หลากโครงการสร้างครอบครัวอบอุ่น-เข้มแข็ง

หลากโครงการสร้างครอบครัวอบอุ่น-เข้มแข็ง
• คุณภาพชีวิต
• เรื่องเด่น
แลกเปลี่ยนประสบการณ์ สานสัมพันธ์ชุมชน

โครงการหนึ่งที่น่าสนใจสำหรับผู้ที่ต้องการทำงานทางด้านเกี่ยวกับเด็กและเยาวชนก็คือ “โครงการพัฒนาเครือข่ายด้านวัฒนธรรมและปัญญาเพื่อสุขภาพ” เป็นผลงานของสมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนา และเยาวชนผู้ที่สนใจงานทางด้านวัฒนธรรมทั่วไป ในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่และจังหวัดใกล้เคียง เช่น ลำพูน พะเยา

การขยายเครือข่ายงานทางด้านวัฒนธรรม โดยทำกับกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรม ทั้งในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ และพื้นที่ใกล้เคียง เช่น ลำพูน และพะเยา ซึ่งถือเป็นเมืองท่องเที่ยวจนส่งผลให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของท้องถิ่นเริ่มสูญหายไปตามค่านิยมสมัยใหม่

โครงการนี้เริ่มต้นเมื่อประมาณปี 2539 กลุ่มเยาวชนรักษ์ล้านนา เติบโตมาตั้งแต่กลุ่มยังเป็นกลุ่มเดินป่า ไม่มีชื่ออย่างเป็นทางการ โดยนักศึกษาที่กำลังศึกษาอยู่ในสถาบันการศึกษาต่างๆ ในจังหวัดเชียงใหม่ เช่น วิทยาลัยเทคนิค วิทยาลัยครู วิทยาลัยอาชีวศึกษา ฯลฯ รวมตัวกันจัดกิจกรรมเล็กๆ ด้วยการลงขันคนละ 150 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเดินทางและค่าใช้จ่ายอื่นๆ สำหรับการเดินป่าศึกษาธรรมชาติบนดอยเชียงดาว จ.เชียงใหม่ จนมีสมาชิกกลุ่มประมาณ 15 คน

หลังจากการรวมกลุ่มกิจกรรมต่างๆ ในช่วงวันหยุดไปได้ระยะหนึ่ง หลายคนในกลุ่มก็เริ่มแสดงความสนใจเกี่ยวกับการละเล่นดนตรีพื้นเมือง รวมทั้งภูมิปัญญาท้องถิ่นของภาคเหนือ จนสามารถรวมกลุ่มกันเล่นดนตรีพื้นเมืองออกแสดงตามงานต่างๆ

กระทั่งปี 2543 กลุ่มมีโอกาสไปร่วมแสดงในงานสืบสานล้านนา ครั้งที่ 4 จึงถูกชักชวนจากผู้ก่อตั้งโรงเรียนสืบสานภูมิปัญญา มาร่วมผลักดันงานทางด้านวัฒนธรรมในปีเดียวกัน กลุ่มเดินป่าฯ ได้ก่อตั้งอย่างเป็นทางการชื่อ “กลุ่มรักษ์ล้านนา” โดยแกนนำกลุ่มรักษ์ล้านนาได้รับการชักชวนร่วมเป็นอาสาสมัครช่วยงานโรงเรียนกลุ่มรักษ์ล้านนา จึงถือเป็นส่วนหนึ่งของโรงเรียนสืบสานฯ โดยใช้พื้นที่ภายในบริเวณโรงเรียนสืบสานฯ เป็นสถานที่ทำงาน

ปี พ.ศ.2547 กลุ่มรักษ์ล้านนาเกิดแนวคิดขยายเครือข่ายกลุ่มงานทางด้านวัฒนธรรม และมีความสามารถในการรวมกลุ่มกันได้อย่างเหนียวแน่น อีกทั้งกลุ่มเริ่มเป็นที่รู้จักของคนทั่วไป ขณะเดียวกัน กลุ่มที่ทำงานทางด้านวัฒนธรรมทางเครือข่ายภาคเหนือก็ทำงานกัน แต่กระจัดกระจายอยู่ทั่วไป

สมาชิกกลุ่มรักษ์ล้านนาเองก็เริ่มจบการศึกษาระดับปริญญาตรี และคิดกลับไปอยู่บ้านเกิด บาคนคิดไปทำงานต่างถิ่น แต่คนเหล่านี้ยังมีแนวคิดของการรวมกลุ่มผลักดันงานทางด้านวัฒนธรรม กลุ่มอนุรักษ์ล้านนาจึงคิดขอสนับสนุนทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เพื่อขยายเครือข่ายตามพื้นที่

วิธีการดำเนินงานเริ่มจากการประชุมทีมงานของกลุ่ม เพื่อทำความเข้าใจกับโครงการในพื้นที่บ้านโฮ่ง จ.ลำพูน และใช้โอกาสนั้นจัดโครงการทัศนศึกษาเชิงวัฒนธรรม เพื่อเสริมความรู้ที่บ้านโฮ่งขึ้น

ต่อมามีการเดินป่าศึกษาธรรมชาติดอยเชียงดาว ซึ่งทำมาก่อนที่จะได้รับทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 3 วัน โดยเชิญนักศึกษาจากสถาบันต่างๆ ในระดับมหาวิทยาลัยเข้าร่วม เพื่อสร้างจิตสำนึกของการอนุรักษ์ธรรมชาติ และเรียนรู้สุขภาพที่ดีจากการเดินป่า และเข้าใจต่อวิถีล้านนาซึ่งมีความศรัทธาต่อขุนเขา

นอกจากนี้ยังมีการเปิดสอนดนตรีพื้นเมือง ฟ้อนพื้นเมือง และศิลปะล้านนาขึ้นในโรงเรียนสืบสานเพื่อสืบสานวัฒนธรรมล้านนา จัดงานผิงไฟนาว เผาข้าวหลาม ปีละ 1 ครั้ง และเมื่อได้ทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) แล้วก็ขยายเครือข่ายด้วยการเชื่อมกับกลุ่มงานด้านวัฒนธรรมในพื้นที่ของจังหวัดเชียงใหม่เข้าร่วมด้วย

การล้อมวงเผาข้าวหลามนี้เป็นเวทีแลกเปลี่ยนสร้างความสัมพันธ์ เพราะทุกคนจะเล่าเรื่องราวที่ผ่านมาของตัวเอง จัดค่ายแลกเปลี่ยนสอนศิลปะวัฒนธรรมล้านนาในชุมชน 5 วัน มีเยาวชนเข้าร่วม มีการถ่ายทอดแนวความคิดเรื่องประวัติศาสตร์ ภูมิปัญญาท้องถิ่นต่างๆ ขึ้น ฯลฯ

ตัวอย่างที่ยกมาให้เห็นนี้ คือส่วนหนึ่งของกิจกรรมที่ดำเนินการขึ้น โดยการพบเห็นปัญหาและเป็นความต้องการในการที่จะรวมตัวกันสร้างสิ่งดีๆ ให้เกิดขึ้น หลังจากนั้นจึงได้มาขอสนับสนุนเงินทุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) การจะทำให้สังคมอบอุ่น มีปัญหาน้อยลงนั้นต้องบอกเลยว่า ต้นทุนสำคัญอยู่ที่สุขภาพกาย สุขภาพจิตของคนในชุมชนนั้นนั่นเอง

ไม่มีใครรู้ดีเท่าคนในครอบครัว คนในชุมชนว่าสิ่งที่อาจจะกลายเป็นปัญหาของสังคมนั้นเกิดอะไร เพราะฉะนั้น ความคิดในการแก้ไขปัญหาก็ต้องมาจากบุคคลเหล่านี้ด้วยเช่นกัน ทุกคนมีสิทธิ มีความสามารถในการทำงานเพื่อให้ประโยชน์คนอื่นและตนเองได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าจะมีใครกล้าก้าวเท้าออกมายืนแถวหน้า แล้วลงมือทำให้เป็นตัวอย่างก่อนหรือไม่เท่านั้น

ที่มา: หนังสือพิมพ์ไทยโพสต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *