พลเมืองดีในวิถี อดิศักดิ์ โรหิตะศุน

พลเมืองดีในวิถี “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน”
วันเวลาทำให้ความดีเจือจางลง ซีเอสอาร์เลยกลายเป็นเรื่องแปลก ใครทำแล้วดู ‘เท่’ แต่เป็นสิ่งที่ช่วยทำให้คนไทยได้รู้ว่า เฮ้ย..เราก็เคยมี เคยทำ

ฮอนด้าเป็นอีกกลุ่มบริษัทที่ให้ความสำคัญกับซีเอสอาร์ แต่นิยมทำแบบเรียบง่ายสไตล์ปิดทองหลังพระ เรียกว่าถ้าเป็นแบบตีปี๊บทำพีอาร์บอกได้เลยไม่ใช่เรา..ฮอนด้า

คือคำยืนยันของ “อดิศักดิ์ โรหิตะศุน” รองประธานกรรมการบริหารระดับสูง (Executive Vice President) บริษัท เอเชี่ยนฮอนด้า มอเตอร์ จำกัด

และหลายสิบปีที่ผ่านมาจวบวันนี้ ผู้บริหารท่านนี้มองว่า ในเรื่องของซีเอสอาร์ หรือ Corporate Social Responsibility (CSR) นั้น.. ฮอนด้าทำได้ดีมากกว่าที่เคยคิด

‘เพราะถ้าดีไม่จริงโครงการต่างๆ คงทำอย่างต่อเนื่องไม่ได้ ทั้งนี้นอกจากความต่อเนื่องแล้วฮอนด้าได้ต่อยอดแต่ละโครงการสร้างประโยชน์ให้สังคมได้มากขึ้น และดียิ่งขึ้น ซึ่งเรามีการประเมินผลทุกครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าโครงการเพื่อสังคมของฮอนด้าสร้างความพึงพอใจได้จริง’

ดังนั้นไม่ว่าจะเป็น “โครงการโรงเรียนสร้างสรรค์สิ่งแวดล้อมเฉลิมพระเกียรติ” หรือ “ฮอนด้าวิ่ง 31 ขา สามัคคี” หรือ “ฮอนด้า อาซิโม ซูเปอร์ ไอเดีย คอนเทสต์” ฯลฯ จึงล้วนสร้างความพอใจให้กับสังคม อีกทั้งหน่วยงานองค์กรที่เป็นโครงข่ายพันธมิตร กระทั่งฮอนด้าเอง และเกิดเป็นบรรยากาศแบบ วิน-วิน

ซี่งอดิศักดิ์มองว่าคีย์ซัคเซสเกิดจาก 2 ประเด็นหลัก ข้อแรก เนื่องจากทุกบริษัทในเครือฮอนด้ารวมกันเป็นกลุ่มบริษัทผนึกกำลังกันทำซีเอสอาร์ จนทำให้เกิดความสามารถให้ความช่วยเหลือสังคมได้เต็มที่ ข้อสอง การจับมือหาเครือข่ายเข้าร่วมโครงการ

“ด้วยความสามารถที่มีอยู่จำกัด เราต้องอาศัยความร่วมมือ หรือบางโครงการเราอาจต้องจ้าง อย่างไรก็ดีคนของฮอนด้าจะลงแรง และลงพื้นที่ด้วยทุกครั้ง เหตุผลก็คือจะทำให้เราได้รู้ว่าโครงการมีข้อดี ข้อเสีย มีประโยชน์มากน้อยเพียงไร และเมื่อเจอข้อบกพร่องก็จะได้นำไปปรับปรุง”

ปัจจุบัน ซีเอสอาร์ของฮอนด้าพัฒนาโฟกัสใน 4 ด้าน คือ สิ่งแวดล้อม การศึกษา ความปลอดภัยบนท้องถนน และด้านมนุษยธรรม

และใช้ 3 หลักเกณฑ์ช่วยตัดสินใจ ประการแรก คือ ต้องมีความร่วมไม้ร่วมมือซึ่งก็คือโครงข่ายพันธมิตร จึงจะทำให้โครงการเดินหน้าได้ อย่างต่อเนื่องและทำให้บรรลุความสำเร็จ “ฮอนด้าคงแบกภาระไม่ได้ทั้งหมด” อดิศักดิ์ชี้แจง

ส่วนประการที่สอง คือ ต้องช่วยเหลือในสิ่งที่สังคมมีความต้องการ ซึ่งจำเป็นต้องไปสำรวจตรวจสอบและค้นหา ประการที่สาม ต้องเหมาะสมกับกำลังความ สามารถที่มี ไม่ว่าจะเป็นปัจจัยเรื่องเงินหรือโนว์ฮาว

“เมื่อเราตัดสินใจจะทำโครงการใด เราก็มีเป้าหมายว่าจะทำอย่างต่อเนื่อง ดังนั้นก่อนที่เลือกจะสิ่งใดก็ต้องพิถีพิถันพอสมควร”

แต่อย่างไรเสียผู้บริหารท่านนี้บอกว่าหัวใจของซีเอสอาร์ก็คือ ก่อนลงมือช่วยเหลือสังคม ต้องสำรวจองค์กรเสียก่อนว่าไม่ใช่เป็นต้นตอของพิษภัยที่คอยทำร้ายสังคมเสียเอง

การดำเนินธุรกิจในทุกกระบวนการ ไม่ว่าการผลิต การออกแบบสินค้าและบริการ ของฮอนด้าต้องเกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ต่อสังคมน้อยที่สุดเท่าที่จะน้อย ได้ ซึ่งต้องทำได้ดีกว่าที่กฎหมายกำหนดไม่ใช่ทำแค่ “ปริ่มๆ” เท่านั้น และในมุมกลับก็ต้องพยายามทำถึงขั้นไม่มีผลกระทบคือเป็น “ศูนย์” ทีเดียว

อดิศักดิ์เชื่อมั่นว่าซีเอสอาร์สำหรับเขาไม่ยาก ด้วยเกิดทันในสมัยที่สังคมไทยมีความช่วยเหลือเจือจาน แต่เมื่อวันเวลาเปลี่ยนไปความดีก็เริ่มเจือจางลง ซีเอสอาร์เลยกลายเป็นกิจกรรมที่พิเศษ แปลก และใครทำแล้วดู “เท่”

“ซีเอสอาร์ทำให้คนรุ่นผมระลึกถึงสิ่งที่เคยมีในอดีต และช่วยทำให้คนไทยรู้ว่า เฮ้ย..เราก็เคยมี เคยทำ”

หากแต่สิ่งที่ยากและท้าทายสำหรับเขาในวันนี้ก็คือตำแหน่ง “ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย”

เขาให้เหตุผลในการนำเสนอตัวเพื่อท้าชิงตำแหน่งดังกล่าวว่าอยากจะนำความรู้ความสามารถในเชิงอุตสาหกรรม และเวลาของชีวิตทำงานที่เหลืออีกไม่มากทุ่มเทเพื่อสร้างให้อุตสาหกรรมไทยเข้มแข็งและแข่งขันได้ในเวทีโลก

“จุดแข็งของผม คือประสบการณ์การทำงานด้านอุตสาหกรรมทั้งในและนอกประเทศ มาเกือบ 40 ปี มั่นใจว่าความรู้ความสามารถไม่แพ้ใคร อีกเรื่องคือวิธีการทำงานของผมมีเป้าหมายที่ชัดเจน และมักเช็คหลักไมล์อยู่เสมอว่าอยู่ใกล้หรือไกลเป้าหมายเพียงใด และปรับปรุงการทำงานให้ดีอยู่เสมอ ผมเชื่อว่าวิธีแบบนี้จะบรรลุเป้าหมายที่ต้องการ คือ อุตสาหกรรมนำความสุขสู่สังคมไทย และเป็นเหตุผลที่เพียงพอให้คนตัดสินใจเลือกผม”

เขายอมรับว่าไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะสภาอุตสาหกรรมฯ ประกอบไปด้วยสมาชิกมากมาย ประเด็นสำคัญก็คือ เป้าหมายการทำงานของเขาหมายถึงการปรับเปลี่ยนแนวคิดเดิมที่มีอยู่ของสมาชิก ซึ่งอดิศักดิ์บอกว่าเป็นการทำงานเชิงรับ

‘การตั้งรับอย่างเก่งก็แต่เสมอตัว แต่มันไม่มีทางชนะ เปรียบเหมือนการเล่นบอลถ้ารับอย่างเดียว โอกาสชนะมีแค่ 0.005 เปอร์เซ็นต์ แต่หากจะทำให้

ทุกคนหันมาเล่นเกมรุกก็ต้องเน้นการทำงานหนักและเหนื่อยเพื่อให้รอบรู้ว่าจะรุกอย่างไรให้ชนะ’ ซึ่งความสำเร็จจะเกิดขึ้นได้หรือไม่อดิศักดิ์เชื่อว่าที่สุดต้องให้สมาชิกสภาอุตฯ เกิดความเห็นพ้อง เห็นคล้อยตามว่าสิ่งที่เขาคิดดี เหมาะสม ถูกต้อง

เมื่อถามว่าหากได้ครองตำแหน่งจริงๆ แล้วกลัวความคาดหวังหรือไม่ ?

“ต้องยอมรับว่าคนไทยต้องการฮีโร่ แต่ฮีโร่แบบซูเปอร์ฮีโร่คงไม่มี มีแต่ลีดเดอร์ และผมไม่ต้องการเป็นวันแมนโชว์ ต้องทำให้ทีมทำงานนำไปด้วยกัน”

เพราะโลกนี้ไม่มียอดมนุษย์ ไม่มีใครเก่งทุกเรื่อง ใครเก่งตรงไหนก็ต้องนำตรงนั้น เดินไปทิศทางเดียวกันและคำนึงถึงเป้าหมายเดียวกัน คือคำที่อดิศักดิ์บอกกล่าว

ที่มา : ชนิตา ภระมรทัต

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *