วินัยข้อที่ห้า (The Fifth Discipline)

วินัยข้อที่ห้า (The Fifth Discipline)

ปีเตอร์ เซ็งเก้ เป็นที่รู้จักดีในการทำงานเรื่องเกี่ยวกับ
“องค์กรแห่งการเรียนรู้” หรือ Learning Organization ซึ่งในอันที่จริงแล้ว องค์การเองนั้นไม่ใช่คน ตัวมันน่ะไม่สามารถเรียนรู้ได้หรอก องค์กรแห่งการเรียนรู้ หมายถึงการที่มีบุคคลากรในองค์กรที่ตั้งใจที่จะพัฒนาความสามารถของตน โดยการพยายามเรียนจากคนอื่น และพยายามหาทางเรียนรู้จากกันและกัน แต่องค์กรที่ซึ่งหากบุคคลากรในองค์กรจำต้องล้มหายตายจาก, เกษียณหรือลาออกไปแล้ว และองค์กรนั้นอยู่ไม่ได้ หรือแม้แต่ไม่ได้ลาออก แต่องค์ความรู้ในองค์กรไม่ได้เกิดการสะสมกันขึ้นไปเรื่อยๆ ตลอดเวลาที่องค์กรนั้นได้ทำงานปฏิบัติงานอยู่ ก็ถือได้ว่าเป็นองค์กรที่ ไม่ได้เกิดการเรียนรู้ และจะต้องพบกับความเสื่อมถอยไปในที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในทุกวันนี้ ที่การดำเนินธุรกิจเป็นมากกว่าความซับซ้อน และการแข่งขันระหว่างกันได้ขยายออกไปสู่ระดับโลก (Global Competition)
องค์กรที่มีลักษณะที่จะ “เรียนรู้” ได้นั้น บุคคลากรในองค์กรจะต้องมีวินัยหรือ Disciplines เบื้องต้น 5 ประการคือ:
1) คิดในระบบรวม (systems thinking – ไม่ใช่ Systematic Thinking)
หลักของแนวคิดนี้อยู่ที่การมองระบบ เข้าใจระบบถึงความสัมพันธ์ที่อย่างหนึ่งมีต่ออีกอย่างหนึ่ง และสามารถมองเห็นถึงกระบวนการการเปลี่ยนแปลงนั้นได้ คือเห็นการ “ป้อนกลับ” (Feedback) เมื่อมีการกระทำอย่างใดอย่างหนึ่งกับระบบ มากกว่าที่จะเห็นเพียงส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลง
2) ความเชี่ยวชาญของบุคคล (personal mastery)
คือมีบุคคลากรที่เชี่ยวชาญในการงาน พัฒนาให้เกิดวิสัยทัศน์ สามารถเพ่งกำลังความคิดกำลังงานเพื่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้สำเร็จได้จริง
3) มโนคติ (mental models)
คือแนวคิด วิธีการมองเห็นความเป็นไปของโลก ความเข้าใจในโลกและสิ่งต่างๆ รอบๆ ตัวที่ฝังลึกเข้าในจิตใจของคนเรา ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนออกมาในรูปแบบของการตอบสนองต่อสิ่งเร้า หรือสิ่งยั่วยุต่างๆ
4) แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์ (shared vision) – วินัยที่ 1 ของกลุ่มบุคคลากร
คือการที่คนในกลุ่ม หรือในองค์กรมีการแลกเปลี่ยน “ภาพแห่งอนาคต” ต่อกัน คือการพยายามที่จะทำงานเพื่ออนาคตที่ดีขึ้นไปเรื่อยๆ ร่วมกัน โดยเปิดใจยอมรับฟังและพยายามทำความเข้าใจความคิดของอีกฝ่ายหนึ่ง และแลกเปลี่ยนความเห็นกัน มากกว่าที่จะยินยอมทำตามอีกฝ่ายหนึ่ง หรือบังคับให้อีกฝ่ายหนึ่งมาทำตามเราเสียเลยทีเดียว
5) การเรียนรู้เป็นกลุ่ม (team learning) – วินัยที่ 2 ของกลุ่มบุคคลากร
คือการพยายามเรียนรู้ด้วยกัน คือเราก็เรียนรู้ เพื่อนร่วมงานก็เรียนรู้ เรียนรู้ด้วยการพยายามทำความเข้าใจ ทำให้เกิดการ “ร่วมด้วยช่วยกันคิด” ไม่ใช่เอาแต่ยอมรับในสิ่งที่มีที่เป็น หรือพยายามป้องกันตัว (Defensive) ในการทำงานซึ่งเป็นสิ่งที่กำหนดลึกๆ อยู่ว่ากลุ่มองค์กรนั้นจะทำงานในรูปแบบไหน ซึ่งเป็นการบั่นทอนการเรียนรู้ร่วมกัน
ลักษณะทั้งห้าประการข้างบนนั้น อาจจะเรียกได้ว่าเป็นวินัยหรือลักษณะของการเป็นผู้นำในการเรียนรู้ และบุคคลที่มีลักษณะอย่างนั้นก็มีแนวโน้มว่าจะเป็นผู้นำขององค์กร แต่ว่าวินัยแรกหรือการคิดแบบระบบรวม มีความเป็นพิเศษกว่าอย่างอื่น เนื่องจากทำให้ผลของวินัยข้ออื่นๆ มารวมกันให้เกิดผลดีต่อธุรกิจธุรกรรมขององค์กรได้ เนื่องด้วยความรู้ความเข้าใจในความเป็นไปและการตอบสนองของระบบโดยรวมนั่นเอง และวินัยข้อแรกหรือ Systems Thinking นั้นเอง ที่ถูกเรียกว่าเป็น The Fifth Discipline

ที่มา : http://www.siaminfobiz.com/

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *