แนวทางการสร้างศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ในองค์กร

แนวทางการสร้างศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ในองค์กร

วันที่ : 13 กันยายน 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : งานอัพเกรด

องค์กรจำนวนมากเริ่มตระหนักถึงความสำคัญของการเรียนรู้ในโลกยุคใหม่ที่มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง ที่ความรู้กลายเป็นปัจจัยขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ การมุ่งสู่ “องค์กรแห่งการเรียนรู้” จึงเป็นเป้าหมายสำคัญที่องค์กรจำเป็นต้องสร้างให้เกิดขึ้นโดยเร็ว

โดยแนวทางในการพัฒนาที่องค์กรส่วนใหญ่ใช้เพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้นั้นมักเริ่มจากการสร้างวิสัยทัศน์ร่วมกันและการพัฒนาบุคลากรในองค์กรทั้งในระดับผู้บริหารและพนักงานให้เป็นคนแห่งการเรียนรู้และรักการเรียนรู้ตลอดเวลาที่ปฏิบัติงาน (on-the-job learning) และการเปลี่ยนแปลงระบบต่าง ๆ ในองค์กรให้รองรับ อาทิ การปรับโครงสร้างในองค์กร การสร้างระบบที่มอบอำนาจในการเรียนรู้ (People empowerment in learning) ที่สนับสนุนพนักงานให้เกิดการเรียนรู้ด้วยตนเอง ระบบโค้ชงานที่เปลี่ยนจาก “สั่งการ” สู่ กลยุทธ์แบบ “สอนงาน” การสร้าง ระบบการให้รางวัล ระบบการประเมินผลที่จูงใจให้คนในองค์กรเกิดการเรียนรู้เพิ่มขึ้น รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมใหม่ในองค์กรที่รองรับ เช่น วัฒนธรรมการทำงานเป็นทีม วัฒนธรรมองค์กรที่เปิดโอกาสให้คิดแตกต่าง วัฒนธรรมการแลกเปลี่ยนประสบการณ์ซึ่งกันและกัน เป็นต้น รวมทั้งการสร้างบริบทหรือสภาพแวดล้อมในองค์กรให้เอื้อต่อการเรียนรู้นับว่าเป็นปัจจัยสำคัญอีกประการหนึ่งที่ส่งเสริมให้เกิดองค์กรแห่งการเรียนรู้อย่างสมบูรณ์ อาทิ การปรับปรุงสภาพของห้องอาหาร ทางเดิน พื้นที่ต่าง ๆ ในสำนักงานให้เป็นโซนแห่งการเรียนรู้ทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ

อย่างไรก็ตามเนื่องจากกระบวนการขององค์กรแห่งการเรียนรู้นั้น เป็นกระบวนการบริหารที่เน้นให้คนทำงานมุ่งมั่นเรียนรู้ผสมผสานอยู่ในกระบวนการทำงาน (Work Process) เป็นสำคัญ แนวคิดการบริหารองค์กรในยุคใหม่นี้จึงได้เปลี่ยนรูปแบบจากการพัฒนาทักษะในศูนย์ฝึกอบรม (Training Center) ไปสู่การสร้างศูนย์การเรียนรู้ (Learning Center) ให้เกิดขึ้นในองค์กร

ศูนย์การเรียนรู้ในองค์กรนั้นโดยอีกนัยหนึ่งอาจเรียกได้ว่าเป็นห้องสมุดขององค์กรนั่นเอง โดยมีจุดมุ่งหมายสำคัญในการดำเนินการเพื่อกระตุ้นให้พนักงานในองค์กรรักการเรียนรู้มากขึ้น กล่าวคือ

บริการเชิงรุกจัดองค์ความรู้เข้าสู่พนักงาน โดยการนำความรู้ไปหาคน แทนการรอให้คนมายืมหนังสือแบบห้องสมุดทั่วไป เพื่อรองรับในกรณีที่พนักงานอาจมีข้อจำกัดไม่สามารถมายืมทรัพยากรความรู้ต่าง ๆ ได้ด้วยตนเอง โดยมีรูปแบบการบริการ อาทิ กิจกรรม Moblie Unit นำทรัพยากรความรู้ต่าง ๆ ไปบริการให้พนักงานถึงที่ การทำจดหมายข่าวอิเลคทรอนิกส์ (E-news) การจัดทำห้องสมุดออนไลน์ (online) มีการรวบรวมข้อมูลข่าวสารที่สำคัญต่อการทำงานทั้งจากการสแกนหนังสือเอกสาร หรือการดาวโหลดข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตมาบริการให้พนักงานด้วยช่องทางเครือข่ายคอมพิวเตอร์ อาทิ ระบบ Lan หรือการใช้ Intranet ส่งตรงไปสู่พนักงานในองค์กร

บริการองค์ความรู้ด้วยสื่อที่หลากหลาย เปลี่ยนจากองค์ความรู้แบบ Text base เป็น Multiple Mode โดยการใช้เทคโนโลยีช่วยในการ ลดการใช้พื้นที่ในห้องสมุดในการเก็บเอกสาร เพิ่มพื้นที่ว่างในการให้บริการ และเพิ่มช่องทางในการใช้บริการที่หลากหลาย รวมทั้งการจัดระบบองค์ความรู้ทั้งหมดที่มี เพื่อสะดวกในการให้บริการในหลายรูปแบบ เช่น CD-Rom, ห้องสมุดเสียง, ห้องสมุดเสมือนจริง ฯลฯ ในรูปแบบที่น่าสนใจน่าเข้าไปใช้บริการ

บริการองค์ความรู้อย่างเป็นเครือข่าย ในการบูรณาการ แลกเปลี่ยนองค์ความรู้ และเชื่อมโยงแหล่งความรู้อื่น ๆ เช่น ระหว่างแผนกกับแผนก ในการแบ่งปันผลงาน ข้อคิด หรือข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นร่วมกัน รวมทั้งการบูรณาการระหว่างห้องสมุดของหน่วยงานอื่น ๆ เช่น สถาบันวิจัย หนังสือพิมพ์ ทีวี ห้องสมุดในสถานศึกษาต่าง ๆ เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้ซึ่งกัน

บริการองค์ความรู้ผ่านการถกแถลง ศูนย์การเรียนรู้ควรบริการห้องในการถกแถลงหรือมีเวทีให้ถกเถียงหรือนำเสนอผลงาน เนื่องจากองค์ความรู้สามารถเกิดขึ้นได้จากการพบปะพูดคุยถกเถียงต่อยอดทางปัญญาซึ่งกัน ศูนย์ข้อมูลควรเปิดโอกาสให้ผู้ใช้บริการที่มาเป็นกลุ่มสามารถพูดคุยนำเสนอความคิดเห็น ถกประเด็นต่าง ๆ ให้เกิดการจุดประกายทางความรู้เกิดการต่อยอดทางความคิดและการผสมเกสรทางปัญญาระหว่างกันมากยิ่งขึ้น โดยรูปแบบของห้องถกแถลงดังกล่าวอาจใช้บริเวณห้องประชุมที่มีอยู่แล้วในองค์กร หรือพื้นที่บริเวณศูนย์การเรียนรู้เอง พร้อมบริการด้านเทคโนโลยีหรือบริการด้านอื่น ๆ ที่เอื้อต่อการนำเสนองานรวมถึงการจัดบริการในการสืบค้นข้อมูลทั้งจากห้องสมุดและจากอินเทอร์เน็ตในบริเวณนั้นโดยตรง

บริการองค์ความรู้จากประสบการณ์พนักงานในองค์กร โดยการจัดระบบฐานความรู้เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างบุคลากรผ่านประสบการณ์ความผิดพลาดและต่อยอดบนประสบการณ์ความสำเร็จของผู้อื่น อาทิ การรวบรวมคู่มือการทำงาน หรือคู่มือป้องกันความผิดพลาดที่เกิดขึ้นในองค์กร เพื่อเป็นฐานข้อมูลสำหรับองค์กรได้ใช้ประโยชน์ต่อไป

การสร้างองค์กรให้เป็นองค์กรแห่งการเรียนรู้ได้นั้นต้องประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นตัวผู้บริหาร พนักงานในองค์กร ระบบโครงสร้างในองค์กร รวมทั้งการสร้างบริบทสภาพแวดล้อมแห่งการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร การสร้างศูนย์การเรียนรู้ในองค์กรนับเป็นก้าวแรกที่สำคัญในการ “ส่งสัญญาณ” ให้พนักงานและองค์กรในภาพรวมเห็นถึงการให้คุณค่าและความสำคัญของความรู้และการส่งเสริมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในองค์กร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *