อย่างไรจึงเรียกว่าครู “สอนดี”

อย่างไรจึงเรียกว่าครู “สอนดี”
 
วันที่ : 1 สิงหาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : ปริทัศน์การศึกษาไทย
 

. ดร. เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส ศูนย์ศึกษาธุรกิจและรัฐบาลมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด

             นักเรียนทุกคนย่อมต้องการครูที่ “สอนดี” แต่มีนักเรียนน้อยคนนักที่กล้าออกมาเรียกร้องให้ครูผู้สอนเปลี่ยนแปลงรูปแบบการสอนให้สอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน นักเรียนหลายคนยอมอดทนกับการสอนของครูที่น่าเบื่อ และหลายครั้งในระหว่างการเรียนการสอน ครูผู้สอนส่วนใหญ่มักให้ความสนใจเด็กที่เรียนเก่งมากกว่า ทำให้เด็กที่เรียนอ่อนหมดกำลังใจที่จะเรียนในวิชานั้น

             ผมได้ข้อคิดเรื่อง “ครูสอนดี” จาก “พีท” ซึ่งเป็นลูกชายคนเล็กของผม ซึ่งในขณะนั้นมีอายุ 16 ปี กำลังศึกษาอยู่ในโรงเรียนประจำที่ใช้ระบบการเรียนการสอนแบบอังกฤษ (British system school) หลังจากที่ใช้เวลาพูดคุยกันในประเด็นต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเรียนของลูกชายผม ผมเห็นว่ามีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจและน่าจะเป็นประโยชน์ต่อตัวครู ทั้งนี้เพราะเป็นการสะท้อนมาจากแนวคิดและมุมมองของตัวผู้เรียน ลูกชายบอกผมว่า ในความเห็นของเขา ครูที่สอนดีควรมีลักษณะสำคัญ ดังนี้
             สอนอย่างน่าสนใจและน่าติดตาม คือ การที่ครูสามารถถ่ายทอดความรู้สู่ผู้เรียนได้อย่างน่าสนใจ รู้จักกระตุ้นให้ผู้เรียนสนใจอยากเรียนรู้ อยากศึกษาค้นคว้า มีวิธีการเข้าหาผู้เรียนอย่างน่าสนใจ ซึ่งจะทำให้ผู้เรียนรู้สึกไม่เคอะเขินที่จะแสดงความคิดเห็น เช่น ก่อนสอน ครูทักทายผู้เรียนด้วยสีหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส แสดงท่าทางแห่งความเป็นมิตร อย่างจริงใจ และเป็นธรรมชาติ ป้อนคำถามที่น่าสนใจ ชักชวนให้ผู้เรียนทุกคนแสดงความคิดเห็น โดยครูบางคนอาจเริ่มต้นสอนด้วยการเล่าประสบการณ์ที่ได้ประสบมา
             สอนสนุกแต่มีสาระ คือ การสอนที่ได้เนื้อหาสาระพร้อม ๆ ไปกับผู้เรียนมีความสนุกสนาน ทั้งนี้เพราะผู้เรียนอยู่ในช่วงวัยที่รักสนุก ชอบการเล่น ตื่นตาตื่นใจกับเรื่องใหม่ ๆ หากครูมีวิธีการสอนที่สามารถสอดแทรกความสนุกสนานไปด้วย ย่อมสอดคล้องกับความต้องการของผู้เรียน ทำให้การเรียนไม่น่าเบื่อหน่าย เช่น ครูผู้สอนมีการเล่าเรื่องตลก หรือเรื่องราวที่ตื่นเต้นสอดแทรกในการเรียนการสอน เล่นเกมหรือทำกิจกรรมประกอบการเรียนรู้ หรือใช้สื่อการสอนใหม่ ๆ เพื่อเพิ่มสีสันในการเรียนรู้ เป็นต้น

             เตรียมตัวสอนมาอย่างดี
คือ การที่ครูผู้สอนได้วางแผนการสอนล่วงหน้าอย่างเป็นระบบ เตรียมเอกสาร สื่อประกอบการสอน เตรียมวิธีดำเนินการสอนในแต่ละคาบเรียน รวมถึงการคิดหาทางป้องกันความผิดพลาดที่อาจเกิดขึ้นจากการเรียนการสอน เช่น ผู้เรียนไม่เข้าใจ ผู้เรียนไม่สนใจ ผู้เรียนหลับ เป็นต้น ที่สำคัญ ครูควรรู้จักผู้เรียนแต่ละคน เพื่อเป็นประโยชน์ต่อการเตรียมการสอนที่เหมาะสม และสอดคล้องกับผู้เรียนแต่ละคนอย่างแท้จริง

             ให้ทุกคนในชั้นมีส่วนร่วม
คือ การที่ครูไม่เพียงสอน ให้ผู้เรียนนั่งฟังและจดตาม แต่ให้ผู้เรียนทุกคนมีส่วนร่วมในชั้นเรียน ซึ่งมีงานวิจัยที่สนับสนุนว่า หากผู้เรียนมีส่วนร่วมในการพูดหรือร่วมทำกิจกรรมในชั้นเรียน จะทำให้การเรียนรู้ของผู้เรียนมีประสิทธิและมีความคงทนของการเรียนรู้มากกว่าการอ่าน การได้ยิน และการมองเห็นเพียงอย่างเดียว ดังนั้น ในระหว่างการเรียนการสอน ครูผู้สอนควรเปิดโอกาสให้ผู้เรียนระดมความคิดกับเพื่อนในประเด็นที่ครูตั้งคำถาม ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมทำกิจกรรม เช่น เล่นเกมที่ส่งเสริมการเรียนรู้ในวิชานั้น ๆ การให้ผู้เรียนออกมาพูดหน้าชั้นเรียนในประเด็นต่าง ๆ ตลอดจนการทำกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์ เป็นต้น

             ยุติธรรมไม่ลำเอียง
คือ การปฏิบัติต่อผู้เรียนทุกคนในลักษณะเดียวกัน ไม่เลือกที่รักมักที่ชัง หากครูมีความลำเอียงต่อผู้เรียนบางคน เช่น รักหรือสนิทสนมกับผู้เรียนบางคน อาจนำมาซึ่งการปฏิบัติที่ไม่เสมอภาคกัน ทำให้ผู้เรียนที่ไม่เป็นที่โปรดปรานของครูรู้สึกว่าตนเองไม่มีคุณค่า เกิดการเปรียบเทียบ ท้ายที่สุดผู้เรียนจะไม่ชอบครูผู้สอน ส่งผลร้ายต่อการเรียนในที่สุด โดยลักษณะครูที่ยุติธรรม เช่น ให้ความสนิทสนมกับผู้เรียนทุกคน ผู้เรียนที่ทำดีควรได้รับคำชมเชย ผู้เรียนที่ทำผิดกฎควรได้รับการลงโทษ ครูต้องให้ความสำคัญกับผู้เรียนทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน เป็นต้น นอกจากนี้ ครูควรมีความยุติธรรมในการตรวจคะแนนไม่โน้มเอียงไปทางผู้เรียนบางคน และช่วยเหลือผู้เรียนที่เรียนไม่ถึงมาตรฐาน
 
             เข้มงวดแต่ใจกรุณา คือ การที่ครูผู้สอนมีความสมดุลระหว่างการเข้มงวด และความประนีประนอม เช่น ไม่ควรเข้มงวดกับกฎเกณฑ์ต่าง ๆ มากเกินไป ไม่ใช้อารมณ์ในการสอน การสั่งงาน หรือการลงโทษ แต่พยายามประนีประนอม ให้ความรัก ความเข้าใจกับผู้เรียนแต่ละคน มีความเป็นมิตรกับผู้เรียน รวมถึงให้กำลังใจผู้เรียนอยู่เสมอ เพื่อให้ผู้เรียนมีความสุขในการเรียน หากครูผู้สอนทำให้ผู้เรียนเกิดความกลัว เช่น ทำให้ผู้เรียนกลัวการตอบคำถาม กลัวการทำโทษ กลัวสอบตก เป็นต้น ผู้เรียนจะเกิดความเครียด จนส่งผลเสียต่อการเรียนในที่สุด
 
             ใช้คำพูดเหมาะสมกับผู้เรียน คือ การที่ครูเลือกใช้คำที่เหมาะสมกับผู้เรียนแต่ละคน เพราะผู้เรียนแต่ละคน แต่ละระดับชั้น แต่ละเพศ มีความแตกต่างกัน ครูสามารถเลือกใช้คำที่เหมาะกับผู้เรียนที่แสดงถึงการให้เกียรติผู้เรียนแต่ละคน เช่น ผู้เรียนที่เป็นผู้หญิงครูอาจต้องใช้คำพูดที่ระมัดระวังมากขึ้น ทั้งนี้เพราะเด็กหญิงมีความอ่อนไหวกว่าเด็กชาย ระวังการใช้คำพูดกับผู้เรียนที่มีความบกพร่องทางร่างกาย จิตใจ สติปัญญา อารมณ์ สังคม เป็นต้น
 
             ช่วยทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน คือ การที่ครูได้ช่วยผู้เรียนรื้อฟื้น ทำความเข้าใจในวิชานั้น ๆ เพราะผู้เรียนต้องเรียนในหลายวิชา อาจเกิดความสับสน หากมีการทบทวนก่อนการสอนและก่อนการสอบ จะเป็นการช่วยให้ผู้เรียนได้ทำความเข้าใจเรื่องที่เรียนผ่านมาอีกครั้ง และช่วยลดความเครียดให้กับผู้เรียน วิธีทบทวนบทเรียนให้ผู้เรียน เช่นตั้งคำถามให้ผู้เรียนตอบหรือแสดงความคิดเห็น ให้ผู้เรียนทำรายงานสรุปสิ่งที่เรียนรู้มา เป็นต้น

                
ที่กล่าวมาข้างต้น เป็นตัวอย่างลักษณะครูที่สอนดี ที่สะท้อนจากมุมมองของ “พีท” ลูกชายผม ในฐานะที่เป็นนักเรียนคนหนึ่ง ซึ่งอาจเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเรียนการสอนของครูผู้สอนทุกท่าน ที่ต้องการให้ผู้เรียนได้รับทั้งวิชาความรู้ไปพร้อมกับความสนุกสนาน ไม่น่าเบื่อ และกระตุ้นให้ผู้เรียนรักการเรียนรู้มากขึ้น

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *