แก่นของ VI

แก่นของ VI
โลกในมุมมองของ value investor : ดร.นิเวศน์ เหมวชิรวรากร กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 11 ธันวาคม พ.ศ. 2550
ผมเขียนบทความเกี่ยวกับ Value Investment มานานมาก ตั้งแต่ยังแทบไม่มีคนในตลาดหุ้นไทยรู้จัก จนเดี๋ยวนี้ Value Investment เป็นหลักการลงทุนที่เป็นที่ยอมรับ และหนังสือพิมพ์สามารถเขียนเรื่องเกี่ยวกับการลงทุนแบบเน้นคุณค่า โดยไม่ต้องบอกว่ามันคือการลงทุนอย่างไรแล้ว แต่พอมานึกดูว่า อะไรคือหัวใจ หรือแก่นของ Value Investment จริงๆ ผมเชื่อว่าหลายคนอาจจะตอบไม่ได้ ดังนั้น ผมจึงถือโอกาสนี้ทบทวนความคิดเรื่องนี้
แก่นของ Value Investment ที่ผมจะพูดถึงนี้ แน่นอนมาจากสาระสำคัญของหนังสือคลาสสิก 2 เล่ม ของเบน เกรแฮม “บิดาแห่ง Value Investment” คือ Security Analysis ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1934 และ Intelligent Investor ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1949 โดยที่เล่มหลังนี้เป็นเล่มต่อจากเล่มแรก และเขียนสำหรับคนอ่านทั่วๆ ไป แทนที่จะเพื่อคนที่เป็นมืออาชีพหรือนักวิชาการอย่างเล่มแรก
แก่นของ VI จากหนังสือ 2 เล่มนี้ สามารถสรุปหลักการลงทุนและวิเคราะห์หลักทรัพย์ได้เป็น 4 ข้อใหญ่ๆ คือ
1) เวลาลงทุนซื้อหุ้น ให้คิดเหมือนกับว่าเรากำลังจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ต้องคิดว่าเรากำลังเข้าเป็นหุ้นส่วนกับเขา เมื่อเราคิดแบบนี้ เราก็จะต้องวิเคราะห์ว่าธุรกิจของเขาทำอะไร สินค้าเป็นอย่างไร ยอดขายเป็นอย่างไร มีกำไรดีไหม ฐานะการเงินเป็นอย่างไร มีหนี้มากน้อยแค่ไหน ธุรกิจมีความสม่ำเสมอไหม ธุรกิจมีการเติบหรือไม่และจะเติบโตต่อไปหรือเปล่า และจะเติบโตต่อไปอีกนานเท่าไร ที่สำคัญที่สุดอีกอย่างหนึ่ง ก็คือ ผู้บริหารมีความน่าเชื่อถือหรือเปล่า ซึ่งทั้งหมดนี้ ไม่ได้เกี่ยวกับราคาหุ้นที่ขึ้นลงหวือหวาที่นักเล่นหุ้นมักจะดูก่อนที่จะเข้ามาซื้อขายหุ้นเลย พูดง่ายๆ ถ้าเป็น Value Investment “ธุรกิจต้องมาก่อน”
2) หา “มูลค่าที่แท้จริง” ของธุรกิจหรือหุ้นที่เราวิเคราะห์ มูลค่าที่แท้จริง หรือ Intrinsic Value นั้น หาได้จากการคิดส่วนลดเงินสดที่เราจะได้รับในอนาคต นี่ก็คือการหามูลค่าทางทฤษฎี ซึ่งค่อนข้างยุ่งยากมากสำหรับนักลงทุนทั่วๆ ไป แต่ในทางปฏิบัติเราก็มักจะใช้ค่า PE หรือราคาต่อกำไรต่อหุ้น หรือค่า PB หรือกำไรต่อมูลค่าหุ้นทางบัญชีมาเป็นตัววัดว่า หุ้นมีราคาแพงหรือถูก หรือหุ้นควรมีราคาที่เหมาะสมเท่าไร
3) ซื้อหรือขายหุ้นต่อเมื่อมีส่วนต่างระหว่างมูลค่าที่แท้จริงกับราคาหุ้นในตลาด เพราะในที่สุดแล้ว ราคาหุ้นในตลาดจะวิ่งไปที่มูลค่าที่แท้จริง พูดให้เฉพาะขึ้นก็คือ ถ้าราคาหุ้นในตลาดต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก โอกาสที่เราจะกำไรก็จะสูงและโอกาสที่จะขาดทุนก็จะน้อย หรือเรียกว่าเรามีการ “เผื่อความปลอดภัย” สูง ในภาษาของ Value Investor ก็คือ เรามี Margin of Safety สูง
4) ตลาดหุ้นนั้น เป็นที่จะรับใช้เราไม่ใช่คนที่จะมาสั่งว่าเราจะต้องทำอะไร โดยส่วนใหญ่แล้ว ตลาดหุ้นสามารถกำหนดราคาธุรกิจ หรือหุ้นต่างๆ ในตลาดได้อย่างถูกต้อง อย่างไรก็ตาม มีช่วงเวลาที่ตลาดให้ราคาหุ้นสูงหรือต่ำกว่ามูลค่าที่แท้จริงมาก หน้าที่ของนักลงทุน ก็คือ ค้นหาหุ้นที่มีราคาต่ำกว่ามูลค่ามากๆ ซื้อแล้วเก็บไว้รอจนราคาสะท้อนมูลค่าที่แท้จริงจึงขายออกไป และนี่คือแนวความคิดว่าตลาดหุ้นเป็น “ผู้รับใช้” ส่วนแนวความคิดว่าตลาด เป็น “ผู้สั่ง” เรานั้น หมายความว่าเราตัดสินใจซื้อหรือขายหุ้นโดยดูจากการขึ้นลงของราคาหุ้น โดยที่เราไม่ได้คำนึงถึงพื้นฐาน หรือมูลค่าที่แท้จริงของธุรกิจเลย
ทั้ง 4 ข้อนั้น ก็คือ “แก่น” ของ VI ซึ่ง “ทนทานต่อกาลเวลา” นั่นคือ เป็นหลักการที่ไม่เปลี่ยนแปลง แม้ว่าจะเกิดขึ้นมานานมากแล้ว ส่วน “รายละเอียด” อื่นๆ นั้น มีการแตกแขนงออกไปมากมาย บางทีถ้ามีคุณลักษณะที่ชัดเจนเราก็เรียกมันว่าเป็น “สไตล์” เช่น สไตล์แบบ “ก้นบุหรี่” ที่เน้นหุ้นที่มีราคาถูกเป็นพิเศษ และสไตล์ แบบ “บัฟเฟตต์” ที่เน้นหุ้นที่มีคุณภาพทางธุรกิจสูงมาก
แต่ไม่ว่าจะเป็นแบบไหน สิ่งที่ทุกสไตล์จะต้องยึดถือเหมือนกัน ก็คือ “แก่น” ของ VI ดังกล่าว ถ้าจะเปรียบเทียบแก่นของ VI ก็เหมือนกับฐานรากของอาคารที่คอยรับน้ำหนักไม่ให้ตัวอาคารเสียหาย ถ้าฐานไม่แน่น โอกาสที่ตัวอาคารจะทรุดหรือถล่ม ก็จะสูงขึ้น ดังนั้น ไม่ว่าเราจะใช้สไตล์ไหนหรือมีสไตล์ของตัวเอง ถ้าเราจะเป็น Value Investor แล้ว สิ่งที่ขาดไม่ได้ ก็คือ เราจะต้องยึดถือ “แก่นของ VI” เสมอ

Tags:

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *