เตรียมพร้อมรับ “ผิด” และ “ชอบ”

เตรียมพร้อมรับ “ผิด” และ “ชอบ”
เกรียงศักดิ์ นิรัติพัฒนะศัย
ดร.เฮนรี โฮล์มส์ ซึ่งเป็นชาวต่างชาติที่มีประสบการณ์อย่างช่ำชองในเรื่องของ Cross Cultural Management ในประเทศไทยได้พูดถึงเรื่อง Accountability ในคู่มือวิชา Cross Cultural Management ของเขาไว้อย่างน่าสนใจ ผมเองได้มีโอกาสร่วมสอนให้กับบริษัท Cross Cultural Management หลายครั้ง จึงขอนำบทความที่เขาเขียนไว้ในเรื่องนี้มาให้ท่านอ่านประกอบดังนี้
คำอื่นที่มีความหมายใกล้เคียง ความรับผิดชอบ ความพร้อมรับผิด การยึดถือได้ เชื่อมั่นได้คำมั่นสัญญา และการไม่ปัดความผิดให้พ้นจากตน
Accountability เป็นกลุ่มพฤติกรรมที่บุคคลแสดงออกให้เห็นว่า ได้ยอมรับหน้าที่หนึ่ง ๆ และนำไปปฏิบัติด้วยความพร้อมที่จะรับทั้งผิดและชอบ
บุคคลที่ได้รับมอบหมายงานหนึ่ง ๆ จะถูกกำหนดให้มีความรับผิดชอบเป็นกรณี ๆ ไป โดยมีการกำหนดขอบข่ายหน้าที่อย่างชัดเจน และเมื่อบุคคลนั้นรับปากยินยอมตามที่ตกลงในวัฒนธรรมตะวันตกจะหมายความว่า เป็นการให้คำมั่นสัญญาออกไป หลังจากนั้นเมื่อถึงคราวปฏิบัติผลงานจะออกมาดี หรือไม่ อย่างไร จะอยู่ในขอบข่ายความรับผิดชอบของบุคคลนั้น ๆ ทั้งหมด ชาวอังกฤษเรียกความรับผิดชอบนี้ว่า “Stewardship” ซึ่งหมายถึงการรับผิดชอบการปฏิบัติงานตลอดจนผลลัพธ์ของงานที่บุคคลนั้นได้รับมอบหมายและได้มอบหมายให้ผู้อื่นกระทำด้วย
Accountability ครอบคลุมถึงการสื่อความ (Communication) บุคคลนั้น ๆ จะต้องรู้จักความรับผิดชอบและสำนึกเสมอว่า จะต้องรายงาน หรือบอกกล่าวสิ่งที่เกิดขึ้นให้ผู้บังคับบัญชาทราบตั้งแต่เนิน ๆ รายงานนั้นไม่จำเป็นจะต้องเป็นเฉพาะเรื่องที่ดีเสมอไป อะไรที่เป็นปัญหาหรือข้อผิดพลาดก็ต้องรายงานให้ทราบด้วย
Accountability ต้องการผลสะท้อนของสิ่งที่เกิดขึ้น (feedback) เพื่อให้เกิดประสิทธิผลในการทำงาน
Accountability ใช่ว่าจะมีความสำคัญในเชิงธุรกิจแต่อย่างเดียว ในสังคมตะวันตกใช้หลักปฏิบัติในพฤติกรรมทางสังคมด้วย
ชาวตะวันตกทั่วไปมีความรู้สึกเห็นพ้องต้องกันว่า เมื่อคนเราให้คำมั่นสัญญาว่าจะทำอะไรแล้วไม่รักษาคำพูด ต่อไปคำพูดของบุคคลนั้นจะไม่มีน้ำหนัก และไม่มีคุณค่า เมื่อเป็นเช่นนั้นเขาจะได้รับความไว้เนื้อเชื่อใจน้อยลง พร้อมทั้งจะได้รับมอบหมายภาระรับผิดชอบทั้งในด้านการงานและทางสังคมน้อยลงด้วย
หลายประเทศในเอเชีย พฤติกรรมของความรับผิดชอบมักจะรับปฏิบัติกันเป็นกลุ่มบุคคล ซึ่งแตกต่างกับแนวความคิดของตะวันตกที่ว่า Accountability เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล เมื่อบุคคลใดรับว่าจะทำงานอะไรแล้ว เขาจะต้องดูแลงานของตนโดยตลอดจนกระทั่งเสร็จสิ้น รวมไปทั้งการคอยควบคุมดูแลผู้ใต้บังคับบัญชาของตนด้วย
ในการทำงานร่วมกันหรือเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่น ถ้าสมาชิกในสังคมนั้น ๆ มีพฤติกรรมความรับผิดชอบ (Accountability) เหมือนกัน จะช่วยให้สังคมนั้น ๆ ไม่ต้องเผชิญกับความความไม่แน่นอน และความหัวเสียที่อาจเกิดขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *