หลวงพระบาง

หลวงพระบาง
ชาวลาวในเมืองหลวงพระบาง เป็นชนเผ่าที่เรียกว่า “กาว” เดิมเมืองนี้ชื่อ “ชวา” การที่เรียกว่า “หลวงพระบาง” นั้น เป็นเพราะเมืองดังกล่าวเป็นเมืองหลวงของลาวในยุคก่อน จึงได้ชื่อว่า”เมืองหลวง” และการที่มีพระพุทธรูปยืนชื่อ “พระบาง” เป็นสัญลักษณ์ของเมือง จึงรวมชื่อเป็น “เมืองหลวงพระบาง” ชนเผ่ากาวนี้ส่วนใหญ่ปัจจุบันอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือของลาว ได้อพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทยตามริมแม่น้ำโขงและหลายหมู่บ้านในเขตจังหวัดเชียงราย โดยรวมกันอยู่เป็นจำนวนมากที่อำเภอเชียงแสนและอำเภอเชียงของ และอพยพเข้ามาก่อนกรณีพิพาทอินโดจีนหลายสิบปี แต่เป็นจำนวนน้อย
ลาวเป็นประเทศเล็กๆ ที่มีประชากรประมาณห้าล้านคน ลาวมีแผ่นดินที่กว้างใหญ่กว่า 236,800 ตารางกิโลเมตร เป็นอาณาจักรแห่งขุนเขาและสายน้ำที่ยังสมบูรณ์
เมื่อองค์การยูเนสโก้ยกให้หลวงพระบางเป็นเมืองมรดกโลก ชื่อของหลวงพระบางจึงขจรขจายไปไกล การท่องเที่ยวเมืองหลวงพระบางจึงมีชื่อเสียงมากที่สุดของลาว

ประวัติ
นานมาแล้วที่เมืองหลวงพระบางเป็นเมืองหลวง เจ้าฟ้างุ้มได้รวบรวมแว่นแคว้นต่างๆของชนเผ่าไท-ลาวในเขตลุ่มน้ำโขง แม่น้ำคาน แม่น้ำอู ก่อตั้งอาณาจักรล้านช้าง ณ ดินแดนริมน้ำโขงซึ่งคือหลวงพระบาง เมื่อปี พ.ศ. 1896 – 1916 โดยการช่วยเหลือของกษัตริย์ขอม (เพราะมเหสีของเจ้าฟ้างุ้มคือพระราชธิดาของกษัตริย์ขอมในขณะนั้น) พร้อมๆกับการรับเอาพุทธศาสนาเข้ามาแทนการนับถือผี
ลาวเป็นประเทศหนึ่งที่สืบเชื้อสายบรรพบุรุษเดียวกับชาวไทย แต่ลาวมีชนกลุ่มน้อยมากมายหลายเผ่า ลาวแท้ๆ มีเพียง 50 เปอร์เซนต์เท่านั้น ซึ่งมักจะอาศัยอยู่ริมน้ำโขงบนที่ราบ ส่วนชาวเขานิยมอยู่บนเทือกเขา
แรกทีเดียวอาณาจักรล้านช้างมีชื่อเรียกว่า “เมืองชวา” อันเนื่องมาจากมีชาวชวาอาศัยอยู่มากกว่ากลุ่มอื่น
ปี พ.ศ. 1900 เปลี่ยนมาเป็นชื่อเมืองเชียงทอง กระทั่งกษัตริย์ขอมได้พระราชทานพระพุทธรูปองค์หนึ่ง มีชื่อว่าพระบาง เป็นพระพุทธรูปศิลปะสิงหล เจ้าฟ้างุ้มจึงทรงเปลี่ยนชื่อเมืองเป็น “หลวงพระบาง”
ปี พ.ศ. 2088 พระเจ้าโพธิสารราชเจ้า โปรดฯ ให้ย้ายเมืองหลวงของอาณาจักรล้านช้างไปอยู่ที่เมืองเวียงจันทน์ แม้หลวงพระบางจะไม่ได้เป็นเมืองหลวงต่อไป แต่เจ้ามหาชีวิตยังคงประทับที่หลวงพระบาง
ต่อมาอาณาจักรล้านช้างแตกออกเป็นสามอาณาจักร คือ
• อาณาจักรล้านช้างหลวงพระบาง
• อาณาจักรล้านช้างเวียงจันทน์
• อาณาจักรล้านช้างจำปาศักดิ์
กษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ยังคงสืบทอดราชบัลลังก์กระทั่งถึงยุคสิ้นสุดของราชวงศ์อันมีสาเหตุหลักมาจากตกเป็นเมืองขึ้นของสยาม เวียตนาม และฝรั่งเศส
เหตุนี้เองหลวงพระบางจึงมาความเป็นมายาวนาน เป็นราชธานีเก่าแก่ วัดวาอารามมากมาย และมีธรรมชาติที่สวยงาม
หลวงพระบางได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกโลกด้วยเหตุผล คือ มีวัดวาอารามเก่าแก่มากมาย มีบ้านเรืออันเป็นเอกลักษณ์ โคโลเนียลสไตล์ ตัวเมืองตั้งอยู่ริมน้ำโขงและน้ำคาน ซึ่งไหลบรรจบกันท่ามกลางธรรมชาติอันงดงาม และชาวหลวงพระบางมีบุคลิกที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นมิตร มีขนบธรรมเนียมประเพณีที่งดงาม
ในขณะที่มรดกโลกแห่งอื่นอาจได้ขึ้นทะเบียนอย่างจำเพาะเจาะจงในโบราณสถาน ธรรมชาติ แต่หลวงพระบางทั้งเมืองได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นมรดกของมวลมนุษยชาติเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2538 และยังได้รับการยกย่องว่าเป็นเมืองที่ได้รับการปกปักรักษาที่ดีที่สุดในเอเชียตะวันออกเชียงใต้

สถานที่ท่องเที่ยวในหลวงพระบาง
• วัดเชียงทอง “อัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมสกุลช่างล้านช้าง”
วัดเชียงทอง ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองหลวงพระบาง ใกล้บริเวณที่แม่น้ำคานไหลมาบรรจบกับแม่น้ำโขง มีถนนเล็กๆชื่อถนนโพธิสารราช ริมน้ำโขงคั่นอยู่ สร้างขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2102 –2103 สมัยพระเจ้าไชยเชษฐาธิราช ในบรรดาวัดวาอารามทั้งหมดต้องยกให้วัดเชียงทองเป็นวัดที่สำคัญและสวยงาม ได้รับการมาเยี่ยมเยือนจากนักท่องเที่ยวมากที่สุด นักโบราณคดียกย่องว่าวัดเชียงทองเป็นดั่งอัญมณีแห่งสถาปัตยกรรมลาว วัดเชียงทองสร้างขึ้นก่อนหน้าที่พระเจ้าไชยเชษฐาธิราชจะย้ายเมืองหลวงไปยังนครเวียงจันทน์ไม่นานนัก และยังได้รับการอุปถัมภ์จากเจ้ามหาชาติศรีสว่างวงศ์ และเจ้ามหาชาติศรีสว่างวัฒนา กษัตริย์สององค์สุดท้ายของลาว
พระอุโบสถ ภาษาลาวเรียกว่า สิม เป็นพระอุโบสถหลังไม่ใหญ่โตนักหลังคาพระอุโบสถมีหลังคาแอ่นโค้ง ลาดต่ำลงมาซ้อนกันอยู่สามชั้น กล่าวกันว่านี่คือศิลปะแห่งหลวงพระบาง ส่วนกลางของหลังคามีเครื่องยอดสีทองชาวลาวเรียกว่าช่อฟ้า ประกอบด้วย 17 ช่อเป็นข้อสังเกตุว่าวัดที่พระมหากษัตริย์สร้าง จะมีช่อฟ้า 17 ช่อส่วนคนสามัญสร้างจะมีช่อฟ้า 1- 7 ช่อเท่านั้น เชื่อว่าบริเวณช่องสี่เหลี่ยมเล็กๆตรงกลางช่อฟ้าจะมีของมีค่าบรรจุอยู่ ส่วนที่ประดับที่ยอดหน้าบันชาวลาวเรียกว่าโหง่ มีรูปร่างเป็นเศียรนาคและมีความสัมพันธ์เกี่ยวกับศาสนาพุทธ ประตูพระอุโบสถแกะสลักสวยงามเช่นเดียวกับหน้าต่างภายในพระอุโบสถมีภาพสวยงามที่ผนัง มีลักษณะลวดลายปิดทองฉลุบนพื้นรักสีดำ ส่วนใหญ่เป็นภาพพุทธประวัติเรื่องพระสุธน – มโนราห์ และเรื่องพระเจ้าสิบชาติ
พระประธาน หรือชาวลาวเรียกว่าพระองค์หลวง ภายในพระอุโบสถเป็นสีทองงดงามอร่ามตาด้านข้างพระองค์หลวงมีพระบางจำลอง และผนังด้านหลังของพระอุโบสถเป็นภาพที่เกิดจากการใช้กระจกสีตัด ติดต่อกันเป็นรูปต้นทองขนาดใหญ่ ซึ่งเคยมีในเมืองหลวงพระบางลักษณะคล้ายต้นโพธิ์ ด้านข้างต้นทองเป็นรูปสัตว์ในวรรคดียามใดที่แสงแดดสดส่องสะท้อนดูงดงาม
วิหารน้อย ด้านข้างและด้านหลังของพระอุโบสถเป็นที่ตั้งของวิหารสองหลังนี้ จุดเด่นของวิหารนี้คือผนังด้านนอกมีการตกแต่งด้วยกระจกสี ตัดเป็นชิ้นเล็กๆและนำมาต่อเป็นรูปต่างๆเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับนิทานพื้นบ้าน บนพื้นสีชมพู ภายในวิหารเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปปางไสยาสน์ พระพุทธรูปนี้เคยถูกนำไปจักแสดงที่กรุงปารีส ในปี พ.ศ. 2474 และนำไปประดิษฐานที่นครเวียงจันทน์หลายสิบปี ก่อนจะนำมายังหลวงพระบางในปี พ.ศ.2507
ส่วนวิหารอีกหลังที่อยู่ด้านหลังพระอุโบสถคือ วิหารพระม่าน ผนังวิหารด้านนอกมีลักษณะคล้ายกับวิหารองค์แรก ภายในวิหารนี้ประดิษฐาน พระม่าน ในช่วงวันขึ้นปีใหม่จะมีการอันเชิญมาให้ประชาชนสรงน้ำและกราบไหว้เป็นประจำทุกปี ผนังด้านหลังวิหารทาด้วยสีชมพูประดับด้วยกระจกสีแสดงถึงวิถีชีวิตของผู้คน สร้างขึ้นใน พ.ศ.2493 เพื่อเฉลิมฉลองที่โลกก้าวสู่ยุคกึ่งพระพุทธกาล
ด้านหลังของวิหารพระม่านจะเป็นพระธาตุศรีสว่างวงศ์ ซึ่งเป็นที่เก็บอัฐิของเจ้ามหาศรีสว่างวงศ์และด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ เป็นโขงเรือใกล้กับริมแม่น้ำโขงส่วนด้านหน้าพระอุโบสถเป็นที่ตั้งหอกลองมีลวดลายลงรักปิดทองสวยงาม
โรงเมี้ยนโกศ หรือโรงเก็บราชรถพระโกศของเจ้ามหาชีวิตศรีสว่างวัฒนา สร้างขึ้นในปีพ.ศ. 2505 ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของวัดลักษณะเป็นโถงกว้าง ผนังด้านหน้าตั้งแต่หน้าบันลงมาจนถึงพื้นสามารถถอดออกได้เพื่อให้สามารถเคลื่อนราชรถออกมาได้ กลางโรงเมี้ยนโกศเป็นที่ตั้งราชรถไม้แกะสลักปิดทองคำเปลวรอบคัน มีพระโกศสามองค์ตรงกลางเป็นองค์ใหญ่ของเจ้าสว่างศรีวัฒนา ด้านหลังเป็นของพระราชมารดา ส่วนด้านหน้าเป็นของพระเจ้าอา โรงเก็บราชรถนี้ออกแบบโดยเจ้ามณีวงศ์ และใช้ช่างชาวหลวงพระบางชื่อ เพียตัน นับว่าเป็นช่างฝีมือดีประจำพระองค์ มีความชำนาญทั้งด้านงานเขียนและงานแกะสลัก
จุดเด่นของโรงเมี้ยนโกศยังอยู่ที่ประตูด้านนอกคือเป็นภาพแกะสลักวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์ตอนสำคัญๆเช่น ตอนพิเภกกำลังบอกความลับที่ซ่อนหัวใจของทศกัณฑ์ให้กับพระราม ถัดลงมาเป็นตอนที่ทศกัณฑ์ต้องศรของพระรามเสียบเข้าที่หัวใจ ถัดลงมาเป็นตอนที่พระรามพระลักษณ์ต่อสู้กับทศกัณฑ์ ด้านล่างสุดเป็นตอนที่นางสีดาลุยไฟเพื่อพิสูจน์ความบริสุทธิ์กับพระราม เดิมที่ภาพแกะสลักเหล่านี้เป็นการลงรักปิดทอง ต่อมาได้มีการบูรณะใหม่โดยทาสีทอง ภายในวัดยังมีเขตสังฆาวาสและยังมีพระจำพรรษาอยู่เช่นวัดทั่วไป
ค่าเข้าชม คนละ 10,000 กีบ (ประมาณ 40 บาท)
เปิดเวลาเข้าชม ตั้งแต่เวลา06.00 – 17.30 น.

• น้ำตกตาดกวางสี “น้ำตกที่สวยงามที่สุดของเมืองหลวงพระบาง”
น้ำตกกวางสี เป็นน้ำตกหินปูน สูงราว 70 เมตรมีสองชั้น สภาพป่าร่มรื่น มีสะพานและเส้นทางเดินชมรอบๆน้ำตกและสามารถเลาะข้างน้ำตกไปชมน้ำตกชั้นบนสามมารถเล่นน้ำบริเวณลำธารได้ นอกจากจะชื่นชมความงามของน้ำตกแล้ว ยังหาซื้อของที่ระลึกที่ทางเข้าน้ำตก ซึ่งเป็นสินค้าพื้นเมืองที่ทำจากไม่ไผ่เป็นของใช้หลายชนิด น้ำตกกวางชีมีน้ำตลอดปี ในฤดูร้อนน้ำจะน้อย
สถานที่ตั้ง อยู่ห่างจากหลวงพระบาง 30 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันตกเฉียงใต้
ค่าเข้าชม คนละ 10,000 กีบ

• ถ้ำติ่ง “ถ้ำริมแม่น้ำโขง”
ถ้ำติ่ง ตั้งอยู่ในภูเขาลูกใหญ่ตระหง่านอยู่ริมน้ำโขง อยู่ฝั่งตรงข้ามบ้านปากอู อยู่ห่างจากตัวเมืองหลวงพระบางประมาณ 30 กิโลเมตร ไปตามทางหลวงหมายเลข 13 ไปทางเหนือ ผ่านหมู่บ้านช่างไห จนถึงหมู่บ้านปากอู นั่งเรือข้ามฝากน้ำโขง คนละ 5,000 กีบ หรือจะนั่งเรือที่ท่าวัดเชียงทอง เป็นเรือเหมาซึ่งจะได้ชมทิวทัศน์สองฝากฝั่งลำน้ำโขง เป็นการนั่งทวนน้ำใช้เวลาประมาณ 2.30 ชั่วโมง ขากลับจะล่องตามน้ำใช้เวลาประมาณชั่วโมงเศษ
ค่าเข้าชม 8,000 กีบ
เวลาเปิด 08.00 – 17.00 น.
ถ้ำติ่งประกอบไปด้วย 2 ถ้ำ แยกขวาไปถ้ำติ่งลุ่ม (ล่าง) แยกซ้ายไปถ้ำติ่งเทิง (บน)
ถ้ำติ่งลุ่ม หรือถ้ำติ่งล่างนั้น สูง 60 เมตรจากพื้นน้ำมีลักษณะเป็นโพรงถ้ำตื้นๆ มีหินงอกหินย้อยเล็กน้อย เป็นถ้ำที่มีพระพุทธรูปจำนวนมากหลายขนาด ส่วนใหญ่จะเป็นพระยืน มีทั้งปางประทานพร และปางห้ามญาติ ความสำคัญของถ้ำติ่งในสมัยโบราณเป็นที่สักการะบ่วงสรวงดวงวิญญาณ ผีฟ้า ผีแถน เทวดาผาติ่ง
ถ้ำติ่งในวันนี้ยังแสดงถึงยุคแห่งการปฏิวัติความเชื่อของชาวลาวในอดีตที่เคยนับถือผี พระเจ้าโพธิสารราชทรงเลื่อมใสในพุทธศาสนาเป็นผู้นำพุทธศาสนาเข้ามา และทรงใช้ถ่ำติ่งเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ทางพุทธศาสนาและมีการค้นพบพระพุทธรูปที่สร้างขึ้นในคริสศตวรรษที่ 18-19 กว่า 2,500 องค์ ส่วนใหญ่ทำขึ้นจากไม้ เมื่อตอนค้นพบใหม่มีพระพุทธรูปจำนวนหนึ่งที่ทำด้วยเงินและทองคำ แต่ถูกลอกออกไปหมด นับแต่นั้นมาถ้ำติ่งจึงเป็นถ้ำที่ศักดิ์สิทธิ์ เจ้ามหาชีวิตแห่งหลวงพระบางต้องไปสักการะบูชาพระพุทธรูปในถ้ำ โดยเฉพาะช่วงปีใหม่ลาว ทั้งเจ้ามหาชีวิต ข้าราชบริพาร พระสงฆ์ ประชาชนทั่วไปจะเดินทางไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่ถ้ำติ่งบนและถ้ำติ่งล่าง จากนั้นจึงไปไปสรงน้ำพระพุทธรูปที่วัดปากอู ซึ่งอยู่ใกล้ๆกับถ้ำติ่ง
ถ้ำติ่งบน มีทางแยกซ้ายเดินขึ้นบันไดไป 218 ขั้น สองข้างทางร่มรื่นด้วยเงาไม้ ลักษณะถ้ำติ่งบนเป็นปากถ้ำไม่ลึกมาก มีพระพุทธรูปอยู่ภายในถ้ำแต่ไม่เยอะเท่าถ้ำติ่งล่าง ที่ปากถ้ำมีไฟฉายให้เช่าสำหรับไปส่องดูภายในถ้ำ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *