รู้ทันกลโกงภัยจากผู้ขายมือถือ

รู้ทันกลโกงภัยจากผู้ขายมือถือ

โทรศัพท์มือถือ (Mobile Phone) เป็นอุปกรณ์สื่อสารที่จำเป็นสำหรับการติดต่อสื่อสาร เนื่องจากการใช้งานที่สะดวกสบาย บ่งบอกรสนิยม รูปแบบการใช้ชีวิต หรือเป็นเครื่องมือในการทำธุรกิจต่างๆ อีกทั้งเมื่อเทคโนโลยีพัฒนาก้าวไปไม่หยุด ทำให้เกิดบริการใหม่ๆ บนมือถือ อาทิ การถ่ายภาพ ฟังวิทยุ MP3 อินเทอร์เน็ต และเล่นเกมส์ ทำให้ผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือแข่งกันผลิตรุ่นใหม่ออกมาสู่ตลาดทุกเดือน ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 20 รุ่น

เมื่อเครื่องรุ่นใหม่ๆ เข้าสู่ตลาดไม่ว่าจะเป็นยี่ห้อดังๆ อาทิ โนเกีย ซัมซุง โมโตโรล่า และโซนี่ อีริคสัน ก็ได้เวลาที่หลายคนอยากเปลี่ยนมือถือของตัวเองให้ทันสมัย แต่การไปซื้อของใหม่ตามร้านที่เป็นตัวแทนจำหน่าย หรือเครื่องศูนย์มีราคาแพงกว่าไปซื้อตามห้างชื่อดังด้านอุปกรณ์สื่อสาร และเมื่อไปดูสินค้าก็มีกล่อง คู่มือ และอุปกรณ์เหมือน กัน หรือคนซื้ออาจจะไม่เอาอุปกรณ์เสริมเพื่อเอาเป็นข้อต่อรองลดราคา แล้วเอาใช้ของเก่าที่มีอยู่มาใช้แทนก็ได้ ทำให้การซื้อตามร้านในห้างและตู้ขายมือถือได้รับความนิยมสูงมาก

แต่ของถูกและดียังไม่มีในโลกจริงๆ เพราะสินค้าในกล่องที่ผู้บริโภคคิดว่าเป็นของใหม่ ความจริงอาจจะไม่ใช่ของใหม่มือ 1 ก็ได้ อีกทั้งอาจจะไม่ได้ของครบตามที่ผู้ซื้อควรได้รับ อุปกรณ์บางอย่างภายในกล่องอาจถูกเปลี่ยน โดยที่ผู้ซื้อไม่ได้สังเกตจนกว่าเครื่องที่ซื้อไปจะเกิดอาการผิดปกติ อาทิ เครื่องแฮงก์ จอดับ ไม่มีเสียง ไม่สั่น แบตเตอรีเก็บไฟไม่อยู่ หรือเครื่องไม่อ่านการ์ดหน่วยความจำ เป็นต้น ดังนั้นเมื่อนำเอาสินค้ากลับไปขอให้แก้ไข ก็มักถูกปฏิเสธความรับผิดชอบ หรือคนขายย้ายร้านหนี ทั้งหมดนี้นับเป็นกลโกงของร้านค้าที่ผู้บริโภคไม่มีทางตามทันหรือสามารถเอาผิดได้

นายชัยวัฒน์ ฉันทสกุลเดช หรือ “คุกกี้คอมปะนี่” ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือจากเว็บไซต์ เอ็กซ์เรย์โมบายดอทคอม www.x-raymobile.com อธิบายถึงเหตุผลของการโกงว่า มาจากจำนวนมือถือในตลาดมากขึ้นทำให้ราคาเริ่มถูกลง จากที่เคยมีราคาหลักแสนบาท วันนี้เดินถือเงินไป 2-3 พันบาทก็สามารถซื้อได้ ราคาที่ลดลงทำให้กำไรที่ได้จากการขาย ของผู้ค้าโทรศัพท์มือถือลดลงตาม สวนทางกับค่าครองชีพและต้นทุนที่เพิ่มขึ้น แต่ในเมื่อลูกค้าที่ต้องการมือถือมีจำนวนมาก ก็เป็นช่องทางรวยของผู้ค้าเหล่านี้

คุกกี้คอมปะนี่ อธิบายต่อว่า เมื่อตลาดมีขนาดใหญ่จำนวนผู้ค้าก็มีมากตาม การแข่งขันด้วยการตัดราคาจึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ ดังนั้นเมื่อต้องตัดราคาขณะที่ค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น จึงต้องมีการใช้วิชามารเพื่อร้านค้าของตัวเองชนะคู่แข่ง ด้วยกลยุทธ์ “ชักออก” หูฟัง/แบตเตอรี่แท้ถูกดึงออกไปแยกขาย แล้วยัดของปลอมลงกล่องแทนที่ของจริง โดยผู้ซื้อทั่วไปถ้าไม่มีความรู้ก็จะไม่สังเกต หรือสังเกตแล้วก็อาจจะจับความผิดปกติที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย การที่ผู้ซื้อแกะห่อพลาสติกเองกับมือก็ใช่ว่าจะรอด เพราะบางที่เครื่องที่อยู่ในกล่องอาจเคยตกน้ำ หรือกระแทกกับพื้นมาแล้ว อาจใกล้เสียหรือเสียเลยก็ได้

ผู้เชี่ยวชาญด้านโทรศัพท์มือถือฯ อธิบายว่า วันนี้พ่อค้าแม่ค้าที่ขายมือถือเริ่มน่ากลัวไม่โง่แบบที่เราคิด เพราะเขารู้ทันผู้บริโภคทุกร้านมีโน้ตบุ๊คต่ออินเทอร์เน็ต ดูความเคลื่อนไหวจากเว็บไซต์เอ็กซ์เรย์โมบายฯ ได้ อย่าทนงตัวคิดว่าตัวเองมีข้อมูลเช็คราคามาแล้วจะรอดไม่ถูกฟัน เนื่องจากประสบการณ์ผู้ซื้อย่อมด้อยกว่า คนขายที่ผ่านมือถือมาเป็นหมื่นเครื่อง ทั้งนี้สิ่งที่ควรสังเกตเมื่อซื้อโทรศัพท์มือถือ ที่ผู้บริโภคควรสนใจมีดังต่อไปนี้

ดูตัวเครื่องว่าเป็นเครื่องแท้หรือเครื่องจากเมืองนอก

บางคนบอกว่าเครื่องนอกถูกกว่าเครื่องศูนย์ ความจริงเครื่องก็มาจากโรงงานเดียวกัน แต่เครื่องศูนย์มีรับประกัน 1 ปี บอกได้ว่าวันนี้มือถือเครื่องใหม่ๆ ไม่มีทางเสถียร บางคนอาจเถียงต่อว่าซื้อเครื่องนอกร้านที่เป็นต็ก็มีใบรับประกัน พร้อมเบอร์โทรคนขายเช่นกัน แต่อยากเรียนให้ทราบว่าแผนที่ในห้างดังแบบนี้เปลี่ยนได้ตลอด และเอาไปให้เขาซ่อมก็ไม่มีประโยชน์ เพราะเขาจะไม่รับผิดชอบ

เคยพบว่าคนขายเพียงคนเดียวแต่สังกัดหลายร้าน วันนี้เขาอยู่ร้านเอ พรุ่งนี้อยู่ร้านบี เพราะมีคู่อริมากเลยต้องย้ายร้านไปมา คนซื้อจากร้านเอเอาไปเคลมกับเขาไม่ได้ เพราะว่าวันนี้เขาอยู่ร้านบีไม่อยู่ร้านเอ ดังนั้นการรับประกันด้วยลมปากทำไม่ได้ ขอถามว่า “ทุกคนที่เคยซื้อมือถือกับห้างดังนี้เคยได้ใบเสร็จรับเงินหรือไม่” แม้แต่เครื่องมือ 2 ที่เวลารับซื้อกฎหมายระบุว่าทางร้านจะต้องถ่ายเอกสารบัตรประชาชน แล้วเซ็นกำกับร้านเหล่านี้ยังไม่ทำเลย

ดูแบตเตอรี่แท้หรือเทียม

เครื่องที่เป็นมือ 1 แพ็คกล่องขายข้างในอาจเป็นแบตเตอรี่ที่ไม่ใช่ของแท้ที่ผู้ผลิตให้มา พ่อค้าหัวใสเหล่านี้อาจใช้แบตเทียม (Compatible) หรือแบตเตอรี่เทียบเท่า ไม่ใช่แบตเตอรี่ปลอมตามที่เข้าใจ ของแบบนี้มีหลายเกรด A-B และยังมีแบตเตอรี่แท้นอกที่ต่างจากเกรดเอเล้กน้อย (เหมือนของแท้แต่มาจากเมืองนอก) อาจต่างที่รายละเอียดปลีกย่อยอาทิ ตัวอักษรที่สกรีน น้ำหนัก อย่างไรก็ตามแบตเตอรีขณะนี้ดูอย่างไรก็ยังดูไม่ออก แต่ถ้าใช้ของเทียมโอกาสที่แบตเตอรีระเบิดก็ยังมีอยู่

ดูปลั๊กไฟสายชาร์จ และซิงค์สเตชัน พร้อมหูฟังและที่แปลงสาย

ไม่มีวันได้ที่ชารืจแท้แน่หากซื้อมือถือแบบเครื่องมือ 2 หรืออาจซื้อเครื่องมือ 1 แต่ได้ที่ชาร์จมือ 2 หรือไม่ก็ได้ที่ชาร์จปลอมมาจากร้านเลย ส่วนมือถือบางรุ่นที่มีแท่นชาร์จ หรือ ซิงค์สเตชัน ปัจจุบันมีของปลอมเป็นจำนวนมากร้านค้าบางแห่งอาจจะไม่ให้ลูกค้าเลย ส่วนหูฟัง สมอลล์ทอล์ก โดยเฉพาะเครื่องที่เป็นแฟชันโฟน หรือตระกูล N Series ของโนเกีย หรือ โซนี่ อีริคสัน วอล์กแมน จะมีหูฟังของแต่ละรุ่นไม่ซ้ำแบบ อีกทั้งมือถือเหล่านี้จะแถมตัวแปลงให้ใส่กับหูฟังธรรมดาได้ ตรงนี้อาจถูกทางร้านชักออกมาแยกขายอันละ 300 บาท

ดูการ์ดหน่วยความจำที่ให้มากับเครื่อง

ถือเป็นอุปกรณ์ที่มีของปลอมมากที่สุด โดยเฉพาะแมมโมรีสติกของโซนี่ จากราคาขาย 2,000 บาทตัดมาเหลือแค่ 1,000 บาทเป็นไปได้อย่างไร โดยเฉพาะห้างชื่องดังด้านอุปกรณ์สื่อสาร ไม่มีเหลือของแท้ให้เห็นตามร้านขายมือถือและอุปกรณ์เสริมแน่นอน แม้ผู้ขายจะบอกว่าให้ดูกล่อง ดูการปิดผนึกสินค้า แต่จะแน่ใจได้อย่างไรว่า ไม่ใช่ของปลอมที่ทำได้แนบเนียนมาก

ดูซองใส่ หน้ากาก และสายคล้องข้อมือที่มากับเครื่อง

ของแถมพิเศษที่ให้มากับเครื่องเฉพาะรุ่น อาทิ โนเกียรุ่น ลาเมอร์ จะมีซองใส่มือถือทำจากผ้าไหม เชื่อหรือไม่ว่าบางร้านเอาถุงเก่ามาซักเพื่อรีไซเคิลขายใหม่ มือถือรุ่นเปลี่ยนหน้ากากไม่ได้ วันนี้ก็ถูกถอดออกแล้วใส่ของปลอมแทนได้ สายคล้องข้อมือของซัมซุง โซนี่อีริคสันก็มีปลอมให้เห็นแล้ว รวมไปถึงพีดีเอโฟนที่มีของแถมมากับเครื่อง แต่ร้านค้าไม่ให้กับลูกค้า เช่น ซอฟต์แวร์ภาษาไทย และชั่วโมงอินเทอร์เน็ตไว-ไฟ ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่ศูนย์ขายมือถือไม่เคยบอกกับลูกค้าเลยว่า ในสินค้า 1 กล่องได้ให้อะไรกับลูกค้าบ้าง

นายชัยวัฒน์ อธิบายเสริมว่า สำหรับวิธีป้องกันการถูกหลอก เพื่อให้ผู้บริโภคได้เอาไว้ใช้เป็นความรู้ในการเลือกซื้อมือถือ ได้แก่ การตรวจสอบเครื่องด้วยการ 1.ดูจำนวนชั่วโมงที่สนทนา การรับส่ง SMS/MMS และการต่อ GPRS ที่หากเป็นเครื่องใหม่ควรจะเป็น 0 ทุกอัน 2.ตรวจสอบภาพถ่าย หรือริงโทนแปลกๆ ในเครื่อง ยกเว้นบางรุ่นที่ทางผู้ผลิตแถมมา 3.การตรวจสอบเลขประจำเครื่อง (อีมี) ที่ตัวเครื่องและกล่องต้องตรงกัน และ 4. การดูด้วยตาที่เป็นทางออกสุดท้าย แต่สายตาย่อมเชื่อไม่ได้ และวิธีการเหล่านี้ใช้ไม่ได้กับร้านค้าตามห้างชื่อดังด้านอุปกรณ์สื่อสาร แต่อย่างน้องผู้ซื้อก็ยังมีความรู้ไว้ เผื่อกรณีที่พ่อค้าอาจพลาดไปในบางเรื่อง

คุกกี้คอมปะนี่ เล่าให้ฟังอีกว่า บางคนเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือมือ 2 ผ่านอินเทอร์เน็ต แทนที่จะเดินห้าง เพราะคิดว่าปลอดภัย แต่ความจริงคนที่ไปขายบนอินเทอร์เน็ต แล้วนัดดูของกันตามสถานีรถไฟฟ้า ก็คือคนขายบนห้างดังนั้นเอง อย่างลืมว่าทุกร้านมีโน้ตบุ๊คต่ออินเทอร์เน็ตได้ บางทีก็เล่นจิตวิทยาปล่อยให้ลูกค้ารอ กดดันลูกค้า พยายามเปลี่ยนราคาจากที่ตกลงไว้ ทั้งที่ความจริงก็นั่งอยู่ที่ร้าน พอลูกค้าตกลงแล้วคอยเดินลงจากห้าง คนพวกนี้ทำให้ผู้ซื้ออารมณ์เสีย หงุดหงิด และเสียเวลาไปโดยเปล่าประโยชน์ ทั้งที่เขาไม่ต้องทำอะไรเลย

ด้าน บริษัท โนเกีย (ประเทศไทย) จำกัด ให้ให้ข้อมูลเพื่อชี้แจงกับผู้บริโภค ที่ต้องการซื้อมือถือเครื่องใหม่ที่ไม่อยากถูกหลอกให้ซื้อเครื่องย้อมแมวว่า ขอแนะนำให้ซื้อจากร้านค้าที่เชื่อถือได้ และมีใบเสร็จรับเงินและใบกำกับภาษีแนบ เพราะการตรวจสอบจากตัวเครื่องทำได้ค่อนข้างยาก อีกทั้งค่าต่างๆ สามารถ Reset ใหม่ได้ ที่ผ่านมา บ.โนเกียฯ เองมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายขายที่ลงทำงานในพื้นที่ เพื่อซัพพอร์ทและตรวจสอบว่าตัวแทนจำหน่ายของโนเกียจำหน่ายสินค้าของแท้ และให้สินค้าครบถ้วนให้กับลูกค้า

ผู้บริโภคซื้อมือถือของโนเกียจะสังเกตได้ว่า ร้านค้าที่เป็นตัวแทนจำหน่ายเหล่านี้ จะมีตู้ Furniture Nokia โชว์อยู่ (เป็นตู้ที่ออกแบบและตกแต่งโดยโนเกีย ไม่ไช่ตู้กระจกใสโล้นๆ) สำหรับตัวแบตเตอรีโทรศัพท์มือถือของโนเกีย ของแท้จะมีสติกเกอร์ฮาโลแกรมติดอยู่ ดูได้ในคู่มือการใช้งานที่มากับเครื่องโทรศัพท์ โดยจะแนะนำวิธีการขูดดูหมายเลขประจำตัวแบตเตอร์รี จากนั้นสามารถโทรไปตรวจสอบที่ โนเกีย แคร์ ไลน์ หมายเลข โทร 02-2555-2111 ได้ว่า หมายเลขของแบตเตอรีดังกล่าว เป็นแบตเตอร์รีจริงหรือไม่

ด้านอุปกรณ์ที่แถมมากกับเครื่อง หากกลัวว่าจะได้ของปลอมหรือได้ของไม่ครบ ทางโนเกียฯ มีการสื่อสารกับลูกค้าด้วยการระบุรายละเอียด และรายการสินค้าในกล่องไว้ใน Product Catalog ที่วางอยู่ ณ ร้านค้า 4,500 แห่งทั่วประเทศ อีก 2 วิธีที่ลูกค้าสามารถตรวจสอบรายการสินค้าในกล่องได้ ได้แก่ 1. เช็คผ่านทางเว็บไซต์ www.nokia.co.th หรือ โทรสอบถามที่โนเกีย แคร์ ไลน์ ที่เปิดบริการทุกวัน 07.30 – 23.00 น.เท่านี้ก็จะทราบได้ว่ามือถือแต่ละรุ่นเมื่อซื้อมา จะได้อุปกรณ์รุ่นใด และได้อะไรบ้าง

ทั้งนี้ บ.โนเกียฯ ได้พยายามสื่อสารผ่าชื่องทางต่างๆ ให้คนซื้อเครื่องโทรศัพท์มือถือจากจากตัวแทนจำหน่ายที่ถูกต้อง ไม่ควรซื้อเครื่องที่ไม่มีการรับประกัน หรือเครื่องที่มาจากต่างประเทศ เพื่อสิทธิประโยชน์ของลูกค้าได้แก่ การรับประกัน มั่นใจว่าจะได้อุปกรณ์ของแท้ ครบถ้วน และซอฟต์แวร์ในเครื่องเป็นซอฟต์แวร์ที่ได้มาตราฐาน อาทิ ภาษาไทย และบางแอพลิเคชันที่เครื่องจำหน่ายในประเทศอื่นๆ อาจไม่มีเหมือนกับเมืองไทย

ทั้งหมดที่นำเสนอมานี้ คือ ข้อมูลจากผู้รู้ และคำแนะนำในการเลือกซื้อโทรศัพท์มือถือ รวมทั้งคำเตือนถึงกลโกง กับเล่ห์เหลี่ยมของคนขายมือถือที่ซับซ้อน และไปไกลจนผู้บริโภคทั่วไปมักจะตกเป็นเหยื่อ ให้พ่อค้าแม่ค้าเหล่านี้เอาเปรียบกันอยู่ร่ำไป ดังนั้นต้องเลือกเข้าร้านค้าที่เชื่อถือได้ มีหลักฐาน อาทิ ใบกำกับภาษี ก็อาจเป็นเกราะคุ้มกันช่วยให้รอดพ้น หรือ หลีกเลี่ยงการถูกเอาเปรียบ จากผู้ที่ค้าขายแบบไม่สุจริตได้….

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *