เปิดรายงานสภาพัฒน์ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ

เปิดรายงานสภาพัฒน์ การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ การพัฒนาโลจิสติกส์ของประเทศ

*หมายเหตุ* : สำนักวิเคราะห์โครงการลงทุนภาครัฐ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้เผยแพร่รายงานความก้าวหน้าและผลการดำเนินงานของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องภายใต้ยุทธศาสตร์การพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของไทย ซึ่งมีการติดตามประเมินผลเป็นระยะๆ เพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ต่อไป โดย “มติชน” เห็นว่ามีเนื้อหาที่น่าสนใจ ดังนี้

 

=การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน

การดำเนินงานที่ผ่านมา ทั้งในส่วนของระบบโครงสร้างพื้นฐานทางกายภาพและระบบการให้บริการบนเส้นทางคมนาคม อาจยังไม่สามารถประเมินผลของผลลัพธ์ต่อระบบโลจิสติกส์ในภาพรวมได้อย่างชัดเจนนัก เนื่องจากส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการออกแบบ ก่อสร้างและเตรียมการดำเนินงานเท่านั้น สามารถสรุปความก้าวหน้าในแต่ละกลยุทธ์หลักได้ ดังนี้

1.ยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการที่ช่องทางการค้าหลักและพัฒนาช่องทางการค้าที่มีศักยภาพ เป็นเครือข่ายระดับสากล (Global Destination Network) การพัฒนาโครงสร้างทางกายภาพที่ประตูการค้าหลักมีความคืบหน้าอย่างต่อเนื่อง โดยมีโครงการที่ได้รับงบประมาณจัดสรรในปี 2549 ได้แก่ โครงการพัฒนาท่าเรือน้ำลึกปากบารา จ.สตูล โครงการท่าเทียบอเนกประสงค์ระนอง การพัฒนาท่าอากาศยานภูมิภาคเชียงใหม่/ภูเก็ต

นอกจากนี้ มีโครงการที่ช่วยปรับปรุงประสิทธิภาพการให้บริการของท่าเรือแหลมฉบังบ้างในบางส่วน ได้แก่ โครงการระบบตรวจสอบตู้คอนเทนเนอร์สินค้า อย่างไรก็ตาม การบริหารจัดการด้านขนส่ง และจราจรโดยรอบประตูการค้าหลัก โดยเฉพาะท่าเรือแหลมฉบังยังไม่มีความชัดเจนและไม่เป็นระบบ เนื่องจากยังขาดความเชื่อมโยงของแผนงาน /โครงการด้านระบบขนส่งทางถนน และทางรางร่วมกัน ทำให้การแก้ไขปัญหาคอขวดยังไม่ลุล่วงอย่างเป็นรูปธรรมมากนัก นอกจากนี้ยังขาดแผนงานพัฒนาศักยภาพของประตูการค้าอื่นที่จะมีความสำคัญเพิ่มขึ้นในอนาคต เช่น การจัดการระบบโลจิสติกส์ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ และการพัฒนา/ขยายท่าเรือมาบตาพุด

2.พัฒนาระบบเครือข่ายเชื่อมโยงศูนย์รวบรวมและการกระจายสินค้าภายในประเทศให้มีคุณภาพ มาตรฐาน และสามารถใช้ประโยชน์สูงสุด เริ่มมีการดำเนินแผนงาน/โครงการเพื่อเชื่อมโยงระหว่างรูปแบบการขนส่งมากขึ้น โดยหน่วยงาน ร.ฟ.ท.และ กทท.เช่น โครงการพัฒนาสถานีขนส่งสินค้า CY ในภูมิภาคต่างๆ โครงการพัฒนารูปแบบการขนส่งสินค้า และพลังงานต้นทุนต่ำ เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีมาตรการสนับสนุนการใช้ก๊าซเอ็นจีวี เพื่อการขนส่งอย่างจริงจัง โดยกระทรวงพลังงาน อย่างไรก็ตาม การพัฒนาระบบเครือข่ายขนส่งดังกล่าว ยังไม่สามารถตอบคำถาม เกี่ยวกับการพัฒนาเส้นทาง เพื่อรองรับทิศทางการขยายตัวของอุตสาหกรรมหลัก และอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพของประเทศได้ชัดเจนนัก

3.พัฒนาเส้นทางขนส่งและโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคบนเส้นทางการค้าหลักเชื่อมโยงในประเทศกับภูมิภาค โครงข่ายถนนตามเส้นทางเศรษฐกิจทั้ง 3 เส้นทาง ในส่วนที่อยู่ในประเทศไทยมีการขยายเส้นทาง และพัฒนาอย่างค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว เหลือเพียงการขยายเส้นทางเป็น 4 ช่องจราจรระยะสั้นๆ บางส่วนเท่านั้น เช่น แหลมฉบัง-สระแก้ว โดยคาดว่าทั้ง 3 เส้นทางเศรษฐกิจหลักจะก่อสร้างเสร็จสมบูรณ์ตลอดเส้นทางภายในปี 2551

=การพัฒนาธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์

1.ส่งเสริมธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อสนับสนุนให้คนไทยเลือกประกอบการธุรกิจบริการด้านโลจิสติกส์เพิ่มมากขึ้น ด้วยการกำหนดมาตรการจูงใจให้มีการลงทุน รวมทั้งพัฒนากฎหมายรองรับธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ในประเทศ ด้วยการผลักดันให้เกิดกฎหมายที่จะใช้รองรับสถานะผู้ให้บริการด้านโลจิสติกส์โดยตรง และ 

2.ยกระดับมาตรฐานการให้บริการ ของผู้ให้บริการโลจิสติกส์ โดยมุ่งเน้นพัฒนาผู้ให้บริการโลจิสติกส์ทั้งภาครัฐ และภาคเอกชนให้สามารถขยายขอบเขตการให้บริการในงานที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น และส่งเสริมให้มีเครือข่ายธุรกิจ ระหว่างกลุ่มผู้ให้บริการโลจิสติกส์ เพื่อให้เกิดการลดต้นทุนจากการใช้ทรัพยากรร่วมกันและการเเลกเปลี่ยนถ่ายทอดองค์ความรู้

การดำเนินงานที่ผ่านมา ได้พยายามส่งเสริมให้มีการลงทุนในธุรกิจประเภทนี้ โดยการออกประกาศสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน ที่ ป.9/2546 เรื่อง การกำหนดขอบข่ายธุรกิจสำหรับกิจการในหมวดที่ 7 กิจการบริการและสาธารณูปโภค โดยกำหนดขอบเขตธุรกิจในกิจการที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์ ถือเป็นมาตรการส่งเสริมการลงทุนของในธุรกิจให้บริการโลจิสติกส์ โดยเฉพาะธุรกิจเอสเอ็มอีที่ไม่เน้นเทคโนโลยีชั้นสูงและโครงการขนาดใหญ่

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีความคืบหน้าในการพัฒนาธุรกิจผู้ให้บริการโลจิสติกส์เท่าที่ควร เนื่องจากกระทรวงพาณิชย์ ซึ่งเป็นเจ้าภาพหลัก ไม่ได้รับการจัดสรรงบประมาณ จะมีเพียงการจัดฝึกอบรมให้ผู้ประกอบการกลุ่มเล็กเท่านั้น

ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคเอกชน หรือภาคการศึกษาจำเป็นต้องร่วมมือกันส่งเสริม และยกระดับบริษัทที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเด็นหลัก ได้แก่

1.ผลักดันให้ผู้ประกอบการไทยให้บริการขยายงานครอบคลุมในงานที่เกี่ยวกับงานด้านการจัดเก็บ ดูแลและบริหารคลังสินค้า และการติดสลากหรือบรรจุภัณฑ์ เพื่อขยับเป็นผู้ให้บริการในลักษณะ Contract Logistics หรือ Third Party Logistics

2.พัฒนาบุคลากรและองค์ความรู้ด้านโลจิสติกส์ เพื่อพัฒนาศักยภาพด้านการบริหาร และปฏิบัติการของบุคลากรในสายงานด้านโลจิสติกส์ทางธุรกิจ

3.สนับสนุนด้านการลงทุนในรูปแบบของบีโอไอ หรือการให้เงินกู้ยืมในการพัฒนาศักยภาพ ในการให้บริการงานด้านโลจิสติกส์ของบริษัทคนไทย และ

4.ส่งเสริมและถ่ายทอดเทคโนโลยีและเทคนิคต่างๆ ในการประยุกต์ใช้ระบบสารสนเทศในงานโลจิสติกส์ของบริษัท ซึ่งอาจรวมถึงระบบสารสนเทศด้านโลจิสติกส์บางประเภทที่สามารถให้บริษัทโลจิสติกส์ต่างๆร่วมเช่าใช้บริการ เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายในการลงทุนในระยะแรกที่สูง

=การเชื่อมโยงทางการค้ากับภูมิภาค

การพัฒนาระบบอำนวยความสะดวกทางการค้าผ่านชายแดน กระทรวงการคลัง โดยกรมศุลกากร มีการก่อสร้างโครงสร้างทางกายภาพของศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จ ตามแนวชายแดน 6 แห่งค่อนข้างสมบูรณ์แล้ว ยังขาดเพียงระบบการบริหารจัดการ ได้แก่ การประสานงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานที่ให้บริการที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมปศุสัตว์ กรมประมง อ.ย. และการสร้างระบบเชื่อมโยงข้อมูลระหว่าง 5 หน่วยงานหลักดังกล่าว เพื่อให้ด่านชายแดน สามารถดำเนินการให้บริการอำนวยความสะดวกทางการค้าแบบเบ็ดเสร็จได้ ด้านส่งเสริมให้มีการสร้างมาตรฐานระบบอำนวยความสะดวกการค้า และการขนส่งร่วมกันในภูมิภาค มีความคืบหน้าในการเจรจาตกลงทางการค้าตามกรอบความร่วมมือระหว่างประเทศในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง(GMS) โดยคาดว่าจะมีการเจรจาการค้า 20 ฉบับ แล้วเสร็จในปี 2548 และมีผลสมบูรณ์ในปี 2550

ที่มา มติชนรายวัน วันที่ 15 พฤศจิกายน พ.ศ. 2548 ปีที่ 28 ฉบับที่ 10111

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *