ยุทธวิธีซาลาเปาแฟรนไชส์

ยุทธวิธีซาลาเปาแฟรนไชส์
ด้านการเกษตรและอาชีพ – เดลินิวส์ — SMEs ยุทธวิธีเศรษฐีใหม่
“การขายซาลาเปา” ที่ในปัจจุบันมีการลงทุน-มีการขายกันหลากหลายรูปแบบนั้น “การลงทุนแบบแฟรนไชส์” ก็เป็นรูปแบบหนึ่ง ซึ่งสำหรับการลงทุนแบบนี้ในหนังสือ “รวยครบสูตรกับธุรกิจซาลาเปา” ของ สำนักพิมพ์พีเพิลมีเดียบุ๊ค ระบุไว้โดยสรุปว่า… ความหมายตรง ๆ คือ การซื้อรูปแบบธุรกิจของคนอื่นที่เซตไว้แล้ว เราเปรียบเสมือนร้านสาขาของแบรนด์หรือตรา สินค้านั้น ๆ อีกทีหนึ่ง

รายละเอียดธุรกิจต่าง ๆ ทุกอย่างจะถูกกำหนดจากการบริหารจัดการโดยบริษัทแม่ หรือเจ้าของร้านต้นแบบ รวมถึงอัตราค่าลงทุน การบริหารจัดการ ทั้งนี้ รูปแบบนี้ในปัจจุบันแบ่งย่อยเป็น 3 แบบ คือ…..

1.แบบรถเข็น เหมาะสำหรับขายเป็นรายได้เสริม ขายคนเดียวไม่ต้องพึ่งลูกน้อง ไม่ต้องเตรียมวัตถุดิบมาก พื้นที่ตั้งโต๊ะ 1-2 ตัว วัตถุดิบต่าง ๆ จะถูกจัดสรรมาจากเจ้าของแฟรนไชส์ การตกแต่ง การตลาด ก็จะขึ้นกับแผนงานของบริษัทแม่ การลงทุนในรูปแบบนี้จะอยู่ที่หลักหมื่นบาท เริ่มตั้งแต่ 25,000 บาทขึ้นไป คุณสมบัติของผู้ที่จะลงทุนแฟรนไชส์แบบนี้คือ ต้องมีเงินทุน มีเวลา มีคนขาย และมีทำเลตามที่กำหนด

2.แบบพื้นที่เปล่าหรือซุ้มขนาดเล็ก เหมาะสำหรับขายในชุมชนหรืออยู่ในเขตออฟฟิศ ส่วนราชการ สถานศึกษา พื้นที่ตั้งโต๊ะได้ 3-4 ตัว หรือเช่าหน้าร้านมินิมาร์ท ค่าเช่าไม่แพง มีพนักงานขาย 1-2 คน ส่วนใหญ่การลงทุนในรูปแบบนี้จะมีขนาดใหญ่กว่ารูปแบบแรก อาจไม่จำเป็นต้องมีทำเลที่แน่นอน แต่ทางเจ้าของแฟรนไชส์จะเป็นคนหาให้และเราต้องรองรับค่าเช่าสถานที่เอง เพื่อให้ได้กลุ่มเป้าหมายเดียวกันที่อยู่ในระดับที่สามารถซื้อซาลาเปาได้ ราคาการลงทุนเริ่มแรกจะอยู่ที่ประมาณ 39,000 บาท โดยไม่รวมค่าเช่าสถานที่

3.แบบร้านเต็มรูปแบบ เหมาะสำหรับผู้มีความพร้อมที่จะลงทุนร้านใหญ่ มีเมนูอื่น ๆ เพิ่มขึ้น ไม่ขายเฉพาะซาลาเปาเท่านั้น ร้านแบบนี้ส่วนใหญ่ต้องมีอาคาร หรือสถานที่ในห้างสรรพสินค้า แฟรนไชส์รูปแบบนี้จะใช้เงินลงทุนจำนวนมาก เป็นค่าใช้จ่าย อาทิ การตกแต่งร้าน ค่าจ้างพนักงานที่ต้องมี 3-5 คนขึ้นไป สิ่งจำเป็นที่ผู้ลงทุนต้องมีคือ เงินทุน พนักงาน และสถานที่ที่เหมาะสมกับกลุ่มเป้าหมาย และสามารถขายในราคาที่ลูกค้าสามารถจ่ายได้ การใช้เงินลงทุนจะเริ่มต้นตั้งแต่ 59,000 บาท จนถึงระดับแสนบาท หรืออาจถึงหลักล้านบาท

สำหรับ “ข้อดี-ข้อจำกัดของการลงทุนแบบแฟรนไชส์” มีดังนี้…

ข้อดีคือ มีรูปแบบแฟรนไชส์ให้เลือกหลายขนาด หลายราคา สะดวก และง่ายต่อการเริ่มต้น เพราะทางเจ้าของแฟรนไชส์จะคิดต้นทุน ราคาขาย และการเก็งกำไรมาให้แล้ว หากลงทุนในแฟรนไชส์ระดับเล็กก็จะคืนทุนในประมาณ 3 เดือน หากเป็นการลงทุนขนาดใหญ่ระยะเวลาคืนทุนก็จะยืดออกไป ประมาณ 1 ปีเป็นอย่างช้า ดังนั้น รูปแบบการลงทุนแบบนี้จึงเหมาะสำหรับผู้ที่มีเงินลงทุนพอสมควร และต้องการความสะดวกสบาย

ข้อจำกัดคือ เพราะมีหลายแฟรนไชส์เกิดขึ้นใหม่ทุก ๆ วัน ทำให้ลูกค้ามีทางเลือกมากขึ้น และการแข่งขันแต่ละแห่งก็สูงมาก ดังนั้น การเลือกซื้อแฟรนไชส์ต้องตรวจสอบความมั่นคงของบริษัทแม่ด้วยว่ามีศักยภาพใน การดูแลระยะยาวหรือไม่ หรือตั้งราคาไว้สูงเกินจริงหรือไม่ ที่สำคัญควรตรวจสอบถึงการบริการก่อนและหลังการขายว่าจะไม่ทอดทิ้งผู้ซื้อ แฟรนไชส์

เน้นว่า…ต้องศึกษาเงื่อนไขให้ดีก่อนตัดสินใจลงทุน.

——————————————————————————–
เดลินิวส์ออนไลน์ – SMEs ยุทธวิธีเศรษฐีใหม่
วันเสาร์ ที่ 09 มกราคม 2553

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *