แก้เด็กติดเกมและโทรทัศน์

แก้เด็กติดเกมและโทรทัศน์
 
วันที่ : 12 มิถุนายน 2551 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : การศึกษาอัพเกรด
 
        ผลสำรวจปัญหาเด็กและเยาวชนที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ ผลกระทบของเกมและโทรทัศน์ต่อพฤติกรรมของเด็กและเยาวชนไทย ซึ่งหากไม่เร่งแก้ไขจะก่อปัญหาสังคมตามมา
 
         ปัญหาคุกคามเด็กและวัยรุ่นในร้านอินเทอร์เน็ตคาเฟ่” โดยศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กรณีศึกษาเด็กและวัยรุ่นอายุ 7-19 ปี ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล จำนวน 2,276 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 22-23 เมษายน พ.ศ.2551 พบว่า ร้านอินเทอร์เน็ตมีการใช้ความรุนแรง อาทิ พูดจาหยาบคาย โวยวาย ด่าทอ และทำร้ายร่างกาย อีกทั้ง เด็กและเยาวชนส่วนใหญ่ที่นิยมเข้าไปเกมจะเสี่ยงต่อการมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสม เนื่องจากเกมที่ให้บริการมีทั้งเกมต่อสู้ เกมใช้ความรุนแรง เกมที่มีภาพโป๊ เกมเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์
 
        อิทธิพลของการชมรายการโทรทัศน์กับพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ในกลุ่มคนดู” กรณีศึกษาเด็กเยาวชนและประชาชนช่วงอายุ 2-6 ขวบ 7-12 ปี 13-19 ปี และ 20 ปีขึ้นไป ในกรุงเทพฯ และจังหวัดหัวเมืองใหญ่ จำนวน 2,159 ตัวอย่าง ระหว่าง 24-28 เมษายน พ.ศ.2551 พบว่า เด็กและเยาวชนอายุ 2-19 ปี ชอบฉากข่มขืนมากที่สุด และเห็นว่าการข่มขืนเป็นเรื่องธรรมดา เด็กบางส่วนบอกว่าอยากเป็นพระเอกเพราะข่มขืนคนอื่นได้ นพ.สุริยเดว ทรีปาตี หัวหน้าคลินิกวัยรุ่น สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินีกล่าวว่า หากเด็กได้รับสื่อที่ไม่เหมาะสมอย่างต่อเนื่อง จะมีพฤติกรรมรุนแรง หวาดกลัวสังคม เคยชินกับความรุนแรง และเลียนแบบจากสิ่งที่เห็น
 
        เมื่อมีนาคม ค.ศ.2008 สหภาพครูแห่งชาติ (National Union of Teachers: NUT) แห่งประเทศอังกฤษและเวลล์ ได้นำเสนอผลงานวิจัยสำคัญในงานสัมมนาประจำปี (NUT Annual Conference in Manchester 21-25 March 2008) ซึ่งได้มอบหมายศาสตราจารย์จอห์น แมคเบธ (Prof. John MacBeath) มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ เป็นผู้ทำวิจัย งานวิจัยชิ้นนี้ใช้ระยะเวลากว่า 5 ปี ในการสัมภาษณ์ครู ผู้ปกครอง และนักเรียน รวมแล้วกว่า 100 คน เพื่อศึกษาว่าเด็กที่พ่อแม่ตามใจและขาดการอบรมสั่งสอนที่ดีจากครอบครัวจะมีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมในห้องเรียน อาทิ ชอบท้าทายครู ขว้างปาสิ่งของ พูดจาหยาบคาย และก้าวร้าว
 
        งานวิจัยชิ้นนี้ไม่ได้ศึกษาผลกระทบการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ต่อพฤติกรรมของเด็กโดยตรง แต่สามารถอธิบายได้ว่า การที่ผู้ปกครองไม่ควบคุมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ของลูก เป็นตัวการบ่มเพาะพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมของเด็ก
 
        การไม่ห้ามปรามและล้มเลิกกฎของบ้าน เป็นปัจจัยเสริมพฤติกรรมไม่พึงประสงค์
 
        รายงานวิจัยกล่าวถึง การที่ผู้ปกครองไม่ห้ามปรามเมื่อเด็กต้องการเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์ที่มีเนื้อหาไม่เหมาะสม หรืออยู่ในช่วงเวลาที่ไม่เหมาะสม อีกทั้ง การล้มกฎระเบียบที่มีไว้เพื่อควบคุมพฤติกรรมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์เพียงเพื่อต้องการให้ลูกสงบและอยู่บ้าน เป็นปัจจัยทำให้เด็กเสียนิสัยและบ่มเพาะพฤติกรรมก้าวร้าวที่เด็กได้รับจากเกมและโทรทัศน์ บางครอบครัวไม่กล้าพูดคำว่า ไม่” เมื่อเด็กเรียกร้องขอดูโทรทัศน์และเล่นเกมคอมพิวเตอร์ในห้องนอน หลายครอบครัวยอมตามใจเพราะต้องการสงบศึกในบ้าน เด็กจึงสามารถนั่งเล่นเกมหรือดูโทรทัศน์ได้วันละหลายชั่วโมง
 
        ดร.ทันยา ไบรอน (Dr.Tanya Byron) นักจิตวิทยาที่เชี่ยวเกี่ยวกับผลกระทบของสื่อโทรทัศน์ (TV psychologist) กล่าวว่า ภาพยนตร์และเกมจะส่งผลกระทบต่อพฤติกรรมของเด็กในระยะยาว ศาสตราจารย์แมคเบธ ผู้วิจัยกล่าวว่า หากปล่อยปัญหานี้ผ่านไป เมื่อเด็กเข้าสู่ชั้นมัธยมศึกษาจะยิ่งยากต่อการดัดนิสัย เพราะเด็กจะก้าวร้าวมากขึ้นและว่านอนสอนง่ายน้อยลง สทีฟ ซินนอต (Steve Sinnott) เลขาธิการสหภาพครูแห่งชาติ แสดงความคิดว่า ปัจจุบันหลายครอบครัวใช้วิธีการปล่อยเลยตามเลย ปัญหาจึงสะสมมาเรื่อย ๆ ในทางตรงข้าม หากเด็กได้รับการอบรมที่ดีตั้งแต่อยู่ในครอบครัว จะไม่มีพฤติกรรมก้าวร้าว ซึ่งเห็นได้ชัดจากพฤติกรรมในห้องเรียน ซินนอตเสนอว่า สถานศึกษาควรทำความเข้าใจกับผู้ปกครองถึงผลกระทบของการปล่อยให้เด็กอยู่กับเกมและโทรทัศน์ และเห็นว่ารัฐควรเข้ามาช่วยเหลือ
 
        การแก้ปัญหาเด็กติดเกมและโทรทัศน์ของรัฐบาลอังกฤษ
 
        สนับสนุนให้ส่งเด็กเข้าสถานรับเลี้ยงเด็กที่มีคุณภาพโฆษกกระทรวงเยาวชน โรงเรียน และครอบครัว (Department for Children, Schools and Families: DCSF) ของอังกฤษกล่าวว่า งานวิจัยดังกล่าวว่า ไม่เพียงกระตุ้นให้ครอบครัวตระหนักและหาทางรับมือกับปัญหาเท่านั้น แต่ยังทำให้รัฐบาลได้รู้ว่าผู้ปกครองต้องการช่วยเหลือ เพราะไม่เพียงต้องรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีและการทำมาหากินเท่านั้น ยังต้องรับหน้าที่ดูแลลูกให้ได้เรียนและเล่นในสถานที่ปลอดภัย ซึ่งครอบครัวส่วนใหญ่ยังไม่มีความสมดุล เพราะต้องทำงานนอกบ้านและมีเวลาอยู่กับลูกน้อยมาก โอกาสในการปลูกฝังค่านิยมที่เหมาะสมจึงมีจำกัด เกมและโทรทัศน์กลายเป็นเพื่อนสนิทของลูก โดยเฉพาะผู้ปกครองที่ไม่มีเพื่อนบ้านหรือเครือข่ายคอยให้ความช่วยเหลือจะประสบปัญหามาก แนวทางที่รัฐบาลอังกฤษนำมาใช้คือ ให้ผู้ปกครองนำเด็กไปที่สถานรับเลี้ยงเด็กเมื่อมีอายุได้ 3 ขวบ และสามารถออกไปทำงานนอกบ้านได้อย่างสบายใจ เพราะมั่นใจได้ว่าเด็กจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม
 
        บังคับใช้กฎหมายควบคุมเกมที่มีความรุนแรง แม้ปัจจุบันการบังคับใช้ พ.ร.บ.วัสดุโทรทัศน์ (Video Recordings Act) ในประเทศอังกฤษ ทำให้วีดีโอเกมส่วนใหญ่ไม่ได้รับอนุญาตจากคณะกรรมการจัดประเภทภาพยนตร์ (British Board of Film Classification: BBFC) ให้วางจำหน่ายและเผยแพร่ เนื่องจากนำเสนอความรุนแรงต่อคนและสัตว์ อย่างไรก็ตาม เด็กยังสามารถหาซื้อเกมดังกล่าวได้ทางอินเทอร์เน็ต เพียงแค่คลิกปุ่มยืนยันที่มีไว้ในสำหรับผู้ซื้อที่มีอายุมากกว่า 18 ปี ซึ่งความเป็นจริงคนทุกวัยสามารถคลิกปุ่มนี้ได้
 
        การแก้ปัญหาการติดเกมและโทรทัศน์ของเด็กและเยาวชนไทย ต้องเริ่มจากสถาบันครอบครัว ที่ต้องให้เวลากับบุตรหลานมากขึ้น ประการสำคัญ ผู้ปกครองควรตั้งกฎในบ้านเพื่อควบคุมการเล่นเกมและดูโทรทัศน์ และกล้าพูดคำว่า “ไม่” เมื่อเด็กต้องการทำนอกกฎ นอกจากนี้ ควรใส่ใจกับการใช้เวลาว่างของเด็กให้ไปในทางที่เกิดประโยชน์ ในส่วนของรัฐบาล ควรจัดให้มีสถานดูแลเด็กเกิดขึ้นในทุกชุมชน ทุกหมู่บ้าน รวมถึงในที่ทำงาน เพื่อให้ผู้ปกครองสามารถทำงานได้เต็มที่ โดยมั่นใจได้ว่าเด็กได้รับการดูแลอย่างเหมาะสม นอกจากนี้ รัฐควรมีมาตรการตรวจสอบเกมทุกประเภท ที่มีวางจำหน่ายหรือให้บริการในร้านอินเทอร์เน็ต เพื่อกวาดล้างเกมที่ก่อให้เกิดความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศ และบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังสำหรับผู้ฝ่าฝืน ส่วนสถานศึกษาควรร่วมกับหน่วยงานภายนอก เพื่อวางแผนจัดกิจกรรมในช่วงปิดเทอม ให้เด็กและเยาวชนมีกิจกรรมดี ๆ เป็นประโยชน์และดึงเด็กออกจากโลกของเกมและการอยู่หน้าจอโทรทัศน์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *