อุบัติเหตุรถโดยสาร กับการทัศนศึกษา ถึงเวลาต้องสังคายนา

อุบัติเหตุรถโดยสาร กับการทัศนศึกษา ถึงเวลาต้องสังคายนา

โดย ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยบนถนน

ดูเหมือนว่าเหตุการณ์สะเทือนขวัญในช่วงปลายปีที่แล้ว (10 ต.ค.51) เมื่อคณะนักศึกษาวิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยี ขอนแก่น ต้องสังเวยไปถึง 21 ชีวิต ที่ อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี ระหว่างเดินทางไปทัศนศึกษาจังหวัดจันทบุรี ได้สร้างกระแสความตื่นตัวเรื่องความปลอดภัยในการเดินทางด้วยรถทัศนาจร (รถโดยสารไม่ประจำทาง หมวด 30) และตามมาด้วยรายงานข่าวการปรับปรุงแก้ไขจุดเสี่ยง บนเส้นทางสาย 304

แต่เมื่อเช้าวันที่ 5 มิย. ที่ผ่านมา คนในสังคมต้องตื่นตกใจไปกับข่าวการเสียชีวิตคณะ อสม. สมุทรปราการจำนวนถึง 17 ศพ และบาดเจ็บอีก 28 ราย โดยเกิดเหตุที่ จ.กระบี่ ระหว่างไปทัศนศึกษาดูงานภาคใต้ ตร.สันนิษฐานคนขับหลับใน ทำให้ต้องยกเลิกโปรแกรมเดินทางกลับทั้งหมดกว่า 400 คน ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้สั่งการระดมช่วยเหลือรักษาฟรีทั้งหมด และช่วยเหลือรายละ 2 หมื่นบาท

ย้อนรอย..เหตุการณ์สำคัญที่ผ่าน
เหตุการณ์ที่เกิดกับรถทัศนาจร เฉพาะที่ปรากฎในหน้าหนังสือพิมพ์ในช่วงครึ่งปี 52 ดังนี้
11 ม.ค. คณะครู 60 ชีวิตจาก อ.เพ็ญ จ.อุดร เหมารถสองชั้น พาคณะไปส่ง รองผู้อำนวยการ ที่ย้ายไปรับตำแหน่ง ผอ.โรงเรียน อ.วังสะพุง จ.เลย โชเฟอร์ขับลงเขาด้วยความเร็วสูง ทำให้เกิดพลิกคว่ำ มีผู้เสียชีวิต 3 ราย บาดเจ็บกว่า 50 ราย

10 เม.ย. รถทัวร์นำเที่ยว คณะแม่บ้าน อบต.รือเสาะ กลับจาก จ.เชียงใหม่ ชนกับรถบรรทุก 18 ล้อ ที่ อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช พบผู้เสียชีวิตเป็นภรรยานายอำเภอรือเสาะ จ.นราธิวาส และ ผู้บาดเจ็บจำนวนมาก

21 เม.ย 52 สำนักปลัดนายกรัฐมนตรีจัดสัมมนาการป้องกันข้อผิดพลาดการเงินและการคลัง พานายกองค์การบริหารส่วนตำบล นายกเทศบาล ปลัด ผู้อำนวยการกองคลัง เจ้าหน้าการคลัง ทั่วประเทศ 200 คน บัสชั้นครึ่ง 4 คัน ดูงานที่พัทยาและระยอง เกิดอุบัติเหตุรถกระบะตัดหน้าพลิกล้มบาดเจ็บยกคัน 50 คน ผู้อำนวยการฝึกอบรม อดีตผู้ว่าราชการจังหวัดร้อยเอ็ดได้รับบาดเจ็บ

5 พ.ค. รถบัสนำเที่ยว นำเจ้าหน้าที่สาธารณสุขและอสม.อำเภอทับค้อ จ.พิจิตร ไปทัศนศึกษาที่จังหวัดภูเก็ตเป็นเวลา 3 วัน เกิดอุบัติเหตุพลิกคว่ำตกข้างทางบนทางด่วนบางพูน อ.เมือง จ.ปทุมธานี ทำให้มีผู้ได้รับบาดเจ็บประมาณ 20 ราย โดยสาเหตุเกิดจากปีกนกข้างขวาของรถหัก

7 พ.ค. คณะผู้บริหาร และ จนท.เทศบาลตำบลเสิงสาง ฯ รวม 45 คน ออกเดินทางไปเข้าร่วมโครงการพัฒนาศักยภาพผู้บริหาร และ จนท.อปท. ที่ จ.ตราด เช่าเหมารถโดยสารไม่ประจำทาง ขณะที่รถแล่นออกจาก สนง.เทศบาลตำบลเสิงสาง ฯ ได้เพียง 9 กม. มาถึงบริเวณที่เกิดเหตุ เป็นเส้นทางที่รถต้องแล่นผ่านชุมชน และเป็นทางโค้งที่แคบ คนขับ ไม่ชำนาญเส้นทาง ไม่ทราบว่าด้านหน้าเป็นทางโค้งจึงไม่ได้ชะลอความเร็ว ทำให้รถเสียหลักพลิกคว่ำ โชคดีที่อุบัติเหตุครั้งนี้ไม่มีผู้เสียชีวิต

13 พ.ค. รถทัศนาจร นำนักท่องเที่ยวชาวจีน เกิดชนกับรถบรรทุกพ่วง 18 ล้อ มีผู้บาดเจ็บ 28 คน ถนนเพชรเกษม ก.ม.ที่ 46-47 ต.ศีรษะทอง อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม

21 พ.ค. อบจ. โคราช พาคณะผู้นำชุมชน กำนันผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาท้องถิ่น ทั้งเทศบาล และ อบต. จำนวนกว่า 500 ชีวิต จำนวน 12 คัน เดินทางไปทัศนศึกษาดูงานที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี พุ่งชนกับท้ายรถบรรทุก 10 ล้อ พลิกคว่ำ ที่บริเวณถนนสาย 304 บายพาสเลี่ยงเมือง ฉะเชิงเทรา – กบินทร์บุรี มีผู้ได้รับบาดเจ็บจำนวน 2 ราย

ถึงเวลาสังคายนา การเช่าเหมารถทัศนาจร
ถึงตอนนี้ คนในสังคมคงจะเริ่มมีคำถามว่าเหตุการณ์ครั้งต่อไปจะมีโอกาสเกิดได้อีกหรือไม่ ใครจะเป็นรายต่อไป เพราะตราบใดที่สาเหตุหลัก ๆ ของปัญหายังไม่ถูกแก้ไข ไม่ว่าจะเป็นปัญหาคนขับไม่ชำนาญทาง หลับในจากการพักผ่อนไม่เพียงพอ (ขับทางไกลโดยไม่มีคนเปลี่ยน) โครงสร้างเป็นรถสองชั้นทำให้เสี่ยงต่อการพลิกคว่ำในพื้นที่ลาดชัน การหยุดรถในขณะคับขัน สภาพตัวถังรถและการยึดเกาะเก้าอี้ไม่แข็งแรง ไม่มีอุปกรณ์ความปลอดภัยที่ได้มาตรฐาน เช่น เข็มขัดนิรภัย

ในขณะที่มาตรการของรัฐบาลเร่งส่งเสริมการท่องเที่ยวทัศนาจร ซึ่งปกติของการเดินทางไปทัศนศึกษาเป็นหมู่คณะ จะต้องอาศัยรถทัวร์ เพราะนอกจากค่าใช้จ่ายจะถูกกว่ารถประเภทอื่นๆ และมีความสะดวกสบายแล้ว ยังสามารถจัดกิจกรรมสันทนาการได้ตลอดการเดินทาง

สิ่งที่รัฐบาล ผู้เกี่ยวข้อง และคณะผู้จัดทัศนศึกษา .. จะต้องหันกลับมามอง คือเรื่องของความปลอดภัย ตั้งแต่

1. พนักงานขับรถ ที่มีความชำนาญเส้นทาง มีประสบการณ์ในการขับรถ ซึ่งอาจจะเข้มงวดในการออกใบอนุญาตขับขี่สำหรับพนักงานขับรถในกลุ่มนี้โดยเฉพาะ , และที่สำคัญคือกำหนดให้มีคนขับสำรองในกรณีที่ต้องเดินทางไกลๆ โดยเฉพาะระยะทางที่มากกว่า 400 กิโลเมตร

นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้มีการติดตั้ง GPS หรืออุปกรณ์ที่ช่วยกำกับพฤติกรรมขับขี่ของคนขับ ว่ามีการขับเร็วเกินกำหนด การออกนอกเส้นทาง ฯลฯ หรือไม่ ซึ่งนอกจากจะช่วยให้บริษัทสามารถติดตามพฤติกรรมขับขี่ได้อย่างใกล้ชิด ยังสามารถสั่งการเพื่อให้พนักงานเปลี่ยนมาขับขี่อย่างปลอดภัย

2. ตัวรถ และ อุปกรณ์ความปลอดภัย .. ปัจจุบันมีค่านิยมในการเลือกรถโดยสารประเภทสองชั้น แม้จะดูดีมีรสนิยม เพราะขนาดตัวถังมีความสูงกว่า 4 เมตร และใช้กระจกมาเป็นองค์ประกอบหลัก นอกจากนี้ บางคันที่เปลี่ยนมาใช้ก๊าช NGV จะมีน้ำหนักของถังก๊าชเพิ่มขึ้นมาอีกกว่า 1 ตัน
ดังนั้น จึงควรศึกษาและกำหนดให้รถทัศนาจรสองชั้น ต้องมีอุปกรณ์ความปลอดภัยขั้นพื้นฐาน เช่น การมีระบบช่วยหน่วง (retarder) ในขณะเบรก การกำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง

นอกจากนี้ ควรให้ความรู้กับประชาชน ก่อนตัดสินใจเพื่อเลือกประเภทรถในการเดินทาง ซึ่งต้องไม่ดูเพียงภาพลักษณ์ ความสวยงาม แต่ต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัย โดยเฉพาะการเดินทางทัศนศึกษาที่ผ่านเส้นทางลาดชัน หรือผ่านภูเขา (ดังกรณีของคณะครูจากอุดรธานี ที่ประสบอุบัติเหตุระหว่างรถลงเขา) ..

3. เส้นทางที่ปลอดภัย .. สำหรับคนขับที่มีประสบการณ์ จะต้องศึกษาและเลือกเส้นทางที่มีความปลอดภัยสำหรับผู้โดยสาร แต่ในความเป็นจริงทางผู้ว่าจ้างจะเป็นผู้กำหนด โดยมักจะเลือกผ่านเส้นทางที่มีสถานที่แวะพัก ที่ท่องเที่ยว หรือเส้นทางลัดเพื่อประหยัดเวลา
อย่างไรก็ตาม ในเส้นทางที่มีความเสี่ยงต่ออุบัติเหตุ โดยเฉพาะรถโดยสารขนาดใหญ่ และรถสองชั้น ควรมีการศึกษาเพื่อกำหนดให้ชัดเจนเป็นเส้นทางใดบ้าง และมีมาตรการป้องกันเพื่อมิให้มีการฝ่าฝืน

4. การทำประกันภัย .. ควรมีการกำหนดและระบบตรวจสอบให้รถทัศนาจรทุกคันต้องทำประกันภัย เพราะในหลายกรณีพบว่ารถทัศนาจรที่ประสบเหตุเป็นของส่วนบุคคล และขาดการต่อสัญญาประกันภัย นอกจากนี้ ควรให้ทางบริษัทประกันเข้ามาดูแลค่าใช้จ่ายด้านการรักษาพยาบาลเป็นหลัก แทนการเน้นให้ใช้สิทธิรักษาพยาบาลประเภทอื่นๆ เช่น สิทธิข้าราชการ หรือ อสม. เพราะจะทำให้ค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นไม่สะท้อนต้นทุนของระบบประกันภัย

เนื่องจากอุบัติเหตุที่เกิดกับรถโดยสารสาธารณะในแต่ละปีมีจำนวนมาก และเมื่อเกิดเหตุจะมีผู้เกี่ยวข้องหลายราย แต่ขั้นตอนในการช่วยเหลือเยียวยา ตลอดจนการฟ้องคดี มักต้องใช้ระยะเวลานาน ถ้าสามารถผลักดันให้มีกองทุนช่วยเหลือเยียวยา จะเป็นการแบ่งเบาภาระของผู้ประสบภัย จากนั้นจึงเข้าสู่กระบวนการฟ้องร้องหรือยอมความกันอีกขั้นตอนหนึ่ง

แม้การเสียชีวิตของ อสม.สมุทรปราการ ในครั้งนี้ อาจจะไม่ใช่ครั้งสุดท้าย แต่ทุกคนคงอยากเห็นรัฐบาลและผู้เกี่ยวข้อง ให้คำตอบกับสังคมว่าได้ตระหนักและเข้าใจปัญหา รวมทั้งเริ่มมีมาตรการที่จะป้องกันมิให้เหตุการณ์ลักษณะนี้จะเกิดขึ้นอีกได้อย่างไร

ที่มา : ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *