มหาพีระมิดคูฟู ตำนาน Project Management ของอียิปต์

มหาพีระมิดคูฟู ตำนาน Project Management ของอียิปต์
เมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา ผู้เขียนได้ขอเวลานอกเดินทางไปท่องเที่ยว ณ ประเทศอียิปต์ เจ้าของตำนานการทำมัมมี่ สฟิงซ์ และพีระมิดที่เก็บพระศพของกษัตริย์ยุคโบราณที่มีกรุสมบัติล้ำค่ามหาศาล…จนฮอลลีวู้ดสามารถนำไปผูกเรื่องราวสร้างเป็นภาพยนต์หลายต่อหลายเรื่อง ตั้งแต่มัมมี่คืนชีพ ตลอดจนการขุดกรุมหาสมบัติของฟาโรห์
ท่ามกลางบรรยากาศการเมืองที่ค่อนข้างคุกรุ่น และอากาศที่ร้อนอบอ้าวเช่นนี้ เรามาคุยเรื่องสบายๆ คลายเครียดกันดีกว่านะคะ แต่ขอรับรองว่ายังไม่ได้เปลี่ยนคอลัมน์นี้เป็นคอลัมน์ท่องเที่ยวแน่ๆ เพียงแต่ว่าได้พบเรื่องน่าสนใจที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารงาน บริหารคน จากประเทศอียิปต์ เลยอยากนำมาเล่าให้ฟังในมุม HR Variety ที่คุยกันทุกเรื่องที่เกี่ยวกับคน โดยจะขอเล่าตั้งแต่เริ่มลงจากเครื่องบินสู่สนามบินกรุงไคโรเลย
รัฐบาลของอียิปต์นั้นตระหนักดีว่าจุดเด่นของประเทศคือการมีอารยธรรมเก่าแก่กว่า 4,000 ปี และการเป็นเจ้าของสถาปัตยกรรมสิ่งก่อสร้าง ศิลปกรรม และขนบธรรมเนียมประเพณีต่างๆ ที่ล้วนเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยว รัฐบาลอียิปต์จึงพยายามสร้างสาธารณูปโภครองรับนักท่องเที่ยว และยังออกกฎหมายที่มีบทลงโทษการทำร้ายนักท่องเที่ยวในอียิปต์อย่างรุนแรงอีกด้วย ทำให้นักท่องเที่ยวรู้สึกสบายใจขึ้นในระดับหนึ่งในการเดินทางพักผ่อนในประเทศนี้
เมื่อเครื่องบินจอดลงที่สนามบินนานาชาติกรุงไคโรในช่วงรุ่งอรุณ ผู้เขียนก็รู้สึกถึงอากาศที่ค่อนข้างเย็นสดชื่นของเช้าวันนั้นได้ กระบวนการผ่านคนเข้าเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว จนผ่านมาถึงการรับกระเป๋าจะขอตำหนิก็ตรงที่มีห้องน้ำสำหรับสุภาพสตรีน้อยมากค่ะ มีแค่ 4 ห้องเท่านั้น ในขณะที่ในเครื่องบินลำหนึ่งมีผู้โดยสารมากมาย หากลงมาหลายๆ ลำพร้อมกัน ไม่ทราบต้องรอนานขนาดไหน เรื่องห้องน้ำนี้อาจถือเป็น “ประเด็น” หนึ่ง ที่ต้องพูดถึงในการเตรียมตัวมาเที่ยวอียิปต์
ทั้งนี้ เราได้รับการเตือนจากมัคคุเทศก์ประจำคณะของเราตั้งแต่ก่อนออกมาจากเมืองไทยแล้วว่า ต้องเตรียมเงินเพื่อชำระค่าบริการในการใช้ห้องน้ำครั้งละไม่น้อยกว่า 1 ปอนด์อียิปต์ (ประมาณ 7 บาท) ทั้งนี้บางครั้งแม้แต่ในภัตตาคารที่เราเข้าไปรับประทานอาหารก็ตาม เราก็ต้องจ่ายค่าทิปให้แก่ผู้หญิงที่มือหนึ่งคอยยื่นกระดาษชำระให้เรา อีกมือก็แบรอรับเงินค่าบริการ เงื่อนไขการใช้ห้องน้ำแบบนี้ทำให้คิดถึงเมืองไทยบ้านเราติดหมัด เพราะตามปั๊มน้ำมันของเรานั้นห้องน้ำสะอาดและไม่บังคับว่าเราต้องจ่ายเงินค่าบริการด้วย นับเป็นเสน่ห์อย่างหนึ่งที่ดึงดูดนักท่องเที่ยวด้วยน้ำใจแบบไทยๆ เรา
พอออกจากสนามบินเราก็ดิ่งไปยังเมืองอเล็กซานเดรีย (Alexandria) ซึ่งอยู่ห่างจากกรุงไคโรเป็นระยะทางขับรถประมาณ 2.5 ชั่วโมง เส้นทางจากไคโรไปยังอเล็กซานเดรียนั้นผ่านท้องทุ่งทะเลทราย มีบ้านเรือนข้างทางน้อยมาก เราได้เห็นสวนส้มประปราย ซึ่งต้องอาศัยการชลประทานนำน้ำจากแม่น้ำไนล์มาช่วยในการเพาะปลูก นอกจากนี้ก็ได้เห็นต้นอินทผลัมซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ ต้นปาล์มด้วย ผู้คนที่พบเห็นข้างทางจะเป็นผู้ชายเสียเป็นส่วนใหญ่ ใส่ชุดประจำชาติ คือเสื้อตัวยาวและกางเกง ผู้ชายโดยมากมักไว้หนวดแต่ไม่ไว้เครา ผู้หญิงก็แต่งตัวปกปิดมิดชิด แบบสาวมุสลิมบ้านเรา และมีผ้าคลุมศีรษะแต่ไม่ปิดทั้งหน้าเหลือแต่ลูกนัยน์ตาแบบสาวมุสลิมบางประเทศ
เมืองอเล็กซานเดรียนั้น ปัจจุบันเป็นเมืองท่องเที่ยวและเป็นเมืองท่าของอียิปต์ตั้งอยู่บนฝั่งทะเลเมดิเตอร์เรเนียน เราได้ไปชม Citadel ซึ่งเป็นป้อมปราการที่สร้างในคริสต์ศตวรรษที่ 15 โดยสร้างอยู่บนซากประภาคารฟาโรส (Pharos) ซึ่งเป็นประภาคารเก่าแก่มีอายุ 2,300 ปี ประภาคารนี้ออกแบบโดยสถาปนิกชาวกรีก โดยสร้างเพื่อเฉลิมพระเกียรติพระเจ้าปโตเลมี ฟิลาเดลฟัส ประภาคารนี้ถือเป็น 1 ใน 7 ของสิ่งมหัศจรรย์ของโลกในยุคโบราณก่อนคริสตกาลที่มีเพียงซากบางส่วนให้เราได้เห็นอยู่
เล่ากันว่าประภาคารนี้มีห้องต่างๆ ถึง 300 ห้อง และต้องใช้แรงงานทาสจำนวนมากในการสร้างโดยใช้เวลาสร้างแล้วเสร็จ 12 ปี หลังจากชมป้อมปราการเสร็จ ก็ได้เดินทางต่อไปชมสฟิงซ์ซึ่งเป็นรูปปั้นขนาดยักษ์ เป็นคนที่มีร่างเป็นสิงโต หรืออีกนัยหนึ่งคือสิงโตที่มีหน้าเป็นคน ในเมืองอเล็กซานเดรียมีสฟิงซ์เก่าแก่อายุเป็นพันปีเช่นกัน เพียงวันแรกที่ได้เห็นสิ่งก่อสร้างต่างๆ ในเมืองนี้ก็รู้สึกทึ่งและประหลาดใจว่าคนโบราณในยุคกว่า 2,000 ปีมาแล้วมีความสามารถในการสร้างสิ่งใหญ่โตสวยงามถึงเพียงนี้เชียวหรือ แต่นี่เป็นเพียง “Intro” หรือบทนำเท่านั้น เพราะในวันต่อมาที่ได้ไปชมมหาพีระมิดที่เมืองกิซาแล้ว ยิ่งทำให้ผู้เขียนอยากศึกษาเรื่องราวความสามารถในการบริหารและการจัดการของชาวอียิปต์เมื่อ 3–4 พันปีที่แล้วเป็นอย่างยิ่ง
มหาพีระมิดคูฟู (Khufu) ที่ตั้งอยู่บนที่ราบสูงกิซา (Giza) ชานกรุงไคโรนั้นเป็นประหนึ่งเมืองย่อมๆ เลยทีเดียว เพราะพิจารณาจากผังของการก่อสร้างแล้วจะเห็นว่ามีพีระมิดใหญ่ของกษัตริย์คูฟูอยู่ตรงกลาง ถัดออกไปเป็นพีระมิดของมเหสีและลูกๆ และมีตัวสฟิงซ์เพื่อรักษาพระศพอยู่ด้านหน้า อีกทั้งมีวิหารรายรอบ ซึ่งในอดีตเป็นที่ตั้งเทวรูปต่างๆ เพราะในสมัยโบราณชาวอียิปต์นับถือเทพเจ้า ก่อนที่จะเปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลาม ชาวอียิปต์โบราณสร้างพีระมิดเพื่อเป็นที่เก็บพระศพของกษัตริย์ ซึ่งพระศพจะถูกทำมัมมี่ไว้ ด้วยกระบวนการที่ใช้เทคนิควิทยาทางการแพทย์และเคมีระดับสูง ซึ่งในปัจจุบันก็ยังไม่มีใครสามารถพบสูตรลับว่าเหตุใดจึงสามารถรักษาสภาพศพให้มีผิวหนังและเส้นผมคงอยู่ได้ถึงกว่า 3,500 ปี
ส่วนในเรื่องของการก่อสร้างพีระมิดนั้นได้มีนักโบราณคดี นักมานุษยวิทยา และนักวิชาการสาขาอื่นๆ เช่น สถาปัตยกรรมศาสตร์ และวิศวกรรมศาสตร์ ทำการศึกษาผังของการก่อสร้างและการดำเนินงานในการก่อสร้างสิ่งมหัศจรรย์ของโลกนี้จากการศึกษาซากกระดูกและโบราณวัตถุต่างๆ และจากการทดลองแบบจำลองการสร้างพีระมิด ซึ่งทำให้ได้ข้อสรุปที่น่าสนใจดังนี้
1.ตามที่เคยเชื่อว่าต้องใช้แรงงานทาส (ซึ่งเป็นแรงงานบังคับ) ประมาณ 100,000 คน ในการสร้างพีระมิดนั้น ไม่น่าจะเป็นตัวเลขที่ถูกต้อง Mendelssohn ซึ่งเป็นนักคณิตศาสตร์และนักฟิสิกส์ชาวอเมริกันคำนวณว่าน่าจะใช้คนประมาณ 50,000 คน ในการก่อสร้างพีระมิด ส่วนนักวิชาการคนอื่นๆ เชื่อว่าอาจใช้คนน้อยกว่านั้นอีกเพียงแค่ 36,000 คนก็ได้ เพราะผู้ชายเพียง 8–12 คน สามารถลากก้อนหินหนัก 2.5 ตัน ตามทางลากที่ราดน้ำเพื่อเพิ่มความหล่อลื่นและลดแรงเสียดทาน ทั้งนี้จากหลักฐานที่ขุดพบรอบพีระมิดได้พบทางระบายน้ำด้วย แสดงว่าชาวอียิปต์โบราณมีความรู้เรื่องการระบายน้ำและรู้หลักกลศาสตร์เป็นอย่างดี หลักฐานอีกประการหนึ่งจากการสังเกตของผู้เขียนจากภาพที่สลักบนผนังห้องของสุสานในพีระมิดที่เมืองเม็มฟิส (Memphis) คือ มีภาพเรือที่มีใบเรือหลายใบของชาวอียิปต์ เมื่อ 3,500 ปีมาแล้ว ซึ่งรูปร่างเรือนั้นมีส่วนคล้ายเรือไวกิ้งอยู่เหมือนกัน และใครๆ ก็คงทราบว่าการชักใบเรือนั้นก็คือหลักการใช้รอกที่สามารถนำไปใช้ในการก่อสร้างได้ จึงน่าเชื่อว่าชาวอียิปต์รู้หลักกลศาสตร์แน่ๆ และใช้ความรู้นี้ในการขนหินน้ำหนักเป็นตันมาใช้ในการก่อสร้างได้
2.การสร้างพีระมิดไม่ได้ใช้แรงงานทาสอย่างเดียว ต้องมีแรงงานมีฝีมืออื่นๆ ร่วมด้วย Alan Winston ได้วิเคราะห์ว่าชาวอียิปต์โบราณนั้นต้องเป็นนักจัดการและวางระบบแรงงาน (Labor organizers) ที่ยิ่งใหญ่ เพราะในการสร้างพีระมิด Khufu นั้นต้องใช้คนครึ่งแสน ประกอบด้วยวิศวกร สถาปนิก ช่างไม้ ช่างปูน ช่างแกะสลัก แรงงานยกของหนัก และต้องมีหน่วยงานสนับสนุน คือหน่วยจัดการเรื่องที่พัก อาหารของแรงงานทั้งหมด ดังนั้นการสร้างพีระมิดก็คือโครงการหนึ่งที่ต้องใช้ทักษะการจัดการที่มีประสิทธิภาพ ที่ในสมัยปัจจุบันเรียกว่า Project Management นั่นเอง ดังนั้นนักวิเคราะห์เชื่อว่าแรงงานส่วนหนึ่งเป็นทาสที่ใช้แรงงาน แต่แรงงานมีฝีมือนั้นต้องมีค่าจ้าง จากการขุดซากปรักหักพังรอบพีระมิดพบซากหมู่บ้านของคนงาน ที่มีโรงงานของช่างฝีมือต่างๆ เช่น ช่างตีเหล็ก ช่างปั้น มีโรงครัว โรงอบขนมปัง จากซากของโครงสร้างเหล่านี้ทำให้คาดเดาว่ามีการแบ่งงานกันเป็นหมวดหมู่ เป็นทีมงานตามความเชี่ยวชาญ
ยิ่งศึกษาเรื่องการสร้างพีระมิดลึกลงไปมากขึ้น และการขุดพบหลักฐานต่างๆ มากขึ้น ทำให้บรรดานักอียิปต์วิทยา (Egyptologists) เชื่อว่าการสร้างพีระมิดนั้นน่าจะใช้แรงงานคนน้อยลงไปอีก เผลอๆ จะเหลือแค่ 30,000 คนด้วยซ้ำ เพราะมีระบบการจัดแบ่งงานและเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพสูง (สำหรับสมัยเกือบ 4,000 ปีมาแล้ว)
3.การสร้างพีระมิดนั้นเกิดจากความเชื่อและความศรัทธา (Faith) ซึ่งถือเป็น Core Value ของผู้คนที่ทำงานใน Project นี้ เนื่องจากพีระมิดคือสถานที่เก็บพระศพของกษัตริย์ซึ่งเชื่อว่าสักวันหนึ่งจะฟื้นคืนชีพมาอีก ดังนั้นสิ่งปลูกสร้างทุกอย่าง ข้าวของทุกชิ้นที่นำมาใช้ในการก่อสร้าง ภาพวาด สิ่งประดับตกแต่ง ล้วนแล้วแต่เป็นฝีมือศิลปินและช่างระดับยอดฝีมือของแผ่นดิน การสร้างพีระมิดถือเป็นกิจกรรมอันสูงส่ง เป็นการรับใช้พระมหากษัตริย์ที่เปรียบดังเทพเจ้า ดังนั้นก็น่าจะคล้ายๆ กับความเชื่อเรื่องการสร้างวัดของคนไทยว่ามีอานิสงส์สูง จึงน่าเชื่อว่าด้วยศรัทธาของคนอียิปต์ในการสร้างพีระมิดนี่แหละที่ทำให้เป็นแรงผลักดันทำให้ผู้นำในการสร้างพีระมิดสามารถเรียกแรงใจจากแรงงานได้ประสบความสำเร็จ
และสำหรับตัวผู้เขียนที่เพิ่งจะเริ่มมาค้นข้อมูลเกี่ยวกับการสร้างพีระมิดและได้เห็นหลักฐานบางส่วนด้วยตาตนเอง ก็เห็นจริงแล้วค่ะว่าชาวอียิปต์โบราณนั้นต้องมีทักษะด้านการจัดการสูงแน่ๆ การไปอียิปต์เที่ยวนี้จึงทั้งประทับใจและได้ความรู้มากมาย ทั้งในแง่วัฒนธรรมและการจัดการเลยค่ะ
* หากท่านมีข้อเสนอแนะหรือคำถาม กรุณาติดต่อที่ : siriyupa.hrvariety@sasin.edu
ข้อมูลและประสานงาน : คุณอารีย์ พงษ์ไชยโสภณ

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *