สมองดื้อ

สมองดื้อ
คนทำงาน หัวหน้างาน ไล่เรียงถึงผู้บริหารทุกท่าน ต้องเคยผ่านประสบการณ์ของการปรับและเปลี่ยน ไม่ว่าจะเป็นด้านนโยบาย กลยุทธ์ แผนงาน หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงาน ตลอดจนพฤติกรรมของคนในองค์กร อาทิเช่น องค์กรอยากให้เราทำงานเป็นทีมมากขึ้น ให้สอนงานลูกน้องบ่อยขึ้น ให้คิดนอกกรอบ คิดรอบด้านให้เป็น ให้เห็นปัญหาก่อนมันมา สารพัดที่ต้องเปลี่ยน ต้องปรับ รับกันไม่หวาดไม่ไหว
ศาสตร์และศิลป์ด้านหนึ่งที่ท้าทายความสามารถของคนทำงานทุกคน คือ การสร้างและบริหารการเปลี่ยนแปลง
ความท้าทายเรื่องแรกคือการกำหนดให้ได้ก่อนว่าต้องการเปลี่ยนอะไร เพราะอะไร จากนั้นจึงนั่งนึกตรึกตรองว่าจะเปลี่ยนอย่างไร
ตัวช่วยในการตอบคำถามเหล่านี้ คือการใช้กระบวนการของการคิดเชิงกลยุทธ์ โดยคิดเป็นขั้นตอนดังนี้
1. กำหนดเป้าหมาย เราตระหนักหรือยังว่าต้องการอะไร จะไปไหน ไปทำไม
2. ประเมินระยะทาง เมื่อมั่นใจแล้วว่ามีเป้าหมาย รู้ว่า “เส้นชัย” อยู่ที่ไหน เราต้องถามตัวเองต่อว่า แล้วปัจจุบันเราอยู่ที่ใด ห่างไกลกับเป้าขนาดไหน ระหว่างทางมีขวากหนามมากน้อยประการใด
3. ไปอย่างไร เมื่อเห็นความใกล้ไกลระหว่างเรากับเส้นชัย ตอนนี้ต้องหาวิธีการ หรือกลยุทธ์ที่เหมาะเจาะ เพื่อเดินไปสู่เป้า
4. แจกหน้าที่ เมื่อตัดสินใจว่าจะไปอย่างไรแล้ว จึงแจกแจงงาน แบ่งสรรหน้าที่ให้กับหน่วยงานและคนในองค์กร ตลอดจนจัดแบ่งเงินให้ลงตัว
5. ดำเนินการและวัดผล เมื่อทุกอย่างพร้อม เริ่มดำเนินการตามแผน จากนั้นมีการประเมินและวัดผลเป็นระยะๆ จะได้กลับไปลับแต่ละขั้นตอนให้คมขึ้น เหมาะสมขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า การที่องค์กรก้าวจากจุดหนึ่งไปอีกจุดหนึ่ง ซึ่งถือเป็นเส้นชัยนั้น เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงทั้งสิ้น เพราะองค์กรและทุกชีวิตในหน่วยงานต้องลุก ต้องขยับ หรือบางครั้งอาจต้องวิ่ง อยู่นิ่งๆ ไม่ได้
นอกจากนั้น เนื่องจากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไปหลายหลาก แตกต่างจากเดิม แนวทางเก่าๆ วิธีการประพฤติปฏิบัติเดิมๆ จึงไม่อาจไม่สามารถตอบโจทย์ใหม่ๆ ขององค์กรได้
ทั้งองค์กรทั้งคนจึงต้องปรับ ต้องเปลี่ยน เป็นสัจธรรมของการทำงานวันนี้
ศาสตร์และศิลป์ของการบริหารการเปลี่ยนแปลง จึงเป็นหัวใจของคนทำงานยุคปัจจุบัน
ที่สำคัญ ดังที่ทุกท่านตระหนัก การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องไม่ง่าย ฉะนั้นใครบริหารการเปลี่ยนแปลงได้ดีกว่า เก่งกว่า เร็วกว่า ยั่งยืนกว่า จึงได้เปรียบเรียบร้อย
ดิฉันขออนุญาตเสริมแนวทางการบริหารการเปลี่ยนแปลง หรือ Change Management โดยเฉพาะส่วนที่เปลี่ยนแปลงยากที่สุด คือการเปลี่ยนพฤติกรรมคนให้ท่านผู้อ่านลองพิจารณา นำไปประยุกต์ใช้ในที่ทำงาน และชีวิตส่วนตัวค่ะ
จะเปลี่ยนกลยุทธ์ เปลี่ยนเป้าหมายกี่ครั้งๆ ก็ทำได้…ไม่ยาก
แต่จะให้คนทำใจปรับความเคยชิน ทิ้งพฤติกรรมเดิมๆ เพื่อเสริมองค์กร โดยการปรับตัว และวิถีทางทำงานนั้น…ไม่ง่าย
ดิฉันได้มีโอกาสศึกษาผลงานวิจัยหลายเรื่องที่โยงใยทฤษฎี และผลการทดลองของหลากแขนงสาขา ไม่ว่าจะเป็นฟิสิกส์ หรือการทำงานของสมอง ตลอดจนการวิจัยพฤติกรรมผู้ป่วย เพื่อเป็นแนวทางในการนำไปปรับใช้กับ Change Management
ประเด็นแรกที่น่าสนใจคือเรื่อง “นิสัย” ของสมอง
สมองไม่ชอบคิดและทำอะไรใหม่ๆ เพราะต้องใช้พลังมากกว่า สั่งให้กายทำสิ่งที่ซ้ำๆ สิ่งที่ทำประจำ ดังนั้นหากไม่บีบบังคับสมอง ไม่ตั้งใจปรับวิธีคิด สมองจะปรับไปทำอะไรที่คุ้นเคยแบบอัตโนมัติ
ตัวอย่างที่สองนักวิจัยเรื่องการเปลี่ยนแปลง David Rock และ Jeffrey Schwartz แจงให้เห็นถึงพฤติกรรมสมองที่โยงกับพฤติกรรมประจำวันที่เห็นได้ชัด คือการขับรถ
เมื่อเราคุ้นเคยกับการขับชิดซ้าย เพราะทำซ้ำๆ จนไม่ต้องคิด สมองจะสั่งการแบบอัตโนมัติ ขับรถไปทำงาน ขับกลับบ้าน ไม่ต้องแม้แต่นึกว่าต้องชิดด้านไหน เพราะเป็นไปเสมือนหนึ่ง “ธรรมชาติ” ท่านผู้อ่านที่มีประสบการณ์ต้องขับรถชิดขวา หรือลองจินตนาการว่าต้องขับฝืนความเคยชิน หินไม่เบา เพราะเราต้องคอยตั้งสติ คอยจ้อง คอยบังคับ ไม่ขับตามความเคยชิน สมองเขาจะงงๆ ก๊งๆ เผลอเมื่อไร จะแอบสั่งการให้ใช้วิธีเดิมๆ ในการขับ กลับเป็นชิดซ้าย มั่วย้ายโดยอัตโนมัติ
เราจึงมักไม่ชอบต้องทำอะไรที่ไม่ชิน
แม้หลายครั้งจะรู้ว่าควรทำ รู้ทั้งรู้ว่าดีกว่า หรือแม้รู้ว่าอย่างไรก็ต้องทำ ว่าจำเป็น ไม่ทำไม่ได้ก็ตามที
อย่าว่าแต่ปรับพฤติกรรมในที่ทำงานที่ “เขาว่าดี” กับองค์กรเลย แม้ปรับพฤติกรรมส่วนตัว ที่ต้องทำเพราะสำคัญถึงชีวิต คนก็ยังติดกับ ปรับไม่ได้
ตัวอย่างเช่น การติดตามวิจัยพฤติกรรมของผู้ที่ได้รับการผ่าตัดหลอดเลือดที่ไปเลี้ยงหัวใจ ซึ่งได้รับคำสั่งจากแพทย์ให้ปรับเปลี่ยนวิถีทางการกินอยู่ ต้องออกกำลังกายสม่ำเสมอ กินของมีประโยชน์ เลี่ยงของมีโทษ เช่นไขมันฯลฯ ปรากฏว่ามีผู้ป่วย 1 ใน 9 คนเท่านั้นที่ปรับพฤติกรรมที่ช่วยให้ตัวเองแข็งแรงขึ้น ช่วยยืดอายุตัวเองให้นานขึ้นได้
เหตุหนึ่งซึ่งทำให้เกิดปรากฏการณ์นี้ คือ เจ้าสมองตัวดีของเรา ที่เฝ้าดึงให้เราทำอะไรที่เคยชินนั่นเอง
วิธีการหนึ่งซึ่งผู้เชี่ยวชาญด้านสมองและพฤติกรรมมนุษย์แนะนำในการ “จัดการ” กับสมอง คือ ต้องเน้น ต้องเฟ้น ไม่เลือกทำหลายอย่าง เลือกเรื่องให้ชัด จัดลำดับให้ดี แล้วชี้ไปเลยว่า ทำเรื่องนี้ก่อน
Focus is Power
พลังที่จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง มาจากการมุ่งเน้นจับเป็นเรื่องๆ ไม่ฝันเฟื่องว่าทำทุกอย่างได้ในเวลาเดียวกัน
เมื่อได้จุด Focus แล้ว Attention is Power การใส่ใจต่อเนื่องเป็นพลังในการยื้อสมองจากความเคยชินเดิมๆ
วิธีการคือ มุ่งเน้นจุด Focus คิดย้ำๆ ทำซ้ำๆ ต่อเนื่องให้นานพอเพียง จนสมองเขาคุ้นเคย กลายเป็นเรื่องอัตโนมัติ จึงจัดได้ว่าสามารถเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมได้สำเร็จ
เมื่อนำความเข้าใจด้านสมอง ประยุกต์ใช้กับการเปลี่ยนพฤติกรรมในองค์กร ปรากฏว่าได้ผลดี เป็นที่พอใจ อาทิเช่น การศึกษาเรื่องประสิทธิภาพของการฝึกอบรมพนักงานในองค์กรภาครัฐ 31 แห่ง ในสหรัฐอเมริกา พบว่า หากฝึกอบรมมากมายหลายเรื่อง ทุกเรื่องสำคัญหมด ลดไม่ได้ ประสิทธิภาพของการอบรมเพื่อนำไปใช้งานจริง โดยรวมจะต่ำกว่า 10%
เมื่อขยับ ปรับว่า…ก็ได้! ลดก็ได้ และให้ความสำคัญการฝึกอบรมเพียงบางเรื่องที่จำเป็น หรือมี Focus นั่นเอง ประสิทธิผลจะเพิ่มขึ้นเป็น 28%
จากนั้น มีการทดลองให้ทำการติดตามการเรียนรู้จากการฝึกอบรม โดยมีการสอนงานเพิ่ม ตอกย้ำความเข้าใจ ตอบข้อสงสัยอย่างต่อเนื่อง นั้นคือย้ำ Focus ด้วย Attention หรือ ใส่ใจต่อเนื่องในจุดที่เน้นความสำคัญ ปรากฏว่าประสิทธิผลในการนำสิ่งที่เรียนรู้ไปใช้ในการทำงาน เพิ่มเป็น 88%
ดังนั้น หากไม่ไปวุ่นวายกับสมองเขามาก ให้เขาปรับ รับเป็นเรื่องๆ เขาจะไม่ค่อยดื้อ ไม่ยื้อกลับไปสู่ความคุ้นเคยเดิมๆ มากนัก พร้อมผ่อนหนักผ่อนเบาไปกับเราที่ “ใจ” รู้ว่าต้องเปลี่ยนแต่ “สมอง” และ “กาย” หลายครั้งดูให้ความร่วมมือน้อย ถอยกลับไปทำแบบเดิมๆ เสียง่ายๆ
สรุปว่า ตัวช่วยการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมให้สำเร็จมากขึ้น โดยนำความเข้าใจการทำงานของสมองเป็นมุมมองเสริม คือ ต้องเน้น Focus เลือกสิ่งที่ต้องการปรับ ต้องการเปลี่ยน ไม่เล็งผลเลิศอยากเปลี่ยนทุกอย่างในเวลาเดียวกัน จากนั้นต้องมี Attention สนใจ ติดตาม ตอกย้ำ ต่อเนื่อง ทำจนเป็นเรื่อง “ปกติ” แล้วจึงริเริ่มเรื่องต่อไป
หากทำได้เช่นนี้ พฤติกรรมสำคัญที่เราเลือกปรับจึงจับต้องได้
และที่สำคัญ…สามารถคงไว้ได้อย่างยั่งยืนค่ะ
ที่มา : พอใจ พุกกะคุปต์

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *