เมื่อมาถึงทางตันแห่งชีวิต

เมื่อมาถึงทางตันแห่งชีวิต
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 29 พฤษภาคม พ.ศ. 2550
หัวข้อเรื่องในวันนี้ดูน่ากลัวนะครับ แต่เนื้อหาไม่ได้น่ากลัวอย่างหัวข้อที่เขียนไว้นะครับ แถมอาจจะเป็นทางออก หรือแสงสว่างให้กับใครหลายๆ คน คนเราโดยทั่วไปในช่วงเวลาใดเวลาหนึ่ง จะมีความรู้ว่าอาชีพ หรืองานที่ตนเองกำลังทำอยู่นั้น ไม่ไปถึงไหนสักที ชีวิตไม่ว่าจะเป็นชีวิตการงาน หรือแม้กระทั่งชีวิตส่วนตัว ก็ดูเหมือนจะไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที เรียกได้ว่าถึงทางตันของการทำงานแล้ว ไม่ทราบท่านผู้อ่าน ได้เคยเกิดความรู้สึกแบบนี้บ้างไหมครับ? ถ้าเคยหรือเป็นอยู่ในปัจจุบัน ก็ไม่ต้องหวั่นนะครับ เนื่องจากมีการค้นพบว่าการมาถึงทางตันนั้น กลับเป็นปัจจัยที่สำคัญที่จะทำให้เราเติบโตต่อไป เรียกได้ว่าเป็นวิกฤติที่จำเป็นสำหรับการเติบโตของแต่ละคน เพียงแต่เราจะรู้จักหนทางที่จะผ่าทางตันเพื่อการเติบโตของเราต่อไปหรือไม่เท่านั้นเองครับ
มีนักวิชาการคนหนึ่งชื่อ Timothy Butler ซึ่งเป็นผู้อำนวยการ Career Development Program ที่ Harvard Business School อีกทั้งเป็นนักจิตวิทยาและที่ปรึกษาทางด้านอาชีพมานาน ได้ทำวิจัยและได้ให้ข้อเสนอแนะในการผ่าทางตันนี้ไว้ครับ
แต่ก่อนที่จะมาดูวิธีผ่าทางตัน เราลองมาดูก่อนนะครับว่าเจ้าคำว่าทางตันที่ผมใช้นั้นจริงๆ แล้วหมายถึงสิ่งใด? Butler ระบุไว้ครับว่าช่วงที่เราเผชิญทางตันแห่งชีวิตนั้น เป็นช่วงระยะเวลาที่คนเกือบทุกคนจะต้องเคยเผชิญหรือผ่านพ้นมา โดยเริ่มจากความรู้สึกหดหู่ รันทด หาทางออกให้กับชีวิตไม่เจอ ไม่รู้จะไปทางไหน และหลายครั้งก็จะหันกลับมาโทษตัวเองว่า ตัวเองมีอะไรผิดปกติตรงไหน ถึงยังได้ติดอยู่ในที่เดิม สถานการณ์เดิม และไม่ก้าวหน้าไปไหนเสียที ท่านผู้อ่านลองสำรวจตัวของท่านเองก็ได้ครับ แล้วลองถามตัวเองว่า เคยมีคำพูดเหล่านี้อยู่ในใจหรือไม่? “ฉันทำบางอย่างผิดพลาด หรือ ฉันไม่ประสบความสำเร็จ หรือ ฉันไม่สามารถทำงานได้เต็มตามความสามารถที่มี หรือ ฉันทำงานได้ไม่ดี หรือ ฉันมองไม่เห็นความท้าทายใหม่ๆ หรือ ฉันไม่รู้สึกจูงใจในการทำงาน”
ถ้าท่านผู้อ่านเคยมีคำพูดเหล่านี้อยู่ในใจ แสดงว่าท่านผู้อ่านเคยผ่านช่วงเวลาหนึ่งแห่งชีวิตที่เรียกได้ว่าหาทางออกไม่เจอ ถึงทางตัน ซึ่งจริงๆ แล้วทางตันดังกล่าวก็ไม่ใช่ในเรื่องของการทำงานอย่างเดียวนะครับ เรื่องชีวิตส่วนตัวก็เช่นเดียวกันครับ ท่านเพียงย้อนกลับไปคิดดูแล้วท่านก็จะพบว่าท่านก็ได้ผ่านช่วงเวลาเหล่านี้กันมาบ้างแล้ว บางท่านอาจจะเกิดขึ้นบ่อย บางท่านอาจจะไม่บ่อย
คำถามสำคัญต่อมาคือทำไมคนเราถึงได้มีอารมณ์หรือความรู้สึกในลักษณะดังกล่าวได้? เกิดขึ้นเนื่องจากสาเหตุผิดปกติอะไรหรือเปล่า? สิ่งที่ Butler เขาค้นพบคือ ไม่มีสาเหตุที่แน่นอนหรือชัดเจนครับ แต่ถ้ามองอีกมุมหนึ่งกลับเป็นสิ่งที่มีความสำคัญหรือจำเป็นต้องมีความก้าวหน้าในด้านต่างๆ ของคนเรา เรียกได้ว่าถ้ามาถึงจุดต่ำสุดแล้ว คนเราทุกคนก็ย่อมจะแสวงหาทางออกด้วยตนเองในการพลิกฟื้นให้ได้
ท่านผู้อ่านต้องอย่านึกถึงเจ้าทางตัน หรือช่วงเวลาดังกล่าว เป็นเรื่องของความล้มเหลว หรือการขาดความสามารถของตัวท่านเองครับ แต่ควรจะมองว่าเป็นเสมือนสิ่งที่ธรรมชาติต้องการให้เกิดขึ้น เพื่อให้เราได้ปรับเปลี่ยนวิธีคิด วิธีการในการทำงาน เพื่อผ่าทางตันเหล่านั้นออกมาให้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าเรายังคิด ทำงาน หรือ หาทางแก้ไขปัญหา ด้วยวิธีการเดิมๆ เราก็ไม่สามารถที่จะผ่าทางตันออกมาได้ ดังนั้นถ้าเรามองในอีกมุมหนึ่ง จังหวะหรือช่วงเวลาของชีวิตในช่วงดังกล่าวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญและจำเป็นต่อการพัฒนาของแต่ละคน
มีการค้นพบว่าผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา จะเกิดภาวะเจอทางตัน มากกว่าผู้ที่ทำงานในสภาวะแวดล้อมที่มั่นคง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ ล้วนแล้วแต่ สามารถนำไปสู่ทางตันของชีวิตได้ทั้งสิ้น ยกตัวอย่างง่ายๆ ครับ ในปัจจุบันผมเริ่มพบกับผู้บริหารหลายท่านที่ได้รับ Package ให้ออกจากบริษัท หรือ พูดง่ายๆ ก็คือให้ออกนั้นเอง เนื่องจากบริษัทประสบกับปัญหาการดำเนินงาน หรือ บริษัทไปควบรวมกับบริษัทอื่น หรือ บริษัทไม่เห็นถึงความจำเป็นของหน่วยงานเราอีกต่อไป หลายๆ ท่านที่เผชิญกับสถานการณ์ในลักษณะดังกล่าว อาจจะเกิคความรู้สึกหดหู่ ท้อแท้ หรือ รู้สึกว่าตัวเองไม่ประสบความสำเร็จในการทำงาน ก็ได้ แต่หลายท่านก็สามารถพลิกวิกฤติเป็นโอกาส ในการแสวงหาช่องทางหรือแนวทางใหม่ๆ ในการทำงาน
ผมเองก็มีลูกศิษย์หลายคนครับที่ในขณะนี้เริ่มเข้าสู่ช่วงนี้เหมือนกัน เนื่องจากจบ MBA มาแต่ก็ยังหางานทำไม่ได้ (ไม่ได้เลือกมากด้วย) หรือ นิสิตปริญญาตรีบางคนจบมาด้วยเกรดที่สูง กลับหางานได้ช้ากว่าผู้ที่จบด้วยเกรดที่ต่ำกว่า ทำให้นิสิตเหล่านี้เริ่มกลับมาตั้งคำถามให้กับตัวเองเหมือนกันนะครับว่าเรียนมาสูงๆ เพื่ออะไร? หรือ จะตั้งใจเรียนให้ได้เกรดดีๆ เพื่ออะไร? เป็นต้น ซึ่งก็เรียกว่าเป็นช่วงที่เข้าสู่ทางตันของคนรุ่นใหม่เหล่านี้เหมือนกัน
ถ้าบางคนสามารถผ่าทางตันหรือพลิกวิกฤติให้เป็นโอกาสได้ ก็จะทำให้ตนเองมีการเติบโตขึ้นไปอีกขั้นครับ บางคนหาทางออกโดยการบวชเรียน และมีทีท่าว่าจะไม่สึก หรือ บางคนแทนที่จะไปสมัครงาน ก็สร้างธุรกิจของตนเองขึ้นมา เอาไว้ในสัปดาห์หน้าเรามาดูกันนะครับว่านักวิชาการจากรั้ว Harvard เขามีข้อเสนออย่างไรในการผ่าทางตันแห่งชีวิต
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *