลของร่างกายโดยเฉพาะ นอกจากจะหวังผลในการป้องกันการหกล้มแล้ว ยังให้ผลดีต่อสุขภาพจิต เช่น ลดภาวะซึมเศร้า เพิ่มความมั่นใจในการเคลื่อนไหวเพื่อทำกิจวัตรประจำวัน ทำให้ผู้สูงอายุนอนหลับได้เป็นปรกติ และส่งเสริมสุขภาพให้แข็งแรงขึ้น

วิธีการฝึกความสมดุลในการทรงท่าของร่างกาย (Balance training)

โดยเริ่มต้นจากท่าฝึกง่ายๆ เช่น การยืนยกขา เมื่อเริ่มทำได้แล้วจึงฝึกท่าที่ยากมากขึ้น ตัวอย่างท่าการฝึก

ท่าที่ 1 ยืนตรงบนขาข้างเดียว ท่าเริ่มต้น : ยืนตรงบนพื้นเรียบ วิธีการ : 1.มือทั้งสองข้างเท้าเอว ยกเท้าขวาไปข้างหลัง งอเข่าขวาขึ้น 2.พยายามยืนนิ่งบนขาข้างซ้ายค้างไว 5 วินาที 3.วางเท้าขวาลงบนพื้น แล้วทำซ้ำ 5-10 ครั้ง แล้วเปลี่ยนเป็นขาซ้าย

ท่าที่ 2 ยืนตรงบนขาข้างเดียวพร้อมกับงอสะโพก ท่าเริ่มต้น : ยืนตรงบนพื้นเรียบ วิธีการ : 1.มือทั้งสองข้างเท้าเอว ยกขาขวาขึ้น โดยให้เข่าอยู่ระดับเดียวกับข้อสะโพก 2.พยายามยืนนิ่งบนขาข้างซ้ายค้างไว้ 5 นาที 3.วางเท้าขวาลงบนพื้น แล้วทำซ้ำ 5-10 ครั้ง จากนั้นจึงเปลี่ยนมายืนบนขาข้างซ้ายแทนและฝึกเช่นเดียวกับขณะยืนบนขาขวา

ท่าที่ 3 ยืนตรงบนขาข้างเดียวพร้อมกับก้มตัวไปข้างหน้า ท่าเริ่มต้น : ยืนตรงบนพื้นเรียบ วิธีการ : 1.มือทั้งสองข้างเท้าเอว พับเข่าขวา ยกเท้าขวา 2.ก้มศีรษะและโน้มลำตัวช่วงบนลงให้มากที่สุดเท่าที่สารมารถทำได้โดยไม่ล้มค้างไว้ 5 วินาที กลับมายืนตรงแล้วทำซ้ำ 5-10 ครั้ง จากนั้นจึงเปลี่ยนมายืนบนขาขวา

ที่มา: หนังสือพิมพ์โลกวันนี้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *