สุขภาพ : ฝึกเด็กกินให้เป็น ลดอ้วน ลดโรค ลดสิ้นเปลือง

สุขภาพ : ฝึกเด็กกินให้เป็น ลดอ้วน ลดโรค ลดสิ้นเปลือง

ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวล้ำ จนสื่อโทรทัศน์และอินเตอร์เน็ตเข้าถึงทุกมุมในบ้าน ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไป ผลกระทบที่เห็นกันได้ชัดๆ คือเด็กไทยยุคใหม่ รับเอาวัฒนธรรมใหม่ๆ จากตะวันตกที่ส่งผ่านสื่อทั้งหลายเข้าไปเต็มๆ โดยเฉพาะการบริโภค ที่เกิดการลอกเลียนแบบ ถูกค่านิยมผิดๆ ครอบงำ โดยมองว่าอาหารฟาสต์ฟู้ดทั้งหลาย คือสิ่งที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และยังคิดว่าเป็นอาหารเสริมค่านิยมของตัวเอง ทั้งๆ ที่อาหารเหล่านี้ แทบจะไม่มีคุณค่าทางอาหารใดๆ เลย แป้งที่เป็นวัตถุดิบก็ขัดสีเอาเส้นใย และวิตามินออกหมด น้ำตาลก็ฟอกขาว แถมด้วยสารแต่งสี แต่งกลิ่น กับผงชูรส ผนวกกับกระบวนการทอดในน้ำมันซ้ำๆ

ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง คือการกินอาหารขยะ ขณะนั่งดูทีวีหรือเล่นคอมพิวเตอร์ แล้วไม่ออกกำลังกาย ไม่ยอมช่วยพ่อแม่ทำงานบ้าน ทำให้เป็นโรคอ้วน และบ่อเกิดของอีกสารพัดโรค เช่น เบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ข้อเสื่อมก่อนวัยอันควร ซึ่งพบว่าในรอบ 10 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โรคอ้วนของเด็กไทยนับวันจะยิ่งเลวร้ายลงเรื่อยๆ เฉพาะเด็กกรุงเทพฯ มีน้ำหนักเกินถึง 14% ซึ่งเมื่อเปรียบเทียบกับเด็กญี่ปุ่นแล้ว เด็กไทยมีอัตราอ้วนสูงกว่ามาก

ด้วยความตระหนักถึงปัญหานี้ เทศบาลนครเชียงราย จึงได้ดำเนินโครงการพัฒนาความร่วมมือเพื่อจัดระเบียบความปลอดภัยด้านอาหารบริเวณโรงเรียนสังกัดเทศบาล ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากแผนเปิดรับทั่วไป สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) โดยมีภาคีทำงานร่วมกันหลายหน่วยงานทั้งเทศบาล และศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ โรงพยาบาลเชียงรายประชานุเคราะห์

ประสังข์ โต๋วตระกูล รองนายกเทศมนตรีฝ่ายการสาธารณสุข เทศบาลนครเชียงราย กล่าวว่าภาวะโภชนาการของเด็กไทยปัจจุบันค่อนข้างย่ำแย่ เพราะได้รับแรงกระตุ้นจากสื่อโฆษณา เด็กไม่ได้เลือกกินอาหารเพื่อสุขภาพและปลอดภัยต่อร่างกายอย่างจริงจัง ประกอบกับภายในครัวเรือน แม่บ้านหลายรายก็รู้เท่าไม่ถึงการณ์ เลือกซื้ออาหารตามใจปาก และใช้ส่วนประกอบ เช่น น้ำมันพืช ที่ผิดลักษณะ

ด้วยเหตุนี้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปลูกฝังเด็กๆ ให้รู้จักการกินอย่างถูกสุขลักษณะและปลอดภัย โดยหวังว่าหลังจากผ่านโครงการแล้ว เด็กจะรู้จักคิด และเลือกหรือเลี่ยงกินอาหารได้ดียิ่งขึ้น เช่น เลือกรับประทานอาหารได้ครบ 5 หมู่ รู้จักการใช้น้ำมันที่เหมาะสมกับการประกอบอาหาร วิธีอ่านฉลากดูส่วนประกอบ วันหมดอายุ รวมถึงตรวจสอบเลข อย.13 หลัก เรียนรู้เรื่องโรคหัวใจและหลอดเลือด ตลอดจนหลีกเลี่ยงอาหารหวานจัด เค็มจัด แต่เลือกกินอาหารที่สะอาดปราศจากการปนเปื้อน และเครื่องดื่มที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ซึ่งทางคณะวิทยากรจะให้ทำแบบสอบถามประเมินความรู้ ความเข้าใจ ทั้งก่อนและหลังการอบรม เพื่อให้เด็กสามารถเป็นวิทยากรต่อให้เพื่อนๆ และน้องๆ ที่ไม่มีโอกาสเข้ารับการอบรมได้

เยาวชนที่เข้าร่วมโครงการอย่าง ด.ช.วรเมธ นาเมืองรักษ์ นักเรียนชั้น ป.5/2 โรงเรียนเทศบาล 5 (เด่นห้า) อ.เมือง จ.เชียงราย เล่าว่า ปกติเขาชอบกินขนมกรุบกรอบ และบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมาก เพราะมีรสชาติอร่อย กินง่าย เพิ่งทราบหลังการอบรมว่า แต่ละวันเครื่องจักรในโรงงานทอดบะหมี่ซอง สามารถทอดทอดได้ถึง 50,000 ซอง ผลก็คือกระบวนการเผาไหม้ทำให้เกิดอนุมูลอิสระ กลายเป็นสารไดอ็อกซิน บั่นทอนภูมิต้านทาน ทำให้เกิดโรคภูมิแพ้ หรือก่อมะเร็งได้ ขณะเดียวกันในขนมกรุบกรอบ นอกจากจะมีส่วนประกอบสำคัญคือแป้งกับน้ำตาลแล้ว ยังมีสารแต่งสี แต่งกลิ่น สารกันบูด สารกันเชื้อรา และผงชูรส ซึ่งล้วนเป็นสารเคมีที่ร่างกายไม่ได้ใช้ประโยชน์ ซ้ำยังเป็นภาระแก่ตับและไตที่ต้องคอยขับออก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคไตวาย โรคกระเพาะ ตับอักเสบ ไขมันพอกตับ และมะเร็งในเวลาที่ไม่นานนัก

“ผมจะพยายามกินให้น้อยลง คงไม่ถึงกับเลิกเด็ดขาด และตรวจดูฉลากก่อนซื้อเพื่อเปรียบเทียบยี่ห้อต่างๆ ว่ามีส่วนผสมอย่างไร ส่งผลดีผลเสียต่อร่างกายแค่ไหน หมดอายุหรือยัง ส่วนน้ำดื่มก็จะพยายามเลือกน้ำผลไม้ หรือนมที่มีส่วนผสมของน้ำตาลน้อยกว่าน้ำอัดลม” น้องวรเมธ ให้คำมั่น

ขณะเดียวกัน น้องวรเมธ ยังบอกด้วยว่า เขาจะกลับไปบอกแม่ให้รู้จักวิธีสังเกตน้ำมันที่ใช้ ไม่ให้ใช้ซ้ำเกิน 2 ครั้ง และเลือกน้ำมันให้ถูกต้องกับลักษณะอาหาร เช่น น้ำมันหมู น้ำมันไก่ น้ำมันกะทิ เป็นกลุ่มไขมันอิ่มตัว ไม่ควรกินมากจะเป็นไขมันอุดตัน ส่วนน้ำมันปาล์ม เป็นกลุ่มไขมันอิ่มตัวเช่นกัน เหมาะสำหรับการทอดที่ใช้ไฟแรงและนาน ไม่ควรใช้ผัด จะสร้างไขมันอุดตันได้ ตรงกันข้ามกับกลุ่มน้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะกอก น้ำมันทานตะวัน อยู่ในกลุ่มไขมันไม่อิ่มตัว เหมาะสำหรับใช้ผัดอาหาร ที่ไม่ใช้ความร้อนสูง แต่ไม่ควรใช้ทอด อาจก่อให้เกิดมะเร็งได้ หากยังมีน้ำมันอีกประเภทหนึ่ง ที่อยู่ในกลุ่มกึ่งอิ่มตัว สามารถใช้ได้ทั้งทอดและผัด คือ น้ำมันรำข้าว

ส่วน ด.ญ.นลินี ทาทอง นักเรียนชั้น ป.4/3 โรงเรียนเดียวกัน บอกว่า ทุกวันนี้แม่ให้เงินมาโรงเรียนวันละ 20 บาท ชอบซื้อน้ำปั่นช่วงเช้าก่อนเข้าเรียน เช่น น้ำโกโก้ แคนตาลูป ส่วนกลางวันก็กินขนมกรุบกรอบบ้าง แต่ไม่ทุกวัน เมื่อผ่านการอบรมครั้งนี้ จึงรู้ว่าในน้ำปั่นมีน้ำตาลสูง หรือแม้แต่นม ก็มีหลายประเภท อย่างนมรสหวาน มีปริมาณน้ำตาลถึง 6 ช้อนชา ขณะที่น้ำอัดลม 1 กระป๋อง มีน้ำตาลเท่ากับชาเขียว 1 ขวด คือ 12 ช้อนชา ขณะที่ร่างกายต้องการน้ำตาลแค่ 2-6 ช้อนชาภายใน 1 วัน ในการซื้อจึงควรสังเกตฉลาก ว่ามีส่วนประกอบของน้ำตาลเท่าไหร่ และเทียบอัตราส่วน โดยน้ำตาล 4 กรัม จะเท่ากับ 1 ช้อนชา

“รู้สึกตัวว่าอ้วนเมื่อเทียบกับเพื่อนๆ และยังถูกล้อเลียนเป็นประจำ จึงคิดว่าต่อไปจะปรับปรุงการกิน โดยลดขนมกรุบกรอบ พยายามกินน้ำเปล่าให้มากขึ้น ส่วนที่บ้านจะบอกให้แม่ลดอาหารประเภทแป้งและน้ำตาล เสริมผัก ผลไม้ เข้ามาแทน ซึ่งคิดว่าแก้ปัญหาเรื่องอ้วนได้ ซ้ำยังป้องกันฟันผุ และเบาหวาน ได้อีกทางหนึ่ง” น้องนลินี เล่า

นับได้ว่าวิถีการบริโภคในชีวิตประจำวันของเด็กไทยยุคไอที ประสบภาวะเสี่ยงอย่างยิ่ง แม้ว่าโรคอ้วนจะไม่ใช่โรคระบาด แต่กลับมีการลุกลามของปัญหาขยายวงสู่ประเทศกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว และนำมาซึ่งโรคร้ายอื่นๆ

ดังนั้น นอกจากจะเลือกกินอย่างฉลาดแล้ว สิ่งหนึ่งที่เด็กไทยไม่ควรมองข้าม ก็คือการออกกำลังกายควบคู่ไปด้วย พยายามให้ร่างกายมีโอกาสเคลื่อนไหวอยู่เสมอ เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี มีร่างกายแข็งแรง ภายใต้จิตใจที่แจ่มใสเบิกบาน

ที่มา : Press Release

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *