ยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ คืออะไรแน่

ยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ คืออะไรแน่
มองมุมใหม่ : ผศ.ดร.พสุ เดชะรินทร์ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย / pasu@acc.chula.ac.th กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 19 เมษายน พ.ศ. 2548
ช่วง 3-4 ปีมานี้ ศัพท์ยอดนิยมของผู้บริหารทั้งนักการเมือง นักธุรกิจ และนักวิชาการ ดูเหมือนจะหนีไม่พ้นคำว่า ยุทธศาสตร์ หรือกลยุทธ์ และดูเหมือนคำ 2 คำนี้ จะกลายเป็นคำศักดิ์สิทธิ์ นั่นคือ ถ้าใครใช้คำนี้ในเวลา และสถานการณ์เหมาะสมจะทำให้ดูเท่ห์ และยากที่คนอื่นจะโต้แย้ง
ไม่เชื่อผู้อ่านลองหาหนังสือพิมพ์ หรือบทความอ่านดูซิครับ จะเห็นบ่อยมากที่จะเจอผู้บริหาร (ทั้งระดับประเทศ องค์กร หน่วยงาน) ย้ำแล้วย้ำอีก ถึงความสำคัญของยุทธศาสตร์ และกลยุทธ์ พร้อมประโยคต่างๆ ที่ฟังดูแล้วรู้สึกถึงความสำคัญของคำนี้
ผมเองไม่ได้เป็นคนที่ขวางโลกหรือต่อต้านต่อ “กลยุทธ์” (จริงๆ วิชาที่ผมสอนก็คือเรื่องบริหารกลยุทธ์) แต่อยากจะชี้ให้เห็นว่า คำว่า “ยุทธศาสตร์ หรือ กลยุทธ์” ในปัจจุบันที่ได้มีการใช้กันมากมายนั้น ส่วนมากยังใช้กันโดยไม่เข้าใจความหมายที่แท้จริง ใช้กันผิดความหมาย และใช้ไปเพื่อให้ดูดีหรือสำคัญขึ้นมา
ยกตัวอย่างที่พบเจอได้ทั่วไป (ทั้งในการบริหารประเทศและบริหารองค์กร) เริ่มตั้งแต่ความหมาย และแตกต่างของคำว่า ยุทธศาสตร์และกลยุทธ์ ถ้าพวกที่อยู่ในแวดวงธุรกิจจะคุ้นเคยว่า กลยุทธ์ คือ Strategy ไม่ค่อยคุ้นกับคำว่ายุทธศาสตร์
แต่พอไปเจอนักการทหาร ข้าราชการ นักการเมือง ก็จะแปลความหมายว่า Strategy คือ ยุทธศาสตร์ ส่วนกลยุทธ์ คือ Tactics ซึ่งก็แปลเป็นนัยได้ว่า ยุทธศาสตร์ใหญ่กว่ากลยุทธ์ (นั่นคือจะต้องมียุทธศาสตร์ก่อนแล้วค่อยกำหนดกลยุทธ์) แต่พอไปดูเอกสารการจัดทำแผนปฏิบัติราชการของหน่วยราชการจะไม่มีกลยุทธ์ แต่มีประเด็นยุทธศาสตร์โผล่มาแทน
ดูซิครับว่า น่าสับสนแค่ไหน ยังไม่พอนะครับ บางแห่งก็มีนโยบาย (Policy) โผล่เข้ามาด้วย ซึ่งถ้าตำราทางกลยุทธ์ธุรกิจ นโยบายก็จะเป็นตัวที่แปลงหรือย่อยจากกลยุทธ์ลงมาอีกที (จากตำราการจัดการนั้น นโยบายอยู่ในกลุ่มเดียวกับ Procedure หรือแนวทาง และกฎ หรือ Rules) แต่พอไปดูแผนบริหารราชการแผ่นดินของรัฐบาล (ตามที่นายกรัฐมนตรีแถลงกับสภา) ก็มีนโยบายของรัฐบาลแปดประการ แล้วค่อยแตกออกมาเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ (Strategic Issues) แล้วค่อยตามด้วยกลยุทธ์อีกที นับว่าชวนปวดหัวดีแท้
นี่แค่จุดเริ่มต้น และยังไม่รวมคำศัพท์อื่นที่เจอในกระบวนวางแผนกลยุทธ์ ไม่ว่าจะเป็น วิสัยทัศน์ พันธกิจ ภารกิจ วัตถุประสงค์ เป้าประสงค์ เป้าหมาย จุดมุ่งหมาย ค่านิยม ปรัชญา ซึ่งเชื่อว่าผู้อ่านจำนวนมากคงจะปวดหัวกับคำศัพท์เหล่านี้ เพราะตำราแต่ละเล่มก็ไม่เหมือนกัน อาจารย์แต่ละคนก็ไม่เหมือนกัน แต่ละองค์กรก็ใช้ไม่เหมือนกัน แต่ถ้ามองในแง่บวก ท่านที่เป็นผู้บริหารองค์กรอาจจะคิดได้ว่า จะไม่สนใจต่อคำนิยามที่หลากหลายก็ได้ครับ ขอให้ในองค์กรของท่านมีนิยามที่ตรง และเข้าใจร่วมกัน เพื่อให้งานเดินก็เป็นใช้ได้ครับ
ปัญหาในเรื่องของนิยามศัพท์อาจจะดูแล้วไม่น่าใหญ่โต เพียงอาจนำไปสู่การใช้ และความเข้าใจที่ผิดได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อสิ่งที่ผิดนั้นออกมาจากปากของผู้นำหรือผู้บริหารระดับสูง นอกเหนือจากปัญหาเรื่องของนิยามศัพท์แล้วคำว่า ยุทธศาสตร์หรือกลยุทธ์ ยังเป็นคำที่เมื่อใช้แล้ว มักจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ผิดพลาดกันบ่อย ลองดูตัวอย่าง ถ้าท่านไปเจอที่ปรึกษาทางด้านการจัดการ และเขาแนะนำตัวว่า เป็นที่ปรึกษาทางกลยุทธ์แล้ว เราก็มักจะเข้าใจโดยทันทีว่า ที่ปรึกษาคนนั้น คงจะคิดราคาแพงพอสมควร (คำว่ากลยุทธ์มักจะนำไปสู่อะไรที่มีมูลค่าแพงเสมอ)
หรือถ้าองค์กรจะจัดสัมมนาเรื่องกลยุทธ์ที่ต่างจังหวัด (หรือที่นิยมเรียกกันว่า Strategic Retreat) คนฟังก็มักจะแปลความหมายได้โดยอัตโนมัติว่า จะมีแต่ผู้บริหารระดับสูงไปสัมมนาที่โรงแรมดีๆ อาหารดีๆ บรรยากาศดีๆ เน้นพักผ่อนเป็นส่วนใหญ่ ส่วนเรื่องสาระของงานที่ได้ไม่สำคัญเท่า
หรือ ถ้านำคำว่ากลยุทธ์ไปเชื่อมกับการลงทุนหรืองบประมาณ ก็มักจะนึกถึงสิ่งที่แพงๆ เสมอ เช่น ถ้าเป็นการลงทุนด้านกลยุทธ์ (Strategic Investment) ก็จะเป็นการลงทุนที่สูง และใช้เงินเยอะ ในขณะเดียวกันเวลาใช้คำว่า กลยุทธ์ทีไร ก็จะมักนึกถึงสิ่งที่มีความสำคัญกว่างานประจำทั่วไป
เช่น ในเรื่องงบประมาณ ถ้าเชื่อมกับกลยุทธ์ ก็จะเป็นงบประเมินที่มีความสำคัญกว่างบปกติ หรือถ้าบอกคนอื่นว่างานที่กำลังทำอยู่เป็นงานทางกลยุทธ์หรือเกี่ยวกับกลยุทธ์ ก็จะทำให้งานนั้นดูมีความสำคัญมากกว่างานปกติไปเลย (นับเป็นความเข้าใจผิดจริงๆ)
หรือ ถ้าข้อเสนอโครงการใดก็ตามไม่สามารถเชื่อมโยงเข้ากับกลยุทธ์หรือไม่สามารถบอกถึงความสำคัญทางกลยุทธ์ได้ งานหรือโครงการนั้นก็ดูไม่มีความสำคัญไปทันที (ทำให้ปัจจุบันเวลาเขียนข้อเสนอโครงการหรืองานใดก็ตาม จะต้องหาทางเชื่อมกับกลยุทธ์ให้ได้ทุกครั้ง)
ผู้อ่านลองสังเกตดู ปัจจุบันเราใช้คำว่า กลยุทธ์กันเยอะ แต่การใช้ก็ไม่ได้ให้ความหมายที่แท้จริง กลายเป็นคำที่เมื่อใช้แล้ว ทำให้ดูกลายเป็นสิ่งที่มีความสำคัญขึ้นมา และปัญหาก็คือเมื่อใช้แล้วจะทำให้ความหมายของกลยุทธ์ที่แท้จริงผิดไป จนทำให้ความเชื่อถือ และเชื่อมั่นต่อกลยุทธ์ลดน้อยลงไปก็ได้

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *