สถานที่น่าสนใจ ในจังหวัดกาฬสินธุ์

สถานที่น่าสนใจ ในจังหวัดกาฬสินธุ์

อนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร (เจ้าโสมพะมิตร) ตั้งอยู่หน้าที่ทำการไปรษณีย์โทรเลข จังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นอนุสาวรีย์หล่อด้วยสัมฤทธิ์เท่าตัวจริงยืนบนแท่นมือขวาถือกาน้ำ มือซ้ายถือดาบอาญาสิทธิ์ ชาวกาฬสินธุ์ทุกหมู่เหล่าได้สละทรัพย์ก่อสร้างอนุสาวรีย์ เพื่อเป็นการแสดงกตเวทิตาต่อผู้ให้กำเนิดเมืองกาฬสินธุ์

วัดกลาง ตั้งอยู่ใกล้กับอนุสาวรีย์พระยาชัยสุนทร วัดกลางเป็นพระอารามหลวงชั้นตรี ภายในวัดมีพระอุโบสถที่สร้างต่อเติมจากพระอุโบสถหลังเก่า เป็นอาคารทรงไทยประดับด้วยช่อฟ้า ใบระกา บานประตูไม้แกะสลักเป็นภาพพุทธประวัติ ส่วนหน้าต่างแกะสลักเป็นชาดกเรื่องต่าง ๆ ด้านหน้าและด้านหลังพระอุโบสถมีทวารบาลปูนปั้น ภายในพระอุโบสถเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังเรื่องพระเวสสันดรชาดก บริเวณศาลาใกล้กับพระอุโบสถเป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปองค์ดำ หล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ หน้าตักกว้าง ๒๐ นิ้ว เป็นพระพุทธรูปลักษณะงดงามที่พระแท่นมีรอยจารึกเป็นภาษาไทยโบราณ สร้างในสมัยพระเจ้าคูนาขาม พระชัยสุนทร (กิ่ง) ได้นำมาเป็นพระพุทธรูปศรีเมือง เป็นพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์ หากปีใดฝนแล้งประชาชนชาวเมืองจะอัญเชิญพระพุทธรูปออกแห่ขอฝนเสมอ
นอกจากพระพุทธรูปองค์ดำแล้ว วัดกลางยังมีรอยพระพุทธบาทจำลองขนาดกว้าง ๑ ศอก ยาว ๔ ศอก ทำด้วยศิลาแลง สันนิษฐานว่าสร้างในสมัยละว้าปกครอง เดิมอยู่ริมลำปาวใกล้แก่งสำโรงแต่ต่อมาตลิ่งลำปาวพังเข้ามาทุกปี ชาวเมืองเกรงจะถูกน้ำเซาะทำลาย จึงได้อัญเชิญมาไว้ที่วัดนี้

วัดศรีบุญเรือง (วัดเหนือ) อยู่ถัดจากวัดกลางเป็นวัดเก่าแก่ในเขตเทศบาลเมือง ซึ่งมีเสมาจำหลักเมืองฟ้าแดดสงยางจำนวนหนึ่งเก็บรักษาไว้ โดยปักไว้รอบพระอุโบสถ หลักเสมาจำหลักที่สวยงามคือ หลักที่จำหลักเป็นรูปเทวดาเหาะอยู่เหนือปราสาททำเป็นซุ้มเรือนแก้ว (ศิลปแบบทวารวดี) ซ้อนกันเป็น ๒ ชั้น ล่างสุดมีรูปกษัตริย์ พระมเหสี และพระโอรส

พิพิธภัณฑ์ของดีจังหวัดกาฬสินธุ์ ตั้งอยู่ที่ศาลากลางจังหวัดกาฬสินธุ์ (หลังเดิม) ผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ (นายชัยรัตน์ มาปราณีต) ได้จัดตั้งขึ้นเพื่อให้เป็นศูนย์รวมของดีเมืองกาฬสินธุ์ จัดเป็นห้องบรรยายสรุป ห้องเจ้าเมือง ห้องศาสนา ห้องเฉลิมพระเกียรติสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ห้องวิถีชีวิตความเป็นอยู่ชาวผู้ไทย ห้องวิจิตรแพรวา ห้องศึกษาค้นคว้าเรื่องหัตถกรรม ห้องสาธิตจำหน่ายผ้าไหมแพรวา และของที่ระลึกพื้นเมือง โดยเปิดให้นักท่องเที่ยวและผู้สนใจเข้าชมทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา ๐๘.๓๐–๑๖.๓๐ น. โทร. ๐ ๔๓๘๑ ๑๖๙๕
พุทธสถานภูปอ ตั้งอยู่ในวัดอินทร์ประทานพร ตำบลภูปอ ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ประมาณ ๒๘ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ กิโลเมตรที่ ๕๙ แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าทางบ้านโจด-บ้านนาจารย์-นาคอกควาย ประมาณ ๑๖ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปโบราณปางไสยาสน์ ฝีมือช่างสมัยทวาราวดี จำหลักบนหน้าผา ๒ องค์ เป็นที่เคารพบูชาของชาวจังหวัดกาฬสินธุ์และใกล้เคียง องค์แรกประดิษฐานอยู่บนเชิงเขาทางขึ้น องค์ที่ ๒ ประดิษฐานอยู่บนภูปอ นอกจากภูปอจะเป็นที่ประดิษฐานของพระพุทธรูปปางไสยาสน์อันศักดิ์สิทธิ์แล้ว ยังมีทิวทัศน์ตามธรรมชาติที่สวยงามเหมาะแก่การพักผ่อนหย่อนใจ ประชาชนในท้องถิ่นจะจัดงานสมโภชพระพุทธไสยาสน์ขึ้นประมาณเดือนเมษายนของทุกปี

เมืองฟ้าแดดสงยาง ตั้งอยู่ที่บ้านเสมา ตำบลหนองแปง ห่างจากตัวจังหวัด ๑๙ กิโลเมตร ตามเส้นทางหมายเลข ๒๑๔ (กาฬสินธุ์-ร้อยเอ็ด) ระยะทาง ๑๓ กิโลเมตร ถึงอำเภอกมลาไสย เลี้ยวขวาตามทางหลวงหมายเลข ๒๓๖๗ ระยะทาง ๖ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวขวาเข้าซอยอีกประมาณ ๔๐๐ เมตร เมืองฟ้าแดดสงยางหรือที่เรียกเพี้ยนเป็นฟ้าแดดสูงยาง บางแห่งเรียกเมืองเสมาเนื่องจากแผนผังของเมืองมีรูปร่างคล้ายใบเสมา เป็นเมืองโบราณที่มีคันดินล้อมรอบ ๒ ชั้น ความยาวของคันดินโดยรอบประมาณ ๕ กิโลเมตร คูน้ำจะอยู่ตรงกลางคันดินทั้งสอง จากหลักฐานโบราณคดีที่ค้นพบ ทำให้ทราบว่ามีการอยู่อาศัยภายในเมืองมาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ แล้วได้เจริญรุ่งเรืองมากขึ้นในสมัยทวารวดีราวพุทธศตวรรษที่ ๑๓–๑๕ ดังหลักฐานทางพุทธศาสนาที่ปรากฏโดยทั่วไปทั้งภายในและนอกเมือง เช่น ใบเสมาหินทราย จำหลักภาพเรื่องชาดก และพุทธประวัติจำนวนมาก บางส่วนเก็บไว้ที่วัดโพธิ์ชัยเสมารามซึ่งอยู่ภายในเมือง บางแห่งอยู่ในตำแหน่งดั้งเดิมที่พบ และบางส่วนก็นำไปเก็บรักษาและจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติขอนแก่น นอกจากนั้นยังมีซากศาสนสถานกระจัดกระจายอยู่ทั่วไปภายในเมืองและนอกเมือง เช่นพระธาตุยาคู และกลุ่มเจดีย์บริเวณศาสนสถานที่โนนวัดสูง โนนฟ้าหยาด และโนนฟ้าแดด กรมศิลปากรได้ประกาศขึ้นทะเบียนเมืองฟ้าแดดสงยางเป็นโบราณสถานเมื่อวันที่ ๒๗ กันยายน ๒๔๗๙

พระธาตุยาคู หรือพระธาตุใหญ่ เป็นเจดีย์ที่ใหญ่ที่สุดในเมืองฟ้าแดดสงยาง ลักษณะเป็นเจดีย์ทรงแปดเหลี่ยมก่อด้วยอิฐปรากฏการก่อสร้าง ๓ สมัยด้วยกันคือ ส่วนฐานเป็นรูปสี่เหลี่ยมย่อมุม มีบันไดทางขึ้น ๔ ทิศ มีปูนปั้นประดับสร้างในสมัยทวารวดี ถัดขึ้นมาเป็นฐานรูปแปดเหลี่ยมซึ่งสร้างซ้อนทับบนฐานเดิมเป็นรูปแบบเจดีย์ในสมัยอยุธยา ส่วนองค์ระฆังและส่วนยอดสร้างในสมัยรัตนโกสินทร์ รอบ ๆ องค์พระธาตุพบใบเสมาแกะสลักภาพนูนต่ำเรื่องพุทธประวัติ ชาวบ้านเชื่อกันว่าในองค์พระธาตุบรรจุอัฐิของพระเถระผู้ใหญ่ที่ชาวเมืองเคารพนับถือ สังเกตได้จากเมื่อเมืองเชียงโสมชนะสงคราม ได้ทำลายทุกสิ่งทุกอย่างในเมืองฟ้าแดดแต่ไม่ได้ทำลายพระธาตุยาคู จึงเป็นโบราณสถานที่ยังคงสภาพค่อนข้างสมบูรณ์ ชาวบ้านจะจัดให้มีงานประเพณีบุญบั้งไฟเป็นประจำทุกปีในเดือนพฤษภาคม เพื่อเป็นการขอฝนและความร่มเย็นให้กับหมู่บ้าน

วัดโพธิ์ชัยเสมาราม หรือวัดบ้านก้อม ตั้งอยู่บ้านเสมาตรงข้ามกับทางเข้าเมืองฟ้าแดดสงยาง เป็นวัดเก่าที่ชาวบ้านได้นำใบเสมาหินที่ขุดพบมารวบรวมไว้จำนวนมาก มีใบเสมาหินขนาดใหญ่ที่อาจถือเป็นเอกลักษณ์ของอีสานเนื่องจากแทบจะไม่พบในภาคอื่นเลย ใบเสมาที่พบในเมืองฟ้าแดดสงยางมีความโดดเด่นคือ นิยมแกะสลักภาพเล่าเรื่องราวพุทธประวัติและชาดก มีใบเสมาจำลองหลักที่งดงามและสมบูรณ์ที่สุด สลักภาพพุทธประวัติตอนพระพุทธเจ้าเสด็จกลับจากกรุงกบิลพัสดุ์พร้อมด้วยพระเจ้าสุทโธทนะ พระราหุล และนางยโสธราพิมพา เข้าเฝ้าแสดงสักการะอย่างสูงสุดด้วยการสยายพระเกศาเช็ดพระบาทองค์พระพุทธเจ้า เรียกเสมาหินภาพ “พิมพาพิลาป” ซึ่งใบเสมาหลักนี้ของจริงอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติขอนแก่น

เขื่อนลำปาว เป็นเขื่อนซึ่งสร้างปิดกั้นลำน้ำปาว และห้วยยาง มีบริเวณเขตติดต่อระหว่างตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ตำบลหนองบัว อำเภอหนองกุงศรี และตำบลเว่อ อำเภอยางตลาด เขื่อนลำปาวเป็นเขื่อนดินสูงจากท้องน้ำ ๓๓ เมตร สันเขื่อนยาว ๗.๘ เมตร กว้าง ๘ เมตร เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. ๒๕๐๖ สร้างเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๑ เพื่อปิดกั้นลำน้ำปาวและห้วยยางที่บ้านหนองสองห้อง ตำบลลำปาว อำเภอเมืองกาฬสินธุ์ ทำให้เกิดอ่างเก็บน้ำแฝดทางด้านเหนือเขื่อน จึงได้ขุดร่องเชื่อมระหว่างอ่างทั้งสอง เก็บน้ำได้ ๑,๔๓๐ ล้านลูกบาศก์เมตร สร้างขึ้นเพื่อบรรเทาอุทกภัยและเพื่อการเกษตรโดยเฉพาะ นอกจากนั้นยังเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลา มีสถานที่พักผ่อนหย่อนใจได้แก่ หาดดอกเกด
การเดินทาง ใช้ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ (กาฬสินธุ์-มหาสารคาม) กิโลเมตรที่ ๓๓–๓๔ เลี้ยวขวาเข้าเขื่อนลำปาวตามถนนลาดยาง ๒๖ กิโลเมตร

พิพิธภัณฑ์แหล่งขุดค้นไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว อยู่บริเวณเชิงเขาภูกุ้มข้าว วัดป่าสักกะวัน สามารถเดินทางโดยใช้เส้นทางกาฬสินธุ์-สหัสขันธ์ (ทางหลวงหมายเลข ๒๒๗) ประมาณ ๒๕ กิโลเมตร ก่อนถึงสหัสขันธ์ ๒ กิโลเมตร เมื่อปี พ.ศ.๒๕๑๓ พระครูวิจิตรสหัสคุณ เจ้าอาวาสวัด
สักกะวัน ได้พบกระดูกชิ้นใหญ่ในบริเวณวัด แต่ยังไม่ทราบว่าเป็นฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์และได้นำกระดูกที่พบเก็บรักษาไว้ที่วัด ในปี ๒๕๒๑ นักธรณีวิทยาและคณะจากกรมทรัพยากรธรณีได้เดินทางมาสำรวจธรณีวิทยาบริเวณนี้ พบกระดูกดังกล่าวจึงได้แจ้งว่าเป็นซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์ ต่อมาในปี ๒๕๒๓ คณะสำรวจธรณีวิทยาไทย-ฝรั่งเศสได้นำกระดูกเหล่านั้น ๓ ท่อนไปศึกษาพบว่าเป็นส่วนกระดูกขาหน้าของไดโนเสาร์ซอโรพอด (Sauropod) จนกระทั่งปี ๒๕๓๗ จึงได้ทำการสำรวจขุดค้นและอนุรักษ์อย่างเป็นระบบ พบซากไดโนเสาร์จำนวนมากในชั้นหินเสาร์ขัว ยุคครีเตเซียสตอนต้น อายุประมาณ ๑๓๐ ล้านปี แหล่งขุดค้นแห่งนี้พบกระดูกไดโนเสาร์ชนิดกินพืชจำนวนมากกว่า ๗๐๐ ชิ้น สันนิษฐานว่าน่าจะเป็นชิ้นส่วนของไดโนเสาร์ประมาณ ๗ ตัว และในพิพิธภัณฑ์ยังมีซากปลาโบราณพันธุ์ใหม่ของโลกอยู่ในสภาพสมบูรณ์ เป็นปลาน้ำจืดมีชื่อว่า “เลปิโดเทส” ยาวประมาณ ๓๐–๖๐ เซนติเมตร อยู่ในยุคมีโซโซอิค หรือ ๖๕ ล้านปีที่แล้ว คาดว่าบริเวณที่พบคงเป็นบึงขนาดใหญ่แล้วเกิดภัยแล้งทำให้ปลาตายและถูกซากโคลนทับไว้กลายเป็นฟอสซิลจนถึงปัจจุบัน นับว่าภูกุ้มข้าวเป็นแหล่งที่พบซากฟอสซิลกระดูกไดโนเสาร์แหล่งใหญ่และสมบูรณ์ที่สุดในประเทศไทย โดยเปิดให้นักท่องเที่ยว เข้าชมฟอสซิล และนิทรรศการเรื่องราวไดโนเสาร์ทุกวันตั้งแต่เวลา ๐๘.๐๐–๑๗.๐๐ น. สอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ศูนย์วิจัยไดโนเสาร์ภูกุ้มข้าว กรมทรัพยากรธรณี อำเภอสหัสขันธ์ โทร.
๐ ๔๓๘๗ ๑๐๑๔ และ ๐ ๔๓๘๗ ๑๓๙๔

พุทธสถานภูสิงห์ อยู่บนยอดเขาภูสิงห์ ห่างจากอำเภอเมืองประมาณ ๓๔ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๗ พุทธสถานภูสิงห์สามารถขึ้นได้ ๒ ทาง คือ ทางทิศตะวันตกจะเป็นทางลาดยางคดเคี้ยวขึ้นตามไหล่เขา และทางทิศตะวันออกเป็นทางขึ้นบันได ๔๐๐ กว่าขั้น พุทธสถานภูสิงห์เป็นที่ประดิษฐานพระพรหมภูมิปาโล ซึ่งเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๑๐.๕ เมตร มีลักษณะงดงาม เป็นสถานที่พักผ่อนที่ร่มรื่นล้อมรอบด้วยธรรมชาติ ทั้งยังมองเห็นทิวทัศน์ของทุ่งนา หมู่บ้านและน้ำในเขื่อนลำปาวอันสวยงามอีกด้วย

วัดพุทธนิมิต(ภูค่าว) ตั้งอยู่บ้านนาสีนวล ตำบลสหัสขันธ์ ห่างจากตัวอำเภอสหัสขันธ์ประมาณ ๗ กิโลเมตร ห่างจากภูสิงห์ประมาณ ๔ กิโลเมตร เป็นที่ประดิษฐานพระพุทธรูปไสยาสน์ตะแคงซ้าย ไม่มีเกตุมาลา ความยาวประมาณ ๒ เมตร กว้าง ๒๕ ซม. เป็นที่เคารพสักการะของประชาชนทั่วไป ตามประวัติกล่าวว่าพระโมคัลลานะ พระสาวกของพระพุทธเจ้าสร้างขึ้นเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีมาแล้ว และทางวัดจะจัดให้มีงานสรงน้ำพระพุทธรูปไสยาสน์ในวันที่ ๑๙ เมษายนของทุกปี นอกจากนี้ภายในวัดยังมีอุโบสถไม้แบบเปิด แกะสลักลวดลายงดงามเป็นภาพสามมิติ ตามประตู หน้าต่าง เพดาน ภาพพุทธประวัติ ทศชาติชาดก และยังมีวิหารสังฆนิมิต ซึ่งเป็นที่เก็บพระพุทธรูป และพระเครื่องรุ่นต่าง ๆ ที่หายากเปิดให้เข้าชมทุกวัน

แหลมโนนวิเศษ เป็นผืนดินที่ยื่นเข้าไปในอ่างเก็บน้ำเขื่อนลำปาว ตั้งอยู่ที่ ตำบลโนนบุรี
ห่างจากตัวอำเภอประมาณ ๖ กิโลเมตร จากวัดสักกะวันประมาณ ๓๐๐ เมตร ถึงสี่แยกให้เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๒ กิโลเมตร จะพบแยกเลี้ยวขวาไปแหลมโนนวิเศษ ๓ กิโลเมตร แหลมโนนวิเศษเป็นจุดชมพระอาทิตย์อัสดงที่สวยงาม นอกจากนั้นยังมีแพขนานยนต์ที่ใช้สัญจรข้ามฟากระหว่าง อำเภอสหัสขันธ์ กับ อำเภอหนองกุงศรี ซึ่งสามารถบรรทุกได้ทั้งรถ ๖ ล้อ และ ๔ ล้อ ครั้งละ ๔-๑๐ คัน ใช้เวลาข้ามฟากประมาณ ๑๕–๒๐ นาที โดยมีอัตราค่าบริการดังนี้
-รถจักรยานยนต์ ๓๐ บาท
-รถยนต์ ๔ ล้อ ๕๐ บาท
-รถยนต์ ๖ ล้อ ๘๐ บาท
-รถบรรทุก ๑๐ ล้อ ๑๐๐ บาท

กลุ่มทอผ้าไหมแพรวาบ้านโพน อยู่ห่างจากจังหวัดกาฬสินธุ์ ๗๐ กิโลเมตร ตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๗ ผ้าแพรวาเป็นผ้าไหมลายมัดหมี่ที่มีลายเอกลักษณ์เฉพาะตัวของกลุ่มทอผ้าชาวผู้ไทยบ้านโพนแบ่งออกเป็น ๒ ลาย ได้แก่ ลายหลัก และลายแถบ ส่วนสีของผ้าแพรวามิได้มีเพียงสีแดงเท่านั้น แต่มีการให้สีสันต่างๆ มากขึ้นตามความต้องการของตลาด เช่น สีครีม สีชมพูอ่อน สีม่วง สีน้ำเงิน สีเขียว เป็นต้น นับได้ว่าการทอผ้าแพรวาเป็นงานศิลปหัตถกรรมประเภทสิ่งทอที่หาได้น้อยแห่งในประเทศไทย สมเด็จพระนางเจ้าฯพระบรมราชินีนาถ ทรงสนับสนุนจนเป็นที่แพร่หลายทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ผาเสวย อยู่บนเทือกเขาภูพาน เขตบ้านแก้งกะอาม ตำบลผาเสวย ห่างจากที่ว่าการอำเภอสมเด็จ ๑๗ กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดกาฬสินธุ์ ประมาณ ๕๘ กิโลเมตร ตามเส้นทางสายสมเด็จ-สกลนคร ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓ ประมาณกิโลเมตรที่ ๑๐๑–๑๐๒ ผาเสวย เดิมชาวบ้านเรียกว่า “ผารังแร้ง” เมื่อ พ.ศ. ๒๔๙๗ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ได้เสด็จผ่านและเสวยพระกระยาหารกลางวัน จึงเรียกที่ประทับนั้นว่า “ผาเสวย” ลักษณะตั้งอยู่บนเหวลึก หน้าผาสูงชัน ชาวบ้านเรียกว่า “เหวหำหด” บนหน้าผาเสวยสามารถชมทัศนียภาพและเป็นที่พักผ่อนได้เป็นอย่างดี

น้ำตกผานางคอย ตั้งอยู่ตำบลบ่อแก้ว เป็นน้ำตกขนาดใหญ่ไหลมาจากเทือกเขาภูพาน แบ่งเป็นชั้นๆ มีความสวยงามมาก สภาพป่าโดยรอบเขียวขจีอุดมสมบูรณ์ และลักษณะเด่นคือ มีน้ำไหลตลอดปีแม้ในฤดูแล้ง
การเดินทาง จากสี่แยกอำเภอเขาวงทางหลวงหมายเลข ๒๒๙๑ เดินทางเข้าทาง รพช. มีป้ายตรงไปน้ำตกผานางคอยระยะทางประมาณ ๑๓ กิโลเมตร (ทางบางช่วงจะเป็นลูกรัง)

น้ำตกตาดทอง บนเส้นทางเขาวงดงหลวง-มุกดาหาร เป็นน้ำตกที่มีความสวยงาม ด้วยโขดหินสลับซับซ้อน ในฤดูฝนจะเป็นช่วงที่สวยงามที่สุด รถยนต์สามารถเดินทางเข้าถึงน้ำตกได้โดยสะดวก
การเดินทาง เดินทางตามทางหลวงหมายเลข ๒๒๙๑ ถึงสามแยกกุดปลาเค้าเลี้ยวซ้ายเข้าทางหลวงหมายเลข ๒๒๘๗ กิโลเมตรที่ ๗๖ น้ำตกจะอยู่ทางขวามือ

ศูนย์หัตถกรรมผู้ไทยหนองห้าง ตั้งอยู่ที่บ้านหนองห้าง ตำบลหนองห้าง ห่างจากอำเภอกุฉินารายณ์ประมาณ ๑๐ กิโลเมตร เดินทางจากที่ว่าการอำเภอกุฉินารายณ์ไปตามถนนหมายเลข ๒๐๔๒ ประมาณ ๒ กิโลเมตร เลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดยางประมาณ ๖ กิโลเมตร ชาวบ้านบ้านหนองห้างมีการรวมกลุ่มกันทอผ้าฝ้าย ผ้าไหม และจักสานไม้ไผ่เป็นลวดลายผ้าขิด ฝีมือประณีตสวยงามมาก ผลิตภัณฑ์ได้แก่ กระเตาะ กระติ๊บ กระเป๋า และภาชนะต่าง ๆ

หมู่บ้านวัฒนธรรมผู้ไทยโคกโก่ง เป็นหมู่บ้านขนาดเล็กอยู่เชิงเขามีชาวผู้ไทยอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งอยู่ตำบลกุดหว้า ได้รับคัดเลือกจากจังหวัดให้เป็นหมู่บ้านนำร่องในด้านการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์วัฒนธรรมชาวผู้ไทย ซึ่งนักท่องเที่ยวสามารถพักแรมแบบโฮมสเตย์ เพื่อสัมผัสวิถีชีวิตและประเพณีของชาวบ้าน เช่น พิธีบายศรีสู่ขวัญ พิธีเหยา (การรักษาผู้ป่วย) รับประทานอาหารพื้นบ้านแบบพาแลง ชมการแสดงศิลปพื้นบ้าน และเดินป่าศึกษาธรรมชาติพรรณไม้และพืชสมุนไพรท้องถิ่น ชมน้ำตกตาดสูง-ตาดยาว ตามเส้นทางเดินป่าในวนอุทยานภูผาวัว เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูสีฐาน ผู้สนใจสามารถสอบถามรายละเอียดได้ที่ โทร. ๐ ๔๓๘๕ ๑๒๒๕
การเดินทาง จากอำเภอกุฉินารายณ์ ไปตามทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๒ ประมาณ ๑๒ กิโลเมตร ถึงบ้านนาไคร้ เลี้ยวซ้ายเข้าไปประมาณ ๓ กิโลเมตร

วนอุทยานภูแฝก (แหล่งรอยเท้าไดโนเสาร์) ตั้งอยู่หมู่ ๖ บ้านน้ำคำ ตำบลภูแล่นช้าง ลักษณะภูมิประเทศเป็นภูเขาสลับกับเนินเขาไม่สูงนัก สภาพป่าเป็นป่าเต็งรังมีพันธุ์ไม้ชนิดต่าง ๆ เช่น ไม้มะค่าโมง ไม้เต็ง ไม้รัง ไม้ประดู่ และมีสัตว์ป่าที่พบเห็นได้ง่าย เช่นกระรอก กระแต อีเห็น กระต่ายป่า เป็นต้น
เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๓๙ เด็กหญิงสองคนพร้อมด้วยผู้ปกครองไปทานข้าวในวันหยุด ได้พบรอยเท้าประหลาดกลางลานหินลำห้วยเหง้าดู่ เชิงเขาภูแฝก บริเวณเทือกเขาภูพาน หลังจากนั้นได้แจ้งให้เจ้าหน้าที่นักธรณีวิทยาพร้อมด้วยส่วนราชการ และเอกชนในจังหวัดกาฬสินธุ์ ได้เดินทางไปสำรวจจึงพบว่าเป็นรอยเท้าไดโนเสาร์ ประเภทเทอร์โรพอด ๗ รอย จัดอยู่ในกลุ่มคาร์โนซอร์ชนิดกินเนื้อ อายุประมาณ ๑๔๐ ล้านปี ปัจจุบันนั้นเห็นชัดเจนเพียง ๔ รอย
การเดินทาง จากอำเภอเมือง ใช้เส้นทางไปอำเภอสมเด็จ(ทางหลวงหมายเลข ๒๑๓)
ถึงอำเภอสมเด็จเลี้ยวขวาเข้าเส้นทางไปอำเภอกุฉินารายณ์ (ทางหลวงหมายเลข ๒๐๔๒) ประมาณ ๒๐ กิโลเมตร ถึงอำเภอห้วยผึ้ง เลี้ยวซ้ายไปกิ่งอำเภอนาคู (ทางหลวงหมายเลข๒๑๐๑) ระยะทางประมาณ ๑๐ กิโลเมตร แล้วเลี้ยวซ้ายเข้าวนอุทยานภูแฝกประมาณ ๔.๗ กิโลเมตร

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *