ระเบียบ ข้อกำหนด และข้อมูลการใช้ “รถโรงเรียน” ไทย-เทศ

ระเบียบ ข้อกำหนด และข้อมูลการใช้ ‘รถโรงเรียน’ ไทย-เทศ

ในสหรัฐอเมริกามีการจัดระบบรถรับส่งนักเรียนอย่างมีประสิทธิภาพมาเป็นเวลาเกือบ 30 ปี โดยปัจจุบันมีรถรับส่งนักเรียนประมาณ 400,000 คัน ที่ให้บริการรับส่งนักเรียนมากกว่า 25 ล้านคน ในการเดินทางไปกลับโรงเรียน

จากสถิติพบว่าในแต่ละปี มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียน 19,000 ครั้ง โดยอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นส่วนใหญ่จะเป็นอุบัติเหตุที่ไม่รุนแรง อย่างไรก็ตาม แม้จะมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นกับรถรับส่งนักเรียนประมาณ 150 รายต่อปี แต่ร้อยละ 88 เป็นคนเดินถนนที่ถูกรถรับส่งนักเรียนชน หรือคนที่อยู่ในยานพาหนะอื่น ๆ ที่ชนกับรถรับส่งนักเรียน โดยร้อยละ 12 เป็นนักเรียน ครู หรือผู้ขับขี่รถที่โดยสารอยู่ในรถรับส่งนักเรียน

ส่วนรายงานของประเทศแคนาดาพบว่า จำนวนนักเรียนที่ได้รับบาดเจ็บที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียนจะมีสัดส่วนเพียงแค่ร้อยละ 0.1 เมื่อเปรียบเทียบกับการบาดเจ็บที่เกิดขึ้นกับเด็กทั้งหมดในแต่ละปี

ข้อมูลจากสองประเทศข้างต้นยืนยันได้ว่า การเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียนมีความปลอดภัยมากกว่าการเดินทางด้วยยานพาหนะชนิดอื่น ๆ แม้แต่กระทั่งเครื่องบินพาณิชย์ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นการเดินทางที่ปลอดภัยที่สุดก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ความปลอดภัยเหล่านี้ไม้ได้มาเพราะตัวรถเท่านั้น หากแต่ยังหมายถึงกฎเกณฑ์และระบบที่ออกแบบมาพร้อมกันด้วย

ทั้งนี้การให้บริการรถรับส่งนักเรียนในประเทศสหรัฐอเมริกานั้น ผู้ดำเนินการอาจจะเป็นโรงเรียนเอง หรือบุคคลภายนอกก็ได้ โดยรถที่ใช้จะแบ่งเป็น 2 ชนิดได้แก่ รถโดยสารขนาดใหญ่ ที่มีขนาดบรรทุกผู้โดยสารมากกว่า 16 ที่นั่ง คิดเป็นร้อยละ 85 ของทั้งหมด รถชนิดนี้กฎหมายไม่ได้กำหนดว่าจะต้องมีเข็มขัดนิรภัย ยกเว้นในบางรัฐ และรถโดยสารขนาดเล็ก ซึ่งมีเป็นส่วนน้อย แต่รถชนิดนี้จะต้องมีเข็มขัดนิรภัย

นอกจากนี้ กฎหมายได้กำหนดเกณฑ์ขั้นต่ำของการให้บริการรถรับส่งนักเรียนไว้ ซึ่งมีรายละเอียดที่พอจะสรุปได้ดังนี้

1. กำหนดให้มีที่นั่งพิเศษสำหรับเด็กเล็กก่อนเข้าวัยเรียน อายุระหว่าง 2 – 4 ปี ซึ่งมีการกำหนดลักษณะของที่นั่งพิเศษดังกล่าวไว้ ตามน้ำหนัก ส่วนสูง อายุ ของนักเรียน

2. กำหนดให้มีเข็มขัดนิรภัยในทุกที่นั่ง สำหรับรถรับส่งนักเรียนที่ผลิตขึ้นใหม่ และต้องฝึกอบรมนักเรียน ครู ผู้โดยสารให้ใช้เข็มขัดนิรภัย ในส่วนคุณสมบัติของเข็มขัดนิรภัยที่มีอยู่ในรถทุกคันนั้นเป็นเข็มขัดนิรภัยที่ได้จัดทำไว้สำหรับผู้โดยสารที่มีอายุอย่างน้อย 10 ปีขึ้นไป หรือน้ำหนักมากกว่า 80 ปอนด์ (36.3กิโลกรัม) หรือส่วนสูงมากกว่า 57 นิ้ว (142.5เซนติเมตร)

3. กำหนดระยะห่างระหว่างแถวของที่นั่งให้แคบกว่ารถโดยสารทั่วไป และจัดพนักพิงด้านหลังให้สูงอย่างน้อย 65 เซนติเมตร (26 นิ้ว) จากระดับที่นั่ง ซึ่งจะช่วยทำให้โอกาสที่นักเรียนจะกระเด็น หรือหลุดออกไปจากบริเวณที่นั่งในขณะที่เกิดอุบัติเหตุลดน้อยลง

4. รถรับส่งนักเรียนต้องมีสัญญาณเตือนต่าง ๆ ได้แก่ ไฟกระพริบสีแดง และสีอำพัน ทั้งด้านหน้า ด้านหลัง มีสัญญาณเตือนให้หยุด รวมทั้งต้องมีอุปกรณ์ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการเบรก

5. กำหนดให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ หรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ ต้องทำการตรวจสอบรถรับส่งนักเรียน โดยการสุ่มตรวจอยู่อย่างสม่ำเสมอ

6. พนักงานขับรถต้องมีอายุอย่างน้อย 21 ปี มีหลักฐานการตรวจร่างกายประจำปี ผ่านการตรวจสอบประวัติอาชญากร รวมไปถึงประวัติการประพฤติผิดทางเพศกับเด็ก นอกจากนี้จะต้องเข้ารับการอบรมเป็นเวลาอย่างน้อย 6 ชั่วโมง พร้อมทั้งผ่านการทดสอบข้อเขียน และการสัมภาษณ์เกี่ยวกับกฎหมายจราจร หน้าที่พนักงานขับรถ การปฏิบัติในกรณีเกิดเหตุฉุกเฉิน

7. ต้องจัดให้มีพนักงานผู้ช่วย หรือผู้ดูแลนักเรียนประจำรถที่เป็นผู้ใหญ่ ไว้คอยกำกับดูแลนักเรียนให้นั่งอยู่กับที่ และคาดเข็มขัดนิรภัย ตลอดการเดินทาง

8. การกำหนดเส้นทางการเดินรถ ต้องคำนึงถึงความปลอดภัยให้มากที่สุด โดยจัดเส้นทางให้มีการเลี้ยวขวางทางแยกให้น้อยที่สุด และพยายามไม่ให้นักเรียนต้องเดินข้ามถนน

สำหรับในประเทศไทย นักเรียนของเราเดินทางไปกลับโรงเรียนอย่างไร? เนื่องจากยังไม่มีการรวบรวมสถิติการเกิดอุบัติเหตุที่เกี่ยวข้องกับรถรับส่งนักเรียน แต่จากผลการวิจัยเบื้องต้น โดยทำการเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างพบว่า สัดส่วนของนักเรียนที่เดินทางไปกลับโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนในกรุงเทพมหานคร มีเพียงประมาณร้อยละ 4.6 – 7.3 ของนักเรียนทั้งหมด ซึ่งนับว่าเป็นสัดส่วนที่น้อยมาก โดยวิธีการเดินทางที่ใช้มากที่สุดสามอันดับแรกได้แก่ รถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง และการเดิน สำหรับจักรยานยนต์ ถ้ารวมจักรยานยนต์รับจ้างและจักรยานยนต์ส่วนบุคคลเข้าด้วยกัน การเดินทางไปกลับด้วยรถจักรยานยนต์จะเพิ่มสูงขึ้นเป็นอันดับที่สองรองจากรถยนต์ส่วนบุคคลเลยทีเดียว

จากการคำนวณหาค่าความเสี่ยงสัมพัทธ์ของการประสบอุบัติเหตุ พบหลักฐานที่มากเพียงพอที่จะสรุปได้ว่า การเดินทางด้วยรถจักรยานยนต์ส่วนบุคคล รถจักรยาน รถจักรยานยนต์รับจ้าง รถโดยสารประจำทาง รถสองแถว/สี่ล้อเล็ก/สามล้อสาธารณะ และรถยนต์ส่วนบุคคล มีโอกาสที่จะประสบอุบัติเหตุในระหว่างการเดินทางไปกลับโรงเรียนสูงกว่าเมื่อเปรียบเทียบกับการเดินทางด้วยรถรับส่งนักเรียน

ด้านข้อกำหนดเกี่ยวกับรถโรงเรียนในประเทศไทยนั้น มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องได้แก่ พ.ร.บ.จราจรทางบก และ พ.ร.บ.การขนส่งทางบก นอกจากนี้ยังมีระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน ซึ่งประกาศใช้มาตั้งแต่ พ.ศ.2536

โดยในส่วนของ พ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 กฎหมายฉบับนี้กำหนดแต่เพียงว่า เจ้าของรถหรือผู้ขับขี่รถโรงเรียนต้องจัดให้มีข้อความ “รถโรงเรียน” ขนาดสูงของตัวอักษรไม่น้อยกว่า 15 เซนติเมตรติดอยู่ด้านหน้าและด้านหลังของรถ มีไฟสัญญาณสีแดงปิดเปิดเป็นระยะติดไว้ด้านหน้าและด้านหลังของรถเพื่อให้รถที่สวนมาหรือตามหลังเห็นได้ชัดเจน

ส่วน พ.ร.บ.การขนส่งทางบก และระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการควบคุมดูแลการใช้รถโรงเรียน กำหนดว่า

1. สีของรถโรงเรียนเป็นสีเหลืองคาดดำ ตามแบบของกรมการขนส่งทางบก

2. จัดให้มีเครื่องหมายเป็นแผ่นป้ายพื้นสีส้มสะท้อนแสง ขนาดกว้างอย่างน้อย 35 เซนติเมตร และยาวอย่างน้อย 85 เซนติเมตร ติดอยู่ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ ให้สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะไม่น้อยกว่า 50 เมตร และมีชื่อโรงเรียนติดอยู่ด้านข้างทั้งสองข้างของตัวรถ พร้อมทั้งหมายเลขโทรศัพท์ (ถ้ามี)

3. จัดให้มีไปสัญญาณสีเหลืองอำพันปิดเปิดเป็นระยะ (กระพริบ) ในขณะที่ใช้รับส่งนักเรียน ติดไว้ที่ด้านหน้าและด้านท้ายของตัวรถ เพื่อให้ผู้ขับรถที่สวนทางมาหรือขับตามหลังสามารถมองเห็นได้ชัดเจน ในระยะห่างไม่น้อยกว่า 150 เมตร เมื่อมิได้ใช้รถนั้นเป็นรถโรงเรียนให้งดใช้สัญญาณไฟสีเหลืองอำพันดังกล่าว

4. จัดให้มีเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นเพื่อช่วยเหลือนักเรียน เมื่อมีอุบัติเหตุ หรือมีเหตุฉุกเฉินเกิดขึ้น ได้แก่ เครื่องดับเพลิง ซึ่งต้องติดตั้งไว้ภายในรถในที่ที่เหมาะสมพร้อมที่จะใช้การได้ทุกขณะ ค้อนทุบกระจก 1 อัน และเหล็กชะแลง 1 อัน

5. จัดให้มีแผ่นป้ายแสดงข้อความเตือนเรื่องความปลอดภัยในการโดยสารตามที่กรมการขนส่งทางบกประกาศกำหนด

6. จัดให้มีเครื่องมือปฐมพยาบาลประจำรถโรงเรียนทุกคัน นอกจากนี้ยังมีการกำหนดคุณสมบัติของพนักงานขับรถ และผู้ควบคุมดูแลนักเรียน ต้องมีการจัดทำทะเบียนนักเรียน และส่งข้อมูลให้กระทรวงศึกษาธิการอย่างสม่ำเสมอ
จะเห็นได้ว่า แม้ข้อกำหนดเกี่ยวกับรถโรงเรียนในประเทศไทยจะไม่เคร่งครัดหากเปรียบเทียบกับต่างประเทศ กระนั้น เราก็พบเห็นรถโรงเรียนที่เป็นไปตามระเบียบข้อบังคับได้น้อยมากอยู่นั่นเอง

เรียบเรียงจาก : บทความเรื่อง “รถโรงเรียน หรือ รถรับส่งนักเรียน (school bus)” โครงการความปลอดภัยในการเดินทางไปกลับโรงเรียนด้วยรถรับส่งนักเรียนในกรุงเทพมหานคร โดย ดร.เปรมวดี คฤหเดช และคณะ กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2547

ที่มา :ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *