สร้างคน "โลจิสติกส์"

สร้างคน “โลจิสติกส์”

 

ผมไปดำเนินรายการเสวนาเพื่อเปิดตัวหนังสือ “โลจิสติกส์ไทย ก้าวย่างประเทศไทย ในกระแสโลกาภิวัตน์” ที่งานมหกรรมหนังสือแห่งชาติ ทำให้ต้องสนใจประเด็นเรื่อง “คน” ในแวดวงนี้ด้วย

ผู้เขียนหนังสือเล่มนี้คือ ดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล อาจารย์ ผู้เชี่ยวชาญศาสตร์ Logistics and Supply Chain ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านโลจิสติกส์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ซึ่งเล่าเรื่อง โลจิสติกส์ได้สนุกสนานน่าติดตามมาก

ทั้งๆ ที่ในวันที่เราจัดเสวนาเป็นวันหยุดราชการ (23 ต.ค.)แถมได้เวลาช่วง 17.00-18.00 น. คนฟังก็เป็นประชาชนทั่วไป แต่ก็สามารถตรึงผู้ฟังที่นั่งอยู่เต็มพื้นที่ไว้ได้ด้วยเวลาที่ผ่านไปอย่างรวดเร็ว

ทุกวันนี้สถาบันการศึกษาหลายแห่งหันมาให้ความสนใจในการผลิตบุคลากรด้านโลจิสติกส์กันมาก ว่ากันว่าผลิตมาเท่าใดก็ไม่ตกงาน เพราะความต้องการในตลาดตอนนี้มากกว่าหมื่นตำแหน่ง บ้างก็ว่าจบปริญญาโทด้านโลจิสติกส์ เงินเดือนดีกว่าจบ “เอ็มบีเอ” ด้วยซ้ำ

อย่างไรตามเรื่องของ “คน” ในแวดวงโลจิสติกส์ที่ ดร.พงษ์ชัย ได้เปิดประเด็นในหนังสือนั้น ไม่ใช่เฟรมเวิร์คเรื่องการพัฒนากำลังคนอย่างที่มีการเขียนไว้ในแผนยุทธศาสตร์กัน แต่เราพูดเรื่องของคนกัน ตั้งแต่เรื่องพื้นฐานสังคม และค่านิยมของคนไทยที่ยังขาดความรู้ความเข้าใจ เรื่องโลจิสติกส์

เมื่อขาดความเข้าใจ ก็พลอยทำให้ความสำคัญของกิจกรรมโลจิสติกส์ถูกปล่อยปละละเลย ขาดการดูแลเอาใจใส่อย่างจริงจัง และที่สำคัญคือ ทำให้ขาดแผนงาน และแนวทางการจัดการในทิศทางที่สร้างเสริมประสิทธิภาพ และความได้เปรียบในเชิงธุรกิจเหนือคู่แข่ง

หลายครั้งยังพบว่าบุคลากรในระดับสูงของบริษัทมองโลจิสติกส์เป็นเพียงเรื่องของการขนส่งสินค้า หรือส่งมอบสินค้าเท่านั้น

พื้นฐานของโครงสร้างธุรกิจ และบริษัทของไทยส่วนใหญ่ในอดีต สามารถแข่งขันได้เนื่องจากอาศัยต้นทุน วัตถุดิบ และการผลิตที่ต่ำกว่าคู่แข่ง และเป็นการดำเนินการทางธุรกิจที่ไม่ต้องมีการพัฒนาช่องทางการกระจายสินค้า หรือการทำตลาดมากนัก

สินค้าแต่ละตัวของแต่ละบริษัท และอุตสาหกรรมไม่จำเป็นต้องมีตราสินค้าเป็นของตนเอง บริษัทส่วนใหญ่พอใจกับการสวมบทบาทเป็นผู้รับจ้างผลิต และเน้นการพัฒนาองค์กรในแง่มุมของมาตรฐานคุณภาพสินค้า และศักยภาพในการผลิตเป็นหลัก

ดังนั้นเมื่อ โลจิสติกส์ เข้ามาเป็นผู้กำหนดเกมธุรกิจ ก็เลยทำให้ผู้ประกอบการไทย กลายเป็นผู้ “ตามเกม” แม้กระทั่งคนที่อยู่ในแวดวง

ปัจจุบันผู้ประกอบการที่มีอยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ในประเทศไทย มีความเหลื่อมล้ำกันมาก โดยเฉพาะระหว่างผู้ให้บริการที่เป็นคนไทย และที่เป็นของต่างชาติ โดยในภาพรวมผู้ประกอบการไทยส่วนมาก จะตกอยู่สภาพที่เป็นผู้รับเหมาช่วง หรือ Sub-Contractors ให้กับผู้ประกอบการต่างชาติอีกทอดหนึ่ง

งานวิจัยของดร.พงษ์ชัย อธิคมรัตนกุล ระบุว่า ลักษณะผู้ประกอบการไทยเกือบทั้งหมดจะอยู่ในด้านการขนส่งสินค้า(Freight Transportation) หรืออยู่ในกลุ่มจัดเก็บ ดูแลและบริหารคลังสินค้า(Warehousing and Inventory Management) จะอยู่ในลักษณะผู้ให้บริการงานโลจิสติกส์ประเภทให้เช่าสินทรัพย์ทางโลจิสติกส์ เช่น รถบรรทุก หรือคลังสินค้า ซึ่งล้วนแล้วแต่อยู่ในประเภทที่เรียกว่า “Logistics Service Provider(LSP)

มีผู้ให้บริการไทยไม่กี่รายที่เข้าข่ายผู้ให้บริการงานโลจิสติกส์ประเภทบริหารจัดการงานโลจิสติกส์แบบเบ็ดเสร็จ หรือที่เรียกกันว่า “Third Party Logistics Provider (3PL)” ซึ่งเป็นการบริการงานโลจิสติกส์แบบมืออาชีพ และเป็นที่ยอมรับว่าสร้างผลตอบแทนที่สูงกว่าประเภทแรกอย่างมาก

ซึ่งผู้ให้บริการแบบหลังจะเป็นบริษัทต่างชาติแทบทั้งสิ้น โดยเป็นที่น่าสังเกตผู้ให้บริการต่างชาติเหล่านี้ จะว่าจ้างผู้ประกอบการไทยอีกทอดหนึ่งที่เป็นประเภท LSP และนับเป็นเบี้ยล่างที่สำคัญ ยิ่งระบบโลจิสติกส์มองเห็นการตอบสนองความพึงพอใจของลูกค้าเป็นเรื่องสำคัญ ก็ยิ่งเป็นช่องทางของการตอบสนองพฤติกรรมที่ไม่เข้าท่าของลูกค้ามากขึ้น

ยกตัวอย่าง เช่น ความไม่เข้าท่าของลูกค้า(คือพระเจ้า) คือ การสั่งสินค้าในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ทั้งๆ ที่น่าจะพยากรณ์ได้ว่าช่วงนี้ความต้องการซื้อจะสูงในช่วงดังกล่าว แล้วสั่งของล่วงหน้าแต่ไม่ดำเนินการเนิ่นๆ แต่กลับมาสั่งให้ส่งของไม่กี่วันก่อนเทศกาล ในขณะที่คนงานโลจิสติกส์ก็ลากลับบ้านกันหมด ของที่ถูกสั่งไม่กี่วันก่อนเทศกาลในที่สุดถูกส่งออกไปได้อย่างไร (คนที่เล่าห้ามเขียนบอกตรงนี้ )

ผมมีเพื่อนในวงการนี้ เขาบอกความเป็นจริงว่า ผู้ประกอบการไทย หรือคนไทยที่อยู่ในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มีฐานะเหมือนพวก “รับจ้างผลิต” หรือ “พวกใช้แรงงาน” เป็นหลัก แม้กระทั่งพวกที่จบปริญญาตรี หรือปริญญาโทด้านโลจิสติกส์ ก็จะบ่นว่าตนเองต้องทำงานที่หนักมาก ขณะที่ผลตอบแทนไม่ได้ดีไปกว่าสาขาอื่น ส่วนพวกที่มีรายได้ดีมากๆ คือ พวกผู้บริหารต่างชาติ

วงการโลจิสติกส์ จึงมีอัตราการลาออกที่สูงมากคือ 50% ตราบใดที่คนไทยยังเป็นเบี้ยล่าง

 

ที่มา ทุนมนุษย์ 2020 : จุมพฏ สายหยุด  กรุงเทพธุรกิจ   วันพุธที่ 31 ตุลาคม พ.ศ. 2550

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *