ผู้นำในยุคเปลี่ยนผ่าน

ผู้นำในยุคเปลี่ยนผ่าน
 
วันที่ : 5 ตุลาคม 2550 นิตยสาร/หนังสือพิมพ์ : สยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์
 
          เมื่อไม่นานมานี้ผมและเพื่อน ๆ ในฐานะนักวิชาการของมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด ได้รับจดหมายทักทายจากอธิการบดีหญิงคนแรกในประวัติศาสตร์ของฮาร์วาร์ดชื่อ “ดรูว์ กิลพิน เฟาสต์” (Drew Gilpin Faust) ที่เพิ่งเข้ารับตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 28 เมื่อกรกฎาคม 2550 ที่ผ่านมา

          เนื้อหาในจดหมาย รวมถึงการแสดงออกของอธิการบดีคนใหม่ต่อประชาคมฮาร์วาร์ดในโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่ได้รับเลือกเป็นอธิการบดีนั้น ทำให้ผมได้ข้อคิดที่น่าสนใจหลายประการ และขอสะท้อนข้อคิดเหล่านั้นออกมา เพื่อเป็นแนวทางสำหรับผู้บริหารในทุกระดับ ได้เรียนรู้และต่อยอด

          วาดวิสัยทัศน์ สร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาคม
ตลอดเวลาภายหลังจากการได้รับเลือกให้รับตำแหน่งอธิการบดีคนที่ 28 อธิการบดีเฟาสต์ ได้พยายามสื่อสารถึงวิสัยทัศน์ในการบริหารมหาวิทยาลัย ที่จะนำพามหาวิทยาลัยไปสู่ยุคแห่งการบูรณาการความรู้ในศาสตร์ต่าง ๆ เพื่อพัฒนามหาวิทยาลัยให้ก้าวหน้าอย่างยั่งยืน

            การวาดวิสัยทัศน์ที่ชัดเจนและนำเสนอสู่ประชาคมมหาวิทยาลัยเช่นนี้ นับว่าเป็นจุดดีในยุคของการเปลี่ยนผ่านผู้บริหาร เนื่องจากเป็นการสร้างความเชื่อมั่นให้กับประชาคมถึงแนวทางการดำเนินงาน อันส่งผลต่อการทำงานร่วมกันในอนาคต เป็นการสร้างความเข้าใจที่ตรงกันแก่ผู้ปฏิบัติงาน ลดความผิดพลาด ลดความสับสนในบทบาทหน้าที่ที่รับผิดชอบ อีกทั้งยังเป็นการสร้างแรงบันดาลใจกับบุคลากร เพื่อให้ทำงานอย่างเป็นเอกภาพ

            เปิดช่องให้ประชาคมมีส่วนร่วม สร้างและพัฒนามหาวิทยาลัย สิ่งที่อธิการบดีคนใหม่พยายามเสนอในการพูดคุยหลายครั้งคือ ความมั่งคั่งด้านทรัพยากรเพื่อการศึกษา ไม่ว่าจะเป็น สถาบันการศึกษา การเงิน ฯลฯ ล้วนเกิดจากผลของความมุมานะและพยายามของบุคลากรในมหาวิทยาลัย เช่น คณาจารย์ นักศึกษา บุคลากร ศิษย์เก่า และพันธมิตรทางวิชาการ ดังนั้นในปีต่อ ๆ ไปจึงเป็นอีกก้าวที่สำคัญที่คนรุ่นนี้จะร่วมสร้างประวัติศาสตร์อีกหน้าของมหาวิทยาลัย

          การกล่าวยกย่องประชาคมว่า เป็นส่วนสำคัญที่ทำให้มหาวิทยาลัยประสบความสำเร็จ การกล่าวถึงทิศทางอนาคตที่จำเป็นต้องได้รับความร่วมมือของทุกคน รวมถึงการลงไปพบปะพูดคุยกับบุคลากรในคณะต่าง ๆ เพื่อรับฟังความคิดเห็นซึ่งกันและกัน ถือได้ว่าเป็นแนวทางที่ดีในการสร้างความร่วมมือจากทุกคนที่เกี่ยวข้อง โดยกระตุ้นให้ประชาคมทุกคนรู้สึกเป็นเจ้าของมหาวิทยาลัยร่วมกัน

          เรียนรู้ต่อยอด สร้างสรรค์แนวทางบริหารสู่ความเป็นเลิศ
ประสบการณ์ในการเป็นอาจารย์สอนวิชาประวัติศาสตร์ ทำให้อธิการบดีเฟาสต์ ได้แสดงเจตนารมณ์ที่ชัดเจนในการนำทักษะ ความรู้จากการศึกษาอดีตมาสร้างสรรค์แนวทางใหม่ เพื่อการพัฒนามหาวิทยาลัยให้เป็นผู้นำทางความคิดของโลก โดยเริ่มจากสิ่งที่มหาวิทยาลัยทำได้ดีและดำเนินการในทางที่ดีขึ้น
 
          ในขณะเดียวกันอธิการบดีท่านนี้มีลักษณะนิสัยที่เป็นคนเปิดใจรับฟัง เรียนรู้ที่จะผสมผสานความรู้ทั้งในอดีตและอนาคต เห็นคุณค่าของการสร้างนวันตกรรมใหม่ ๆ การต่อยอดทางความคิด ซึ่งนับว่าเป็นประโยชน์ต่อการนำพามหาวิทยาลัย ไปสู่การเรียนการสอนที่บูรณาการข้ามศาสตร์ ความท้าทายในการค้นพบความรู้ใหม่ ๆ ทำให้พรมแดนทางความรู้ถูกขยายออกไปมากยิ่งขึ้น  
  
          เน้นสื่อสาร สร้างสะพานเชื่อมสัมพันธ์ ความพยายามสื่อสารความคิด ความคาดหวัง และความคืบหน้าของการดำเนินงานของมหาวิทยาลัย ตลอดระยะเวลาหลายเดือนตั้งแต่ได้รับเลือกให้เข้ารับตำแหน่ง ทำให้ประชาคมรับรู้ถึงความตั้งใจที่ดีในการเข้ามาทำหน้าที่ผู้บริหารคนใหม่อย่างรวดเร็ว โดยสื่อสารผ่านช่องทางต่าง ๆ ทั้งการพูดคุยกับบุคคลต่าง ๆ การกล่าวสุนทรพจน์ในงานต่าง ๆ การส่งจดหมายอิเล็กทรอนิกส์ถึงผมและเพื่อนนักวิชาการคนอื่นเมื่อต้นเดือนกันยายนที่ผ่านมา และการนำจดหมาย สุนทรพจน์เหล่านั้นเผยแพร่ทางเว็บไซต์ของมหาวิทยาลัย

          สิ่งสำคัญคือ การสื่อสารดังกล่าวไม่ได้เป็นการสื่อสารทางเดียว หากแต่ยังมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากบุคคลต่าง ๆ ภายในมหาวิทยาลัย ทั้งแบบไม่เป็นทางการที่อธิการบดีลงไปพูดคุยด้วยตนเอง การติดต่อผ่านทาง e-mail และการประชุมร่วมกันอย่างเป็นทางการ แนวทางเช่นนี้นับเป็นความพยายามลดช่องว่างในการสื่อสาร ระหว่างผู้บริหารใหม่ ผู้ปฏิบัติงาน รวมถึงบุคคลอื่นที่มีส่วนได้เสียกับมหาวิทยาลัย
 
          สะท้อนสู่มหาวิทยาลัยไทยในยุคเปลี่ยนผ่าน ผู้บริหารมหาวิทยาลัยเป็นปัจจัยสำคัญในการนำทิศทางและความสำเร็จมาสู่มหาวิทยาลัย โดยเฉพาะในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของการพัฒนาการอุดมศึกษาไทย ทั้งสภาพที่จะต้องเปิดเสรีทางการศึกษา การต้องนำมหาวิทยาลัยสู่ประสิทธิภาพและคุณภาพ และการแข่งขันกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆในประเทศ ไทยที่เพิ่มมากขึ้น ฯลฯ

          ความสำเร็จของการบริหารมหาวิทยาลัยขึ้นอยู่กับผู้บริหาร ที่ควรปรับเปลี่ยนความคิดให้เอื้อต่อความสำเร็จขององค์กร เช่น มีวิสัยทัศน์ การรู้จักสร้างสัมพันธ์ และยินดีรับคำแนะนำจากผู้อื่น เพื่อปรับปรุงและพัฒนาการบริหาร รวมถึงการทุ่มเททำงานหนัก และเห็นคุณค่าการทำงานเป็นทีม อันจะนำพาองค์กรไปสู่เป้าหมายและสำเร็จได้  
          บทบาทผู้บริหาร ผู้ที่นำความสำเร็จมามหาวิทยาลัย หลายครั้งไม่ได้เกิดขึ้นจากพรสวรรค์ แต่เกิดจากการตระหนักในบทบาทของตนและพยายามทำบทบาทของตนอย่างดีที่สุดนั่นเอง

Add a Comment

Your email address will not be published. Required fields are marked *