สังคมแห่งความสุข

สังคมแห่งความสุข
มองมุมใหม่ : รศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ กรุงเทพธุรกิจ วันอังคารที่ 03 เมษายน พ.ศ. 2550
เมื่อประมาณเดือนที่แล้วได้เคยเขียนเกี่ยวกับเรื่องความสุขในสังคมและปัจจัยที่ส่งผลต่อความสุขของสังคมขึ้นไว้สามสี่ตอน ซึ่งตอนแรกก็ว่าจะพอสักพักเกี่ยวกับเรื่องของความสุขในสังคมนะครับ แต่ดูเหมือนบรรยากาศต่างๆ ในประเทศในปัจจุบัน จะไม่เอื้อให้ประชาชนมีความสุขเท่าใด ก็เลยอยากจะกลับมาเขียนเรื่องเกี่ยวกับสังคมแห่งความสุขอีกครั้ง เผื่อท่านผู้อ่านจะได้นำไปปรับใช้กันบ้าง โดยเนื้อหาส่วนใหญ่นั้นผมนำมาจากหนังสือชื่อ Happiness เขียนโดย Richard Layard ซึ่งเป็นนักเศรษฐศาสตร์ ซึ่งเขาจะมองภาพที่ค่อนข้างเป็นมหภาคเหมือนกับนักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไป
ประเด็นแรกที่น่าสนใจก็คือความสุขของประชาชนในประเทศ ควรจะเป็นเป้าหมายสูงสุดของผู้บริหารประเทศหรือไม่? ซึ่งก็เป็นประเด็นที่น่าสนใจมากนะครับ ผู้บริหารประเทศแต่ละยุคแต่ละสมัยเข้ามา อาจจะมีการตั้งเป้าหมาย เป้าประสงค์ หรือ ยุทธศาสตร์ในด้านต่างๆ ไว้ แต่ในฐานะประชาชนคนหนึ่งกลับไม่เคยได้ยินว่ามีรัฐบาลชุดไหนที่ตั้งเป้าหมายสูงสุดไว้ว่า จะทำให้ประชาชนในประเทศตนเองมีความสุข
รัฐบาลชุดที่แล้วอาจจะมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจ โดยมุ่งหวังว่าถ้าเศรษฐกิจเติบโตแล้วจะทำให้ประชาชนมีความสุข หรือ รัฐบาลชุดนี้อาจจะมียุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ที่ต้องการให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่ดูเหมือนว่าสิ่งที่รัฐบาลทั้งสองชุดจะขาดไปคือ การตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนที่จะทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขขึ้น
จริงอยู่นะครับที่บางท่านอาจจะบอกว่าไม่ว่าการมุ่งเน้นการเติบโตทางเศรษฐกิจหรือยุทธศาสตร์อยู่ดีมีสุข ล้วนแล้วแต่เป็นวิธีการหรือแนวทางที่จะทำให้ประชาชนมีความสุขขึ้น แต่จริงๆ แล้วผู้ที่ขึ้นมาเป็นผู้บริหาร น่าจะตั้งเป้าประสงค์ที่ชัดเจนไปเลยนะครับว่าสุดท้ายแล้ว เป้าประสงค์สูงสุดในการบริหารประเทศของท่านคือ ทำให้ประชาชนคนไทยมีความสุขขึ้น
ซึ่งเมื่อตั้งเป้าประสงค์ที่ชัดเจนแล้ว ย่อมตามมาด้วยวิธีการในการวัดและประเมินว่าสามารถบรรลุเป้าประสงค์ดังกล่าวได้หรือยัง ซึ่งในปัจจุบันก็ไม่ยากแล้วนะครับที่จะวัดระดับความสุขของประชาชน เห็นหลายประเทศเขามี Gross National Happiness กันออกมาแล้ว และเชื่อว่าน่าจะมีหน่วยงานของไทยที่เริ่มหรือคิดที่จะเก็บข้อมูลตัวนี้กันบ้างแล้ว
พอมองในระดับประเทศก็หันกลับมามองในระดับองค์กรกันบ้างครับว่าถ้าประเทศสามารถกำหนดเป้าประสงค์ แล้วการบริหารองค์กรสามารถกำหนดวัตถุประสงค์ให้บุคลากรในองค์กรมีความสุขได้หรือไม่? จริงๆ ก็ได้นะครับ และหลายๆ องค์กรก็ทำอยู่ เพียงแต่แทนที่จะมองในแง่ของความสุขของบุคลากรในองค์กร อาจจะมองในแง่ของขวัญและกำลังใจของบุคลากร หรือ ความพึงพอใจของลูกค้า หรือ แม้กระทั่งความพึงพอใจของผู้ถือหุ้นแทน ซึ่งถ้าเรียกรวมๆ แล้วก็คือความสุขของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกับองค์กร (Stakeholder Happiness)
กลับมาในเรื่องสังคมแห่งความสุขกันต่อนะครับ ถ้าท่านผู้อ่านเห็นด้วยว่า ผู้บริหารประเทศ ควรจะตั้งวัตถุประสงค์สูงสุดให้ชัดเจนไปเลยว่า ต้องการให้ประชาชนในประเทศมีความสุข และเราจะสามารถบอกได้ไหมครับว่าประเทศหรือสังคมที่ดีที่สุดคือสังคมที่ประชาชนมีความสุขที่สุด ถ้าเราตกลงกันได้ในวัตถุประสงค์สูงสุด
ประเด็นถัดมาก็คือ ทำอย่างไรประชาชนถึงจะมีความสุข? จากงานวิจัยทางด้านเศรษฐศาสตร์พบว่า การที่ประชาชนจะมีความสุขได้นั้น เกิดขึ้นจากปัจจัยหลายประการนอกเหนือจากที่ผมได้เคยนำเสนอไปเมื่อเดือนที่แล้ว โดยปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้คนในสังคมมีความสุข ได้แก่
การที่คนได้อยู่ในสังคม เนื่องจากคนเป็นสัตว์สังคมและต้องการอยู่ร่วมหรือมีสังคมกับผู้อื่น ดังนั้นมิตรภาพ และการแต่งงานเป็นสิ่งที่ทำให้คนมีความสุข ในขณะเดียวกันการว่างงานทำให้คนเป็นทุกข์ ซึ่งความทุกข์จากการว่างงานนั้นไม่ได้มาจากการขาดรายได้เพียงอย่างเดียวนะครับ แต่เป็นความทุกข์เนื่องจากการว่างงาน ทำให้ชีวิตสังคมของคนเราขาดไป อาจจะกล่าวได้ว่ามนุษย์ต้องการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่นอยู่ตลอดเวลา ดังนั้นหลายๆ ครั้งท่านผู้อ่านจะสังเกตว่าคนเราชอบประชุม ชอบถกเถียง ชอบเสียเวลาไปกับการพูดจาอภิปราย เนื่องจากปฏิสัมพันธ์กับบุคคลอื่นนั้นทำให้เรามีความสุข
ปัจจัยอีกประการได้แก่ ความภูมิใจที่ได้ทำหน้าที่อย่างดีและครบถ้วน ซึ่งก็เป็นสิ่งที่เราเริ่มขาดหายไปในสังคมนะครับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่อำนาจเงินเริ่มมีมากขึ้น จะสังเกตว่าผู้บริหารจำนวนมากเริ่มที่จะมองว่าการที่คนจะทำงานได้ดีนั้น ต้องอาศัยแรงจูงใจด้านการเงินเป็นสำคัญ ทำให้แนวคิดทางด้านบริหารยุคใหม่เริ่มมาในด้านนี้มากขึ้น แม้กระทั่งหน่วยราชการเองก็มีความพยายามที่จะจูงใจข้าราชการด้วยผลตอบแทนทางด้านการเงินมากขึ้น
จริงอยู่นะครับที่ปัจจัยทางด้านการเงินเป็นปัจจัยที่มีอิทธิพลประการหนึ่ง แต่เราก็ต้องอย่าลืมนะครับว่า แต่ละคนในสังคมต้องการที่จะได้รับการยอมรับและยกย่อง ความภูมิใจในวิชาชีพของแต่ละคนยังคงเป็นสิ่งที่สำคัญ และถ้ามุ่งเน้นในเรื่องของการจูงใจด้วยเงินเพียงอย่างเดียว คนในสังคมก็จะมุ่งทำงานเพื่อเงินเป็นหลัก โดยลืมความภูมิใจในวิชาชีพของตนเหมือนในอดีต ซึ่งเมื่อนั้นความสุขในการทำงานของเราก็จะลดน้อยลงไป
สัปดาห์หน้าเรามาดูกันต่อนะครับว่าจะทำอย่างไรให้สังคมมีความสุขมากขึ้น
________________________________________

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *