พร้อมเป็น Hub โลจิสติกส์จริงหรือ?

พร้อมเป็น Hub โลจิสติกส์จริงหรือ?

นโยบายในการส่งเสริมสนับสนุนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางทางการขนส่งในภูมิภาคนี้ เพื่อเป็นการรองรับสนามบินสุวรรณภูมิ รวมทั้งการผลักดันโครงการขนาดใหญ่ให้เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโครงการของภาครัฐหรือเอกชน และตั้งความหวังไว้ว่าจะผลักดันให้ไทย เป็นศูนย์กลางการขนส่ง และโลจิสติกส์ในแถบเอเชีย

ซึ่งการที่ภาครัฐให้ความสำคัญกับด้านนี้ ก็นับว่าเป็นอีกยุทธศาสตร์หนึ่งที่จะพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ในขณะที่โครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศจะต้องมีลักษณะเปิดกว้างเข้าสู่ระบบความเป็นสากลและนานาชาติมากขึ้น คำถามก็คือว่า จริงๆ แล้วประเทศไทยมีความพร้อมแค่ไหนที่จะเป็นฮับแห่งเอเชียตามที่รัฐบาลอยากให้เป็น และแผนปฏิบัติงาน (Action plan) มีความสามารถทำได้จริง มีความชัดเจน และรูปธรรมบ้างหรือยัง

แต่ก็ต้องยอมรับว่า แนวคิดที่จะผลักดันเป็นศูนย์กลางทางด้านโลจิสติกส์ นับว่าเป็นแนวคิดที่ดี แต่ว่าเป็นการเติบโตแบบก้าวกระโดด ทั้งๆ ที่ความพร้อมระบบโลจิสติกส์ของประเทศกำลังประสบปัญหาด้านต้นทุนการขนส่ง ที่สูงกว่าประเทศเพื่อนบ้าน ระบบการขนส่งมวลชนยังไม่ดีพอ และไม่ได้มีการเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน การขนส่งสินค้าในประเทศ ยังคงมีสัดส่วนการขนส่งที่เน้นทางถนนเป็นหลัก

และระบบบริการการขนส่งไปยังต่างประเทศที่เป็นลักษณะแบบจุดเดียวเบ็ดเสร็จ (One Stop Service) ยังไม่สมบูรณ์ในทุกหน่วยงาน รวมทั้งการขาดแคลนบุคลากรและผู้บริหารทางด้านโลจิสติกส์อีกเป็นจำนวนมาก

อีกทั้งเมื่อมามองดูปัจจัยต่างๆ กำลังรุมเร้าที่ส่งผลกระทบอยู่ในขณะนี้ ทำให้ผู้เขียนคิดว่าโอกาสที่จะเป็นศูนย์กลางอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือฮับโลจิสติกส์ในช่วงเวลาขณะนี้ เป็นไปได้ค่อนข้างยาก และที่ผ่านมารัฐบาลไม่เคยมีการวางรากฐานและพัฒนาระบบพื้นฐานและทรัพยากรมนุษย์ไว้รองรับโครงการต่างๆ ที่จะเกิดขึ้นเลย เพียงแต่คิดว่าเกิดโครงการก่อนแล้วค่อยแก้ไขปัญหาตามหลัง

อย่างไรก็ดี ตัวการที่จะขับเคลื่อนให้ไทยเป็นฮับได้นั้น จะต้องประกอบด้วยปัจจัยหลายๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นระบบ โครงสร้าง เทคโนโลยี และทรัพยากรมนุษย์ ซึ่งปัจจัยทางด้านทรัพยากรมนุษย์นั้น นับว่าเป็นปัจจัยที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน ยังไม่ได้มีการพัฒนาสถาบันการศึกษาและสร้างบุคลากรทางด้านโลจิสติกส์ ไว้รองรับการขยายตัวกับการที่จะพัฒนาประเทศเป็นฮับโลจิสติกส์เท่าที่ควร

ดังนั้น จึงไม่แปลกใจเลยว่านับตั้งแต่ต้นปี 2548 จนถึงขณะนี้ กระแสความต้องการบุคลากรด้านโลจิสติกส์ ยังคงเปิดกว้างสำหรับคนที่จบสาขานี้ จึงทำให้สถาบันการศึกษาทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ต่างเร่งสร้างหลักสูตรทางด้านโลจิสติกส์กันขนานใหญ่ ในการที่จะดึงดูดนักศึกษาให้เข้าไปเรียน และเป็นการตอบสนองนโยบายของภาครัฐ รวมทั้งการขยายตัวของตลาดแรงงานในอุตสาหกรรมนี้ ซึ่งปัญหาที่กำลังจะเกิดขึ้นกับสถาบันการศึกษาที่เปิดในสาขาดังกล่าวมีดังนี้

1.บุคลากรที่ทำงานด้านโลจิสติกส์และคณาจารย์ มีจำนวนไม่เพียงพอกับสถาบันการศึกษา ซึ่งเมื่อมีการเปิดสอนเพิ่มมากขึ้น ทำให้คณาจารย์ผู้สอนมีจำนวนไม่เพียงพอ เกิดการซื้อตัวแย่งตัว และไม่มีเวลาให้คำปรึกษากับนักศึกษา

2. โลจิสติกส์นี้ นับว่าเป็นเรื่องใหม่สำหรับสถาบันการศึกษาบางแห่ง โดยก่อนหน้านี้มีสถาบันการศึกษาเพียงไม่กี่แห่ง ที่เปิดสอนในสาขาโลจิสติกส์ ที่แฝงตัวอยู่ในคณะวิศวกรรมศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์ หรือคณะพาณิชย์นาวี จึงทำให้เป็นที่ถกเถียงกันว่า หลักสูตรโลจิสติกส์ที่เปิดสอนกันนั้นควรจะเน้นทางด้านใด หรือว่าควรจะมีการผสมผสาน ระหว่างศาสตร์วิศวกรรมและบริหารธุรกิจเข้าด้วยกัน ในการที่จะตอบโจทย์ฮับโลจิสติกส์ของภาครัฐได้ตรงประเด็น

3. การเร่งสร้างทรัพยากรมนุษย์ให้จบในสาขาโลจิสติกส์ ไม่ได้สร้างเพียงชั่วข้ามคืน แต่ต้องใช้เวลาอย่างน้อย 3-4 ปี ที่จะผลิตบุคลากรทางด้านนี้ให้เพียงพอต่อความต้องการของตลาดแรงงานในอนาคต และก็ต้องยอมรับว่าบุคลากรทางด้านโลจิสติกส์ที่มีประสบการณ์ เป็นนักปฏิบัติการมีความสามารถ มีอยู่จำนวนน้อย บางคนเก่งจริง ไม่สามารถถ่ายทอดสื่อสารให้คนอื่นรับรู้และเข้าใจได้ หรือบางคนสื่อสารได้ดี กลับเป็นเพียงคนที่รู้ไม่จริงและไม่เชี่ยวชาญ

4. โอกาสตลาดแรงงานบุคลากรทางด้านโลจิสติกส์ยังเปิดกว้าง จึงทำให้มีการเร่งผลิตบุคลากรในเชิงรุก ท่ามกลางสภาวะการขาดแคลนผู้สอน ประกอบกับขณะที่ระบบวัสดุอุปกรณ์ยังไม่มีความทันสมัย ทัดเทียมประเทศเพื่อนบ้าน อย่างประเทศญี่ปุ่น เกาหลีใต้ สิงคโปร์ มาเลเซีย หรือสหรัฐอเมริกา ซึ่งในบางประเทศเหล่านี้ มีการนำระบบดาวเทียม มาใช้ในเรื่องโลจิสติกส์ อาจจะก่อให้เกิดปัญหาเรื่องคุณภาพตามมา

อย่างไรก็ดี นี่คือภาพสะท้อนบทหนึ่งของการสร้างโครงการของรัฐที่ไม่มีการวางรากฐานก่อน แล้วขยายผลตามหลัง และเป็นภาพสะท้อนอีกบทหนึ่งที่ว่าการคิดอยากจะประกาศเป็นศูนย์กลาง (Hub) ในศาสตร์สาขาใดสาขาหนึ่งของประเทศนั้น ความพร้อมทางด้านทรัพยากรมนุษย์มีเพียงพอต่อการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันมากน้อยเพียงใด

อย่าลืมว่ายุคนี้ ปัจจัยที่จะนำไปสู่ความสำเร็จ (Key Success) ไม่ได้อยู่ที่วัสดุอุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ที่ทันสมัย เพราะสิ่งเหล่านี้ หากมีเงินเพียงพอก็สามารถทำได้ในเวลาอันรวดเร็ว แต่การพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ในเชิงรุกนั้น ไม่ได้สร้างเพียงชั่วข้ามคืน ต้องใช้เวลาบ่มเพาะและเรียนรู้ อีกทั้งการประกาศออกมา ถ้าไม่มีความพร้อม ทำไม่ได้ เป็นแค่ความฝัน ระวังประเทศเพื่อนบ้านจะก้าวล้ำนำหน้าเรา.

 

ที่มา สิทธิชัย ฝรั่งทอง  วิทยาลัยเซาธ์อีสท์บางกอก  กรุงเทพธุรกิจ วันพฤหัสบดีที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2549

 

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *