เก่ง ดี มีสุข…เพียงพอสำหรับผู้นำในอนาคต?

เก่ง ดี มีสุข…เพียงพอสำหรับผู้นำในอนาคต?

ดร.นพ. ยุทธนา ภาระนันท์. E-mail : yparanan@hotmail.com
ท่านจะเลือกผู้นำบ้านเมืองในอนาคตแบบใดระหว่าง ผู้นำที่เก่ง กับ ผู้นำที่ดี
คมคิด : จงฝึกสอนเด็กในวันนี้ และเขาจะให้ท่านได้หยุดพัก เพราะเมื่อคนชอบธรรมทวีอำนาจ ประชาชนก็เปรมปรีดิ์
ในการสำรวจที่โรงเรียนมัธยมศึกษาแห่งหนึ่ง ร้อยละ 90 ของนักเรียนบอกว่า “พวกเขาไม่คิดว่าการโกงเป็นสิ่งที่ผิด เรามีสิทธิในวัตถุสิ่งของที่ต้องการในชีวิต”
นักศึกษาในวิทยาลัยคนหนึ่งกล่าวว่า “มีการลักขโมยกันจำนวนมากในหอพัก ทำไมไม่มีใครคิดจะจัดการอะไรกับมันบ้างหรือ” พวกเขาพูดตอบว่า “ทำไมจะต้องไปสนใจอะไรด้วย มันไม่ใช่ของฉันนี่”
เรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริงในต่างประเทศ แล้วมันจะไม่เกิดขึ้นกับบ้านเมืองเราหรือ? (หรือเกิดขึ้นแล้ว?) และถ้าเด็กเหล่านี้โตขึ้นเป็นผู้นำบ้านเมือง จะเกิดอะไรขึ้นในอนาคต?
ดร.อำรุง จันทวานิช เลขาธิการสภาการศึกษา (สกศ.) ได้นำเสนอข้อค้นพบจากงานวิจัยถึงคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของเด็กไทยวัย 3-5 ขวบ ว่าได้แก่ การรู้จักถูก-ผิด การรู้จักควบคุมอารมณ์ ซึ่งในช่วงนี้ครอบครัวจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด ส่วนในช่วง 6-11 ขวบ ควรปลูกฝังในเรื่องความรับผิดชอบ การใฝ่รู้ใฝ่เรียน การมีวินัยและรู้จักประหยัด ซึ่งช่วงนี้โรงเรียนจะมีอิทธิพลต่อเด็กมากที่สุด
จิตวิทยาเชิงบวกนำเสนอคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของบุคคล 7 มิติไว้ ได้แก่ เก่ง (Smart) ดี (Good) มีสุข (Happy) และเพื่อสร้างอิทธิพลเชิงบวกให้สังคม จึงเพิ่มอีก 4 มิติ กล่าวคือ กล้า (Courage) แกร่ง (Tough) โด่งดัง (Renown) และสร้างคุณค่า (Meaningfulness) จึงเรียกว่าเป็นคนที่เติบโตเต็มศักยภาพ (Optimal human functioning)
จะเห็นได้ว่า การรู้จักถูก-ผิด ความรับผิดชอบ การเป็นคนดี สร้างคุณค่า ล้วนแต่เป็นประเด็นคุณธรรมจริยธรรมซึ่งนักบริหารที่รักครอบครัวควรเป็นแบบอย่างและปลูกฝังให้ลูก ให้ทีมงาน อันสอดคล้องกับปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงซึ่งจะส่งผลดีต่อครอบครัว องค์กรและสังคมอย่างยั่งยืนสืบไป
แบบอย่างด้านจริยธรรมของท่าน เป็นอย่างไรบ้าง
กรุณากาเครื่องหมาย ?หน้าข้อความที่เห็นว่าตรงกับตัวท่าน
? ฉันรักษาคำมั่นสัญญา แม้ต้องจ่ายราคาหรือเสียประโยชน์ก็ตาม
? ฉันยินดีในความสำเร็จของผู้อื่นและไม่เคยคิดริษยาหรือกลั่นแกล้งผู้อื่น
? ฉันยินดีสละความสะดวกสบายส่วนตัว เพื่อเห็นแก่ประโยชน์ส่วนรวม
ข้อเสนอแนะ : หากท่านกาเครื่องหมาย ?ในข้อหนึ่งข้อใด สามารถใช้ “ทักษะสนทนาเชิงจริยธรรม” เพื่อขยายผลสู่ลูกได้
ทักษะสนทนาเชิงจริยธรรม (Ethics talk)
(ทักษะเสริมอื่นๆ ดูได้ใน http://www.howareyou.co.th)
ทักษะนี้เป็นการพูดคุยและตั้งคำถามเพื่อให้ลูกหรือทีมงานได้เรียนรู้และพัฒนาการใช้เหตุผลเชิงจริยธรรม (Moral reasoning) ไปสู่ขั้นสูงขึ้นตามวัย (ดังโมเดลฯ) ประกอบด้วย 4 ขั้นตอนดังนี้
1. เสนอสถานการณ์ ที่ขัดแย้งหรือมีปัญหาเกิดขึ้นทางจริยธรรมซึ่งอาจได้จากสื่อวิทยุ โทรทัศน์ หนังสือพิมพ์ เหตุการณ์ที่เจอ หรือเรื่องที่กำหนดขึ้น โดยเริ่มต้นว่า “พ่อได้ยินเรื่องนี้ ลูกคิดอย่างไรกับเรื่องนี้…” สำหรับวัย 7 ขวบหรือน้อยกว่าอาจใช้ภาพประกอบ ยกตัวอย่างเรื่อง บอยกับกระเป๋าสตางค์
“บอย กำลังเดินไปร้านขายของ และวันเสาร์นี้ก็เป็นวันเกิดของแม่ เขารู้สึกแย่ที่ไม่สามารถเก็บเงินพอที่จะซื้อของให้แม่ได้อย่างที่ตั้งใจไว้ บังเอิญเขาเจอกระเป๋าสตางค์พร้อมเงิน 100 บาทหล่นอยู่บนทางเท้า มันช่างเหมาะเจาะกับที่ต้องการเงินไปซื้อของให้แม่อยู่พอดี แต่ในกระเป๋าก็มีบัตรประชาชนพร้อมชื่อและที่อยู่ของเจ้าของกระเป๋า บอยควรทำอย่างไร เพราะเหตุใด”
2. ถามให้เด็กคิดและตัดสินใจ เพื่อค้นหาถึงเหตุผลที่เขาคิดและตัดสินใจเช่นนั้น และให้ฉุกคิดถึงจริยธรรมขั้นสูงกว่า เช่น
บอยควรจะคืนกระเป๋าสตางค์หรือไม่ เพราะเหตุใด ท่านคิดว่ามีเหตุผลอื่นอีกหรือไม่
ถ้าลูกจะเก็บเงินนั้นไว้ จะถือเป็นสิ่งผิดหรือไม่ เพราะเหตุใด
หากเจ้าของกระเป๋าก็รวยอยู่แล้ว แต่ลูกยังขาดเงินที่จะซื้อของให้แม่ จะเก็บไว้ใช้เองจะเป็นอะไรหรือไม่
แทนที่เจ้าของกระเป๋าจะให้รางวัลแก่ผู้นำส่งคืนบ้าง แต่กลับไม่ให้ ลูกจะยังคืนกระเป๋าหรือไม่
3. แบ่งปันเหตุผลเชิงจริยธรรมขั้นสูง โดยถามว่า ลูกอยากทราบมั้ยว่าพ่อคิดอย่างไร แล้วเราก็พูดอธิบายเหตุผลเชิงจริยธรรมในขั้นที่สูงขึ้น (ดังโมเดลฯ) ให้แก่ลูกพร้อมยกตัวอย่างเหตุการณ์จริงที่เราประสบ
4. ให้พิจารณาและเลือกอีกครั้ง เพื่อให้ลูกได้ไตร่ตรอง และทบทวนเหตุผลเชิงจริยธรรมขั้นสูงขึ้นด้วยตนเองอีกครั้ง โดยถามว่า หากลูกเจอเหตุการณ์แบบบอย ลูกจะทำอย่างไร
“วันนี้ ท่านจะใช้สถานการณ์ใดในสังคมเพื่อพัฒนาจริยธรรมแก่ลูกหรือทีมงานบ้าง”

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *