ฟังเพลงคลาสสิกทำให้ฉลาดขึ้น … จริงหรือ?

ฟังเพลงคลาสสิกทำให้ฉลาดขึ้น … จริงหรือ?

เคยมีใครได้ยินเรื่องที่ว่า ถ้าเราให้เด็กฟังเพลงคลาสสิกโดยเฉพาะอย่างยิ่งเพลงของโมสาร์ท แล้วเด็กจะฉลาดบ้างไหมครับ?

คราวนี้ เราจะมาดูกันว่า แนวคิดในเรื่องนี้มีความเป็นวิทยาศาสตร์แท้หรือวิทยาศาสตร์เทียมแค่ไหน? อย่างไร?

โมสาร์ทเอ็ฟเฟคท์

แนวคิดข้างต้นมีชื่อเรียกเฉพาะว่า โมสาร์ทเอ็ฟเฟคท์ (Mozart Effect) ผู้ที่คิดคำนี้ขึ้นก็คือ อัลเฟรด โทเมทิส (Alfred Tomatis) แต่แนวคิดเรื่องนี้ถือกำเนิดขึ้นก่อนหน้านั้นในปี 2536 ด้วยความร่วมมือของนักฟิสิกส์ชื่อ กอร์ดอน ชอว์ (Gordon Shaw) และผู้ชำนาญการเกี่ยวกับเรื่องพัฒนาการของสมอง และเป็นอดีตนักเล่นไวโอลินในวงคอนเสิร์ตอีกชื่อ ฟรานเชส รอสเชอร์ (Frances Rauscher) ทั้งคู่ได้ศึกษาผลกระทบต่อนักศึกษาจำนวน 36 คน หลังจากฟังเพลงชื่อ โซนาตาในดีเมเจอร์สำหรับเปียโนคู่ (Sonata for Two Pianos in D Major) ของโมสาร์ทไปราว 10 นาที

ภาพวาดและภาพพจน์ของโมสาร์ทในจินตนาการของผู้สร้างภาพยนตร์

ผลที่ได้ทำให้หลายคนต้องประหลาดใจ เพราะพวกเขาพบว่า การฟังเพลงดังกล่าว ทำให้นักศึกษามีความสามารถ ในการทำแบบทดสอบไอคิว ชนิดสแตนฟอร์ด-ไบเนท (Stanford-Binet) ดีขึ้นราว 8-9 จุด วิธีการที่พวกเขาทดสอบก็คือ ให้พวกนักศึกษาทดลอง การพับและตัดกระดาษ

ปรากฏว่า สื่อมวลชนสนใจผลงานดังกล่าวกันอย่างมาก ส่วนหนึ่งอาจจะเป็นเพราะผลการวิจัยดังกล่าว ตีพิมพ์อยู่ในวารสารวิทยาศาสตร์ Nature ที่โด่งดังและได้รับความเชื่อถือเป็นอย่างสูง ต่อมา ยังมีการกล่าวอ้างเพิ่มเติมออกไปอย่างกว้างขวางชนิดที่ว่า ไม่เกรงใจผลการทดลองจริงๆ ว่า ถ้าพ่อแม่ผู้ปกครองเปิดเพลงคลาสสิกให้คุณลูกที่ยังแบเบาะหรือยังเล็กอยู่ รวมไปถึงฟังเพลงดังกล่าวขณะที่ตั้งครรภ์จะให้ผลแบบเดียวกัน

แต่ข้ออ้างดังกล่าวไม่มีผลการทดลองยืนยันแต่อย่างใด

ตัวนักวิจัยคนหนึ่งเองคือ ชอว์ก็เข้าร่วมขบวนแห่ขบวนเห่อแนวคิดดังกล่าวไปด้วย โดยการออกหนังสือและแผ่นซีดีชื่อ Keeping Mozart in Mind ในช่วงเวลาภายหลังการตีพิมพ์ผลการวิจัยไปแล้ว 6 ปี ชอว์เองตีความผลการทดลองว่า แบบทดสอบที่ใช้เป็นแบบทดสอบวัดการใช้เหตุผล ซึ่งจำเป็นต่อระบบความจำซึ่งเกี่ยวข้องกับการเรียนคณิตศาสตร์ วิศวกรรม และวิทยาศาสตร์ด้วย

ดังนั้น การฟังเพลงดังว่า ก็น่าจะเพิ่มระดับสติปัญญาได้ด้วย

ผู้คนจำนวนมากเชื่อว่า ดนตรีทำให้เด็กฉลาดขึ้นได้

หลังจากนั้น ชอว์ยังได้พัฒนาซอฟแวร์ที่ใช้ฝึกหัดโดยไม่ต้องอาศัยภาษาเป็นตัวกลาง แต่ใช้ภาพเคลื่อนไหวของนกเพนกวินเป็นตัวช่วยอีกด้วย ปัจจุบัน ชอว์เสียชีวิตไปแล้ว แต่ลำพังเพียงการฟังเพลงคลาสสิกจะทำให้คนเราฉลาดขึ้นได้จริงหรือ?

โฉมหน้าของชอว์และรอสเชอร์ สองนักวิจัยต้นเรื่องโมสาร์ทเอ็ฟเฟค

ผลการทดลองสุดอัศจรรย์ใจ

มีคำกล่าวอ้างเกินจริงอันน่าพิศวงเกี่ยวกับโมสาร์ทเอ็ฟเฟคท์อยู่หลายอย่าง ยกตัวอย่างเช่น มีผู้กล่าวอ้างว่าผลการทดลองของชอว์และรอสเชอร์ แสดงให้เห็นว่า นักศึกษาทำคะแนนการสอบ SAT (เป็นแบบทดสอบมาตรฐานแบบหนึ่ง ที่ใช้ช่วยในการคัดเลือกนักศึกษา เพื่อเข้าเรียนในสถาบันการศึกษาชั้นสูง ในประเทศสหรัฐ) ได้เพิ่มถึง 51 จุด
แม้ว่าผลการทดลองข้างต้น ที่ผมเล่าให้ฟังนั้น จะไม่เกี่ยวอะไรกับการสอบ SAT เลยก็ตาม (เรียกว่า มั่วกันล้วนๆ)

นอกจากนี้ ก็มีชายผู้หนึ่งที่อ้างว่า เขาสามารถแก้ปัญหาเลือดคั่งในสมองของเขาได้ โดยการใช้วิธีการฟังเพลงร่วมกับการฮัมเพลง การสวด และการสร้างมโนภาพ กระทาชายคนดังกล่าวก็คือ ดอน แคมป์เบลล์ (Don Campbell) ซึ่งต่อมา เขาก็กลายเป็นคนดังที่บริษัทใหญ่ๆ ที่ต้องการรู้จักพลังพิเศษ ของการฟังเพลงคลาสสิก ในลักษณะนี้ ก็มักจะเชิญเขาไปเป็นวิทยากร บรรยายในหัวข้อต่างๆ เรียกว่า เดินสายหากินในเรื่องนี้เป็นอาชีพเลยทีเดียว แม้ว่าเขาจะไม่ได้ทำการทดลองในเรื่องนี้อย่างจริงจังแต่อย่างใด

หัวข้อที่แคมป์เบลล์เดินสายบรรยายก็จะครอบคลุมตั้งแต่ การให้คำแนะนำสำหรับการใช้เพลงรักษาอาการซึมเศร้า การใช้เสียงกระตุ้นให้เกิดพลัง การใช้เพลงในการเพิ่มประสิทธิภาพและสร้างความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในการทำงาน รวมไปถึงรักษาโรคต่างๆ!

แคมป์เบลล์กับหนังสือ The Mozart Effect ที่ทำให้เรื่องนี้โด่งดังขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง

ความเชื่อเรื่องดนตรีกับสติปัญญานั้นเชื่อกันอย่างกว้างขวางจริงๆ ดังจะเห็นได้จากการที่นายกเทศมนตรีรัฐเทนเนสซี และรัฐจอร์เจียของประเทศสหรัฐอเมริกา ถึงกับริเริ่มโปรแกรมการแจกแผ่น CD เพลงของโมสาร์ทให้กับเด็กที่เกิดใหม่ทุกคนในปี 2542 โดยไม่เฉลียวใจแม้แต่น้อยว่า เรื่องนี้อาจจะไม่จริงหรืออาจจะมีพื้นฐานความรู้ด้านวิทยาศาสตร์รองรับน้อยมาก

ตัวอย่างสินค้าเกี่ยวเนื่องที่เป็นผลพวงจากกระแสเรื่องโมสาร์ทเอ็ฟเฟค

ความเชื่ออันน่าพึงใจ แต่ไม่เป็นจริง
คงเป็นเรื่องน่าผิดหวังสำหรับหลายคน หากผมจะบอกว่า มีแนวโน้มเป็นอย่างยิ่งว่าโมสาร์ทเอ็ฟเฟคท์ เป็นแต่เพียงวิทยาศาสตร์จริง ที่จำกัดจำเขี่ยเป็นอย่างยิ่ง ซ้ำร้ายยังถูกนำไปขยายความ และบิดเบือนจนกลายเป็นวิทยาศาสตร์เก๊ ในที่สุด

หลักฐานแรกที่สุดที่ยืนยันเรื่องนี้ก็คือ มีผู้พยายามทำการทดลองซ้ำ ตามที่ชอว์และรอสเชอร์รายงานไว้ใน Nature แต่ไม่ปรากฏว่ามีใครที่ได้ผลแบบเดียวกัน หรือใกล้กับที่ทั้งคู่รายงานเลย แม้ว่าในการทดลองบางครั้ง ที่ใช้กลุ่มทดลองที่มีขนาดใหญ่กว่าเป็นสี่เท่าก็มี ในการทดลองของทีมนักวิจัยทีมหนึ่ง ผลการทดลองชี้ว่า แม้ว่าผู้เข้าร่วมการทดลอง ที่ฟังเพลงของโมสาร์ท จะพึงพอใจ มากกว่ากลุ่มทดลอง ที่ฟังเพลงแบบโพสท์โมเดิร์น อย่างเห็นได้ชัดก็ตาม

แต่ก็ไม่ได้มีความแตกต่าง เรื่องความระดับสติปัญญา แต่อย่างใด ในการทดลองที่คล้ายคลึงกัน ครั้งหนึ่งพบว่า แม้ว่าการฟังเพลงโมสาร์ท ดูเหมือนจะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพ การทำแบบทดสอบ เมื่อเทียบกับกลุ่มที่อยู่เงียบๆ ไม่ได้ฟังอะไร แต่อย่างไรก็ตาม ในการทดลองเดียวกัน กลุ่มที่ฟังเรื่องสนุกๆ ก็ให้ผลในลักษณะเดียวกันเช่นกัน ซึ่งอาจจะชี้ได้เหมือนกันว่า แทนที่ผลการทดลองที่เรากำลังพิจารณากันอยู่นี้ จะเป็นผลมาจากเพลงของโมสาร์ท

ตัวแปรสำคัญที่แท้จริงอาจจะเป็น “อารมณ์” ของกลุ่มทดลองมากกว่า

ซ้ำร้ายยิ่งไปกว่านั้นก็คือ ไม่ว่าจะมีการขยายผลและกล่าวอ้างเกินจริงออกไปมากเพียงใดในภายหลัง แต่ผลการทดลองดั้งเดิมที่ตีพิมพ์ไปนั้น ผลการเพิ่มความสามารถในการทำแบบทดสอบนั้น วัดการออกฤทธิ์แบบชั่วคราวที่สั้นมาก คือช่วงเวลาราว 10-15 นาทีภายหลังที่ได้ฟังเพลงแล้วเท่านั้น!

ที่สำคัญก็คือ การทดลองในแบบนี้ไม่สามารถอนุมานได้เองเป็นสูตรสำเร็จว่า จะได้ผลแบบเดียวกันหากเวลาเปลี่ยนไป

ทำไมจึงมีคนเชื่อเรื่องนี้กันมากนัก
เหตุผลที่เข้าใจได้ไม่ยากอันแรกที่น่าจะมีผลทำให้คนเชื่อในโมสาร์ทเอ็ฟเฟคได้กล่าวไปแล้วคือ ผลการทดลองแรกสุดได้ตีพิมพ์ในวารสาร Nature ซึ่งมีชื่อเสียงและได้รับการยอมรับเป็นอย่างสูง แม้แต่ในหมู่นักวิทยาศาสตร์เอง แต่แรงขับดันที่แท้จริงอาจเป็นได้ว่า การเปิดเพลงให้เด็กๆ ฟังด้วยความหวังว่าจะทำให้เด็กๆ ฉลาดมากขึ้นเป็นวิธีการที่ง่ายดายเสียเหลือเกิน

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ง่ายกว่าการที่ผู้ปกครองที่มานั่งอ่านหนังสือให้เด็กฟังเอง

อีกปัจจัยหนึ่งที่อาจมีผลทำให้คนไม่ค่อยฉุกใจคิดในเรื่องนี้นักก็คือ สามัญสำนักที่เราทุกคนต่างรู้กันดีอยู่ว่า ดนตรีมีผลต่ออารมณ์ ความรู้สึก ดังนั้น ก็ฟังดูสมเหตุสมผลไม่น้อยว่า ดนตรีอาจจะส่งผลต่อระดับสติปัญญา เช่นกัน

อิทธิพลของความเชื่อเรื่องโมสาร์ทเอ็ฟเฟคอาจทำให้

เด็กๆ ต้องอยู่ในสภาพน่าเอ็นดู (หรือน่าทรมาน?) เช่นนี้

แต่ถ้าลองตั้งสติพิจารณากันให้ดีก็จะเห็นว่า หากดนตรีของโมสาร์ทช่วยเพิ่มระดับสติปัญญาจริง กลุ่มคนที่ฉลาดที่สุดหรือฉลาดมากๆ ของโลก น่าจะมีคนในกลุ่มที่ชอบเล่น หรือชำนาญการเล่นเพลงของโมสาร์ท ปะปนอยู่มากเป็นพิเศษ … แต่ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้นแต่อย่างใด

นอกจากนี้ หากดนตรีมีมนต์วิเศษในเรื่องช่วยให้มีสุขภาพดีอย่างมีนัยสำคัญเพียงนั้น เหตุใดตัวโมสาร์ทเองจึงป่วยกระเสาะกระแสะอยู่เสมอๆ เมื่อตอนที่ยังมีชีวิตอยู่

ดูเหมือนว่า เรื่องของโมสาร์ทเอ็ฟเฟคอาจจะแสดงให้เห็นได้ดีว่า ผลการวิจัยจะถูกตีความ บิดเบือนและเปลี่ยนแปลงไปได้มากเพียงใด เมื่อถูกส่งผ่านต่อๆ กันไปในหมู่สื่อสารมวลชน และกลุ่มมวลชนที่มีความเชื่อและพร้อมจะยอมรับอยู่แล้วแต่เดิม

นอกจากนี้ ไม่แน่ว่าแรงขับ (อย่างแรง) จากอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ (หนังสือ เทป ซีดี คอร์สอบรม ฯลฯ) อาจจะเป็นแรงขับดัน ที่ทรงประสิทธิภาพที่สุด ที่ทำให้ความเชื่อในเรื่องนี้ไม่เคยจืดจางลงเลย

เกี่ยวกับผู้เขียน

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ จบ ม.ปลาย จากโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา และรับทุนการศึกษาโครงการ พสวท เพื่อศึกษาต่อ ป.ตรี ด้านชีววิทยา ที่คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ป.โท ด้านชีวเคมี จากมหาวิทยาลัยมหิดล และสำเร็จปริญญาเอก Molecular Genetics จาก Kumamoto University ประเทศญี่ปุ่นจ๊ะ

ดร.นำชัย ชีววิวรรธน์ ไม่เพียงแค่เป็นหนึ่งในนักวิทยาศาสตร์ฝีมือดีของ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ แต่ยังเป็นคนที่ถ่ายทอด เรื่องราววิทยาศาสตร์ได้อย่างดีเยี่ยม สนุกสนาน ฟังง่าย เข้าใจง่าย นอกเหนือจากผลงานวิจัย ดร.นำชัย มีผลงานด้านการเขียน เรื่องวิทยาศาสตร์ด้วยเช่นกัน ดังเช่น สู่ชีวิตอมตะ (เทคโนโลยีชีวภาพและการแพทย์ศตวรรษที่ 21), ดีเอ็นเอ ปริศนาลับรหัสชีวิต, จากอณูถึงอนันต์ วิทยาศาสตร์ต้องรู้, วิทยาศาสตร์ในสตาร์ วอร์ส เป็นต้น

ดร.นำชัย เป็นอีกหนึ่งท่าน ที่ขอเป็นอีกแรง ช่วยผลักดัน การเผยแพร่เรื่องราววิทยาศาสตร์ดีๆ สู่ประเทศไทย ผ่านวิชาการ.คอม

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *