หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย (1)

หลักสุจริตอย่างยิ่งในการทำสัญญาประกันภัย (1)

สัญญาประกันภัยตั้งอยู่บนรากฐานแห่งความสุจริต กล่าวคือ คู่กรณีในสัญญาประกันภัยจะต้องปฏิบัติต่อกันโดยสุจริต โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้เอาประกันภัยซึ่งเป็นผู้เสนอขอทำสัญญาประกันภัยและเป็นผู้ทราบข้อเท็จจริงทั้งหมดเกี่ยวกับเหตุที่เอาประกันภัย จึงเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยที่จะต้องเปิดเผยข้อเท็จจริงที่สมควรจะต้องเปิดเผยให้ผู้รับประกันภัยทราบเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาว่าสมควรจะรับประกันหรือกำหนดเงื่อนไขจำนวนเบี้ยประกันให้สูงต่ำเพียงใด หากผู้เอาประกันไม่เปิดเผยข้อเท็จจริงก็เท่ากับเป็นการผิดหน้าที่และอาจมีผลถึงสัญญาที่ได้ตกลงทำกันไว้ด้วย

ม.865 บัญญัติว่า “ถ้าในเวลาทำสัญญาประกันภัย ผู้เอาประกันภัยก็ดีหรือในกรณีประกันชีวิต บุคคลอันการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของเขานั้นก็ดี รู้อยู่แล้วละเว้นเสียไม่เปิดเผยข้อความจริงซึ่งอาจจะได้จูงใจผู้รับประกันภัยให้เรียกเบี้ยประกันภัยสูงขึ้นอีก หรือให้บอกปัดไม่ยอมทำสัญญา หรือว่ารู้อยู่แล้วแถลงข้อความนั้นเป็นความเท็จไซร้ ท่านว่าสัญญานั้นเป็นโมฆียะ
ถ้ามิได้ใช้สิทธิบอกล้างภายในกำหนดเดือนหนึ่งนับแต่วันที่ผู้รับประกันภัยทราบมูลอันจะบอกล้างได้ก็ดี หรือมิได้ใช้สิทธินั้นภายในกำหนดห้าปีนับแต่วันทำสัญญาก็ดี ท่านว่าสิทธินั้นเป็นอันระงับสิ้นไป”

จากบทบัญญัติ ม. 865 สามารถแยกอธิบายได้ดังนี้
1. ผู้มีหน้าที่จะต้องเปิดเผยข้อความจริง
ในกรณีประกันวินาศภัยได้แก่ ผู้เอาประกันวินาศภัย ในกรณีประกันชีวิตได้แก่ ผู้เอา
ประกันชีวิต แต่ถ้าเอาประกันชีวิตผู้อื่นผู้มีหน้าที่ต้องเปิดเผยต้องประกอบด้วยผู้เอาประกันชีวิตและผู้ที่ถูกเอาประกันชีวิต
ฎ. 922/2542 ในสัญญาประกันชีวิตเป็นหน้าที่ของผู้เอาประกันภัยซึ่งการใช้เงินย่อมอาศัยความทรงชีพหรือมรณะของตน ต้องเปิดเผยข้อความจริงให้ผู้รับประกันภัยทราบ ท. ผู้เอาประกันชีวิตป่วยเป็นวัณโรคปอดซึ่งเป็นโรคร้ายแรงและได้รับการรักษาเกี่ยวกับโรคดังกล่าวเป็นเวลานาน แต่มิได้แจ้งข้อความจริงดังกล่าวให้จำเลยทราบเมื่อขอเอาประกันชีวิต ซึ่งหากจำเลยทราบก็อาจเรียกเบี้ยประกันสูงขึ้นหรือไม่รับประกันชีวิต สัญญาประกันชีวิตจึงเป็นโมฆียะ ผู้รับประกันภัยย่อมมีสิทธิที่บอกล้างนิติกรรมได้โดยมิต้องคำนึงว่าผู้เอาประกันภัยจะถึงแก่ความตายหรือไม่ หรือตายด้วยเหตุใด เมื่อผู้เอาประกันชีวิตถึงแก่ความตายแล้ว จำเลยจะบอกล้างสัญญาประกันชีวิตอันเป็นโมฆียะต่อโจทก์ซึ่งเป็นผู้รับประโยชน์ตามสัญญาได้ เมื่อจำเลยบอกล้างสัญญาอันเป็นโมฆียะแล้วจึงไม่ต้องรับผิดใช้เงินให้โจทก์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *