ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแอปเปิ้ล

ยินดีต้อนรับสู่อาณาจักรแอปเปิ้ล

ผู้นำในการสร้างสรรค์เทคโนโลยีนอกรีตกลับกลายมาเป็นผู้สร้างเทรนด์ให้กับโลกใบนี้ได้อย่างไร

สตีฟ จ๊อบส์รู้ดีว่าต้องเผชิญกับปัญหาอีกนับไม่ถ้วน เมื่อเขาก้าวขึ้นเวทีเพื่อกล่าวสุนทรพจน์ครั้งแรกหลังจากหวนกลับมานั่งแท่นผู้บริหารระดับสูงของแอปเปิ้ลอีกครั้ง ในปี 1997 ตอนนั้นจ๊อบส์ต้องพบกับสภาวะตลาดหดตัวของเครื่องคอมพิวเตอร์แมค รวมทั้งต้นทุนที่สูงขึ้นและการขาดแคลนเงินสดหมุนเวียนอย่างรุนแรง ในวันนั้นจ๊อบส์เลือกที่จะพูดถึงปัญหาอีกด้านหนึ่งของแมคอย่างสัตย์จริงคือ การที่แอปเปิ้ลเติบโตอย่างโดดเดี่ยว แม้บริษัทจะมีชื่อเสียงในการสร้างคอมพิวเตอร์ที่ดีที่สุดในโลก แต่มีซอฟท์แวร์และอุปกรณ์เสริมเพียงน้อยนิดเท่านั้นที่รองรับกับเครื่องแมค จ๊อบส์กล่าวว่า “แอปเปิ้ลมีชีวิตอยู่ในระบบนิเวศน์ที่ต้องการความช่วยเหลือและต้องช่วยเหลือพันธมิตรอื่นๆ ด้วยเช่นกัน”
จากนั้นจ๊อบส์ได้ทำสิ่งที่ไม่มีใครคาดฝัน เขายอมให้คู่ปรับเก่าอย่างบิลล์ เกตส์ ร่วมเวทีผ่านวิดีโอคอนเฟอเรนซ์โดยกล่าวถึงรายละเอียดเกี่ยวกับข้อตกลงมูลค่า 150 ล้านดอลลาร์ เพื่อเป็นการยุติข้อเรียกร้องในเรื่องสิทธิบัตร ไมโครซอฟท์ คอร์ป ได้ให้คำมั่นสัญญาว่าจะผลิตซอฟท์แวร์ที่หาซื้อได้ตามท้องตลาดอย่างไมโครซอฟท์ออฟฟิศที่สามารถให้ใช้งาน กับเครื่องแมคได้
วันนี้ระบบนิเวศน์ของแอปเปิ้ล อิงค์ได้แปรสภาพจากชุมชนไฮ-เทคเล็กๆ อันหดหู่มาสู่อาณาจักรยิ่งใหญ่ระดับโลก ครั้งหนึ่งแอปเปิ้ลเป็นที่รู้จักกันในฐานะผู้กำหนดอนาคตของโลกดิจิตอลซึ่งไม่เคยสร้างผลกำไรได้อย่างเต็มเม็ด เต็มหน่วยเสียที มาวันนี้แอปเปิ้ลได้กลายเป็นผู้สร้างผลิตภัณฑ์ยอดฮิตติดอันดับและทรงอิทธิพลมากที่สุดในแวดวงเทคโนโลยี ช่วงปีที่ผ่านมาบริษัทกว่า 200,000 แห่งได้ลงนามเซ็นต์สัญญาเพื่อผลิตสินค้าที่รองรับการใช้งานให้กับสินค้าของแอปเปิ้ล เพิ่มขึ้น 26%จากปีก่อนหน้านี้ รวมไปถึงผู้ผลิตซอฟท์แวร์ต่างๆ เช่น ผู้ผลิตเกมอย่างบริษัทอิเลคทรอนิค อาร์ทส์ อิงค์และซัพพลายเออร์ผลิตซอฟท์แวร์ให้องค์กรอย่างวีเอ็มแวร์

เหตุที่เป็นเช่นนั้นเพราะยอดขายของแมคโตขึ้นกว่าตลาดพีซีโดยรวมถึง 3 เท่า และอุตสาหกรรมขนาดย่อมอย่างผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมของไอพอดก็เติบโตมากกว่าที่เคยคิดกัน เฉพาะในปีนี้มีรถยนต์สัญชาติอเมริกันรุ่นใหม่กว่า 70% ที่มีอุปกรณ์เชื่อมต่อไอพอดในตัวเช่นเดียวกับที่นั่งบนเครื่องบินอีกกว่า 100,000 ที่ ยิ่งไปกว่านั้นเว็บค้าเพลงดิจิตอลออนไลน์ที่ชื่อ ไอทูนส์ มิวสิค สโตร์ ของแอปเปิ้ลยังกลายเป็นเว็บค้าปลีกเพลงที่ใหญ่ที่สุดเป็นอันดับสามของโลกรองจากวอลมาร์ท สโตร์ อิงค์ และ เบสท์ บาย โคอีกด้วย
ร่วมเป็นสมาชิกจ๊อบส์คลับ
หลังเปิดตัวไอโฟนไปเมื่อวันที่ 29 มิถุนายนที่ผ่านมา แอปเปิ้ลยังคงมุ่งมั่นที่จะขยายอาณาจักรต่อไป พนัธมิตรหน้าใหม่ นับตั้งแต่เอทีแอนด์ที คอร์ป ไปจนถึงเซลล์ฟอร์ซดอทคอม อิงค์ ต่างพร้อมที่จะร่วมหัวจมท้ายกับ โทรศัพท์หน้าตาเก๋ที่เพียบพร้อมไปด้วยฟังก์ชั่น/เว็บบราวเซอร์/เครื่องเล่นเพลง/กล้องถ่ายรูปเครื่องนี้ การโหมโฆษณาก่อนที่ไอโฟนจะคลอดถูกนำมาล้อเป็นเรื่องตลกขบขัน (สตีเฟน โคลเบิร์ท จากรายการคอมมะดี เซ็นทรัล รายการตลกของฟ๊อกซ์กล่าวติดตลกว่า การเปิดตัวของไอโฟนเป็นเหตุการณ์สำคัญที่สุดอันดับสองในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติรองจากการประสูติ ของพระคริสต์) ขณะที่บรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือ รายใหญ่ในตลาดไม่ว่าจะเป็นโนเกียและโมโตโรล่า รวมทั้งผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์อย่างเวอไรซันต่างตั้งหน้าตั้งตารอดูว่าแอปเปิ้ลจะมีความสามารถแค่ไหน ในการพลิกโฉมหน้าธุรกิจโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ ให้ผู้ผลิตโทรศัพท์เป็นผู้กำหนดว่าที่ลูกค้าควรจะได้รับบริการใด จากเดิมที่ถูกกำหนดโดยบริษัทผู้ให้บริการเครือข่าย
ตราบใดที่แอปเปิ้ลยังสามารถคุมเกมได้แบบนี้ บรรดาผู้ผลิตชั้นนำไล่ตั้งแต่ผู้ผลิตแผงวงจรคอมพิวเตอร์ไปจนถึงผู้ผลิตภาพยนตร์ฮอลลีวูดจะต้องทำงานในภาวะ กดดันเพื่อสร้างงานให้โดนใจ จ๊อบส์ซึ่งมันหมายถึงโอกาสทางธุรกิจในฐานะพันธมิตร นอกจากนี้แอปเปิ้ลยังสามารถคุยโม้เรื่องความฮิพของแบรนด์กับบรรดาพาร์ทเนอร์ได้อีกทั้งกับการมีอิทธิพลต่อ ตลาดต่างๆเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ไม่ว่าจะเป็นตลาดโทรศัพท์มือถือ แล้วในอนาคตแอปเปิ้ลจะเข้าไปมีอิทธิพลในตลาดอะไรอีก อาจจะเป็นตลาดซอฟท์แวร์,อุปกรณ์ชิ้นส่วนหรือสร้างสรรค์บริการใหม่ๆที่ซื้อใจผู้บริโภคมากยิ่งขึ้น ทว่าการเป็นส่วนหนึ่งของสมาชิก จ๊อบส์คลับ คุณจะต้องยอมเสียสละอิสรภาพการดำเนินธุรกิจของคุณในทุกๆเรื่อง ตั้งแต่การออกแบบไปจนถึงความเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว รวมทั้งเรื่องการกำหนดราคา
จ๊อบส์สวนกระแสความเชื่อเดิมๆ เกี่ยวกับธรรมชาติของการแข่งขันในตลาดดิจิตอลมากว่า 2 ทศวรรษ นับตั้งแต่ช่วงปี 1980 ที่มาตรฐานคอมพิวเตอร์พีซี “วินเทล” ซึ่งเป็นการจับมือกันระหว่างอินเทลและไมโครซอฟท์ได้รับความนิยมอย่างสูง โดยมีข้อสันนิษฐานว่าตลาดจะถูกครอบงำโดยบริษัทที่เป็นคนกำหนดมาตรฐานทางเทคนิคเหล่านั้น เช่น ไมโครซอฟท์จะครองตลาดระบบปฏิบัติการ ส่วนอินเทลจะครองตลาดด้านชิพไมโครโปรเซสเซอร์ ซึ่งผู้กำหนดมาตรฐานจะได้รับผลประโยชน์จากการแข่งขันของบริษัทนับพันที่จะสร้างผลิตภัณฑ์เพื่อรองรับ “แพลทฟอร์ม” ดังกล่าว
แต่กลยุทธ์ของแอปเปิ้ลง่ายกว่านั้น แอปเปิ้ลโฟกัสไปที่การสร้างผลิตภัณฑ์ให้ดีที่สุดแล้วสุดท้ายผลตอบแทนอันงดงามจะตามมาเอง ในความเป็นจริงแล้วมีพาร์ทเนอร์หน้าใหม่ๆ มากมายที่ยอมเข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับแอปเปิ้ลแม้ว่าจะต้องเผชิญกับกฏเหล็กของจ๊อบส์ก็ตาม ถึงแม้ว่าแอปเปิ้ลจะไม่เคยแสดงออกว่าเลือกที่รักมักที่ชัง แต่บ่อยครั้งการแสดงออกของแอปเปิ้ลมันส่อให้เห็นถึงความไม่เสมอภาคเป็นต้นว่า เลือก กูเกิ้ลให้สร้างแผนที่ออนไลน์และวิดีโอแอพพลิเคชั่นต่างๆ ของไอโฟน นอกจากนี้แอปเปิ้ลมักจะเจาะจงเลือกบริษัทที่ดีที่สุดแทนที่จะให้ความสนใจกับพาร์ทเนอร์อื่นๆอย่างเท่าเทียมกัน ผลก็เลยกลายเป็นว่าแมคและไอพอดต่างกลายเป็นอาณาจักรที่ปิดกั้นตัวเองและจะเปิดรับเฉพาะบริษัทชั้นแนวหน้า เท่านั้น โดยมีแอปเปิ้ลคอยจับตามองอย่างใกล้ชิดว่าใครบ้างที่จะผ่านเข้ามาสู่อาณาจักรแห่งนี้ โรเจอร์ แมคมานี นักปล่อยกู้ให้บริษัทใหญ่น้อยในซิลิกอน แวลเลย์กล่าวว่า “ถ้าหากจะมองในภาพรวมแล้ว ความเชื่อเรื่องแพลทฟอร์มเป็นวิถีแห่งพีซีเท่านั้น ผู้บริโภคต้องการแค่ประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ พวกเขาไม่ได้ซื้อแพลทฟอร์มหรอก”
คงจะจำได้ว่าแอปเปิ้ลสร้างความเปลี่ยนแปลงให้กับตลาดเครื่องเล่นดิจิตอลมิวสิคได้อย่างไร นับตั้งแต่เปิดตัวครั้งแรกของไอพอดในปี 2001 ทั้งๆที่ก่อนหน้านั้นมีเครื่องเล่นเอ็มพี 3 เกลื่อนท้องตลาดอยู่แล้ว และครั้งนี้หากฟังก์ชั่นต่างๆของไอโฟนทำงานได้ตามที่โฆษณาไว้จริงๆ เจ้าสมาร์ทโฟนตัวนี้จะเป็นผู้สร้างนิยามใหม่ให้โลกโทรศัพท์เคลื่อนที่ อย่างที่เจ้าของแบล็คเบอรี่และทรีโอรู้ดีว่าสมาร์ทโฟนกว่า 25 ล้านเครื่องที่จำหน่ายไปเมื่อปีที่ผ่านมามีศักยภาพในการใช้งานไม่แตกต่างกัน เช่น มีเว็บบราวเซอร์และสามารถเช็คอีเมลล์ได้ แต่ทั้งนี้ยังไม่มีผู้ผลิตรายใดสามารถเข้าถึงใจผู้บริโภคทั่วไปได้จริงๆ อย่างน้อยเท่าที่เห็นในขณะนี้ไอโฟนได้กำจัดความอึดอัดใจในการใช้งานของผู้ใช้สมาร์ทโฟนกว่าร้อยล้านคนประสบมา นับตั้งแต่เมนูที่ซับซ้อนน่าปวดหัว ไปจนถึงปัญหาเรื่องสัญญาณในขณะที่กำลังใช้สายอยู่

เห็นได้ชัดว่าในช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมาทำไมบริษัทหลายแห่งถึงอยากจะอยู่ข้างเดียวกับแอปเปิ้ล นั่นเพราะตอนนี้คนซื้อไอโฟนต่างแห่ลงชื่อเพื่อขอรับบริการแพ็คเกจโทรศัพท์มือถือของเอทีแอนด์ทีผ่านไอทูนส์ และต่อไปพวกเขาอาจสามารถลงชื่อเพื่อขอรับบริการด้านข้อมูลและอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่ไหนผ่านเครื่องแมค, ไอพอดและสินค้าใหม่อื่นๆ ของแอปเปิ้ล (ประมาณว่า “ฉันอยากได้ไอโฮม เธียเตอร์ของแอปเปิ้ล”) และอุปกรณ์ทั้งหมดทำงานร่วมกันได้ ซึ่งการทำเรื่องซับซ้อนแบบนี้ให้เป็นเรื่องง่ายถือเป็นจุดแข็งของแอปเปิ้ล พอล แซฟโฟ ที่ปรึกษาและนักอนาคตศาสตร์จากซิลิกอนวัลเลย์กล่าวว่า “ท้ายที่สุดจะเหลือเพียงหมู่เกาะแอปเปิ้ลที่ลอยอยู่ท่ามกลางทะเลดิจิตอลขนาดมหึมาที่ใครๆ ก็อยากมานั่งเล่น”
แน่นอนว่าสินค้าของแอปเปิ้ลต้องสร้างสรรค์ความพึงพอใจให้กับลูกค้าต่อไป ซึ่งเป็นโจทย์ที่ทำให้ไอโฟนถึงต้องกับปาดเหงื่อ เพราะตัวเครื่องไม่มีแม้แต่แป้นคีย์บอร์ด แต่หากประสบความสำเร็จจริง แอปเปิ้ลจะสามารถยกระดับระบบนิเวศน์ของตัวเองให้เหนือกว่ายักษ์ใหญ่ในวงการอุตสาหกรรมมือถือที่กำลังทำสงคราม “แย่งชิง” ผู้บริโภคในโลกดิจิตอล ผู้ผลิตโทรศัพท์และผู้ให้บริการเคเบิ้ลพยายามแสวงหาประโยชน์จากการควบคุมช่องทางที่ผู้บริโภคใช้ดูวิดีโอ ข้อมูลและว๊อยซ์คอนเทนท์ ทั้งกูเกิ้ล อิงค์ และยาฮู! อิงค์ ต่างต้องการที่จะเพิ่มอำนาจด้วยการเป็นด่านแรกบนโลกออนไลน์ของลูกค้านับล้าน แต่แอปเปิ้ลใช้แรงดันจากอุปกรณ์แทน หมายความว่า หากแอปเปิ้ลสามารถควบคุมอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้เชื่อมต่อกับแพลทฟอร์มอื่นๆ ได้ แอปเปิ้ลก็จะเพิ่มอำนาจควบคุมในสิ่งที่ลูกค้าทำไปจนถึงควบคุมราคาได้ด้วย (เช่น ซื้อเพลง 1 เพลงในราคา 99 เซนต์)
มีผู้ผลิตโทรศัพท์เคลื่อนที่และบริษัทเคเบิ้ลหลายแห่งที่ให้บริการด้วยสินค้าและบริการที่คล้ายๆ กัน กูเกิ้ลและยาฮูมีอำนาจในสิทธิที่ตัวเองมีอย่างเต็มที่ แต่ทั้งสองบริษัทไม่สามารถควบคุมชะตาของตัวเองได้เพราะผู้ใช้อาจจะเปลี่ยนไปใช้เว็บเสิร์ชเอ็นจิ้นอื่นได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม ขณะนี้แอปเปิ้ลยังคงมีอำนาจเหนือบริษัทอื่นๆ ในการสร้างอุปกรณ์ที่ลูกค้าใช้งานเพื่อดึงเอาหน้าเว็บเพจ เพลง รายการทีวีโชว์และภาพยนตร์ได้จริงๆ และในอนาคตอันใกล้เราจะได้เห็นผู้คนจำนวนมากคุยโทรศัพท์กันโดยใช้โทรศัพท์แอปเปิ้ล เดวิด แอนเดอร์สัน หัวหน้าทีมสื่อระดับสากลของบริษัทเบน แอนด์ โค กล่าวว่า “เรากำลังจะก้าวจากรูปแบบที่ให้ความสำคัญกับผู้แทนจำหน่ายไปสู่รูปแบบที่ให้ความสำคัญกับลูกค้า และแอปเปิ้ลก็ได้ใจลูกค้าไปเต็มๆเสียด้วย”
และไม่ใช่ว่าจะเป็นลูกค้าประเภทไหนก็ได้ แต่เป็นลูกค้าเฉพาะกลุ่มที่ยินดีจะจ่ายเงินให้กับสินค้าในระดับพรีเมี่ยมเท่านั้น เครื่องแมคยังคงสร้างส่วนแบ่งในตลาดต่อไป แม้ว่าราคาป้ายโดยเฉลี่ยจะอยู่ที่ 1,400 ดอลลาร์สูงกว่าราคาเครื่องพีซีตามท้องตลาดเกือบเท่าตัว ในเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักช้อปยังคงพอใจที่จะจ่ายเงิน 181 ดอลลาร์โดยเฉลี่ยเพื่อซื้อไอพอดซึ่งแพงกว่าเครื่องเล่นเพลงตัวอื่นอยู่ 15% ยิ่งไอโฟนไม่ต้องพูดถึง แอบเปิ้ลตั้งราคาสูงแบบไม่สนใจใคร สตีเฟน เบคเกอร์นักวิเคราะห์จากบริษัทเอ็นพีดี กรุ๊ป อิงค์ กล่าวว่าราคาของไอโฟนเบื้องต้นอยู่ที่ 499 ดอลลาร์ แพงกว่าโทรศัพท์ทั่วไปซึ่งมีราคาเฉลี่ยอยู่ที่ 66 ดอลลาร์และสูงกว่าสมาร์ทโฟนอย่างแบล็คเบอร์รี่หรือทรีโอที่มีราคาเฉลี่ยเครื่องละ 160 ดอลลาร์เท่านั้น
ปัจจัยสู่ความสำเร็จ
ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้อาจจะไม่เกิดขึ้นหากจ๊อบส์ไม่มีความมุมานะอย่างแรงกล้าที่จะนำพาเครื่องแมคก้าวออกจาก โลกแห่งความโดดเดี่ยว ข้อตกลงในการผลิตโปรแกรมไมโครซอฟท์ออฟฟิศถือเป็นเพียงก้าวแรก แต่สิ่งที่ชี้ให้เห็นว่าครั้งนี้แอปเปิ้ลเอาจริงเอาจังมากแค่ไหนคือเหตุการณ์ในปี 2003 ที่แอปเปิ้ลออกแบบไอทูนส์ให้สามารถใช้กับปฏิบัติการวินโดวส์ได้ หลายฝ่ายเกรงว่าการตัดสินใจดังกล่าวจะส่งผลลบต่อยอดขายเครื่องแมค ตรงกันข้ามกลับกลายการผลักดันให้ยอดขายไอพอดพุ่งกระฉูด เพราะผู้ใช้คอมพิวเตอร์กว่า 98% ใช้วินโดว์ส เหตุการณ์สำคัญอีกครั้งหนึ่งคือ เมื่อบริษัทเปลี่ยนจากพาวเวอร์พีซี โปรเซสเซอร์ที่ผลิตโดยบริษัทไอบีเอ็มมาใช้ชิพที่ผลิตโดยอินเทลซึ่งได้รับความนิยมมากกว่าและทำให้เครื่องแมค รันโปรแกรมวินโดวส์ได้ (เป็นเหมือนการประกันความเสี่ยงให้กับคนที่เพิ่งเริ่มใช้เครื่องแมคด้วย) และช่วยนักพัฒนาซอฟท์แวร์สามารถปรับโปรแกรมของตนให้เข้ากับสินค้าของแอปเปิ้ลได้ง่ายขึ้นด้วย
เมื่อพิจารณาจากประสบการณ์ของบริษัท อิเลคทรอนิค อาร์ทสหรือ เออี ผู้ผลิตวิดีโอเกมยักษ์ใหญ่รายหนึ่งในช่วงต้นยุค 1980 กว่าครึ่งหนึ่งของพนักงานที่ทำงานให้กับเออีที่สำนักงานเมืองเร้ดวูด ซิตี้ (รัฐแคลิฟอร์เนีย) เคยทำงานให้กับแอปเปิ้ลมาก่อน เออีหยุดผลิตเกมส์สำหรับเครื่องแมคมาแล้วประมาณสิบปีหลังจากที่แอปเปิ้ลเปลี่ยนใจไปโฟกัสที่ตลาดระดับองค์กรแทน บิง กอร์ดอน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทอิเลคทรอนิค อาร์ทส ย้อนระลึกถึงวันที่เขาต้องช็อคเมื่อจอห์น สกัลเลย์ ซีอีโอของแอปเปิ้ลในตอนนั้นประกาศในปี 1987 ว่า “ต่อไปนี้ แอปเปิ้ลจะไม่ให้ความสนใจกับตลาดคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในบ้านอีกต่อไปแล้ว” กอร์ดอนให้ข้อคิดเห็นว่า “พวกเขาต้องทำงานหนักเพื่อให้ได้การยอมรับ สิ่งสุดท้ายที่พวกเขาต้องการจากบรรดานักธุรกิจคือมุมมองที่ว่าแมคเป็นแค่ของเด็กเล่น” เดาได้ไม่ยากเลยว่ายอดขายเกมส์สำหรับเครื่องแมคในเวลานั้นร่วงลงฮวบฮาบ ดังนั้นจึงไม่คุ้มค่าสำหรับเออีที่จะลงทุนพัฒนาเกมส์บนพีซีให้เล่นได้บนเครื่องแมค แต่ในวันนี้เครื่องแมคบนพื้นฐานของอินเทลไม่ได้มีความแตกต่างจากเครื่องพีซีที่ใช้ปฏิบัติการวินโดวส์มากนัก กอร์ดอนกล่าวว่าจากมุมมองของบริษัทเออี การผลิตเกมส์สำหรับเครื่องแมคจะมีต้นทุนต่ำกว่าการแก้ไขให้เกมส์เหล่านั้นใช้ได้กับเครื่องเล่นอย่างโซนี เพลย์สเตชั่น หรือเครื่องวีของนินเทนโด และเมื่อแมคสร้างส่วนแบ่งการตลาดในหมู่นักชอปวัยเยาว์ได้แล้ว ทางบริษัทเออีจึงประกาศแผนที่จะคลอดเกมส์แฮรี่ พอตเตอร์ตัวใหม่รวมทั้งเกมส์อื่นๆอีก 3 เกมที่สามารถเล่นบนแมคในช่วงหน้าร้อนนี้ด้วย

จุดแข็งอีกข้อหนึ่งของแอปเปิ้ลที่ไม่ค่อยได้พูดถึงคือโครงการพัฒนาของแอปเปิ้ล เมื่อครั้งที่ยอดขาย ไอพอดพุ่งสูงขึ้นในปี 2003 แอปเปิ้ลจับมือกับผู้ผลิตลำโพงขนาดพกพา กล่องใส่เครื่องเล่นเพลงและผู้ผลิตอุปกรณ์เสริมต่างๆ รวมทั้งยังนำเสนอดนตรีเคลื่อนที่ที่ใหญ่ที่สุดเมื่อบีเอ็มดับเบิลยูได้เพิ่มอุปกรณ์เชื่อมต่อกับ ไอพอดบนช่องเก็บของในรถรุ่นปี 2004 ของบริษัทเป็นครั้งแรก ผู้ผลิตรถยนต์รายใหญ่อย่าง ไครสเลอร์, ฟอร์ดและฮอนด้าก็ขอตามกระแสด้วย แม้แต่คาดิแลค ซีทีเอสที่จะออกสู่ตลาดในปี 2008 จากค่ายจีเอ็มก็ไม่ยอมน้อยหน้า อินเตอร์เฟซแบบ “หมุนแล้วคลิ๊ก” ของไอพอดจะติดตั้งอยู่บริเวณตรงกลางของแผงคอนโซล ซึ่งนอกจากจะดึงเพลงจากไอพอดมาฟังอย่างสบายอารมณ์ได้แล้ว ยังสามารถรับฟังวิทยุและเพลงจากซีดี รวมทั้งรับฟังวิทยุดาวเทียมได้อีกด้วย เจมส์ เกรซ วัย 27 ปีผู้จัดการจากบริษัทจีเอ็มที่ดูแลโครงการนี้กล่าวว่า “มันเป็นวิธีการเลือกรับฟังเพลงของเรา โดยไม่ต้องมานั่งศึกษาวิธีการใช้ของอุปกรณ์ทุกชิ้นให้ยุ่งยาก”
ด้วยความสามารถหลากหลายของไอโฟน ดูเหมือนว่าแอปเปิ้ลจะเปิดโอกาสให้กับนักพัฒนาซอฟท์แวร์ต่างๆมากขึ้นโดยเฉพาะนักพัฒนาที่เคยถูกปิดกั้น ในช่วงที่มีการคลอดไอพอด เมื่อวันที่ 11 มิถุนายนที่ผ่านมาแอปเปิ้ลประกาศว่าโปแกรมเว็บ 2.0 ทุกโปรแกรมที่ออกแบบให้รองรับกับบราวเซอร์ซาฟารีของแอปเปิ้ลจะสามารถทำงานบนไอโฟนได้ นั่นก็หมายความว่าเว็บไซต์ยอดนิยมต่างๆ เช่น มายสเปซ, ดิกก์ หรืออเมซอนดอทคอมจะสามารถปรับบริการของตัวเองให้ได้รับประโยชน์จากเจ้าไอโฟนตัวนี้ได้เป็นอย่างดี เช่น เว็บเหล่านี้อาจเพิ่มปุ่มลงบนเว็บของตัวเองเพื่อให้เจ้าของไอโฟนโทรศัพท์คุยกันกับบรรดานักท่องเน็ตด้วยกันได้ แทนการใช้บริการแค่ส่งอีเมลล์หรือโพสต์ข้อความถึงกันเท่านั้น

แน่นอนว่ามันเป็นการสร้างความลำบากให้กับนักพัฒนาโปรแกรมหลายคนที่เคยมีอิสระในการออกแบบแอพพลิเคชั่น ต้องปรับตัวเองให้มาออกเพื่อให้รองรับกับระบบทำงานของเจ้าไอโฟนตัวนี้ แต่แอปเปิ้ลก็หยิบยื่นสิทธิพิเศษนี้ให้กับพาร์ทเนอร์เพียงไม่กี่ราย เช่น กูเกิ้ล อย่างไรก็ตาม เจย์ เอเดลสันประธานบริษัทดิกก์กล่าวว่า “เป็นการเริ่มต้นที่ดี” เอเดลสันคาดหวังว่าแอปเปิ้ลจะเปิดโอกาสให้พาร์ทเนอร์อื่นๆมีส่วนร่วมมากขึ้นในอนาคต เขากล่าวเพิ่มเติมว่า “ในตอนนี้ ระบบการควบคุมการทำงานของไอโฟนมีความซับซ้อนมาก เพราะแอปเปิ้ลมีมาตรฐานที่สูงมากเกินไป (ทั้งในแง่ความเชื่อมั่นและประสบการณ์ของผู้ใช้) ที่ต้องเอื้อมให้ถึง”
อย่างไรก็ตามพาร์ทเนอร์อีกหลายรายไม่รอการเชื้อเชิญแบบเป็นทางการ ถึงแม้จะมีข้อสงสัยเกี่ยวกับประโยชน์ของไอโฟนสำหรับนักธุรกิจที่ต้องการใช้งานอย่างจริงจัง แต่สำหรับเซลล์ฟอร์ซดอทคอมแล้วพวกเขายังคงก้มหน้าก้มตาพัฒนาซอฟท์แวร์เกี่ยวกับการบริหารการขาย เพื่อให้รองรับกับมือถือไอโฟน มาร์ค เบนอฟ ซีอีโอของบริษัทกล่าวว่า “มันไม่ใช่เรื่องของส่วนแบ่งทางการตลาดหรอก แต่เราอยากจะแสดงให้เห็นว่าเราสามารถทำอะไรได้บ้างและเรามีอะไรเจ๋งๆ อยู่” ยิ่งไปกว่านั้น นักพัฒนากว่า 150 คนได้ลงทะเบียนเพื่อเข้าสัมนาเฉพาะกิจภายใต้หัวข้อ “ค่ายนักพัฒนาไอโฟน” ในเมืองซานฟรานซิสโกเมื่อ วันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมาเพื่อร่วมกันแลกเปลี่ยนความคิดและการสร้างสรรค์แอพพลิเคชั่นใหม่ๆ ให้กับไอโฟน
แม้สวนผลไม้ของแอปเปิ้ลจะเบ่งบานขึ้นอย่างต่อเนื่อง แต่มันก็ไม่ใช่สวนสวรรค์อีเดนที่สวยงามเหมือนที่ใครๆคิด เพราะแอปเปิ้ลต้องการให้พันธมิตรที่มีส่วนร่วมทุกรายทำทุกอย่างให้สมบูรณ์แบบที่สุด แกรี่ จอห์นสัน อดีตซีอีโอของบริษัทผลิตชิพอย่างพอร์ทัล เพลย์เยอร์ อิงค์กล่าวว่า “ภาพของแอปเปิ้ลที่ใครๆ รู้จักคือ บริษัทเรียบง่ายสบายๆ แห่งรัฐแคลิฟอร์เนีย แต่ความจริงไม่ใช่แบบนั้นเลย” บริษัทพอร์ทัล เพลย์เยอร์ อิงค์เติบโตจากการเป็นผู้ผลิตคลังสมองบันทึกข้อมูลอิเลคทรอนิคส์ให้กับเครื่องไอพอดในรุ่นแรกๆ จอห์นสันกล่าวเพิ่มเติมว่าเมื่อไรก็ตามที่งานของแอปเปิ้ลเกิดปัญหาขึ้น ปัญหาเหล่านั้นต้องได้รับการแก้ไข วิศวกรจะถูกเรียกตัวเพื่อ “วิเคราะห์หาสาเหตุที่แท้จริง” ของปัญหา พร้อมคำอธิบายภายใน 12 ชั่วโมง “สำหรับลูกค้ารายอื่น คุณอาจจะเกลี้ยกล่อมไม่ให้พวกเขาโวยวายโดยจับวิศวกร 10 กว่าคนขึ้นเครื่องบินไปพบ แต่ไม่ใช่กับแอปเปิ้ล”
“พันธมิตรที่ไม่มีเหตุผล”
การทำงานกับแอปเปิ้ลอาจจะเป็นเรื่องน่าเบื่อหน่าย เหมือนดังที่จอห์นสันกล่าวว่าแอปเปิ้ลแทบจะไม่เคยสั่งงานเป็นลายลักษณ์อักษรในข้อกำหนดทางเทคนิค ที่พวกเขาต้องการเลย แต่จะสั่งงานทางวาจาเพื่อป้องกันไม่ให้มีเอกสารที่อาจจะนำไปสู่การรั่วไหลของข้อมูลได้ และไม่มีซัพพลายเออร์คนใดล่วงรู้เลยว่าแอปเปิ้ลกำลังทำอะไรอยู่ สิ่งที่จะบอกเป็นสิ่งที่ “จำเป็นต้องรู้” เท่านั้น จอห์นสันเสริมอีกว่า “ไม่มีเหตุผลเลย มันเหมือนกับว่าเราเกิดมาเพื่อคอยรับใช้พวกเขา” อย่างไรก็ตาม จอห์นสันก็ไม่ได้รู้สึกขุ่นเขืองใจในการทำงาน “มันไม่ใช่เรื่องร้ายแรงอะไรหรอก เราก็แค่ทำงานแบบเครื่องจักร เพราะต่อให้เราเป็นเพื่อนกันหรือมีความสัมพันธ์ทางธุรกิจอย่างลึกซึ้งแค่ไหน พวกเขาก็ไม่แคร์” จอห์นสันรู้ข้อนี้ดีเพราะเช้าวันหนึ่งในเดือนเมษายนปี 2006 แอปเปิ้ลตัดสินใจจะไม่ใช้ชิพที่บริษัทเขาอุตส่าห์พัฒนามานานกว่าหนึ่งปีและคาดว่าชิพตัวนี้จะสร้างยอดขายเกิน ครึ่งให้กับบริษัทพอร์ทัล เพลย์เยอร์ ไม่กี่วันต่อมาหลังแจ้งเรื่องนี้ให้กับวอลล์สตรีทหุ้นของบริษัทร่วงทันที 50% เจ็ดเดือนต่อมาบริษัท เอ็นวีเดีย คอร์ปเข้าซื้อกิจการของพอร์ทัลเพลย์เยอร์ด้วยเงินเพียง 357 ล้านดอลลาร์ซึ่งมีมูลค่าเพียงครึ่งเดียวของมูลค่าตลาดที่เคยสูงที่สุดของบริษัท
ซัพพลายเออร์ผู้ผลิตรายการทีวี ภาพยนตร์และวิดีโอคอนเทนท์อื่นๆ ต่างมีเหตุผลในการตรึกตรองก่อนที่จะเข้าร่วมในระบบนิเวศน์ของแอปเปิ้ล เพราะทุกคนตระหนักดีว่ามันเกิดอะไรขึ้นกับอุตสาหกรรมดนตรี จ๊อบส์สร้างโมเดลมีดโกนหนวดกับใบมีดแบบกลับด้านให้กับไอพอด ขณะที่แอปเปิ้ลขายด้ามจับมีดโกนหนวดที่สร้างกำไรอันงดงาม (เครื่องเล่นดิจิตอลมิวสิค) แต่เจ้าของเพลงต้องทนอยู่กับการขายใบมีดถูกๆ (เพลง) ฮอลลีวู้ดได้ออกมาต่อต้านแนวคิดของจ๊อบส์ในเรื่องการทำให้ไอโฟนและไอพอดสามารถดูหนังได้ มีเพียงหนังจากวอลท์ดิสนีย์ (ซึ่งจ๊อบส์เป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุด) และพาราเมาท์ พิคเจอร์สเท่านั้นที่ให้สิทธิ์ไอทูนส์ มีเพียงรายการโทรทัศน์และภาพยนตร์ 52 ล้านรายการเท่านั้นที่ขายโดยแอปเปิ้ล คิดเป็นสัดส่วนเท่ากับวิดีโอ 2 รายการต่อไอพอด 1 เครื่องเท่านั้น
การได้บริษัท เอทีแอนด์ที เข้ามาเป็นพันธมิตรรายใหม่รับหน้าที่ให้บริการกับลูกค้าของโทรศัพท์มือถือไอโฟนเป็นสิ่งที่น่าทึ่ง นับตั้งแต่การเปิดตัวในเดือนมกราคม หลายคนอดสงสัยไม่ได้ว่าจ๊อบส์และไอโฟนจะเอาชนะอิทธิพลของธุรกิจโทรศัพท์มือถือที่มีมูลค่ากว่า 140 ล้านดอลลาร์ ด้วยเสียงสนับสนุนจากผู้บริโภคอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อนได้หรือไม่ เพราะโดยปรกติแล้วบริษัทผู้ให้บริการสัญญาณโทรศัพท์มือถือในสหรัฐฯ จะเป็นผู้ควบคุมตลาดและกลไกราคาของโทรศัพท์มือถือ ตลอดจนเป็นคนตัดสินว่าโทรศัพท์มือถือควรจะมีฟังก์ชั่นการใช้งานอะไรบ้างเช่น การดาวน์โหลดเพลงแบบไร้สาย แต่นั่นไม่ใช่วิธีของแอปเปิ้ล เพราะแอปเปิ้ลเป็นคนกำหนดบริการหลัก 16 รายการของเจ้าไอโฟนบนหน้าเว็บเอง และผู้ใช้บริการต้องลงทะเบียนผ่านไอทูนส์เท่านั้น ไม่ใช่เว็บไซต์ของเอทีแอนด์ทีหรือแม้แต่ในร้านก็ตาม
ที่สุดแล้วเอทีแอนด์ทีจะยอมตกอยู่ในสถานการณ์ที่ธุรกิจทำกำไรได้เพียงน้อยนิดแค่นี้หรือ คำตอบก็คือผู้ให้บริการโทรศัพท์รายนี้จะมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นจากการแย่งชิงฐานลูกค้ามาจากบริษัทคู่แข่ง แรนดัล แอล สตีเฟนสันซีอีโอ ของ เอทีแอนด์ทีกล่าวเมื่อวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมาว่า ผู้ขอรับบริการไอโฟนจำนวน 40% จากทั้งหมด 1.1 ล้านคนไม่ได้เป็นลูกค้าของบริษัทเอทีแอนด์ทีมาก่อน นักวิเคราะห์ชี้ว่าแอปเปิ้ลจะมีกำไรขั้นต้นถึง 35% จากราคาไอโฟนเครื่องละ 500 ดอลลาร์ ขณะที่เอทีแอนด์ทีเสนอบริการข้อมูลและบริการโทรศัพท์ในราคาขั้นต้นที่ 59 ดอลลาร์น้อยกว่าต้นทุนที่เสนอขายให้กับอุปกรณ์ที่ใช้ส่งอีเมลล์ในองค์กรอย่างทรีโอประมาณ 20 ดอลลาร์ นอกจากกำไรที่ลดลงแล้ว เอทีแอนด์ทีอาจต้องเผชิญกับการต่อรองจากบรรดาผู้ผลิตโทรศัพท์มือถือรายอื่นๆ ที่อยากได้ข้อเสนอเดียวกับไอโฟน
สำหรับสตี๊ฟ จ๊อปส์แล้วบททดสอบที่แท้จริงอยู่ที่ว่าเขาจะเปลี่ยนทัศนะคติของลูกค้าที่มีต่อการใช้โทรศัพท์มือถือได้หรือไม่ เพราะนี่เป็นครั้งแรกที่แอปเปิ้ลได้ก้าวเข้าสู่การแข่งขันในตลาดแมสที่มีผู้เล่นครองตลาดอยู่ก่อนแล้ว ผู้ผลิตมือถือรายอื่นๆ คงไม่ปล่อยให้จ๊อบส์พลิกสถานการณ์เพื่อให้แอปเปิ้ลได้เปรียบเพียงลำพัง ผู้เล่นบางรายได้เริ่มผลิตสินค้าที่มีราคาถูกกว่าไอโฟนออกมาสู่ท้องตลาดแล้ว ถึงแม้ความสามารถอาจจะไม่มากเท่าไอโฟนแต่ก็ใกล้เคียงมาก ทั้งนี้ขึ้นอยู่ว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่จะเลือกออมเงินไว้ในกระเป๋าหรือจะเลือกซื้อหาความหรูหราเพียงเล็กน้อย? จากประวัติศาสตร์เราได้เรียนรู้ว่า ผู้บริโภคจะเลือกเก็บเงินไว้ ประกอบกับคำพูดของศาสตราจารย์เคลย์ตัน เอ็ม คริสเต็นเซ่นแห่งโรงเรียนบริหารธุรกิจฮาร์วาร์ดที่กล่าวไว้ว่า “คนทั้งโลกมักจะขอบคุณนักประดิษฐ์สำหรับการรังสรรค์สินค้าดีๆ แต่พวกเขามักจะไม่ยอมจ่ายเงินซื้อมันหรอก มันเปรียบเสมือนแรงสมดุลที่มีอยู่”

ถึงตอนนี้การปะทะกันระหว่างสตีฟ จ๊อบส์กับแรงสมดุลได้บังเกิดขึ้นแล้ว เป็นศึกที่น่าติดตามเสียเหลือเกิน
– แอริค เฮสเซลดาห์น จากนิวยอร์กและโรเจอร์ โอ คร็อคจากชิคาโก

ซัพพลายเออร์
แอปเปิ้ลมีสองสิ่งที่ซัพพลายเออร์มองหาได้แก่ ปริมาณการสั่งซื้อจำนวนมากในวันนี้และผลตอบแทนในวันหน้า ยกตัวอย่างเช่นแอปเปิ้ลจะซื้อแฟลชเมมโมรีชิพจากบริษัทเอ็นเอเอ็นดี (ชิ้นส่วนสำคัญของไอพอดนาโนและไอโฟน) 19% จากยอดผลิตทั่วโลก ซึ่งบริษัทก็หวังว่าจะได้รับการสั่งซื้อจอระบบสัมผัสในอนาคตอีกด้วย บรรดาบริษัทผู้พัฒนาซอฟท์แวร์หน้าใหม่มากมายต่างพยายามสร้างสรรค์โปรแกรมที่ใช้กับสินค้าของแอปเปิ้ล
อุปกรณ์เสริม
อุตสาหกรรมมูลค่ากว่าพันล้านในธุรกิจขายอุปกรณ์เสริมของไอพอดผุดขึ้นเป็นดอกเห็ด รวมถึงที่อุปกรณ์เชื่อมต่อไอพอดบนที่ใส่ทิชชู่ในห้องน้ำและลำโพงที่เป็นกระเป๋าสะพายบ่า แอปเปิ้ลกล่าวว่า 70% ของรถที่ผลิตออกมาในช่วงปี 2007 จะติดตั้งอุปกรณ์เชื่อมต่อไอพอด นอกจากนี้แอปเปิ้ลยังจับมือกับสายการบิน 4 แห่งให้บริการกับผู้โดยสารที่ต้องการเลือกชาร์จไฟให้กับเครื่องไอพอดหรือดูวิดีโอจากเมมโมรี่ของไอพอดผ่านจอ ทีวีที่ติดตั้งอยู่ด้านหลังพนักพิงของเบาะได้ ปัจจุบันมีการโฆษณาสินค้าเกี่ยวกับไอโฟนแล้วกว่า 1,000 รายการ
คอนเทนท์
ในช่วงสองปีที่ผ่านมาเครือข่ายสถานีโทรทัศน์หลักๆ จากวอร์เนอร์บราเธอร์สไปจนถึงซีบีเอส, ฟ๊อกซ์ และ เอ็มทีวีขายรายการโทรทัศน์ของตนกว่า 50 ล้านรายการผ่านซอฟท์แวร์ของไอทูนส์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว สร้างรายได้ราว 100 ล้านดอลลาร์ รวมถึงภาพยนตร์กว่า 2 ล้านเรื่องในปีที่ผ่านมา แอปเปิ้ลเองขายเพลงกว่า 2.5 พันล้านเพลงจากบริษัทหุ้นส่วนรวมถึงอีเอ็มไอ ยูนิเวอร์แซลและโซนี ส่วนแบ่งตลาดขายเพลงดิจิตอลของแอปเปิ้ลคิดเป็นประมาณ 70% และเป็นอันดับสามของผู้ค้าปลีกเพลงรายใหญ่ที่สุดในสหรัฐอเมริกาสำหรับตลาดเพลงทุกฟอร์แมท
ข้อมูล: แอปเปิ้ล อิงค์, เอ็นพีดี กรุ๊ป อิงค์และไอซัพพลาย คอร์ป
© 2007 by The McGraw-Hill Companies Inc. All rights reserved.

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *