เตรียมตัวให้พร้อมก่อนถูก…ประเมินผลงาน

เตรียมตัวให้พร้อมก่อนถูก…ประเมินผลงาน
Cleo – หมดสมัยเหงื่อแตกทุกครั้งที่เจ้านายประเมินผลงาน ทำตามขั้นตอนต่อไปนี้แล้วตำแหน่งลูกจ้างมือหนึ่งก็จะตกเป็นของคุณอย่างสบายๆ …
จับประเด็นสำคัญ เป้าหมายของการประเมินผลงานมี 4 เรื่องหลักคือ

พิจารณาผลงานของคุณจนถึงปัจจุบัน

ประเมินคุณสมบัติต่างๆ เช่น ทักษะการสื่อสารและแก้ปัญหา ความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ การบริหารเวลา และศักยภาพในการเป็นผู้นำ

วางแผนล่วงหน้าและตั้งเป้าหมายเพื่อเพิ่มศักยภาพของคุณในช่วงปีต่อไป

เพื่อหาว่าคุณขาดทักษะไหนและควรอบรมเพิ่มด้านไหน ควรหมุนเวียนเปลี่ยนตำแหน่งและหาที่ปรึกษาหรือเปล่า? เพื่อให้คุณบรรลุเป้าหมายการทำงานดีขึ้น

“ประเมินผลงาน” ทุกสามเดือน ทุกหกเดือนหรือทุกปี เวลาคุณได้ยินคำนี้แพร่กระจายในออฟฟิศ คุณก็รู้สึกมวนท้องเพียงแค่คิดว่าจะต้องนั่งตามลำพังกับเจ้านายนานกว่าชั่วโมงเพื่อประเมินผลการทำงานของคุณ

จะเกิดอะไรขึ้นถ้าเจ้านายคิดว่าคุณไร้ประสิทธิภาพ? จะเป็นไงนะ ถ้าคุณตื่นเต้นจนพูดติดๆ ขัดๆ แล้วถ้าหากคุณถูกด่าเรื่องโทรศัพท์ส่วนตัว และคุยเล่นกับเพื่อนในเวลางานล่ะ? เพียงแค่คิด คุณก็นอนไม่หลับแล้ว ปัญหาคือ ถ้าคุณเอาแต่มองว่าการประเมินผลงานเป็นการทดสอบ ก็จะยิ่งเพิ่มความตื่นเต้นกังวลเปล่าๆ วิธีที่ดีกว่านั้นคือมองว่ามันเป็นเครื่องมือหนึ่งที่จะช่วยให้คุณก้าวหน้าในอาชีพ

ถ้ามีการประเมินผลงานอย่างเหมาะสม ก็จะเป็นโอกาสดีเยี่ยมในการส่งเสริมความก้าวหน้าของคุณเอง เพราะจะมีวิธีประเมินผลงานของคุณอย่างเป็นระบบและไม่มีอคติ และในเมื่อเป็นโอกาสแสดงความก้าวหน้าทั้งทางอาชีพและส่วนตัว การประเมินผลงานจึงสามารถเป็นหลักฐานยืนยันศักยภาพการทำงานของคุณในประวัติการทำงานกรณีที่คุณสมัครตำแหน่งอื่นหรือขอเลื่อนตำแหน่งได้ด้วย

การประเมินผลงานเป็นเครื่องมือให้เจ้านายตอบแทนผลงานของลูกน้องแต่ละคน และให้ลูกน้องรู้ว่าตัวเองมีผลอย่างไรต่อภาพรวมขององค์กร เพื่อให้พวกเขารู้สึกเกิดแรงจูงใจ รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญและมีตัวตน กระบวนการประเมินผลมีทั้งรับและให้ ไม่ใช่ให้ผู้จัดการควบคุมการประเมิน แต่ลูกน้องมีความรับผิดชอบเท่าเทียมกันในการประเมินตัวเองและนำเสนอสำเร็จที่ผ่านมาของตัวเองอย่างละเอียด

ระหว่างการประเมินหรือหลายวันหลังจากนั้น ใบประเมินผลจะส่งถึงมือคุณ และเพื่อพิสูจน์ว่าคุณเห็นด้วยกับเจ้านายในเนื้อหาของการประเมิน คุณทั้งคู่จะต้องเซ็นชื่อในใบนั้น บางบริษัทการประเมินจบแค่ตรงนั้น แต่บางแห่งใบประเมินนั้นจะถูกส่งไปยังบุคคลที่มีหน้าที่ดูแลต่อไป ไม่ว่าแบบไหนข้อมูลในนั้นจะถือเป็นความลับสุดยอด

แม้ว่าการประเมินผลงานจะสัมพันธ์กับการไต่ระดับเงินเดือน แต่ก็ไม่ควรใช้เป็นเครื่องมือในการไล่พนักงานออก ซึ่งเป็นขั้นตอนคนละส่วนโดยสิ้นเชิง การประเมินผลงานไม่ควรประเมินในเรื่องที่ผู้ถูกประเมินไม่รู้มาก่อน คุณควรรับฟังคำวิจารณ์ในเรื่องที่คุณรู้ล่วงหน้ามาตลอดปีแม้ว่าจะต้องถูกประเมินผล ถ้าเป็นเรื่องนอกเหนือจากนั้นคุณมีสิทธิ์ที่จะแจ้งเจ้านายว่า “หัวหน้าน่าจะแจ้งปัญหานี้ให้ดิฉันทราบทันทีที่เกิดปัญหาขึ้น”

แคท อายุ 28 เคยอยู่ในตำแหน่งผู้จัดการฝ่ายบัญชี ในบริษัทใหญ่แห่งหนึ่งและถูกประเมินผลทุกปี “ระหว่างการประเมินผลแต่ละครั้งเราจะมองเป้าหมายของปีก่อน และระดับการทำงานของแต่ละคนเพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น บางครั้งแคทก็ได้รับคำวิจารณ์ที่มีประโยชน์นะ ครั้งหนึ่งหัวหน้างานบอกว่า แคทก็พูดอะไรไม่ทันคิดกับฝ่ายครีเอทีฟ ซึ่งทำให้บางคนไม่พอใจ หัวหน้าบอกให้แคทนับหนึ่งถึงสิบก่อนวิจารณ์อะไรออกมา พอแคทเริ่มทำตามที่เขาแนะนำ ทักษะการสื่อสารของแคทก็ดีขึ้นมาก และความสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานก็ดีขึ้นด้วย”

การเผชิญหน้ากับเจ้านาย

กิ๊ก พนักงานขายเครื่องสำอาง อายุ 26 เล่าว่า “เราขยันทำงานนะ แต่เราไม่ชอบการประเมินผลงานครั้งล่าสุดเลย เพราะรู้สึกว่ามันยิ่งเพิ่มแรงกดดันให้กับงานที่กดดันมากอยู่แล้ว ผู้จัดการแผนกเราใช้โอกาสนี้ต่อว่าพวกเราแทนที่จะปรึกษาปัญหาในการทำงาน เขาไม่ค่อยพูดแง่ดีเลยเรารู้สึกแย่มาก เหมือนถูกครูตำหนิในสมุดพกเลยล่ะ”

ถ้าเจ้านายประเมินผลงานของคุณต่ำกว่าที่คุณประเมินตัวเอง คงยากที่จะไม่ต่อต้าน แต่ขอแนะนำให้คุณพิจารณาคำวิจารณ์ของเจ้านายด้วยใจเปิดกว้าง คุณอาจมัวแต่สนใจที่คุณได้คะแนน “การตรงต่อเวลา” แค่ 3 แทนที่จะได้ 4 เหมือนที่คาดไว้จนคุณไม่ได้ฟังคำวิจารณ์จริงๆ และพลาดโอกาสทองที่จะปรับปรุงทักษะบางอย่างของตัวเอง

บางทีคำวิจารณ์นั้นอาจฟังขึ้นและอาจไม่ใช่คำวิจารณ์จากผู้จัดการโดยตรงก็ได้ ถ้าอย่างนั้นให้พยายามใช้วิธีสร้างสรรค์ด้วยการถามตัวเองว่า “จะปรับปรุงอย่างไร?” แต่ถ้าคุณรู้สึกว่าคำวิจารณ์ของเจ้านายเกินเลย คุณต้องกล้าแย้ง ซึ่งจะเป็นไปได้ต่อเมื่อคุณเตรียมตัวมาพร้อมสำหรับการประเมินครั้งนี้ ไม่เพียงแค่ต้องเตรียมนำเสนอว่าคุณจะเพิ่มศักยภาพให้บริษัทอย่างไร แต่ต้องเตรียมการโต้ตอบคำต่อว่าของเจ้านายด้วย

บางครั้งการนำเสนอจุดอ่อนของคุณแต่แรก และชี้แจงปัญหาที่เกิดขึ้นแต่เนิ่นๆ อาจลดความเครียดลงได้ เพราะทำให้ดูเหมือนคุณเข้าใจสถานการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นอย่างดี และเจ้านายก็ตำหนิคุณน้อยลง เช่น คุณอาจบอกว่า “ดิฉันห่วงเรื่องที่บางครั้ง ตัวเองอ่อนไหวไปนิดเวลาที่ลูกค้ากลับมาต่อว่างานออกแบบที่ดิฉันตั้งใจทำอยู่นาน แต่นี่ค่ะ ดิฉันจะพยายามแก้ปัญหาด้วยการไม่เก็บปฏิกิริยาของลูกค้ามาใส่ใจ และเตือนตัวเองว่าดิฉันมีหน้าที่บริการลูกค้าและยอมรับว่าเราต่างก็มีมุมมองต่างกัน และสิ่งที่พวกเขาพูดไม่ใช่การตำหนิงานของดิฉันคะ”

ตุ้ม อายุ 29 ทำงานกับบริษัทผลิตแผ่นพับโฆษณาเสื้อผ้าเด็ก ในการประเมินผลครั้งแรกของเธอ เจ้านายกลับถือเป็นโอกาสได้ระบายความไม่พอใจส่วนตัวที่เขามีกับตุ้ม “เขาเป็นคนเจ้าอารมณ์มากค่ะ รับแรงกดดันไม่ค่อยได้ และไม่พอใจที่เห็นเราคุมสถานการณ์ได้ดีกว่า พอถึงเวลาประเมินผลเขาก็บ่นและตำหนิการกระทำของเราหลายเรื่องที่เขาไม่เคยพูดกับเรามาก่อน ถึงเราจะเถียงเขาแต่เราก็รู้สึกตัวเองต่ำต้อยชะมัด”

ตอนแรก ตุ้มไม่ยอมเซ็นรับรองในใบประเมินผล ทำให้เจ้านายของเธอต้องยอมหยวนๆ ในหลายประเด็นจนได้ แต่สุดท้ายพอเธอเซ็นชื่อ เธอก็รู้สึกว่าตัวเองถูกบีบให้เซ็นรับรองผลการทำงานที่ไม่เป็นไปตามจริง

เป็นเรื่องยากมากที่จะยืนกรานว่าคุณไม่ได้รับการประเมินผลอย่างถูกต้อง เมื่อเจ้านายมีความตั้งใจแอบแฝงบางอย่าง เช่นไม่อยากให้ผลงานของคุณดูดีเกินไป เพราะกลัวว่าคุณจะเกินหน้าเกินตา ในกรณีนี้ ลูกจ้างอาจเสียเปรียบในการประเมินผล ถ้าคุณเป็นง่ายๆ ไม่คิดอะไรมาก คุณอาจยอมรับการประเมินผลแม้จะไม่ชอบใจนักและทำงานต่อไป แต่ถ้าคุณอ่อนไหวกว่านั้นการประเมินผลเป็นลบอาจทำให้คุณรู้สึกตัวเองไร้ประสิทธิภาพ ไม่เป็นที่ชื่นชอบ วิตกจริต เครียด โกรธแค้น หรือผิดหวังจนหมดกำลังใจในการทำงานในที่สุด

ในบริษัทใหญ่ๆ ฝ่ายบุคคลมักจะรับมือกับปัญหาความเห็นไม่ตรงกันที่เกิดจากการประเมินผลด้วยการนำบุคคลภายนอกมาไกล่เกลี่ย แต่ในบริษัทเล็กๆ อาจไม่มีระบบนั้นในกรณีนี้ คุณจะรับมือกับปัญหาอย่างไรนั้น ขึ้นอยู่กับการเมืองภายในองค์กรนั้นเอง

ควรขอคำปรึกษาจากเพื่อนร่วมงานที่เข้าข้างคุณ ถ้าคุณมีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนที่เกี่ยวข้อง คุณอาจต้องขอคุยด้วย เรื่องที่คุณกลัวและกังวลใจ อย่างไรก็ตาม ถ้ามีกติการู้กันว่าห้ามยุ่งเรื่องของคนอื่น ไม่ว่าคุณจะมีปัญหาอะไร ก็อาจไม่ได้รับการตอบสนอง ถึงบอกว่าสำคัญมากที่ต้องพยายามสร้างความสัมพันธ์ที่ดีในการทำงานและทำให้ใครหลายคนในองค์กรรู้จัก ไม่ใช่ให้เจ้านายรู้จักคุณคนเดียว วิธีหนึ่งก็คือสร้างเครือข่ายทั้งกับลูกค้าและเพื่อนร่วมงาน เพื่อให้คุณมีฐานสนับสนุนที่ดี

“การประเมินผลงานเป็นเครื่องมือให้เจ้านายตอบแทนผลงานของลูกน้องแต่ละคน และให้ลูกน้องรู้ว่าตัวเองมีผลอย่างไรต่อภาพรวมขององค์กร เพื่อให้พวกเขารู้สึกเกิดแรงจูงใจ รู้สึกว่าตัวเองมีความสำคัญและมีตัวตน”

วันตัดสินเตรียมตัวให้พร้อม

เมื่อถึงวันประเมินผล คุณแทบไม่ได้นอนตลอดคืนเพราะกังวลว่าจะพูดอะไรระหว่างการประเมิน ตลอดเช้าวันนั้น คุณรู้สึกเหมือนจะเข้าลานประหาร ถ้าคุณตื่นเต้นขนาดนี้ ขอแนะนำว่าก่อนหน้านี้สักสัปดาห์ ให้รองเทคนิคจัดการความเครียดเพื่อช่วยให้คุณสงบจิตใจ ทุกวันให้ผ่อนคลายกล้ามเนื้อนาน 20 นาที หายใจช้าๆ และเป็นจังหวะ และจิตนาการภาพคุณเดินเข้าพบเจ้านายในวันประเมินผลด้วยความรู้สึกสงบและมั่นใจ

ในวันประเมินผลหนึ่งชั่วโมงก่อนการประเมิน ให้ปิดประตูห้องทำงานและผ่อนคลายกล้ามเนื้อสัก 10 นาที หรือเดินเร็วๆ รอบอาคารเพื่อให้สมองโล่ง และก่อนการประเมิน 20 นาที ให้โทร.หาคนรักหรือเพื่อนสนิทเพื่อขอกำลังใจ คุณจะได้พบเจ้านายอย่างมั่นใจ และควรนัดเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงานที่เห็นใจกันกินเมื้อเที่ยงหลังจบการประเมิน เพื่อให้คุณเล่าว่าผลเป็นอย่างไร

ในบริษัท การประเมินผลก็คือการอนุมัติเห็นชอบนั่นเอง บริษัทอาจไม่ทำตามแม้ฝ่ายบริหารจะระบุว่าบุคคลไหนต้องการอบรมเพิ่มเรื่องไหน หรือลูกจ้างอยากเสนอโปรเจ็คท์บางชิ้น แต่ต้องการความช่วยเหลือบางอย่างและเจ้านายอาจไม่สนับสนุน ซึ่งอาจเป็นเรื่องน่าหงุดหงิด และถ้าเป็นอย่างนี้ทุกปีคุณคงต้องเริ่มมองหางานที่ส่งเสริมคุณมากกว่านี้ แต่ในหลายกรณี แม้จะเป็นสถานการณ์ที่ทำให้คุณไม่สบายใจ แต่การประเมินผลก็อาจเป็นประโยชน์อย่างมาก เพราะเปิดโอกาสให้คุณปรับความเข้าใจกับเจ้านาย ให้คุณชัดเจนว่าเจ้านายคาดหวังอะไร และนำเสนอให้เค้าเห็นผลงานและทักษะของคุณเพื่อเตือนให้เจ้านายรู้ว่าคุณเหมาะกับการเลื่อนตำแหน่งแค่ไหน

ผู้จัดการกำหนดวันประเมินผลแล้ว ที่คุณต้องเตรียมตัวคือ เริ่มค้นหาข้อดีของตัวเองและทักษะที่คุณอยากปรับปรุงและพัฒนาต่อไป มองหาว่าคุณอยากลงมือทำงานส่วนไหนมากขึ้น และสืบเสาะว่าคุณจะอบรมทักษะในงานส่วนนั้นจากที่ไหนได้บ้างทั้งในและนอกบริษัท

ขอโครงร่างเคร่าๆ ของรูปแบบการประเมินผลเพื่อให้รู้ว่าคุณจะเจออะไรบ้าง สอบถามว่าการประเมินนี้เกี่ยวการอบรมและปรับปรุงคุณภาพหรือการเพิ่มเงินเดือนหรือเปล่า เมื่อรู้แน่นอนว่าบริษัทต้องการอะไร หาเวลาบันทึกการทำงานในแต่ละวัน แต่ละสัปดาห์ และแต่ละเดือน และใช้บันทึกนี้จดเป้าหมายและผลงานที่คุณทำสำเร็จ

เมื่อคิดในแง่ความสำเร็จและผลกระทบ ถ้าคุณทำงานร่วมกับลูกค้าหรือเพื่อนร่วมงานในบางโปรเจ็คท์ การขอคำวิจารณ์เพื่อการประเมินผลก็เป็นความคิดที่ดีถ้าเป็นคำวิจารณ์แง่บวกให้คนวิจารณ์เขียนเป็นลายลักษณ์อักษร เก็บใส่แฟ้มไว้ต่างหากร่วมกับแนวคิดริเริ่มของคุณและแผนผัง และเอกสารต่างๆ เกี่ยวกับข่าวสารในวงการที่คุณอยากปรึกษากับเจ้านาย เพื่อแสดงให้เห็นว่าคุณคิดถึงวิธีการปรับปรุงการทำงานอยู่เสมอ

และปัญหาเกี่ยวกับเดดไลน์ การทำงานที่ไม่เหมาะสมเหตุผล หรือที่ต้องทำงานซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของคุณเลยล่ะ? ถ้าในการประเมินผล คุณคิดจะพูดถึงปัญหาในการทำงาน ขอให้คิดถึงวิธีแก้ปัญหาหลายๆ ทางมาก่อน เพื่อจะได้แสดงให้เห็นว่าคุณคิดถึงปัญหาอย่างเป็นระบบแล้ว ไม่ใช่แค่พยายาม “ลองดู” เช่นเดียวกับถ้าคุณมีปัญหากับเพื่อนร่วมงานให้นำมาพูดเฉพาะเมื่อคุณพยายามแก้ปัญหากับเขาโดยตรงแล้วไม่สำเร็จไม่อย่างนั้นคุณจะถูกมองว่าช่างนินทา

ถึงอย่างนั้นก็ต้องพูดถึงปัญหานี้อย่างระมัดระวัง แทนที่จะโพร่งถึงนิสัยแย่ๆ ของเพื่อนร่วมงาน ก็ให้บอกว่า “ดิฉันค่อนข้างมีปัญหาในการทำงานกับเขาค่ะ เรามีความคิดบางอย่างต่างกันคือ…ดิฉันพยายามพูดกับเขาแล้วแต่ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง และรู้สึกว่าเรายังต้องปรับปรุงความสัมพันธ์ในการทำงานร่วมกันค่ะ มีคำแนะนำบ้างไหมค่ะ?”

ปรับปรุงภาพลักษณ์

การประเมินผลการทำงานอาจเป็นโอกาสครั้งสำคัญที่สุดของคุณในรอบปี เพื่อสร้างความประทับใจที่ดี คุณควร:

นอนหลับอย่างเพียงพอ
ตาตามนัดตรงเวลา หรือ โทรหาเจ้านายถ้าคุณมาสายแม้จะแค่ 5 นาที
ใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมและรู้สึกสบาย
อย่าเป็นกันเองเกินไป คุณอาจเคยพูดคุยหัวเราะกันกับเจ้านายมาบ้าง แต่จำไว้ว่านี่ไม่ใช่นัดกินข้าวเที่ยง
พกบันทึกการทำงานติดตัวไปด้วย พร้อมปากกากระดาษจด และรายการผลงานรอบปีของคุณ
ทักทายเจ้านายด้วยรอยยิ้ม และคำพูดชัดเจน เพื่อให้เริ่มการประเมินอย่างเป็นมิตร และช่วยให้คุณดูเหมือนผ่อนคลายและมั่นใจ
พยายามสบตาเจ้านายไว้ตลอด และเลี่ยงการมองพื้นเวลาพูดคุย
รักษาน้ำเสียงให้ราบเรียบตลอดเวลา แม้ในขณะที่คุณไม่เห็นด้วยกับสิ่งที่เจ้านายพูด อย่างอารมณ์เสียหรือขึ้นเสียงเด็ดขาด
วางกระเป๋าไว้ใกล้ตัวเพื่อคุณอยากจิบน้ำในขวดที่พกมาด้วย เพื่อช่วยดับกระหาย

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *