พลิกฟื้นไปรษณีย์ไทย ด้วยโลจิสติกส์มีดีไซน์

พลิกฟื้นไปรษณีย์ไทย ด้วยโลจิสติกส์มีดีไซน์

บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ปณท) เป็นตัวอย่างที่ดีของ “โลจิสติกส์มีดีไซน์” ที่สะท้อนให้เห็นว่าแนวคิดของ “องค์กรมีดีไซน์” ไม่ได้เหมาะกับหน่วยงานเอกชนเท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้กับรัฐวิสาหกิจที่ขาดทุนมาตลอดระยะเวลา 120 ปีของการให้บริการ กลับพลิกฟื้นด้วยการผสมผสานกระบวนการทำงานที่มีประสิทธิภาพเข้ากับระบบเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อเพิ่มมูลค่าให้แก่บริการ และเติมสุนทรียภาพลงไปในกิจการไปรษณีย์ ด้วยการปฏิรูปภาพลักษณ์องค์กรใหม่ จนเป็นบริษัทที่ประสบความสำเร็จในเชิงพาณิชย์เป็นเวลากว่า 6 ปี โดยมีผลกำไรสุทธิปีละพันกว่าล้านบาท และได้รับรางวัลเกียรติยศมากมายตั้งแต่ รัฐวิสาหกิจดีเด่นปี 2549 และ 2551 จากกระทรวงการคลัง ไปจนถึง Best Domestic Express Service Provider in Thailand ของภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกและอาเซียน ประจำปี 2009

ปัจจุบัน หากท่านมีโอกาสได้ไปใช้บริการที่ทำการไปรษณีย์จะสามารถสัมผัสได้ถึงความเปลี่ยนแปลงตั้งแต่ก้าวแรกที่เข้าไป ด้วยบรรยากาศและลักษณะการตกแต่งหน้าร้านที่ดูทันสมัย ภายในร้านมีตู้แสดงสินค้าไปรษณีย์ต่างๆ ไว้จำหน่าย เช่น กล่องพัสดุภัณฑ์ที่มีรูปลักษณ์ใหม่ แสตมป์และของสะสม เมื่อต้องการส่งสิ่งของก็มีเครื่องออกบัตรคิวแบบเดียวกับที่ติดตั้งในธนาคาร โดยทุกเคาน์เตอร์สามารถให้บริการลูกค้าได้แบบเบ็ดเสร็จในจุดเดียว (One Stop Service) ด้วยพนักงานที่ให้บริการด้วยความชำนาญและเป็นมิตร นอกจากการส่งจดหมาย ปณท ยังสามารถให้บริการอื่นๆ อีกตั้งแต่ บริการรับชำระเงิน บริการรับส่งเงินออนไลน์ การจองตั๋วรถ บขส บริการส่งพัสดุด่วนและสินค้าที่มีน้ำหนักตั้งแต่ 20 กิโลกรัม ขึ้นไป ซึ่งให้บริการขนส่งได้แม้กระทั่งรถมอเตอร์ไซค์ชอปเปอร์ขนาดใหญ่ ซึ่งสามารถติดตามสถานะการจัดส่งได้ทางเว็บไซต์ ไปจนถึงการสั่งซื้ออาหารที่ทำการจัดส่งทางไปรษณีย์ถึงบ้านลูกค้าภายในวันเดียว โดยบริษัทจะทำการส่งใหม่และคืนเงินให้ หากทำการจัดส่งล่าช้าหรือสินค้ามีปัญหา

ก่อนการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดเมื่อวันที่ 14 สิงหาคม 2546 กิจการไปรษณีย์ไทยประสบปัญหาการขาดทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในสมัยที่กิจการไปรษณีย์ยังอยู่ภายใต้ กสท การขาดทุนดังกล่าวดูจะไม่กระทบต่อผลประกอบการโดยรวมมากนัก เนื่องจากยังมีผลกำไรจากกิจการโทรคมนาคมช่วยสนับสนุน แต่เมื่อต้องแยกกิจการออกมา ความสามารถในการดำเนินธุรกิจให้สามารถเลี้ยงตัวเองได้จึงกลายเป็นปัญหาสำคัญอันดับแรกของ ปณท ยิ่งผนวกกับความถดถอยทางธุรกิจอื่นๆ เช่น ภาพลักษณ์ขององค์กรที่ดูล้าสมัย ขาดความน่าเชื่อถือ รูปแบบการให้บริการที่ไม่มีความหลากหลาย ผลิตภัณฑ์ของบริษัทอย่างแสตมป์ที่เคยเป็นของสะสมก็ไม่ได้รับความนิยมมากนักในปัจจุบัน กอปรกับความซบเซาของกิจการไปรษณีย์ทั่วโลกที่ต้องเผชิญกับการคุกคามจากเทคโนโลยีการสื่อสารสมัยใหม่ เช่น ระบบโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงที่มีความสะดวกรวดเร็วมากกว่า ทำให้ปริมาณการส่งจดหมายระหว่างบุคคลลดลงอย่างเห็นได้ชัด ดังนั้น ภารกิจที่ ปณท ต้องดำเนินการทันทีหลังจากการแปรสภาพจึงไม่ใช่แค่การแก้ไขปัญหาหนี้สินที่มีอยู่ แต่ยังต้องอาศัยการใช้ประโยชน์จากจุดแข็งขององค์กรผสมผสานเข้ากับกลยุทธ์ในการทำธุรกิจสมัยใหม่ ให้สามารถพัฒนาสินค้าและบริการใหม่ๆ ที่มีความหลากหลาย ด้วยคุณภาพที่ดี ในราคาที่แข่งขันได้

เมื่อพิจารณาถึงจุดแข็งพบว่า ปณท มีเครือข่ายการขนส่งและฐานลูกค้าอยู่ทั่วประเทศ ประชาชนมีความคุ้นเคยกับองค์กร โดยแทบจะเป็นหนึ่งในไม่กี่ธุรกิจที่มีโอกาสใกล้ชิดกับลูกค้าในทุกพื้นที่ได้ทุกวันและมักได้รับการต้อนรับมากกว่าขับไล่ ซึ่งบ่อยครั้งที่เรามักจะรู้สึกยินดีเมื่อเห็นพนักงานนำส่งจดหมายปรากฏตัวที่หน้าประตูบ้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาที่กำลังรอคอยจดหมายสำคัญหรือสิ่งของที่สั่งซื้อไว้ทางไปรษณีย์ นอกจากนี้ ประสบการณ์ในการปฏิบัติงานด้านโลจิสติกส์มาเป็นระยะเวลานานเป็นอีกต้นทุนสำคัญที่ทำให้ ปณท สามารถที่จะต่อยอดไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่องใดๆ ก็ได้ที่ต้องอาศัยความสามารถในการเข้าถึงลูกค้าด้วยการทำงานที่รวดเร็วและมีความถูกต้องแม่นยำสูงเป็นสำคัญ

ปัจจัยแห่งความสำเร็จที่ทำให้ ปณท สามารถพัฒนาจากผู้ให้บริการสื่อสารขั้นพื้นฐานที่รัฐต้องจัดหาให้ประชาชนและขาดทุนมาโดยตลอด กลายเป็นองค์กรที่มีผลกำไรเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดดในทุกๆ ปี จนสามารถทำรายได้ในปี 2551 กว่า 16,000 ล้านบาท มีรายได้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 12 เปอร์เซ็นต์ คือ การเปลี่ยนแปลงองค์กรตามโมเดล “องค์กรมีดีไซน์” เพื่อเสริมจุดแข็งที่องค์กรมีอยู่

คงต้องมาติดตามกันต่อในงานสัมมนาทางวิชาการในโอกาสครบรอบการสถาปนาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่จะจัดขึ้นในวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ ว่า ปณท ใช้ยุทธวิธีอะไรในการพัฒนาธุรกิจและเปิดตลาดการให้บริการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง ผ่านการพัฒนา กระบวนการ (P) เทคโนโลยี (T) และสุนทรียภาพ (A) เพื่อเตรียมความพร้อมในการรับมือกับการหดตัวของปริมาณการส่งจดหมาย การเปิดเสรีกิจการไปรษณีย์ การนำบริษัทเข้าตลาดหลักทรัพย์ และเป้าหมายสูงสุดคือ

การเป็นผู้ให้บริการโลจิสติกส์ระดับโลกแบบเต็มตัว

ที่มา Corporate of design : ดร. สถาพร โอภาสานนท์ ภาควิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์ และการขนส่ง กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 15 ตุลาคม พ.ศ. 2552

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *